Home » มองอดีต และการสะสม » เอนก นาวิกมูล - คนเก็บอดีตและปัจจุบันเพื่ออนาคต

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
เอนก นาวิกมูล - คนเก็บอดีตและปัจจุบันเพื่ออนาคต

สัมภาษณ์ - เอนก นาวิกมูล- “ผมเปรียบตัวเองเป็นคนปะชุนประวัติศาสตร์”

สุเจน กรรพฤทธิ์ : สัมภาษณ์
สกล เกษมพันธุ์ : ถ่ายภาพ



“ในบ้านเมืองของเราขาดคนค้นคว้าเรื่องจริงที่ให้ข้อเท็จจริง มีการตรวจสอบแก้ไขข้อมูลต่างๆ ให้ถูกต้อง แล้วข้อมูลบ้านเราก็มีน้อย ที่น้อยนั้นบางครั้งก็ลอกกันมาซ้ำๆ ซากๆ มันก็ไม่เจริญ ก็น่าจะทำให้มันมากขึ้น มหาศาลขึ้น  บางครั้งมีการลอกแล้วก็ลอกผิด หรือว่าเขียนแล้วผิดหรือถูกก็ช่างมัน...ทีนี้เราจะปล่อยให้ข้อมูลผิดพลาดตลอดไปได้ยังไง มันก็ต้องมีการเขียนชี้แจงออกมาเรื่อยๆ ก็เป็นหลักการว่านำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่าเพื่อให้คนอ่านได้รับความรู้ที่ถูกต้องที่สุด ได้ข้อมูลที่ดีที่สุด มีผู้เขียนที่ตั้งใจทำงานที่สุด”
                

เอนก นาวิกมูล ใน สารคดี ฉบับที่ ๖๒  เมษายน ๒๕๓๓

ต้นปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ นักเขียนหนุ่มฉกรรจ์ที่ สารคดี สนทนาด้วยอยู่ในวัย “๓๗”  วันนี้ ผ่านไป ๒๐ ปี ตัวเลขอายุของเขาขยับเป็น “๕๖” แต่เค้าหน้ายังคงอ่อนเยาว์อยู่เช่นเดิม

และสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยไม่ว่าจะผ่านไปกี่สิบปี คือ เอนก นาวิกมูล ยังคงยืนหยัดอยู่จุดเดิม--จุดยืนในฐานะ “นักเขียนสารคดี” “นักค้นคว้า” “นักเก็บของเก่า” “คนทำพิพิธภัณฑ์”  ทั้งหมดนี้เขาทำด้วยเชื่อมั่นว่า “ศรัทธาคือพลัง” เพราะ “เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า” โดยยึดหลักการทำงานคือ “นำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่า”

เอนกอุทิศตัวให้แก่การทำงานที่ว่ามานี้ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย อันที่จริง ว่าไปแล้วตั้งแต่สมัยยังนุ่งขาสั้น ในวัยที่เด็กหลายคนในยุคนี้นั่งจมอยู่กับเกมบนหน้าจอคอมพิวเตอร์

เอนกเกิดที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา  มีพี่น้อง ๖ คน เขาเป็นคนสุดท้อง  สนใจสะสมของเก่า จดบันทึก อ่านหนังสือ เขียนนิทาน วาดการ์ตูน เขียนเรื่องส่งไปตีพิมพ์ตามนิตยสารตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถม  พอมัธยมก็เริ่มจับกล้องถ่ายรูปบันทึกภาพบ้านเกิด เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำหนังสือกับเพื่อนในชั้นเรียน

เมื่อเรียนมหาวิทยาลัย เขาได้ฉายาว่า “มนุษย์โบราณ” จากการสนใจสัมภาษณ์เพื่อนๆ เกี่ยวกับบ้านเกิดของแต่ละคน  ถึงวันหยุดเขามักสะพายย่ามออกสำรวจวัดเก่า  ไปตามหาพ่อเพลงแม่เพลง ถ่ายภาพพร้อมบันทึกเสียง หลายครั้งยังเป็นธุระช่วยเหลือพ่อเพลงแม่เพลงที่เจ็บป่วยขาดแคลนอย่างแข็งขัน

ปัจจุบันเอนกมีผลงานพ็อกเกตบุ๊ก ๑๔๘ เล่ม (ยังไม่นับที่อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์) เกือบทั้งหมดเป็นสารคดีแนวชำระสืบค้นเรื่องเก่าในช่วงต้นรัตนโกสินทร์จนถึงยุคปัจจุบัน  เป็นผู้ก่อตั้ง “บ้านพิพิธภัณฑ์” (House of  Museums)--สถานที่เก็บและแสดงสิ่งของเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวเมืองชาวตลาดยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งหน่วยงานรัฐหรือเอกชนไม่สนใจเก็บรักษา โดยได้รับการสนับสนุนเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาที่เชื่อมั่นในสิ่งที่เขาทำ

ทุกวันนี้ เอนกยังคงใช้เวลาออกสำรวจวัดเก่า-ตลาดเก่าอยู่เสมอ  หลายครั้งไปบรรยาย ให้คำแนะนำปรึกษาแก่ผู้สนใจตามสถานศึกษาและหน่วยงานราชการหลายแห่ง

หากย้อนดูเส้นทางของนักเขียนสารคดีที่ทำงานหนักที่สุดคนหนึ่งของวงการคนนี้ ผลงานของเขาเคยได้รับรางวัลมาแล้ว ๓ ครั้ง อันได้แก่ รางวัลหนังสือสารคดีดีเด่น งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี ๒๕๒๒ จาก เพลงนอกศตวรรษ (สำนักพิมพ์การเวก, ๒๕๒๑) และ ปี ๒๕๓๔ จากสิ่งพิมพ์คลาสสิค (สำนักพิมพ์สารคดี, ๒๕๓๓)  ล่าสุดคือ เครื่องกลไกคลาสสิค (สำนักพิมพ์แสงดาว, ๒๕๕๒) ได้รับรางวัลหนังสือสารคดีรางวัลชมเชย งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี ๒๕๕๓

ต้นปี ๒๕๕๓ เมื่อนิตยสาร สารคดี มีอายุครบ ๒๕ ปี คณะกรรมการตัดสินรางวัล “สารคดี” เกียรติยศ ครั้งที่ ๑ จึงมีมติเอกฉันท์มอบรางวัลที่ตัดสินจากการทำงานสารคดีอย่างต่อเนื่องมาตลอดชีวิตให้แก่ เอนก นาวิกมูล

วาระนี้ เรากลับไปเยี่ยม เอนก นาวิกมูล ที่บ้านพิพิธภัณฑ์อีกครั้ง เพื่อสนทนาถึงชีวิตการงานที่ผ่านมา ความฝัน ความหวังของเขาในฐานะ “คนเก็บอดีต” และ “นักเขียนสารคดี” ที่ยังคงทำงานหนักอย่างไม่ย่อท้อ  แม้ในยามวิกฤตการเมืองไทยเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ เขาก็ยังยืนยันกับเราว่า 

“การเก็บและบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้สำคัญ เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปถึงคนรุ่นหลัง”

สมดังคำกล่าว “เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า” ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวเขาไปแล้ว



เหตุผลใดทำให้พี่เอนกยังคงพยายามเก็บของเก่า ค้นคว้าเรื่องเก่า ๆ ของเมืองไทยภายใต้หลักการ “นำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่า” โดยมี “ศรัทธาเป็นพลัง” 
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
เพราะสังคมไทยมีลักษณะเชื่ออะไรก็เชื่อตามกันมา และไม่จดบันทึกแบบต่อเนื่อง เห็นได้จากประวัติศาสตร์ที่ขาดหายเป็นช่วงๆ หลายจุด ถามถึงเรื่องนั้น ค้นหาเรื่องนี้ก็ไม่มีคำตอบ ช่องโหว่ที่ยังไม่ได้สืบค้นมีจำนวนมาก งานเหล่านี้ต้องการคนที่พยายามหาคำตอบ  ตัวอย่างคือ สมัยที่ผมสนใจเพลงพื้นบ้าน ปรากฏว่าพอจะหาตัวอย่างเพลงพื้นบ้านฟัง พ่อเพลงแม่เพลงก็แก่เฒ่าอายุมากกันหมดแล้ว แผ่นเสียงเก่าๆ ก็มีน้อย ไม่มีใครบันทึกเพลงไว้ให้เป็นเรื่องเป็นราว ต่อมามีการบันทึกเทปเพื่อนำไปออกรายการวิทยุ พอออกอากาศเสร็จแล้วเขาก็ลบทิ้งเพื่อนำเทปมาใช้ใหม่ ก็เลยไม่เหลืออะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

หรือเรื่องของวัดวาอาราม จิตรกรรมฝาผนังเก่าๆ ถูกลบทิ้งหน้าตาเฉย พอซ่อมแซมก็ไม่รักษาเส้นสายเดิมเอาไว้ ในภาพเดิมเขียนคน ๑๐ คน ของใหม่วาดเหลือ ๕ คน  ตาลโตนดเดิมมี ๗ ต้น วาดใหม่เหลือ ๓-๔ ต้น  ภาพคนพายเรือ วาดคนพายเรือผิดท่า  การพายเรือที่ถูก ต้องคว่ำมือทั้งสองมือ ช่างรุ่นใหม่วาดแบบหงายมือและคว่ำมือผสมกัน พายแบบนี้ก็วนอยู่ในอ่างเท่านั้นเอง  กระทั่งรูปปั้นที่ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือรูปปั้นที่หอประชุมกองทัพเรือ ก็ยังปั้นท่าจับพายผิดหมด ไปดูเถิด คว่ำมือ-หงายมือทั้งนั้น  ลายสกรีนรูปเรือสุพรรณหงส์บนเครื่องบินของการบินไทยเมื่อ ๑๐ ปีก่อนยิ่งแล้วใหญ่ ฝีพายจับพายผิดทุกคน น่าอายมากเพราะประจานตัวเองไปทั่วโลก ไม่มีใครสังเกต  ในละครโทรทัศน์ ดารามักจับพายผิด และไม่มีใครสนใจบอก  หนังสือที่เขียนเรื่องเรือ ก็ลืมบอกวิธีจับพายพายเรือ  พอไปทำอนุสาวรีย์ ไปเขียนลวดลายบนเครื่องบิน ก็เลยกลายเป็นผิดระดับชาติ

