Home » มองอดีต และการสะสม » “สืบจากส้วม” ย้อนอดีต วัฒนธรรม สารพันส้วม

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
“สืบจากส้วม” ย้อนอดีต วัฒนธรรม สารพันส้วม

{loadposition AdsMod

มิวเซียมสยามเปิดมุมมองใหม่ทางประวัติศาสตร์ เผยวัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับการ “ปลดทุกข์”ของคนไทยในอดีต ผ่านนิทรรศการชั่วคราวเรื่อง “สืบจากส้วม” เริ่มแล้ว ถึงเดือน เมษายนปี 2554 (ปิดวันจันทร์)

          พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ “มิวเซียมสยาม” ร่วมจัดนิทรรศการ “สืบจากส้วม” นำเสนอเรื่องราววัฒนธรรมการขับถ่ายของผู้คนในดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่จะเผยให้เห็นประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งของวัฒนธรรมไทยผ่านการสืบค้น “ส้วม” ชนิดต่างๆ ที่สำรวจพบในอุษาคเนย์

          วัฒนธรรมในการขับถ่ายของผู้คนในดินแดนสุวรรณภูมิ เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ เพราะสามารถเผยให้เห็นสภาพสังคมชุมชนอันหลากหลาย การรับอารยธรรมความเชื่อจากแหล่งต่างๆ เข้ามาปรับประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการขับถ่ายของเสียในชีวิตประจำวัน 

                

สาระ “สืบจากส้วม”

          เนื้อหาของนิทรรศการแบ่งออกเป็นหัวข้อต่างๆ โดยเริ่มจากการเปิดประเด็นด้วยคำถาม “ส้วมไทยมาจากไหน” มีการจำลองส้วมไทยแบบต่างๆ ตามสถานนะของผู้ใช้ ทั้งส้วมพระ, ส้วมเจ้า. ส้วมไพร่, ส้วมเจ้าสัว ฯลฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนไทยได้หยิบยืมแนวคิดเรื่องส้วมมาจากแหล่งต่างๆ ในอุษาคเนย์มาปรับใช้ในกิจวัตรประจำวันได้อย่างไร

          “ส้วมกับความหลากหลาย” นำเสนอรูปแบบของส้วมไทยในอดีต พร้อมเกร็ดความรู้เกี่ยวกับส้วมของชนชาติอื่นๆ และร่วมสืบหา “ส้วมของแม่พลอย” หรือ ส้วมของนางใน(อุโมงค์) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จากข้อมูลในนิยาย“สี่แผ่นดิน”ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และร่วมทดลองหาวิธีการนั่ง“ถานพระ”หรือส้วมพระในอดีต

          “ส้วมกับศิวิไลซ์” นำเสนอการปรับเปลี่ยนสังคมไทยตามแบบอย่างอารยะประเทศ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ “กรมศุขาภิบาล” โดยมีแบบจำลอง “ส้วมสาธารณะ” ในสมัยรัชการที่ 5 พร้อมตำนานการก่อตั้งของ“บริษัทออนเหวง”ที่รับกำจัดอุจาระตามบ้านเรือน และการรับวัฒนธรรมส้วมตะวันตกของชนชั้นสูงที่พระนครคีรีพระราชวังบ้านปืน และวังบางขุนพรหม รวมไปถึง “ส้วมเจ้าสัว” ของคหบดีจีนที่เข้ามาตั้งรกรากครั้งกรุงธนบุรี

          “ส้วมกับสาธารณสุข” นำเสนอเรื่องราวของการรณรงค์ด้านสุขอนามัยอย่างจริงจังตั้งแต่ปีพ.ศ. 2500 โดยจำลองบรรยากาศการลงพื้นที่ภาคสนามของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว และพบกับ “แม่พิมพ์ส้วม” ตัวต้นแบบที่ใช้เป็นแม่พิมพ์ในการหล่อโถส้วมเพื่อใช้ในการรณรงค์ในสมัยนั้น พร้อมชมภาพยนตร์สั้นหรือ “หนังขายขา” เพื่อรณรงค์เรื่องส้วมครั้งแรกโดย บริษัท วอลท์ดิสนีย์สตูดิโอ และสื่อต่างๆ ที่ใช้ในการรณรงค์ในอดีตจากรมอนามัย

