Home » มองอดีต และการสะสม » เอนก นาวิกมูล นักวิชาการ นักเขียนสารคดี นักสะสม และผู้ก่อตั้ง บ้านพิพิธภัณฑ์

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
เอนก นาวิกมูล นักวิชาการ นักเขียนสารคดี นักสะสม และผู้ก่อตั้ง บ้านพิพิธภัณฑ์

  

รายการต้นฉบับ ตอน เอนก นาวิกมูล ทีวีไทย วันพฤหัสบดีที่ 6 พ.ค. 53

เอนก นาวิกมูล ( 14 มีนาคม พ.ศ. 2496 - ปัจจุบัน ) เป็นนักวิชาการ นักเขียนสารคดี นักสะสมของเก่า และ ผู้ก่อตั้ง บ้านพิพิธภัณฑ์

  

 

เอนก นาวิกมูล  รางวัล สารคดีเกียรติยศ ครั้งที่ 1

รางวัลสารคดี เกียรติยศ ครั้งที่ 1 รางวัลเกียรตยศสำหรับคนทำงานสารคดี จัดโดย นิตยสาร สารคดี ครั้งแรกมอบให้กับ เอนก นาวิกมูล นักเขียน นักค้นคว้า ผู้รอบรู้เรื่องเมืองไทยอันดับต้นๆ

  

 

เอนก นาวิกมูล ตัวตนคนสารคดี

By thaipost
ในปีหนึ่งๆ มีหลายเวทีที่จัดประกวดงานเขียน เรื่องสั้น และสารคดี ซึ่งมักจะมีผู้คว้ารางวัลประเภทอื่นๆ กลับบ้านไปเสมอ แต่รางวัลหนึ่งที่มักจะไม่มีใครได้รับก็คือ รางวัลสารคดี โดยกรรมการพิจารณาจะมีเหตุผลแนบท้ายว่า "ยังไม่มีผลงานชิ้นใดได้รับรางวัล" สะท้อนให้เห็นว่า งานเขียนบ้านเรายังขาดแคลนและอ่อนเชิงงานเขียนสารคดีอย่างมาก เป็นปีแรกที่นิตยสารสารคดีประกาศให้รางวัลสารคดีเกียรติยศ ครั้งที่ 1 และประเดิมรางวัลแรกให้กับ "เอนก นาวิกมูล" นักเขียนสารคดีที่คนไทยรู้จักกันดี โดยเอนกได้รับโล่ประกาศเกียรติยศและเงินรางวัลมูลค่า 1 แสนบาท

จำนงค์ ศรีนวล ผู้จัดการบริษัท วิริยะธุรกิจ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการนิตยสารคดี กล่าวถึงรายละเอียดของรางวัล "สารคดี" เกียรติยศว่า เป็นรางวัลที่นิตยสารสารคดีจัดตั้งขึ้นเพื่อเชิดชูและสนับสนุนการสร้างสรรค์งานสารคดีและคนทำงานสารคดี ด้วยความเชื่อมั่นในคุณค่าแห่งการบันทึก ถ่ายทอดความจริง และความรู้อย่างมีศิลปะ ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ และสร้างความตระหนักในคุณค่าของชีวิต วัฒนธรรม และธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการดำรงอยู่อย่างมีดุลยภาพของมนุษย์สังคมและสิ่งแวดล้อม

การพิจารณารางวัลที่มอบให้กับ "เอนก นาวิกมูล" กล่าวถึงเหตุผลว่า เอนกเป็นผู้รักงานสารคดีและเน้นงานเขียนสารคดีมาตลอด กว่า 30 ปี ของการทำงาน สร้างผลงานเป็นหนังสือสารคดีกว่า 150 เล่ม โดยมีหลักการทำงานคือ "นำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่า" เริ่มจากการอ่านและค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารและหนังสือเก่า ออกเดินทางไปสำรวจให้เห็นสิ่งต่างๆ ด้วยตาตนเอง จดบันทึก สัมภาษณ์ และถ่ายภาพ ประมวลข้อมูลจากหลายแหล่งอย่างถี่ถ้วน ข้อมูลเก่าที่ขัดกันหรือขาดหลักฐาน