ข้อเท็จจริงคือข้อเท็จจริง เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงได้  ข่าวเก่า เรื่องเก่าๆ เหตุการณ์เดียวกัน สองคนเขียนต่างกัน เราต้องนำมาตรวจสอบ  เรื่องแบบนี้บ้านเราไม่มีคนชำระ ผมออกมาชำระเพราะรู้สึกสงสัย  พอได้คำตอบก็บันทึกหรือเขียนเผยแพร่ออกไป คอยเพิ่มเติมเรื่องราวที่ยังบกพร่องอยู่ เรื่องไหนที่ขาดอยู่เราก็ปะชุนเข้าไปเหมือนช่างปะชุนเสื้อผ้า  หลักการ “นำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่า” มาจากปัญหาที่เล่ามานี้

งานเขียนสารคดีสมัยก่อนมักเขียนแบบเล่าเรื่อง ไม่ค่อยให้รายละเอียดว่าได้ข้อมูลมาจากไหน รู้มาจากใคร  บางเรื่องเช่นเรื่องรัชกาลที่ ๕ คนเขียน ๒ คน ๓ คนให้ข้อมูลซ้ำๆ กัน ไม่มีอะไรแปลก  ก็เหมือนเอาน้ำในขวดมาขยอก น้ำยังมีปริมาณเท่าเดิม ถ้าเราหาข้อมูลใหม่ๆ เติมเข้าไปบ้าง ความรู้ก็จะงอกงามขึ้น เหมือนเติมน้ำเข้าไปเรื่อยๆ  ส่วนที่บอกว่า “ศรัทธาเป็นพลัง” นั้นหมายความว่าต้องทำงานด้วยความศรัทธา ต้องรักและตั้งใจทำ จึงจะทำออกมาได้ดี

อยากให้เล่าถึงชีวิตวัยเด็ก ความสนใจด้านนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนนั้นหรือเปล่าครับ
ผมชอบเรื่องพวกนี้มาตั้งแต่เล็กๆ  แรงบันดาลใจมาจากที่บ้าน บ้านเกิดผมอยู่ในตลาดอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ที่บ้านเป็นร้านขายเครื่องเขียนและแบบเรียน ชื่อร้าน “บุญส่งพานิช”  ขายอุปกรณ์การเรียน หนังสือปกอ่อน ปกแข็ง หนังสือเพลงเล่มละบาทสองบาท หนังสือการ์ตูน ฯลฯ

บ้านทางภาคใต้มีลักษณะยาว ที่ยาวมากเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยว บ้านที่ผมอยู่เป็นบ้านยุค ๒๔๙๐ กว้าง ๒ คูหา ด้านหน้าเป็นที่ขายของ มีตู้หลายใบ ในตู้ใส่ของเต็มไปหมด มีหนังสือ ถ่านไฟฉาย ดินสอ สมุด  ช่วงกลางของบ้านเป็นที่นั่งพัก มีโต๊ะกินข้าว มีที่ทำครัว  ช่วงท้ายเป็นบริเวณปลูกต้นไม้ มีกระถางปูนซีเมนต์สวยๆ มีต้นมะลิ มีต้นเยอบีร่าซึ่งสมัยก่อนนิยมปลูกกันมาก มีต้นพุทรา ต้นมะม่วง  มีสระน้ำเล็กๆ ไว้ขังน้ำรดต้นไม้  ส่วนชั้นบนของบ้านเป็นที่นอน

เรื่องสะสมและค้นคว้าเรื่องเก่ามันซึมเข้ามาในตัวเพราะในบ้านมีของมาก เราชอบเปิดตู้ดู โดยเฉพาะของที่พ่อใส่ไว้ในตู้วางพระ  พอเปิดตู้ก็จะพบปฏิทินยุค ๒๔๙๐ ยุค ๒๕๐๐ นิตยสารเก่า ส.ค.ส. เก่า ซึ่งออกแบบประณีต สวยทั้งตัวอักษรและลายเส้นประกอบ  ขนาดฉลากอาหารกระป๋องและกระดาษเขียนจดหมาย เขาก็ยังเขียนสวยๆ บางทีเขาใช้วิธีซื้อภาพพิมพ์ของฝรั่งมาติดบนปฏิทิน  นอกจากปฏิทินแล้วในตู้ก็ยังมีของจุกจิกอื่นๆ อีก ประเภทกล้องส่องทางไกล เลนส์สำหรับเครื่องฉายสไลด์ และรูปยาซิกาแร็ต (ภาพพิมพ์บนกระดาษแข็งแถมมากับซองหรือกระป๋องบุหรี่ฝรั่ง)  รูปยาซิกาแร็ต พ่อผมมีหลายใบ

พ่อเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ช่วงนั้นบุหรี่ออกมาเยอะ แกชอบอาสาซื้อบุหรี่ให้ผู้ใหญ่สูบ แล้วขอรูปมาเก็บสะสม  จนเป็นหนุ่มพ่อย้ายไปอยู่พัทลุงกับพี่สาว ปรากฏว่าวันหนึ่งหลานรื้อออกมาเล่นโดยไม่ขออนุญาต แกโมโหมาก เลยเผารูปยาซิกาแร็ตหมด เหลือบางส่วนมาให้ผมได้ดูแค่ไม่กี่ปึก  ภาพ
พวกนี้ดูแล้วสบายตาสบายใจ ตื่นตาตื่นใจ  นอกจากนี้พ่อผมยังเป็นนักประดิษฐ์สมัครเล่นด้วย แกสร้างเครื่องพิมพ์จากคำบอกเล่าของญาติที่ไปเที่ยวกรุงเทพฯ มา  เขาบอกว่าแท่นพิมพ์หน้าตาอย่างไร แล้วแกก็มาจินตนาการต่อ ทำแท่นพิมพ์แบบใช้เท้าเหยียบ ผมยังเคยใช้เครื่องพิมพ์ง่ายๆ เครื่องนี้พิมพ์ซองกระดาษเล่นบ่อยๆ

ทราบว่าพี่เอนกเป็นคนเรียนเก่ง แสดงว่าเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก
สมัยเพิ่งเข้าโรงเรียนผมชอบอ่านแบบเรียนเก่า อาทิ ดรุณศึกษา ของ ฟ. ฮีแลร์  แบบเรียนชุด “เรณู-ปัญญา” ซึ่งเล่มหลังผมยังทันใช้ตอน ป.๑  ตำราชุดนี้พิมพ์ราวปี ๒๔๙๗-๒๔๙๘  ที่โดดเด่นมากคือมีภาพประกอบฝีมือครูเหม เวชกร

แบบเรียนชุด “เรณู-ปัญญา” ตอน “เที่ยวรถไฟ” ครูเหมวาดบรรยากาศทุ่งนาชนบทให้เห็นชัดเจน ผลไม้และของกินที่ขายตามสถานีรถไฟก็น่ากินจริงๆ อ่านแล้วทำให้เห็นว่าเมืองไทยสวยงาม  แบบเรียนนี้ต่อมารัฐบาลก็เลิกใช้

ที่ผมได้อ่านแบบเรียนหลายรุ่นเพราะมีพี่ ๖ คน แต่ละคนมีลังกระดาษเก็บแบบเรียนเอาไว้ ผมชอบไปรื้อมาอ่าน เอามาทำห้องสมุดส่วนตัว  ผมยังอ่านหนังสืออื่นด้วย ช่วงปิดเทอมพี่สาวที่ไปเรียนในตัวจังหวัดหรือกรุงเทพฯ ก็มักซื้อหนังสือมาฝาก เช่น วิธีวาดการ์ตูนโดยตุ๊ยตุ่ย เล่มละ ๑๐ บาท  นิทานแปลสั้นๆ ของสำนักพิมพ์รวมสาส์น, ประมวล-สาส์น  อ่านนิทานแปลของ อ. สนิทวงศ์  ไผ่แดง ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช  ละครแห่งชีวิต ของ ม.จ. อากาศ-ดำเกิง รพีพัฒน์

ฉากใน ละครแห่งชีวิต ที่ผมชอบมากคือตอนที่กล่าวถึง วิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยา มีเพื่อนชื่อกิมเฮียง  บางครั้งเขาไปนั่งเล่นบ้านกิมเฮียงซึ่งอยู่ริมน้ำ ลมพัดเย็น มีเรือเอี้ยมจุ๊นแล่นผ่าน เราก็มาเทียบกับเรือและบรรยากาศในคลองระโนด

บนชั้นสองของบ้านผมมีโต๊ะเขียนหนังสือตัวหนึ่ง ตอน ป.๓-ป.๔ ผมชอบนั่งเขียนหนังสือที่โต๊ะนั้น  โต๊ะอยู่ริมหน้าต่างชั้น ๒ มองผ่านลูกกรงออกไปเห็นบ้านข้างๆ ปลูกต้นมะขามร่มรื่น  จะเห็นว่ารูปภาพและเรื่องราววัยเด็กกินใจ และฝังลึกเข้าไปในใจเรา  พออ่านมากก็อยากเขียนหนังสือบ้าง ผมตั้งใจมาตั้งแต่เด็กว่าอยากเขียนหนังสือ เลยแต่งนิทานแต่งอะไรมาตั้งแต่ตอนนั้น  ส่วนเรื่องการเรียน เราถูกกวดขันให้ขยันมาตลอด ผมสอบได้ที่ ๑ บ่อย แต่ก็รู้สึกกดดันและเบื่อ