          “ส้วมเคลื่อนที่” เรียนรู้อย่างสนุกสนานกับส้วมเคลื่อนที่สารพัดรูปแบบ ตั้งแต่ “ส้วมสนาม” ของพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่สามารถพับเก็บและพกพาได้คล้ายกระเป๋าเอกสาร มาจนถึงส้วมยุคใหม่ดีไซน์เก๋ เช่น ส้วม Sofa So Good ที่ออกแบบดูหรูหราน่านั่ง มีฝาปิดและที่รองแขนบุหนังเกรดเอ หรือ ส้วม For All Series ส้วมที่ออกแบบให้คนพิการสามารถใช้งานร่วมกับผู้อื่นได้ และ ส้วมสีเขียว ที่แสดงนวัตกรรมการแยกปัสสาวะและอุจจาระออกจากกันเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ภายหลัง ในหัวข้อ “ส้วมดีมีไว้คิด”

โถพระบังคน          อนึ่งนิทรรศการชุดนี้ได้รวบรวมโบราณสุขภัณฑ์ที่หาชมได้ยากไว้มากมาย อาทิ “ถานพระ”ยุคสุโขทัย ที่สามารถแยกปัสสาวะและอุจจาระออกจากกันได้ , โถพระบังคน” ที่จังหวัดลำพูนสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมราษฏรในถิ่นทุรกันดารเมื่อปี พ.ศ. 2501, “ส้วมนั่งราบขอบไม้” ชนิดถังเทที่คนกรุงเทพฯ ใช้กันเมื่อปี พ.ศ. 2470, และ “ชุดสุขภัณฑ์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ” เมื่อครั้งทรงผนวชและประทับอยู่ที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

          นอกจากนี้ในแต่ละโซนยังได้มีการนำเสนอภาพยนตร์สั้นชุดพิเศษที่จะพาผู้ชมทุกท่านย้อนเวลากลับไป “ขี้ คลาย คดีเด็ดเว็จแตก ย้อนอดีตสยามประเทศ” จาก 2 นักสืบหัวเห็ดเชอร์ล็อกโฮล์ม นำแสดงโดย “ดีเจโจ๊ก” รับบทเป็น “บุญโฮม” และ “แจ๊ส ชวนชื่น” รับบทเป็น “หมอวสันต์” โดยจะชวนทุกท่านไปร่วมค้นหา “สาระ-คดี” วัฒนธรรมการขับถ่ายของคนไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน ในมุมมองที่สนุกสนานอย่างมีสาระ เดินทางย้อนเวลาสืบหาส้วมในวรรณคดี “ขุนช้าง-ขุนแผน” แล้วไปตามหาห้องส้วม “แม่พลอย” ในนิยาย “สี่แผ่นดิน” และร่วม “ขี้” คลายคดี “ผีกระสือ” ในสมัยพระนครเมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา และปิดท้ายด้วยตำนาน “สุขา” ของไทยในยุค “ซิกส์ตี้” ที่เป็นรากฐานของงานสาธารณสุขมาจนถึงปัจจุบัน

          สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ขอเชิญทุกท่านมาร่วมสืบค้นเรื่องราวการปลดปล่อยความทุกข์ของคนไทยตั้งแต่อดีตและปัจจุบัน ใน นิทรรศการเรื่อง “สืบจากส้วม” ที่จัดขึ้น ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ โดยนิทรรศการมีกำหนดจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงเดือน เมษายนปี 2554 (ปิดวันจันทร์)

“สืบจากส้วม” ย้อนรอยนานาสารพันส้วม เรื่องขี้ๆ ที่มีเสน่ห์

“ส้วมไม่ใช่เรื่องขี้ๆ แต่ส้วมเป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์พัฒนาขึ้นจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อหาส้วมที่ดีที่สุดมากำจัดอึของเรา”
       
       สังคมไทยในอดีตไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็ล้วนแต่พึ่งพาอาศัยธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิต อาหารการกิน ที่หลับที่นอน แม้กระทั่งเรื่องของ อึ
       
       สมัยก่อนไม่ได้มีห้องส้วมอยู่ในบ้านอย่างเดี๋ยวนี้ ที่คิดอยากเข้าเมื่อไหร่ก็ได้เมื่อนั้น แต่ก่อนนั้นหากใครอยู่ใกล้ทุ่งนาก็จะไปปลดทุกข์ที่นา ใครอยู่ใกล้น้ำก็ไปปลดทุกข์ที่น้ำ จนมีคำว่า “ไปทุ่ง ไปท่า” เกิดขึ้น คนในอดีตจึงสรรหาความสะดวกสบายที่ไม่ต้องไปหย่อนก้นลงทุ่งลงท่า หรือกระทั่งบางทีก็อาจจะมีหมูหมา สัตว์เลี้ยงต่างๆ ตามมารบกวนการทำภารกิจ จนเกิดความรำคาญใจ ก็เลยพากันหาวิธีที่พอจะลับหูลับตาคน หรืออยู่ให้ห่างจากบรรดาสัตว์ที่ว่านั้นได้บ้าง

 