เขายังเป็นผู้ใช้ความพยายามมุ่งมั่นสืบเสาะค้นหาที่มาและข้อเท็จจริงเพื่อให้สังคมได้รับความรู้ที่ถูกต้อง แม้บางเรื่องอาจต้องใช้เวลาหลายสิบปี และค่าใช้จ่ายในการทำงานส่วนใหญ่มาจากต้นทุนของตนเอง เขียนงานที่ยึดถือหลักการว่าต้องเขียนให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายทำให้เข้าถึงผู้คนจำนวนมาก เนื้อหาเน้นเรื่องย้อนอดีต เกร็ดประวัติศาสตร์ ประเพณี เพลงพื้นบ้าน ประวัติการถ่ายรูป โฆษณาสมัยแรก เรื่องแรกมีขึ้นในสยาม ข้าวของเครื่องใช้เก่า ชีวิตคนไทยในอดีตตั้งแต่ชาวบ้านร้านตลาด พ่อค้า ศิลปิน ช่าง ฯลฯ ผลงานเหล่านี้ล้วนเปี่ยมด้วยคุณค่าในการสะท้อนภาพชีวิตสังคมไทยในอดีตที่เราหลงลืม

คติประจำตัวของเอนกคือ "ศรัทธาเป็นพลัง" เขาเชื่อมั่นว่า "ชาติจะเจริญก้าวหน้าด้วยการปลูกฝังให้คนรักการค้นคว้า สั่งสมความรู้ และเผยแพร่ความรู้โดยต่อเนื่องและจริงจัง" เอนก นาวิกมูล จึงเป็นนักเขียน นักค้นคว้า ผู้เป็นบุคคลตัวอย่างที่ควรค่าแก่การยกย่องและสนับสนุน

ด้าน
ประวัติของเอนก นาวิกมูล เกิดเมื่อวันเสาร์ ที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2496 ที่ อ.ระโนด จ.สงขลา ครอบครัวทำกิจการร้านขายหนังสือแบบเรียน บิดาเป็นนักประดิษฐ์ นักสะสมหนังสือปฏิทิน ส.ค.ส. ภาพถ่าย เอนกจึงชอบถ่ายภาพ ชอบศึกษาค้นคว้า เขียนหนังสือ และเป็นนักสะสมมาแสตมป์ รูปภาพ ถ่ายรูป การเขียนหนังสือและการวาดภาพ วาดการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพื่อน ๆ ในสมัยเรียนต่างชอบอ่านหนังสือการ์ตูน นิทาน ที่เอนกทำขึ้น สมัยที่เรียน มัธยมปลาย เอนก ได้รับมอบหมายให้เป็นสารานียกร หนังสือรุ่น ซึ่งถือเป็นงานหนังสือที่เอนกได้รับผิดชอบและทำได้ดีมากรุ่นหนึ่ง ของโรงเรียนวรนารีเฉลิม

เขาเรียนจบปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยม จากนั้นทำงานหนังสือพิมพ์ เป็นนักเขียนสารคดีเรื่องทางศิลปะวัฒนธรรม เพลงพื้นบ้าน ภายหลังได้ทำงานที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ เชิงสะพานผ่านฟ้าฯ และริเริ่มก่อตั้ง "บ้านพิพิธภัณฑ์" เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงของใช้เก่าในชีวิตประจำวันของชาวเมืองชาวตลาด ซึ่งหน่วยงานรัฐและคนทั่วไปยังไม่สนใจเก็บรักษา โดยสร้างคำขวัญว่า "เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า"

อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้นักรัฐศาสตร์กลายมาเป็นนักเก็บสะสม เอนกเล่าว่า ความที่พ่อเป็นนักเก็บสะสม บวกกับที่เขาเป็นคนชอบอ่านชอบดูมาตั้งแต่เด็ก อยู่ชั้น ป.3 ป.4 ก็นั่งเขียนกลอน ตอน ป.6 ส่งบทกลอนไปที่นิตยสารชัยพฤกษ์ ก็ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก และเริ่มเขียนเรื่องสั้นตอน ป.7 ทำให้อยากเป็นนักเขียนมากขึ้น แล้วเมื่อขึ้น มศ.1 ก็ประสบความสำเร็จ เมื่อเรื่องสั้น "ปีแห่งกรรม" เป็นเรื่องเกี่ยวกับชาวนาไทย ได้รับรางวัลที่ 1 จากการประกวดเรื่องสั้นทั้งประเทศของนิตยสารชัยพฤกษ์ โดยได้รับอิทธิพลการเขียนและความคิดจากงานประพันธ์ของ น. ณ ปากน้ำ ที่กล่าวถึงการทำลายสถาปัตยกรรม วัดวาอาราม และในช่วงนี้เองครูประจำชั้นก็สอนถ่ายภาพให้

 


 

จนกระทั่งเข้ากรุงเทพฯ ในปี 2515 เข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็อยากออกไปสำรวจโลกภายนอก เมื่อไปรู้ไปเห็นเรื่องเก่ามามากเข้า ก็เพลาการเขียนเรื่องสั้นลงไป แล้วหันมามุ่งกับการเขียนสารคดีมากขึ้น เพราะเห็นว่าเมืองไทยขาดแคลนข้อมูลมาก ข้อมูลที่มีอยู่ก็ไม่มีที่มาที่ไป แถมบางทียังขัดกันจนไม่รู้ว่าจะเชื่ออันไหนดี บางเรื่องเป็นเรื่องนอกสายตาที่คนลืมไปแล้ว ก็เขียนลงในนิตยสารหลายเล่ม เริ่มต้นจากวิทยาสาร ปี 2518 โดยในปีนี้เองมีหนังสือสารคดีเป็นของตัวเองเป็นเล่มแรกชื่อ "เพลงยังไม่สิ้นเสียง" เป็นหนังสือที่อาจารย์ให้ทำขึ้นเพื่องานงานหนึ่ง ต่อมาก็เป็นนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ในปี 2522 และมาเขียนให้กับนิตยสารสารคดี ในคอลัมน์ "มุมสะสม" ตั้งแต่ฉบับแรกปี 2528

เอนกเล่าว่า งานเขียนสารคดีสมัยนั้นที่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยยังมีข้อบกพร่องอยู่มากจึงรู้สึกอยากเติมเต็ม และเขาเป็นคนแรกๆ ที่ริเริ่มนำระบบอ้างอิงที่มาของข้อมูลมาใช้อย่างจริงจัง ซึ่งก็ทำมาจนถึงปัจจุบัน

"ทั้งไฟล์งาน รูปภาพทั้งที่ถ่ายเอง หรือไปค้นคว้าเพิ่มเติมมา ทุกอย่างผมเขียนถึงที่มาหมด ทั้งหมดก็เพื่อสนองตัวเองส่วนหนึ่ง เพราะอ่านหนังสือแล้วขัดใจ ข้องใจ แล้วไม่สามารถหาคำตอบ หรือติดต่อผู้เขียนเพื่อให้รู้ถึงที่มาได้ อีกหนึ่งอย่างคือเป็นการชำระความไว้ให้คนรุ่นหลังอนาคตของชาติได้ต่อยอดจากงานที่ผมทำไม่ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ และยังเป็นงานประวัติศาสตร์ที่คนในอนาคตจะได้รู้อย่างแท้จริง" เอนกเล่า