เป็นคนทำหนังสือ/เขียนหนังสือมาตั้งแต่สมัยยังนุ่งขาสั้น
สมัยเรียน ป. ๖-ป. ๗ (เทียบเท่าชั้นมัธยม ๑ ปัจจุบัน) ผมเรียนที่โรงเรียนระโนดวิทยามูลนิธิ  เรื่องสั้นเรื่องแรกที่เขียนชื่อเรื่อง “เสื้อตัวนั้น” ส่งไปลง ชัยพฤกษ์ นิตยสารสำหรับเด็กที่ดังและดีมากในสมัยนั้น  เรื่องได้ตีพิมพ์ทันที เล่าย่อๆ คือเด็กชายพัลลภได้เสื้อใหม่มาแล้วไม่ยอมถอด ใส่จนสกปรก ยายพยายามให้ถอด พัลลภก็ไม่ยอม สุดท้ายแมวตกโคลนมาคลอเคลีย ทำให้เสื้อเปื้อน ก็เลยยอมถอดซัก ผมได้ค่าเรื่อง ๓๐ บาท เราเป็นเด็กต่างจังหวัดก็ดีใจมาก ต่อมาผมก็ส่งกลอน ขำขัน และการ์ตูนไปลงอีก ทำให้มีผลงานตีพิมพ์อยู่เรื่อยๆ

ชัยพฤกษ์ เป็นนิตยสารที่ดี ข้อเขียนหลายชิ้นอ่านสนุก มีภาพของครูเหมวาดประกอบเรื่องประวัติศาสตร์และวรรณคดี ในหน้ากลางกับปกหลัง  มีคอลัมน์ “ภาษาภิรมย์” ที่อาจารย์เปลื้อง ณ นคร บรรณาธิการ ตอบจดหมายเด็กๆ ด้วยตัวเอง  ที่ฮิตมากคือเขียนไปถามความหมายของชื่อกับนามสกุล หรือให้ทายลายมือ มันเริ่มจากคนหนึ่งถามแล้วคนต่อมาก็เลียนแบบ  ตอน ป. ๖ ผมเขียนจดหมายไปแล้วได้ลงพิมพ์เป็นครั้งแรก ดีใจมาก  สมัยนั้นเด็กอ่านหนังสือมากกว่าสมัยนี้ อาจเพราะสื่ออื่นยังมีน้อย แล้วนิตยสารเล่มนี้จำหน่ายไปทั่วประเทศ และอยู่ในห้องสมุดของโรงเรียนหลายแห่ง

พอขึ้น ม.ศ. ๑ (เทียบเท่าชั้นมัธยม ๒ ปัจจุบัน) ผมก็ต้องลงเรือเดินทางเข้าไปเรียนในตัวเมืองสงขลา ไปอยู่ร้านโชติภัณฑ์ซึ่งเป็นของลุงพิชิต ศิริโชติ เพื่อนค้าขายของพ่อ  บ้านลุงพิชิตเป็นร้านขายเครื่องเหล็ก แต่ก่อนเคยเป็นร้านขายหนังสือ มีหนังสือกลอนจากโรงพิมพ์วัดเกาะ ที่พิมพ์หนังสือปกสวยๆ หลายเล่ม  จริงๆ แล้วโรงพิมพ์นี้ไม่ใช่ของวัด โรงพิมพ์ตั้งอยู่ในย่านสำเพ็ง ชื่อจริงคือโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ แต่คนเรียกติดปากว่าโรงพิมพ์วัดเกาะเพราะอยู่ใกล้วัดเกาะ  สมัยก่อนโรงพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือแนว “เล่มสลึงพึงรู้ท่านผู้ซื้อ” ราคาถูก ขายทั่วประเทศมีไม่กี่แห่ง

ตอนเรียน ม.ศ. ๑ ผมเขียนเรื่องสั้นเรื่อง “ปีแห่งกรรม” ส่งไปประกวดเรื่องสั้นทั่วประเทศในชัยพฤกษ์  เป็นเรื่องคนแก่ที่ทำนาไม่ได้ผลเพราะฝนแล้ง เกิดทะเลาะแย่งน้ำกับเพื่อนบ้านถึงตาย  อิทธิพลการเขียนได้จาก มนัส จรรยงค์  ฉากในเรื่องผมก็ได้จากที่ระโนด

ตอนนั้นพี่เขยคนโตของผมเป็นปลัดอำเภอ มีพิมพ์ดีด แกสนับสนุนผมโดยเอาเรื่องที่เคยได้ลงใน ชัยพฤกษ์ มารวมเล่มเป็นโรเนียว ให้เอาไปแจกเพื่อนในโรงเรียนมหาวชิราวุธ  ต่อมาก็บอกให้ชวนเพื่อนๆ ในห้องทำวารสารเล่น จึงเกิดวารสาร ๑ จ. ขึ้น ทำจากกระดาษฟุลสแก๊ป ผมเขียนกลอนเปิดเล่ม เพื่อนๆ ก็ช่วยกันเขียนเรื่องมาลง เสร็จแล้วเราก็เวียนกันอ่านในห้อง  จำได้ว่าคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เรียนห้องเดียวกันก็มาช่วยเขียนด้วย  ทำวารสาร ๑ จ. ออกมา ๒ เล่มก็เลิกราไป  พอ ม.ศ. ๓ ก็ทำ เอนกสาร ออกมา ๗-๘ เล่ม ผมทำคนเดียว อยากเขียนอยากวาดอะไรก็ทำ มีเพื่อนเขียนส่งมาบ้างเราก็ลงให้  ในเล่มมีเรื่องสั้น เรื่องขำขัน ความรู้ทั่วไป เรื่องซุบซิบในห้อง  เราสนุกกับการเขียน เพื่อนสนุกกับการอ่าน ก็ว่ากันไป  มาหยุดตอนสอบได้คะแนนร้อยละ ๕๐ เกือบตก ตกใจมาก ต้องเขียนจดหมายไปขอโทษพ่อแม่ เพราะเคยเรียนได้คะแนนร้อยละ ๘๐-๙๐ มาตลอด

นอกจากเขียนหนังสือ เก็บสะสม พี่เอนกเริ่มต้นถ่ายรูปบันทึกสิ่งรอบตัวตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม
ผมเริ่มถ่ายรูปตั้งแต่ปี ๒๕๑๑ สมัยเรียน ม.ศ. ๑ ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ  เรียนได้สักพักอาจารย์ที่ดูแลห้องโสต-ทัศนศึกษาบอกว่าใครมีกล้องและอยากรู้วิธีถ่ายภาพให้เอากล้องไป จะสอนให้  บังเอิญที่บ้านผมมีกล้องแบบ BOX ยี่ห้อ Kodak สีดำ ผมเลยขอพ่อไปให้ครูดู  ครูก็สอนว่าฟิล์มขนาด ๑๒๐ มิลลิเมตรใส่แบบนี้ๆ หมุนแบบนี้ แล้วถ่ายได้เลย  ผมถามตัวเองว่าเราจะถ่ายอะไร  ก็มองสิ่งรอบตัว จนวันหนึ่งมีขบวนแห่วันเข้าพรรษาผ่านมาทางหน้าร้าน ผมก็ขึ้นไปถ่ายจากชั้น ๓ กับลงไปถ่ายข้างล่าง แล้วเอารูปไปอัด เขียนวันที่บันทึกไว้  สมัยนั้นค่าล้างรูปรูปละ ๒-๓ บาท ไม่ยากอะไร  ต่อจากนั้นก็คิดว่าต้องถ่ายรูปเมืองระโนดเก็บไว้ด้วย ก็เลยเดินถ่ายรูป ขี่จักรยานสำรวจรอบบ้านในรัศมีไม่เกิน ๑๐ กิโลเมตร  ตอนนั้นรู้สึกอายๆ เหมือนกัน เพราะคนชอบมอง  บางทีเราก็กลัวว่าไปถ่ายไกลๆ จะมีใครมาแย่งกล้องเราไปหรือเปล่า ก็ต้องระวัง

ความสนใจของพี่เอนกชัดเจนมากว่าเป็นเรื่องประวัติศาสตร์สังคม แล้วทำไมจึงเลือกสอบเข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พอจบมัธยมก็ไม่ได้คิดหรอกว่าอยากทำอาชีพอะไร รู้แต่ว่าอยากเขียนหนังสือ ครั้นจะไปเรียนโบราณคดีก็ไม่รู้ว่าจบแล้วไปทำอะไร  สมัยนั้นผมอาจคิดไม่เยอะ แล้วเขามีค่านิยมว่ารับราชการมั่นคงดี ถ้าจบรัฐศาสตร์อาจไปเป็นปลัดหรือทำงานในอำเภอได้  อีกอย่างพี่เขยผม-อนันต์ พงษ์อักษร เป็นปลัดอำเภอ บอกว่าถ้าสนใจเขียนเรื่องสั้น หากออกต่างจังหวัดก็น่าจะได้ประสบการณ์ เพราะสมัยผมเป็นเด็ก มีนักเขียนที่เป็นนายตำรวจชื่อ มนัส สัตยารักษ์ ไปอยู่ระโนด มนัสเขียนเรื่องสั้นลงหนังสือพิมพ์ ชาวกรุง และอื่นๆ  บางทีเขียนเกี่ยวกับเมืองระโนดด้วย  สมัยโน้นมนัสโดดเด่นมากเพราะเป็นคนกรุงเทพฯ รูปหล่อแล้วมาเป็นนายตำรวจในอำเภอเล็กๆ  ผมเคยเห็นเขาขี่ม้าเรียกแถวตำรวจ เท่ดี  ทำให้คิดว่าการออกภาคสนามเวลารับราชการ ทำให้เรามีข้อมูลเขียนเรื่องด้วย เลยเลือกสอบเข้าคณะรัฐศาสตร์  ซึ่งก็เรียนได้แต่ไม่ถึงกับใช่ เห็นได้จากปี ๔ ผมตกวิชาหนึ่ง เกี่ยวกับการบริหาร เรารู้สึกว่าอาจารย์สอนไม่เก่ง มารู้ว่าตกวิชานี้ตอนนั่งกินข้าว เพื่อนวิ่งมาบอกว่าได้ F เราใจหายวูบเลย ต้องเรียนซ้ำ จบ ๔ ปีครึ่ง  ผมไปงานรับปริญญาเพื่อน พอถ่ายรูปหมู่ทั้งคณะก็ไม่มีผม  ผมมารับปริญญารุ่นหลังจากนั้น ๑ ปี รุ่นเดียวกับอาจารย์จรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ คนปัจจุบัน