ส้วมพระ หรือบางทีจะเรียกว่า เว็จกุฏิ
 
อันที่จริงแล้ว “ส้วม” ก็เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจยิ่ง เพราะสามารถทำให้รู้ถึงสภาพสังคมอันซับซ้อน ที่มีการนำอารยธรรมต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับเรื่องของส้วม ทั้งคติความเชื่อเรื่องเทวราชาในศาสนาฮินดู ที่ส่งผลต่อรูปแบบและวัฒนธรรมการใช้ส้วม ส้วมจีนที่แพร่หลายในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ต่อเนื่องมาจนถึงการพัฒนาระบบสาธารณสุขแบบตะวันตกที่ส่งผลต่อกิจวัตรการขับถ่ายและระบบสาธารณสุขของคนไทยในปัจจุบัน
       
       เมื่อครั้งอดีตตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ หรือกระทั่งยุคอื่นๆ ที่ผ่านมา ส้วมถูกวิวัฒนาการให้ดูมีขอบเขตและมีความปลอดภัยมากขึ้น จากที่ใช้ “ไม้แก้งก้น” เพื่อทำความสะอาดหลังเสร็จภารกิจแล้ว แม้จะใช้ได้แบบไม่ค่อยสะดวกสบายนักก็ตาม มาถึงสายฉีดทรงพลังที่สะดวกกว่าที่เป็นมา จนล่าสุดพัฒนามาเป็นส้วมอัตโนมัติ ที่เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสก็จัดการทุกอย่างให้เสร็จสรรพเรียบร้อย เพิ่มความสะดวกสบายให้มากขึ้นจนแทบจะไม่ต้องกระดิกตัว หรือห้องส้วม ที่พัฒนาจากที่โล่งเป็นห้องสี่เหลี่ยมถนัดตา
       
       นอกจากนี้ส้วมในสมัยก่อนก็ยังแบ่งตามสถานะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “ส้วมพระ” หรือ “เว็จกุฏิ” ที่มีรูปทรงแปลกตา รูและร่องที่ทำขึ้นนั้นสามารถแยกอุจจาระไม่ให้ปนกันกับปัสสาวะ เพราะเมื่ออุจจาระแห้งแล้วก็จะทำให้กลิ่นอันไม่พึงประสงค์ลดลงไปมาก หรือจะเป็น “ส้วมเจ้า” (ส้วมพระเจ้าหลุยส์) ที่สร้างให้มีรูปร่างเหมือนเก้าอี้ เจาะรูตรงกลาง และมีกระโถนวางอยู่ด้านล่าง เมื่อเสร็จกิจแล้วก็ให้บ่าวไพร่นำกระโถนไปเททิ้ง
 
 
เว็จสาธารณะ
 
ในสมัยรัชกาลที่ 5 สยามเริ่มมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีการเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา แต่ประชาชนทั่วไปก็ยังไม่นิยมสร้างส้วมในที่อยู่อาศัยของตนเอง แต่จะขับถ่ายตามถนนหนทาง ริมคูคลองต่างๆ ซึ่งส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์อย่างรุนแรง และยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคระบาดตามมา
       
       จึงมีการจัดตั้ง “กรมสุขาภิบาล” ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ดูแลความสะอาดของบ้านเมือง ออกกฎให้ทุกคน “อึ” ในส้วม แทนที่จะไปทุ่ง หรือถ่ายทุกข์ริมถนนเหมือนอย่างเก่า รวมถึงหากต้องสร้างบ้านใหม่ก็ต้องสร้างส้วมในบ้านด้วย ส่วนใครที่ไม่มีส้วม ก็สามารถใช้ “เว็จสาธารณะ” ที่หลวงสร้างขึ้นตามตำบลต่างๆ ในเมืองหลวง โดยเฉพาะถนนสายสำคัญ และย่านการค้าที่มีผู้คนคับคั่ง ให้คนได้ใช้กันฟรีๆ
       
       ส้วมที่ใช้ในเว็จสาธารณะจะเป็นแบบ “ถังเท” คือ มี ลักษณะคล้ายส้วมหลุม แต่ใช้ถังวางไว้ในหลุมใต้ฐานไม้สำหรับรองรับอุจจาระของผู้ขับถ่าย ปกติการเก็บและบรรทุกถังอุจจาระไปเททิ้งจะทำวันละครั้ง โดยมีบริษัทเอกชนที่รัฐบาลจ้างไว้มารับไปเททิ้งที่อื่น
 
คอห่าน (หรือคอหงษ์) ที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง แต่ก็ช่วยเรื่องกลิ่นได้ดี
 