เอนกบอกว่า งานเขียนสารคดีของเขาเป็นลักษณะการเขียนแบบ ถ้าอ่านแล้วไม่ชอบอะไรก็จะไม่เขียนอย่างนั้นลงไป และเกริ่นบอกถึงความสำคัญของเรื่องที่เขียน แล้วเราก็พาผู้อ่านออกไปสำรวจด้วยกัน ด้วยภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่ายไม่เยิ่นเย้อหวือหวา เพราะเรื่องประวัติศาสตร์ต้องอ่านแล้วเข้าใจง่ายไม่งันงง พร้อมด้วยภาพประกอบ อันนี้ขาดไม่ได้เพราะเป็นตัวช่วยให้ทำให้เห็นเรื่องได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในวันนี้เอนกอยู่ในวัย 57 ปี โชกโชนในสนามทำงานสารคดีมาก็ 30 กว่าปี มีผลงานสารคดีรวมแล้ว 150 เล่ม โดยเล่มที่ 150 เป็นเล่มล่าสุด กำลังอยู่ในขั้นตอนจัดพิมพ์เป็นเนื้อหาตลาดเก่าๆ และประกาศว่าจากนี้ไปจนตายก็ยังจะทำงานสารคดี ชำระความในเรื่องต่างๆ ไปเรื่อยๆ เพราะสนุกกับงานชอบและอยากทำไปตลอด

อีกสิ่งที่เอนกกำลังบุกเบิกจริงจังอีกอย่างก็คือ การขยายงานสารคดีเป็นแบบ 3 มิติ โดยร่วมกับกลุ่มเพื่อนนักสะสมจัดทำบ้านพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทำมา 20 ได้แล้ว อยู่ที่ ถ.ศาลาธรรมสพน์ ซอย 3 เขตทวีวัฒนา เพื่อให้คนได้เห็นประวัตศาสตร์ของจริงที่จับต้องได้ ไม่ใช่ให้ความรู้สึกแบนๆ อย่างหนังสือ คำบอกเล่า หรือแม้แต่วิดีโอ ซึ่งใครเข้ามาชมก็เสียค่าบำรุงเพียง 30 บาท และยังถ่ายรูปได้อีกด้วย

"ผมอยากมีมือเยอะกว่านี้ด้วยซ้ำ 2 มือทำไม่ทัน ยังมีเรื่องให้ต้องชำระความอีกเยอะ อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะมีใครหรือคนรุ่นใหม่เดิมตามทางแบบผมเพราะไม่ชอบยัดเยียดความคิดให้ใคร แต่ถ้าผลงานของเรามันเปล่งประกายจนทำให้เขาเห็นเขารู้สึกและฉุกคิดอยากทำงานสารคดีที่มีระบบอ้างอิง ผมก็ยินดีให้คำปรึกษาได้" เอนกกล่าว.



เอนก เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง บ้านพิพิธภัณฑ์ ใน ปีพุทธศักราช พ.ศ. 2530 เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงของใช้เก่าๆ ในชีวิตประจำวันของคนไทยในอดีต จำลองบรรยากาศร้านค้าประเภทต่างๆ เช่น ร้านกาแฟ ร้านตัดผม ร้านขายยา ร้านถ่ายรูป ร้านขายหนังสือ นำมาจัดแสดง บ้านพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 170/17 หมู่ที่ 17 หมู่บ้านคลองโพแลนด์ ซอยคลองโพ 2 ถนนศาลาธรรมสพน์ (ถนนต่อจากถนนพุทธมณฑลสาย 2 ด้านทางรถไฟ) เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ 10170 เริ่มเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ ปีพุทธศักราช 2544 โดยนิสัยส่วนตัวของเอนก เป็นคนรักความสงบ อ่อนน้อม แต่จริงจังและมีความสุขกับการทำงาน เขาชอบที่จะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสมถะ จึงเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนๆ และผู้ที่ได้รู้จัก และเขายังได้มีคติประจำตัวของเอนกนั้นคือ "ศรัทธาเป็นพลัง"