สมัยเรียนมหาวิทยาลัย อะไรทำให้พี่เอนกออกสำรวจวัดร้าง ตามหาพ่อเพลงแม่เพลง แทนที่จะไปสนุกสนานกับเพื่อนในช่วงวันหยุด
เพราะตอนเรียนที่สงขลา ได้อ่านงานของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ นักโบราณคดีอาวุโส ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)  ที่สงขลามีร้านหนังสือเก่าร้านหนึ่งชื่อร้าน “นายน่วม” ผมกับพี่ชายไปซื้อหนังสือร้านนี้ประจำ เจอหนังสืออาจารย์ น. ๒-๓ เล่ม เป็นหนังสือปกแข็ง อ่านแล้วสะเทือนใจมาก เพราะวัดโบราณถูกรื้อทำลายตลอดเวลา เกิดความเสียดาย คิดว่านี่คืองานขั้นแรกที่จะต้องเริ่มทำเมื่อเข้ากรุงเทพฯ

พอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในปี ๒๕๑๕ ผมก็ออกสำรวจ บางทีก็ชวนเพื่อน ชวนพี่ชายไปเป็นเพื่อน บางทีก็ไปคนเดียว  ออกสำรวจวัดเก่าตั้งแต่เรียนปี ๑  ตอนนั้นได้กล้องแบบ Instamatic ที่เรียกว่ากล้องปัญญาอ่อนของพี่มาใช้ บางทีก็ยืมกล้อง SLR จากเพื่อนรุ่นพี่มา ออกไปถ่ายจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์วิหารตามวัดเก่าในกรุงเทพฯ และธนบุรี เช่น วัดสุวรรณาราม วัดทอง วัดเปาโรหิตย์  ทำแผนที่ พล็อตจุดว่าไปตรงไหนมาบ้าง ใช้หนังสือ ศิลปกรรมในบางกอก ของอาจารย์ น. เป็นคู่มือ ดูว่าอาจารย์บอกว่าอะไร เราพบแล้วเป็นอย่างไร  ก่อนหน้านั้น ผมเคยเขียนจดหมายถึงอาจารย์ น. ถามว่าการขออนุญาตชมโบสถ์วิหารต้องทำอย่างไรบ้าง อีกนานมากจึงได้รับโปสการ์ดตอบว่าป่านนี้คุณคงออกสำรวจไปแล้ว ส่วนการขออนุญาตนั้นขึ้นกับจังหวะ  ผมดีใจที่ได้รับโปสการ์ดจากอาจารย์ ยังเก็บโปสการ์ดแผ่นนั้นไว้จนบัดนี้

ผมมีสมุดปกแข็งเล่มหนึ่งชื่อ “อ่านเอาเรื่อง เขียนเอาความ”  อ่านอะไรมารู้สึกชอบใจ จะบันทึกข้อมูลจากความจำลงไป เป็นการฝึกจำและฝึกบันทึกไปในตัว นอกเหนือจากเขียนบันทึกประจำวันที่ผมทำมาตลอดตั้งแต่ ป. ๖

ถึงเวลาปิดเทอมผมก็มีสมุด “ปิดเทอมทั้งทีมีอะไร” เช่นเรียนจบปี ๑ ก่อนกลับลงไปพักผ่อนที่ระโนดผมจะออกสำรวจวัด จะจดว่าไปวัดไหนมาบ้าง เดินผ่านสวนตรงไหน ไปอย่างไร เห็นอะไร ผมจดทั้งนั้นครับ

ที่เริ่มสนใจเพลงพื้นบ้านเพราะพ่อเพลงแม่เพลงเริ่มหมด ผมไปดูงานที่สังคีตศาลา หน้าโรงละครแห่งชาติ หรืออ่านหนังสือพิมพ์เขาเขียนว่าดนตรีไทยกำลังจะหมด เพราะคนหันไปสนใจเพลงสากลกันมากขึ้น ผมมองว่าแม้จะห่วงเรื่องดนตรีไทยกันมาก แต่ก็ยังมีการสอนดนตรีไทย มีสถาบันมีชมรมที่ทำงานด้านนี้  การละเล่นพื้นบ้าน อย่างหนังตะลุง มโนราห์ หนังใหญ่ ลำตัด เพลงฉ่อยสิยิ่งแย่กว่า เพราะไม่มีใครสนใจ  พอคนเหล่านี้ตาย ภูมิปัญญาต่างๆ ก็พลอยสูญหายไปด้วย เลยคิดว่าต้องทำควบคู่กับการบันทึกภาพจิตรกรรมฝาผนังและเรื่องวัดวาอาราม

ผมอ่านคอลัมน์ศิลปวัฒนธรรมใน สยามรัฐ รายวัน บอกแล้วคุณอาจคาดไม่ถึง คือ วีระ มุสิกพงศ์ ก็เคยเขียนถึงคนเพลงใน สยามรัฐ ด้วย เขาใช้นามปากกาว่า “ระโนตวี”  ผมเคยอาศัยข้อเขียนของเขาไปแกะรอยหาพ่อเพลงที่ชื่อตาพรหม ตลาดสะพานใหม่จนพบ

พอปิดเทอมผมก็ลงไปสัมภาษณ์นายหนังตะลุงแถบจังหวัดสงขลา พัทลุง เพราะเคยตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีใครสนใจศึกษาประวัตินายหนังตะลุงยุคเก่าจริงๆ จังๆ เลย  คือในบทร้องไหว้ครูหนัง มีการเอ่ยนามครูหนังสั้นๆ แต่ไม่มีใครไปขยายความว่าแต่ละคนเกิดที่ไหน ตายเมื่อไร  เราสังเกตอย่างนี้ ทำให้รู้ว่าสมัยก่อนมีนายหนังชื่ออะไรบ้าง บ้านอยู่ตำบลไหนบ้าง จากนั้นก็ตามหาไปเรื่อยๆ ได้ข้อมูลแล้วก็เอามาเขียนเผยแพร่

ที่ผมทำแบบนี้ทำเพราะชอบ ในชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ มีสมุดเล่มหนึ่งวางอยู่ในห้อง ใครจะเขียนอะไรลงไปก็ได้ คนอื่นเขาเขียนกลอน แต่ผมเป็นห่วงศิลปวัฒนธรรมของชาติ ผมเขียนลงไปว่าต้องรีบเก็บข้อมูล โดยมี “ศรัทธาเป็นพลัง” ยืนยันหลักการนี้มาตลอด  ผมอาจแปลกแยกไปจากคนอื่นมาก แต่เพื่อนๆ ร่วมชั้นก็เข้าใจ บางคนเรียกผมว่า “มนุษย์โบราณ”

ทำไมจึงเลือกเข้าชมรมวรรณศิลป์ สภาพการทำกิจกรรมสมัยนั้นเป็นอย่างไร
คนในคณะรัฐศาสตร์ก็ชอบอะไรแตกต่างกัน หลายคนเล่นฟุตบอล เล่นรักบี้ หรือเข้าชมรมฟันดาบ  ผมไม่เก่งกีฬา ชอบอยู่กับหนังสือมาตลอด เมื่อมีชมรมวรรณศิลป์ก็ไปเป็นสมาชิก ทำให้รู้จักคนที่สนใจอะไรคล้ายกัน  ยุคนั้นคนวรรณศิลป์ จุฬาฯ ส่วนมากเป็นนักกลอน เขียนกลอนกันเก่งๆ  ผมเขียนกลอนแบบธรรมดา เวลาไปแข่งกลอนสดระหว่างมหาวิทยาลัยก็ไปแข่งกับเขา ไปกันเป็นทีม

สมัยนั้นมีการออกวารสารวรรณศิลป์ด้วย ผมยังนำบทสัมภาษณ์แม่เพลงที่ชื่อยายทองหล่อมาลงในวารสาร  ทำวารสารแล้ว ในฐานะเป็นรุ่นน้องต้องไปช่วยยืนขายหน้าประตูจุฬาฯ ฝั่งสามย่านด้วย ขายเล่มละ ๒ บาท  กิจกรรมของชมรมวรรณศิลป์ยุคผมอาจจะสู้รุ่นก่อนหน้าขึ้นไปอีกไม่ได้ เพราะเขาแข่งกลอนกันสนุกมาก  กลอนยุค ๒๕๐๐-๒๕๑๐ เรียกกันว่ายุคสายลมแสงแดด  ส่วนการออกค่ายซึ่งนิยมกันมากนั้น ผมไม่ได้ไปกับเขาหรอกครับ เพราะรู้ตัวดีว่าเป็นคนกินยากอยู่ยาก อีกอย่างเราก็ทำงานที่คนอื่นไม่ทำอยู่แล้ว