หรือจะมาถ่ายทุกข์ในรูปแบบของ “ธรณีส้วม” ที่มีลักษณะหน้าตาคล้ายคลึงกับรูปบ้าน แต่กลับไม่ได้ใช้สำหรับนอนเอนกาย แต่เป็นที่สำหรับทิ้งระเบิดลูกเล็กลูกใหญ่ที่ปิดบังได้แค่ร่างกายส่วนล่างเพื่อไม่ให้ประเจิดประเจ้อนัก และยังได้เห็นหน้าค่าตากันอย่างถนัดถนี่ ไม่ว่าจะหันไปสบตากับคนข้างๆ หรือจะทักทายกับคนข้างนอกก็ได้ด้วย
       
       จนกระทั่งพัฒนามาถึง “โถสุขภัณฑ์แบบนั่งราบ” แบบแท้งก์น้ำสูง หรือจะเรียกว่าเป็นส้วมแบบชักโครกในสมัยแรก ที่ได้รับความนิยมในวังต่างๆ ตั้งแต่ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา มีกลไกดึงโซ่ปล่อยน้ำจากถังพักน้ำที่อยู่สูงเหนือโถ ให้ไหลกระแทกลงมาชำระของเสียให้ลงไปสู่ถังเก็บกัก แม้ว่าจะเกิดเสียงดังแต่ก็ชำระล้างสิ่งปฏิกูลลงสู่ถังเก็บกักได้อย่างหมดจด นอกจากนี้ยังมี “คอห่าน” ไว้ดักกลิ่นอย่างได้ผลอีกด้วย
       
       และในยุคที่อะไรก็รวดเร็วติดจรวจไปเสียทั้งนั้น ส้วมก็จำต้องปรับตัวเองให้เข้ากับยุคสมัย จากเดิมที่ต้องเดินเข้าหาส้วม ตอนนี้ก็กลับกลายเป็นพกพาส้วมเคลื่อนที่ไปด้วยได้ทุกที่ เพื่อจะได้ปลดปล่อยความทุกข์ได้ตลอดเวลาอย่าง “ส้วมมือถือ” ที่ยังแบ่งออกเป็นหลากหลายประเภทให้เลือกใช้ตามความสะดวกในแต่ละสถานที่ หรือแม้กระทั่งเกิดเหตุอุทกภัย หรือเหตุฉุกเฉินต่างๆ ที่ทำให้การขับถ่ายกลายเป็นเรื่องยาก มนุษย์ก็คิดค้นอุปกรณ์ที่จะช่วยให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย เช่น “ส้วมลอยน้ำ” ที่เห็นได้มากในช่วงเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา
 
คอมฟอร์ต 100 ตัวช่วยยามการจราจรติดขัด
 
   “ส้วมกระดาษ” ที่ออกแบบให้มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักคนได้ถึง 100 กิโลกรัม และยังสามารถพับให้มีขนาดเล็กลงเพื่อความสะดวกในการขนส่ง หรือแม้แต่ “คอมฟอร์ต 100” ที่ช่วยปลดทุกข์ได้ดีเป็นอย่างยิ่งในช่วงการจราจรติดขัด แล้วก็มากันที่ส้วมมือถือแบบตัวจริง อย่าง “ผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่” ที่สามารถพกพาไปได้ทุกที่ รองรับสถานการณ์ที่ห้ามไม่อยู่ได้อย่างทันท่วงทีอีกเช่นกัน
       
       ที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในสมัยไหน ส้วมก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่บรรเทาความทุกข์และเสริมสร้างความสุขให้มนุษย์เราได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะส้วมในปัจจุบันที่นับวันยิ่งมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยไป เพื่อให้มนุษย์มีความสุขกับการปลดทุกข์ และสนองความต้องการอย่างหนึ่งของคน จนกระทั่งห้องส้วมบางห้องก็อาจจะแพงกว่าบ้านทั้งหลังของใครหลายๆ คน ที่เปลี่ยนจากห้องทึบอับไม่น่าอภิรมย์ ให้กลายเป็นห้องสำหรับเสพความรื่นรมย์ในแบบฉบับของตนตามรสนิยมที่เลือกเองได้
 
ส้วมสมัยใหม่ที่กลายเป็นของน่ารัก
ในเมื่อเรื่องส้วมๆ จะดูไม่ใช่เรื่องขี้ๆ อีกต่อไป เพราะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเราทั้งยามหลับ ยามตื่น ยามสุข ยามทุกข์ และยังเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ไปจนอนาคต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม ความเชื่อ สังคม เศรษฐกิจ และวิวัฒนาการด้านต่างๆ ที่ล้วนแต่ส่งผลให้ “ส้วม” มีการพัฒนามาเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น



อ่านต่อ : http://my.dek-d.com/AngelTVXQ/blog/?blog_id=10118471#ixzz1AjrcRgt0