สภาพการเดินทางและวิธีเก็บข้อมูลสมัยก่อนเป็นอย่างไร
สมัยก่อนผมไม่มีรถส่วนตัว ต้องอาศัยรถเมล์ รถ บขส. รถท้องถิ่น เป็นหลัก  เวลาเดินทางไปที่ต่างๆ ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายมาก  การไปมาสมัยก่อนไม่ง่าย ถนนก็ไม่ได้เข้าถึงเกือบทุกแห่งเหมือนสมัยนี้ ค่อนข้างลำบาก  ผมต้องสะพายกล้องและหิ้วเครื่องบันทึกเสียงขนาดเทอะทะไป  ครั้งหนึ่งตอนเก็บข้อมูลหนังตะลุงที่ภาคใต้ ผมรู้สึกว่าเครื่องบันทึกเสียงที่หิ้วไปเกะกะมาก เลยตัดสินใจนั่งรถไฟกลับกรุงเทพฯ ไปซื้อเครื่องบันทึกเสียงใหม่ที่หลังกระทรวงมหาดไทย ได้เทปยี่ห้อ SANYO เป็นของมือสอง  การสำรวจ การเดินทางทำให้เราสนุก เอาแค่สำรวจคลองมหานาคในกรุงเทพฯ ก็น่าสนใจแล้วครับว่ามีบ้าน มีวัด มีตลาดอะไรบ้าง  สมัยนั้นผมไปนั่งสเกตช์ภาพตามมุมต่างๆ ของคลอง วาดไม่สวยหรอกครับแต่ประทับใจสิ่งที่ได้เห็น คลองมหานาคช่วงที่ผ่านโบ๊เบ๊สวยมาก  สมัยนั้นตลาดน้ำหมดไปแล้ว แต่ด้วยความที่ชอบคลองชอบน้ำมาแต่เด็ก ผมจึงชอบไปดูเพราะรู้สึกสบายใจ

ก่อนมาเป็นนักเขียนอิสระ พี่เอนกผ่านการทำงานมาหลายแห่ง อยากให้เล่าถึงเส้นทางการทำงานที่ผ่านมา
พอเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว ผมก็กลับไปบวชที่บ้านเกิดเพราะยายทำบุญไว้ก่อนตาย บวชสั้นๆ ๑๐ วัน ไม่ได้ทำอะไรมาก แต่ก็พอเป็นประโยชน์อยู่บ้าง เช่นไปช่วยเขาเขียนพนักเก้าอี้ว่าใครเป็นคนบริจาค  ว่างๆ ไม่รู้จะทำอะไรก็สัมภาษณ์หลวงตาหลวงพี่ซึ่งมีไม่กี่รูป หลวงตาเล็กนั้นเคยเลี้ยงแมวน่ารักหนึ่งตัว ฟังแล้วประทับใจมาก ต้องจดลงสมุดไว้ แต่จนป่านนี้ก็ยังไม่ได้นำมาเขียนถึง  บางทีก็ฟังเพลงแหล่ของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ กับ ขวัญจิต ศรีประจันต์  พอฟังแล้วก็ถอดเทปไว้ช่วยจำ

ซึ่งเป็นพ็อกเกตบุ๊กกลับไปที่สมัยเรียนสักเล็กน้อย ตอนเรียนรัฐศาสตร์ปี ๔ อาจารย์ประณต นันทิยะกุล ที่ดูแลหอพักจุฬาฯ เห็นผมชอบเขียนหนังสือ จึงมอบหมายหน้าที่ให้ทำหนังสือสำหรับแจกในงานดนตรีไทยของมหาวิทยาลัยวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงเกิดหนังสือเพลงยังไม่สิ้นเสียงเล่มแรกของผม

เพลงยังไม่สิ้นเสียง รวมบทสัมภาษณ์ศิลปินพื้นบ้าน เช่นพ่อเพลงแม่เพลง คนเชิดหุ่นกระบอก เชิดหนังใหญ่ หนังตะลุง  พอเรียนจบแล้ว อาจารย์ประณตก็แนะนำว่าชอบเขียนหนังสือน่าจะไปทำงานหนังสือพิมพ์  ตอนนั้นมีหนังสือพิมพ์เปิดใหม่คือ เจ้าพระยา เป็นของรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร  ผมเลยไปทำงานอยู่ในทำเนียบ โก้มาก  งานหลักคือเขียนคอลัมน์ศิลปวัฒนธรรม ๑ หน้าเต็ม สำนวนภาษาไม่ได้ดีมาก  ต่อมาพอเกิดปฏิวัติ หนังสือพิมพ์ก็เลิกออก

หลังจากนั้นก็มาอยู่กับพี่สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่นิตยสารรายสัปดาห์ชื่อ เศรษฐกิจการเมือง  ผมเขียนเรื่องแนวศิลปวัฒนธรรมลงสัปดาห์ละครั้ง ช่วยทำหน้าที่ตรวจปรู๊ฟด้วย แล้วไปอยู่นิตยสาร BR (Bangkok Readers) นิตยสารแนวแฟชั่น-ไฮโซ เพราะ เขมชาติ เทพไชย เพื่อนที่ทำงานอยู่ก่อนลาออกไปรับราชการกรมศิลปากร  เดี๋ยวนี้เขมชาติเป็นรองอธิบดีไปแล้ว

ตอนผมเข้าไป เป็นช่วงปลายๆ ของ BR  ทำอยู่ปีกว่าก็ลาออกมาอยู่บ้านพี่สาว พยายามเขียนหนังสือ คนนอกศตวรรษ ต่อจาก เพลงนอกศตวรรษ  จากนั้นก็เป็น “ลูกจ้างพิเศษ” ของวารสาร เมืองโบราณ ทำให้ได้พบตัวอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ จริงๆ  ได้ออกสำรวจกับท่านราว ๕-๖ ครั้ง  ไปหลายแห่งครับ ส่วนมากเป็นภาคกลางกับภาคอีสาน  อาจารย์ น. ชอบกินอาหารท้องถิ่น ส่วนผมกินยากอยู่ยาก เช่นอาจารย์บอกว่าไปที่นี่ต้องกินปลาตะโกก เอนกตายเลย ก็ต้องกินกล้อมแกล้มกับเขาไป  งานสำรวจทำให้ได้เห็นอะไรมาก ผมไม่ได้เรียนโบราณคดีโดยตรง อาจารย์ น. ท่านให้ความเมตตาผมพอสมควร  อาจารย์ น. เป็นคนขยัน มีพลังเยอะมาก ทำงานหลายอย่าง วาดรูป เขียนลายเส้น ถ่ายภาพวัดวาอารามจำนวนมหาศาล  ผมเคยเห็นอัลบัมภาพของท่านแล้วยอมแพ้  อัดรูปใส่ในอัลบัมขนาดใหญ่เท่าหน้าหนังสือพิมพ์ประมาณ ๓๐-๔๐ เล่ม แสงเงาสวยมาก  จำได้ว่าอาจารย์ใช้กล้อง Hasselblad มีขาตั้งอย่างดี  นอกจากนี้ท่านยังเขียนหนังสือเยอะมาก ผมเองทำได้น้อยกว่าอาจารย์  ลองคิดดูว่าท่านออกสำรวจวัด ๒๐๐-๓๐๐ แห่งในยุคที่การเดินทางยังยากลำบากมาก่อนผม ค้นหาความรู้เอง ไม่ได้ลอกใคร ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม ค้นคว้าเพิ่ม ทำให้เกิดความรู้ใหม่นับไม่ถ้วน

ผมทำงานที่ เมืองโบราณ ในฐานะลูกจ้างพิเศษ ต่อมาก็ไปเป็นลูกจ้างพิเศษที่ศูนย์สังคีตศิลป์ด้วย  ตอนนั้นคุณบุญชู โรจนเสถียร กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ตั้งศูนย์นี้ขึ้นโดยให้ฝ่ายการประชาสัมพันธ์ของธนาคารกรุงเทพ เป็นผู้ดูแล จุดหมายคือคืนกำไรให้สังคม  ผู้ใหญ่อย่างคุณพินิจ พงษ์สวัสดิ์, คุณพยงค์ คชาลัย, คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และที่ปรึกษาอย่างคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เขารู้ว่าผมทำงานด้านนี้ ก็ติดต่อชักชวนให้ไปช่วยงาน  ตอนหลังก็เลยไปประจำที่ศูนย์สังคีตศิลป์แทน



ช่วงที่พี่เอนกอยู่ศูนย์สังคีตศิลป์ มีการจัดกิจกรรมเพลงพื้นบ้านและการรณรงค์เรื่องของเก่าซึ่งเป็นการจุดประกายให้สังคมบ่อยครั้งมาก 
ผมอยู่ที่นั่น ๒๓ ปีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๔๕  ศูนย์สังคีตศิลป์อยู่ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานผ่านฟ้า เป็นตึก ๔ ชั้น  เปิดการแสดงครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒ คือมีการแสดงให้คนดูฟรีทุกวันศุกร์ ภารกิจผมคือเชิญศิลปินพื้นบ้านมาขึ้นเวที จัดเสวนาและจัดสัมมนาพิเศษ  ความที่ผมออกสำรวจมานานเลยรู้จักพ่อเพลงแม่เพลงมากมาย ก็ติดต่อเชิญท่านมาแสดงบนเวที แต่เพลงพื้นบ้านปีหนึ่งจัดได้ไม่กี่ครั้งหรอก เพราะต้องแบ่งเวลาให้รายการอื่นด้วย  ตอนนั้นผมเร่งเก็บข้อมูลเพลงพื้นบ้าน เพราะกำลังใกล้หมด

ปี ๒๕๒๕-๒๕๒๖ ผมเสนอทำโครงการสัมมนาพิเศษเสริม เช่น จัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินเพลงพื้นบ้านภาคกลาง เราเชิญศิลปินเพลงพื้นบ้านมาเล่นเพลงติดต่อกันถึง ๘ ชั่วโมง ให้เล่นชุด “ตีหมากผัว” หรือเมียน้อยเมียหลวงทะเลาะกันเรื่องแย่งผัวบ้าง ชุด “ชิงชู้” คือผัวถูกเกณฑ์ทหาร เมียไปได้ผัวใหม่บ้าง ชุด “สู่ขอ” ว่าด้วยประเพณีการยกขันหมากสู่ขอบ้าง  ปรกติเขาเล่นกันเป็นวันเป็นคืน มีร้องบอกให้ฝ่ายผู้หญิงช่วยดูหมีดูหมาไปตามเรื่อง ต้องใช้โวหาร ใช้วาทศิลป์ ฟังแล้วสนุก  เราให้พ่อเพลงแม่เพลงแสดงแบบไม่ต้องย่อ บันทึกเทปกัน ๘ ชั่วโมงเช้ายันเย็นเลย คนดูก็ได้ดูกันแบบเต็มอิ่ม  พอเก็บเสียงพ่อเพลงแม่เพลงได้ระดับหนึ่งแล้วก็หันมาเล่นเรื่องของเก่า

เมื่อปลายปี ๒๕๓๐ ผมได้ทุนสถาบันเกอเธ่โดยการประสานของคุณโดม สุขวงศ์ กับคุณเพ็ญพรรณ เจริญพร หอภาพยนตร์แห่งชาติ ไปเรียนภาษาเยอรมันแบบสั้นๆ ๔ สัปดาห์ที่ประเทศเยอรมนี จากนั้นก็ใช้ทุนส่วนตัวข้ามไปดูพิพิธภัณฑ์ในปารีสอีก ๗ วัน เป็นการไปยุโรปหรือเมืองนอกครั้งแรกของผม กลับเมืองไทยก็มาชวนคุณโดม สุขวงศ์ (หอภาพยนตร์แห่งชาติ)  อาจารย์สุกรี เจริญสุข (ผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน)  พี่พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (คอลัมนิสต์และนักวิชาการอิสระ)  มนัส พูลผล (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ)  เจนภพ จบกระบวนวรรณ (ผู้สนใจเพลงลูกทุ่ง)  อาจารย์วรรณา (ภรรยา) ตั้ง “สโมสรนักสะสม” ขึ้น เป็นชมรมแบบไม่เป็นทางการ

พอถึงวันศุกร์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๓๑ เราก็จัด “นิทรรศการอวดของเล่นไขลาน” ที่ศูนย์สังคีตศิลป์ เป็นการบอกสังคมเป็นประเดิมว่าขอให้ช่วยกันเก็บของประเภทนี้บ้าง  ต่อมาก็จัดงาน “อวดของ ๕๐๐ จำพวก” “อวดเครื่องดนตรีเก่า”  ฯลฯ คนมาดูก็ตื่นเต้น สนุก

พิพิธภัณฑ์บ้านเราไม่สนใจของพวกนี้ ถ้าไม่ทำอะไรอีก ๔๐-๕๐ ปีมันจะหายไปหมดทั้งๆ ที่เป็นของใกล้ตัว ยุคนั้นมีคนเอากางเกงมอสขาบานๆ มาร่วมแสดง คือกางเกงมอสในยุค ๒๕๑๐ มันกลายเป็นของแปลกไปแล้วครับ  ทุกวันนี้ผมยังสงสัยว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหรือพิพิธภัณฑ์ไหนเก็บเสื้อสายเดี่ยวเข้าพิพิธภัณฑ์แล้วหรือยัง สักวันหนึ่งมันจะกลายเป็นของหาดูไม่ได้ เพราะหมดสมัยแล้วก็โยนทิ้งหมด

ถึงได้บอกไงครับว่า “เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า” ทำไมต้องรอให้ของหายก่อนแล้วไปตามหาทีหลังล่ะ หาก็ยาก แพงก็แพง  จากนั้นก็เกิด “สมาคมกิจวัฒนธรรม” เพราะอยากทำชมรมให้เป็นหลักเป็นฐาน เพื่อที่ผู้บริจาคของและเงินจะได้อุ่นใจว่าถูกนำมาใช้งานจริง  ชื่อนั้นมาจากการที่คุณโดมบอกมีพรรคการเมือง “กิจสังคม” แล้วก็ต้องมี “กิจวัฒนธรรม” ด้วย  สมัยนั้นสมาชิกหลักมีอยู่ ๕-๖ คนเท่านั้น แม้สมัยนี้ก็ยังไม่มาก แต่การทำงานของสมาคมเราถือหลักว่าต้องคล่องตัว อยากซื้ออะไรจ่ายอะไรที่จำเป็น ตัดสินใจกันเดี๋ยวนั้นเลย ตอนนี้นายกสมาคมฯ คือคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ที่ทำสำนักพิมพ์ต้นฉบับ ซึ่งผมบอกว่าเป็นไปได้ก็ให้เป็นตลอดชีวิตไปเลย จะได้ทำหน้าที่รับใช้ประเทศชาติอันเป็นที่รักของเรา

ผมต้องขอบคุณศูนย์สังคีตศิลป์ที่ให้โอกาสทำในสิ่งที่ชอบ ถ้าเป็นที่อื่นคงทำแบบนี้ไม่ได้  สมัยก่อนเวลาจัดกิจกรรม ประชาชนให้ความสนใจมาก  ผมออกจากที่นั่นในปี ๒๕๔๕ เพราะงานของศูนย์ฯ ซาลงแล้ว ส่วนผมเองก็อยากใช้ชีวิตแบบอิสระ คือคิดมาก่อนแล้วว่าไม่อยู่จนปลดเกษียณ อยากเขียนหนังสือมาก ต้องการเวลาไปพักหรือเที่ยว

พ่อเพลงแม่เพลงบางคน พี่เอนกคอยเป็นธุระดูแลเรื่องสุขภาพไปจนถึงความเป็นอยู่มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย จนทำงานแล้วพี่เอนกก็ยังคงดูแลคนกลุ่มนี้อยู่เสมอ
เกิดจากความเป็นห่วง  ผมจำได้ดีในปี ๒๕๑๘  ปีนั้นผมใจหาย เพราะหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยะชีวิน) ตาย พระธาตุพนมก็ถล่ม  ช่วงนั้นพ่อเพลงอย่างตาพรหม เอี่ยมเจ้า กำลังแก่มาก  เราจำได้ว่า “ระโนตวี” เคยเขียนถึงตาพรหมใน สยามรัฐ ว่าบ้านแกอยู่แถวตรอกโรงเจ ตลาดสะพานใหม่ เราก็ตามไปถามหาจนพบ  ปีนบันไดบ้านโกโรโกโสของแกขึ้นไป พบแกนอนป่วยขี้เยี่ยวไหลอยู่  วันนั้นผมพาเพื่อนจากหอพักจุฬาฯ ไปด้วย ๒ คน พอกลับมาผมก็เขียนข่าวแปะบนบอร์ดขอเงินบริจาค  จากนั้นก็ไปที่หนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ขอพบคุณนพพร บุณยฤทธิ์ ขอให้ช่วยไปเรียน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ทราบ เพราะตาพรหมเคยไปเล่นเพลงฉ่อยในงานวันเกิดของท่าน เลยได้เงินไปช่วยแกอีกส่วนหนึ่ง แต่ผมไปหาตาพรหมได้แค่ ๒ ครั้งแกก็ตาย ผมเขียนในสมุดของชมรมวรรณศิลป์ว่าน่าเป็นห่วงมากที่รัฐบาลไม่สนใจดูแลศิลปินพื้นบ้าน ภาพยนตร์เกี่ยวกับพ่อเพลงแม่เพลงเราก็ไม่มีเป็นชิ้นเป็นอัน  อีกคนที่ผมดูแลตลอด ๑๕ ปีคือป้าสำอางค์ ที่ร้องเพลงขอทานได้วิเศษมาก  ผมดูแลแกมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ จนแกตายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐

ดูเหมือนพี่เอนกสนใจสะสมของเก่า ค้นคว้าเรื่องเก่าตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์จนถึงยุคปัจจุบัน ทำไมเลือกศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ช่วงนี้
ประวัติศาสตร์ช่วงยุคกรุงศรีอยุธยา สุโขทัย ข้อมูลเหลือน้อย เอกสารก็น้อย การค้นคว้าต้องอาศัยการขุดค้นทางโบราณคดีช่วย ต้องมีความรู้ทางภาษา การขอใช้เอกสารที่เกี่ยวข้องก็มีขั้นตอนยุ่งยาก  ผมไม่ได้เรียนโบราณคดีโดยตรง และที่สนใจเรื่องในช่วง ๑๐๐-๒๐๐ ปี ก็เพราะยุคนี้มีภาพถ่าย
ให้เราได้เห็นมากกว่า เป็นยุคที่เริ่มมีเทคโนโลยีการถ่ายภาพแล้ว หรือถ้าไม่มีภาพถ่ายก็ยังมีร่องรอยในจิตรกรรมฝาผนังอยู่บ้าง  ช่วงนี้มีเทคโนโลยีการพิมพ์แล้ว เอกสารจึงพอหาอ่านได้ ส่วนข้าวของก็ดูคลาสสิกน่าศึกษา

ปัญหาสำคัญคือคนเขียนสารคดีสมัยผมเป็นเด็ก ชอบเขียนหนังสือในลักษณะเล่าตามสบาย ไม่ค่อยอ้างอิงว่าเอาข้อมูลมาจากไหน พอจะไปค้นคว้าต่อก็รู้สึกยาก เพราะไม่รู้จะไปถามเอากับใคร แถมเรายังเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง จะรู้จักผู้รู้ผู้ใหญ่ได้อย่างไร เลยคิดว่าควรชำระเรื่องราวเหล่านี้ให้เป็นหลักเป็นฐาน ตั้งใจไว้เลยว่าจะเขียนบอกให้คนอ่านรู้หมด ว่ารู้มาได้อย่างไร รู้จากใคร และยังไม่รู้อะไรอีกบ้าง  ระบบอ้างอิงของผมเลยพัฒนามาเรื่อยๆ จากช่วงแรกที่ใส่แบบกว้างๆ ต่อมาก็ทำแบบละเอียด

ความท้าทายคือการตอบคำถาม ตอบข้อสงสัยของตัวเองซึ่งเชื่อว่าเป็นความสงสัยของคนอื่นด้วย ตอบไปทีละข้อๆ ผมเปรียบตัวเองว่าเป็นเหมือนคนปะชุนประวัติศาสตร์  การทำงานประวัติศาสตร์โดยทั่วไปมี ๒ ระดับ คือ ระดับมหภาค เขียนประวัติศาสตร์ในลักษณะภาพรวม กับระดับจุลภาค คือเขียนเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ตอบข้อสงสัยเล็กๆ น้อยๆ ไปทีละนิด ผมทำในระดับนี้  แต่อย่าคิดว่าผมทำเสร็จหมดแล้ว มีเรื่องที่ยังรอการชำระอีกมากมาย คนรุ่นใหม่ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีงานทำ มีงานให้ทำไปตลอดชาติ  ไม่ต้องดูไกลตัว หนังสือพิมพ์ในรอบปีนี้ แค่ตัดข่าวมาสรุปให้อ่านง่ายๆ ก็ทำกันไม่หวาดไม่ไหวแล้ว  ผมเองเก็บข่าวใหม่จนกองสูงท่วมหัว ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีเวลาเอามาสรุปเลย

มีหลักเกณฑ์ในการเก็บของเก่าอย่างไร อะไรควรเก็บ อะไรไม่ควรเก็บ เพราะสิ่งของรอบตัวเรามีมากมาย
เราควรเลือกว่าของชิ้นนั้นบอกอะไรเราได้บ้าง หรือจะเก็บในฐานะเป็นของสวยก็ได้  คนส่วนมากมักเลือกเก็บของสวย ผมเองก็เหมือนกัน  หลักๆ คือเก็บของที่พอหาได้ ซื้อได้  สมัยเป็นเด็กผมยังเก็บของได้ไม่มาก ที่เก็บอยู่แล้วคือหนังสือ ตอนหลังค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นตามกำลังทรัพย์  หากเป็นหนังสือก็เลือกเล่มที่มีเนื้อหาสาระ มีภาพน่าสนใจ ไม่แพงเกินไปเพราะผมไม่ได้มีเงินมาก ไม่ถึงกับไปเสาะแสวงหามาให้ครบทุกรุ่นทุกแบบ  ของเล่นที่ผมเริ่มเก็บคือของแถมในกล่องผงซักฟอก เป็นเรือขนาดจิ๋ว ทุกวันนี้ยังสืบไม่ได้ว่ามากับผงซักฟอกยี่ห้อใด รู้แต่ว่าชอบเอามาลอยเล่นในกะละมัง

อะไรคือปัญหาของการศึกษาประวัติศาสตร์ในบ้านเรา
ประเทศไทยขาดแหล่งรวบรวมของ ทำให้ประวัติศาสตร์ขาดแหว่ง พูดง่ายๆ ว่าไม่มีของให้ดู มีแต่คำบอกเล่าหรือไม่ก็ตัวหนังสือซึ่งจินตนาการยาก  อ่านประวัติศาสตร์แล้วไม่เข้าใจ นึกภาพไม่ออกว่าวีรบุรุษคนนั้นหน้าตาอย่างไร  เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้เป็นอย่างไร  ยกตัวอย่างเครื่องอัดกอปี้ หรือเครื่องทำสำเนาเอกสารสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็ยังหาดูไม่ได้ อ่านหนังสือแล้วก็ไม่เข้าใจวิธีใช้

รัฐบาลต้องประกาศว่าใครจะทิ้งของลักษณะนั้นลักษณะนี้ ให้เอามาให้รัฐบาลเก็บ เพราะตามบ้านเรือน ตามตลาดเก่าๆ อาจมีของแปลกๆ หลงเหลืออยู่  ประเทศเรายังต้องการโกดังหรืออาคารเก็บรักษาของทุกๆ สมัย  พิพิธภัณฑ์บ้านเราส่วนมากเก็บแต่วัตถุโบราณ เศียรพระพุทธรูป มันซ้ำซากมานาน  ผมไม่ได้บอกว่าไม่ควรเก็บ แต่ควรเก็บตัวอย่างของทุกยุค ไม่จำกัดเฉพาะของยุคโบราณ

เรื่องที่ผมคุยกับภัณฑารักษ์และนักพิพิธภัณฑ์บ่อยๆ คือพิพิธภัณฑ์ที่รัฐทำค่อนข้างซ้ำซาก และทำแบบเหมือนกันไปหมดทุกแห่ง  ความจริงรัฐบาลไทยมีงบประมาณมหาศาล แต่จัดสรรและใช้ไม่เป็น ชอบเอางบไปจัดงานแบบระยะสั้น อาทิสงกรานต์ไม่กี่ปีก่อน ทำน้ำพุเต้นระบำ ๕-๑๐ วันที่ถนนราชดำเนิน ใช้เงินไปถึง ๔๐ ล้านบาท ในขณะที่งานระยะยาวอย่างพิพิธภัณฑ์ หอสมุด กลับไม่ยอมทำ

การทำพิพิธภัณฑ์และหอสมุดเป็นหน้าที่พื้นฐานของประเทศ  ถ้าเป็นคนมีเงินอาจเนรมิตได้รวดเร็ว แต่ถ้าเป็นคนไม่มีเงิน ถึงอยากทำก็ล้มลุกคลุกคลาน ลำบากมาก  จะพึ่งวัด วัดก็ไม่ได้มีหน้าที่ทำพิพิธภัณฑ์โดยตรง จะคาดหวังเอากับพระไม่ได้  ส่วนสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ที่เราเคยคาดหวังว่าจะทำหน้าที่จัดสรรเงินมาช่วยคนอยากทำพิพิธภัณฑ์ สุดท้ายก็ไม่มีโครงการ ประชาชนต้องดิ้นรนกันเอง  คนทำพิพิธภัณฑ์ดูไม่ต่างจากลูกกำพร้า คือไม่มีหน่วยงานไหนรับผิดชอบดูแล อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ตายไป  งานพิพิธภัณฑ์และหอสมุดเป็นงานให้ความรู้ ให้ความภาคภูมิใจและมั่นใจแก่ผู้คน ว่าบ้านเราก็มีของดีไม่แพ้ที่อื่น  เมื่อไม่มีแหล่งเก็บของมายืนยัน เด็กปัจจุบันก็เลยขาดอนุสาวรีย์  อยากเป็นฝรั่ง เป็นเกาหลี ญี่ปุ่นไปหมด  นี่แหละเพราะไม่มีต้นแบบอะไรให้ดู เราไม่สร้างฐานความรู้ให้พลเมือง

ส่วนเรื่องระบบการศึกษา เรามีปัญหาในระดับโครงสร้าง  เรื่องง่ายๆ อย่างพาเด็กไปทัศนศึกษานอกโรงเรียน ห่างจากโรงเรียนแค่ ๕-๑๐ วา ครูกลัวแล้วว่าเด็กจะตกท่อ ตกน้ำ โดนรถชน เพราะเมืองเราไม่สนใจการวางผัง ต่างจากญี่ปุ่นหรือฝรั่งที่เขาวางผังโดยใส่ใจคนเดินถนนด้วย การจราจรเขาเป็นระเบียบ มีฟุตบาทมีทางจักรยานอย่างต่อเนื่อง มอเตอร์ไซค์ไม่ขึ้นไปไล่คนบนทางเดิน

ไปที่วัด ไปที่สุสาน เขาก็ทำวัดทำสุสานสะอาดสะอ้านใช้เป็นที่พักผ่อนได้ เขาเข้มแข็งเรื่องพวกนี้จนส่งออกวัฒนธรรมได้  ขณะที่บ้านเรามอเตอร์ไซค์ขึ้นมาวิ่งบนฟุตบาท หนักกว่านั้นคือขี่ย้อนศรจนเป็นเรื่องปรกติ  ไปดูวัด วัดก็เน้นแต่สร้างวัตถุบูชา ได้เงินมากก็เอาไปสร้างป้ายใหญ่ๆ ทำซุ้มประตูหรือรูปเคารพใหญ่ๆ แต่ปล่อยให้บริเวณวัดสกปรก ขายกันแต่ความเชื่อ ไม่ยอมทำวัดให้สะอาด สงบ จ้องแต่จะรื้อของเก่า

แบบนี้จะว่าครูก็ไม่ได้ ต้องไล่ไปจนถึงคณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม  ทุกวันนี้เก่งแต่ไปเปิดงาน แล้วแบบนี้ครูจะกล้าให้เด็กไปเที่ยวแหล่งประวัติศาสตร์ที่ไหน ในที่สุดเด็กก็อยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ พอไม่แสวงหาความรู้ ความรู้ก็อยู่กับที่  ผมจึงมีคำถามว่า ครม. คิดทำโครงการระยะยาวได้แล้วหรือยัง เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีต้องลงมาเป็นแม่งาน  รมว. กระทรวงวัฒนธรรมต้องทำมากกว่าไปแถลงข่าวเรื่องพระกรุนาดูนถูกขโมย รัฐมนตรีต้องคิดโครงการประเภททำหอสมุดแห่งชาติใหม่ให้เพียบพร้อม เก็บของได้มากขึ้น บริการได้ดีขึ้น

ในอนาคต พิพิธภัณฑ์ต้องเกิดขึ้นอีกมากเพื่อรองรับสิ่งของยุคหลังๆ ที่เกิดตามมาเรื่อยๆ  ยกตัวอย่างเหตุการณ์วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ รัฐบาลเก็บภาพและของจากเหตุการณ์จลาจลเผาบ้านเผาเมืองแล้วหรือยัง ต้องมีคลังเก็บกันตั้งแต่เดี๋ยวนี้ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาหาของกันอีก  มือตบ ตีนตบ ยางรถยนต์ ไม้หลาว กระสุน M-79 โปสเตอร์ สติกเกอร์ หมวก ผ้าคาดหัว ฯลฯ เหล่านี้ต้องเก็บเป็นตัวอย่างทั้งสิ้น

อยากให้เล่าถึงการก่อตั้ง “บ้านพิพิธภัณฑ์”
คือผมรู้สึกว่าบ้านเราไม่สนใจเก็บข้าวของในชีวิตประจำวันของชาวตลาดชาวเมือง ทั้งๆ ที่มันมีสีสันและมีเรื่องราวน่าดูน่าศึกษามาก ในส่วนของของชาวชนบท จำพวกแอก ไถ กระบุง ตะกร้านั้น ทางวิทยาลัยครูเขาเริ่มเก็บกันมาตั้งแต่ยุค ๒๕๒๐ ก็ถือว่าน่าพอใจในระดับหนึ่ง  ยกตัวอย่างที่สงขลา อาจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เก็บจนเกิดสถาบัน และพิพิธภัณฑ์ “ทักษิณคดีศึกษา” ที่เกาะยอ

ทางภาคอีสาน อาจารย์วิโรจน์ ศรีสุโร ก็เก็บเกวียนสวยๆ แถมบันทึกภาพชีวิตชาวบ้านไว้มากมาย เหลือชีวิตคนเมืองที่ยังไม่มีใครทำทั้งๆ ที่มีของน่าเก็บมหาศาล นี่คือช่องว่างที่ต้องถม ผมรำคาญใจเลยรีบทำเสียก่อนจะหมด  สมัยอยู่ศูนย์สังคีตศิลป์ ผมภาวนาว่าอย่าให้ผู้ใหญ่เปิดประตูห้องนิรภัยซึ่งเลิกใช้งานแล้วเข้าไปดูเลย เพราะฝากของไว้เต็มไปหมด  ที่บ้านผมก็ไม่ต่างกัน ห้อยระโยงระยางทั่วบ้าน ผมเรียกว่าค้างคาว

จน พ.ศ. ๒๕๓๔ มีคนให้ที่ดิน เราจึงเริ่มหาเงินสร้างพิพิธภัณฑ์  ที่ดินที่ตั้ง “บ้านพิพิธภัณฑ์” อยู่นี้ อยู่ในซอยศาลาธรรมสพน์ ๓  มีพื้นที่ ๕๘ ตารางวา ได้จากร้อยเอก อาลักษณ์ อนุมาศ  ทีแรกอาจารย์สุกรีมาหาซื้อที่ แล้วชวนผมมาซื้อด้วย  ของผมก็กว้างแค่ ๕๘ ตารางวา บังเอิญเจ้าหน้าที่โครงการคือคุณป้อมเขาเคยไปดูนิทรรศการที่เราจัด เลยบอกว่าจะช่วยขอที่ดินจากผู้กองอาลักษณ์แถมให้สมาคมทำพิพิธภัณฑ์ด้วย จึงได้ที่ฟรีมาอีก ๕๘ ตารางวา

ตอนแรกเราคิดจะทำพิพิธภัณฑ์เด็ก แต่คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ไปกราบเรียน ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานมูลนิธิสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์  พลเอกเปรมท่านบอกว่าให้เอาพิพิธภัณฑ์เด็กไปทำที่สวนสมเด็จฯ จะกันพื้นที่ให้ เลยโอนโครงการให้ กทม. โดยผ่านทางอาจารย์ไกรศักดิ์ ชุนหะวัณ  ส่วนที่ ๕๘ ตารางวาเดิม ผมขอดัดแปลงเป็นโกดัง แต่ต่อมา มาคิดว่าทำโกดังแล้วคงไม่มีใครมาดูแน่ เลยคิดทำเป็น “บ้านพิพิธภัณฑ์” ขึ้น คือเอาเงินบริจาคมาสร้างตึกหรือบ้าน ให้เป็นทั้งโกดังและพิพิธภัณฑ์พร้อมกันในตัว จนเปิดได้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ แต่จนถึงวันนี้รัฐบาลก็ยังไม่มีโครงการทำโกดังรับบริจาคของตามจังหวัดต่างๆ เลย

การที่ผมทำ “บ้านพิพิธภัณฑ์” ก็เพราะรัฐไม่ทำ ผมเดือดร้อนใจจึงทำ  คำว่า “บ้าน” นั้นมาจากการที่อาคารไม่ได้เป็นอาคารใหญ่ มีลักษณะเป็นบ้าน  ส่วน “พิพิธภัณฑ์” หมายถึงที่เก็บสิ่งของต่างๆ  ชื่อภาษาอังกฤษคือ “House of Museums”  ที่เติม s ก็เพราะมีของหลายประเภท เหมือนเรามีหลายพิพิธภัณฑ์ อยากให้คนมาดูแล้วไปทำพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ด้วย

คนที่สนับสนุนด้านการเงินแก่บ้านพิพิธภัณฑ์ส่วนมากก็เป็นคนที่เห็นความสำคัญเรื่องนี้ คนธรรมดาด้วยกันนี่แหละ มากบ้างน้อยบ้างผมจารึกชื่อเอาไว้หมด  รายใหญ่คือบริษัทกรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด บริจาค ๗ แสนบาท  ราคาค่าก่อสร้างตึกจริงๆ ตกราว ๓ ล้านบาท ออกแบบตึกโดยทีมงานที่คุณธีรพล นิยม ผู้ดูแลกลุ่มบริษัทแปลนฯ จัดมาให้

แนวคิดในการจัดพิพิธภัณฑ์คือทำห้องแสดงเป็นร้านค้าในตลาด เก็บของตามหมวดใหญ่ๆ เช่นมีขวดน้ำอัดลมก็เอาไปอยู่ในร้านกาแฟ มีของเล่นก็เอาของเล่นไปอยู่ในร้านของเล่น ยาไปอยู่ร้านขายยา จะได้ดูสนุก ไม่น่าเบื่อเหมือนเอาของไปใส่ตู้แบบเดียวกันหมด แล้วจัดตู้เรียงเป็นแถวอย่างที่เคยเห็นตามพิพิธภัณฑ์ทั่วไป

อุปสรรคสำคัญในการสร้างและบริหารบ้านพิพิธภัณฑ์คืออะไรครับ
ที่เราขาดคือคนช่วยคิดช่วยทำ ตอนสร้างตึกเสร็จแล้ว กรรมการแต่ละคนเริ่มมีภาระหน้าที่ของตัวเองมากขึ้น  ผมบอกว่าว่างๆ ขอมาประชุมต่อหน่อย ก็ไม่ค่อยสำเร็จ ทุกคนมีภาระหมด รู้สึกวังเวง  สิ่งที่ทรมานใจผมที่สุดคือเรื่องนี้แหละ จะไปฉุดดึงใครมาล่มหัวจมท้ายก็ไม่ค่อยได้เสียแล้ว เราต้องรับผิดชอบ เพราะคนบริจาคเงินมาแล้วต้องทำต่อให้เสร็จ  ตึกสร้างเสร็จปี ๒๕๓๘ แต่ต้องปล่อยว่าง เคยมีขโมยงัดบานเกล็ดเข้าไป แต่ก็ไม่ได้อะไรเพราะยังไม่มีของ มีแต่ห้องเปล่าๆ

โชคดีว่าปี ๒๕๔๒-๒๕๔๓ ผมไปเป็นกรรมการตัดสินประกวดลอตเตอรี่เก่า  พอพักเที่ยง ได้กินข้าวคุยกับผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ท่านบอกให้เขียนโครงการส่งมาเลย จากนั้นท่านก็สนับสนุน ๑ ล้านบาททันที ขณะเดียวกันก็โชคดีอีกชั้น คือได้สถาปนิกมาช่วยออกแบบกั้นห้องแสดงภายในอาคาร สถาปนิกคือคุณศรายุทธ พึ่งสุจริต เป็นนิสิตระดับปริญญาโทมหาวิทยาลัยศิลปากร มาอาสาช่วยโดยไม่คิดเงินเลย  แต่ที่แย่มากๆ คือโดนช่างบางคนโกงเงิน รับค่าจ้างทำลูกกรงป้องกันขโมยไปเป็นแสนแล้วหายเข้ากลีบเมฆไปเลย ผมเหนื่อยใจสุดขีดจนฝันร้ายและนอนไม่หลับอยู่นาน

การบริหารและการดำเนินงานในบ้านพิพิธภัณฑ์เป็นงานอาสาล้วนๆ  ทำแบบนี้ยากกว่าคนมีเงินเขาทำ เพราะมีเงินจ้างพนักงานมาทำตามที่กำหนดได้  คนอาสานั้นเราไม่รู้ว่าเมื่อไรเขาจะมา เมื่อไรเขาจะไป ผมกับคณะต้องอยู่เป็นหลัก แต่ยังดีที่มีหลายคนมาช่วย เราแบกข้าวของกันเอง ทำทุกอย่างกันเองทั้งสิ้น  ตอนนี้บ้านพิพิธภัณฑ์เลี้ยงตัวเองได้เพราะกรรมการไม่มีเงินเดือน ถ้าลองตั้งเงินเดือนกันสิเจ๊งแน่ เดือนหนึ่งๆ มีค่าใช้จ่ายเป็นหมื่น ยังไม่รวมค่าบำรุงรักษา เช่นทาสี หรือสร้างที่นั่งพักสำหรับแขกที่มาเที่ยว  ที่สำคัญคือพอคนขาดศีลธรรม ก็มีขโมยมาเยือน แจ้งตำรวจก็ไม่ได้อะไรดีขึ้นมา บางทีมาลักสายฉีดเก่าๆ บางทีตัดกุญแจเข้ามาเอาเงินบริจาคช่วยหมาไปก็มี ก็ได้แต่หาทางป้องกัน

พี่เอนกมีวิธีเสาะหาของเก่าอย่างไร
วัดสวนแก้วก็มีของเก่าเยอะ เพียงแต่วัดไม่ได้มีหน้าที่ทำพิพิธภัณฑ์  สมัยก่อนของดีๆ ไปอยู่ที่นั่นเยอะครับ เขามีซูเปอร์มาร์เกตขายของเก่าที่รับบริจาคมาแล้วซ่อม ก็ต้องไปเดินดูกัน  ตู้ร้านขายยาผมก็ซื้อจากวัดสวนแก้ว ปรกติบ้านพิพิธภัณฑ์ไม่ได้แข่งกับใครเพราะเราไม่มีเงิน ไม่ได้ไปเดินจตุจักร เดินคลองถมเพื่อเสาะหาของอย่างจริงจังเหมือนเซียนของเก่า  ส่วนมากเราอยู่กับหนังสือเราก็เล่นหนังสือ สิ่งของบางอย่างเราไม่ได้ตั้งใจว่าต้องมีให้ครบชุด คือมีก็เก็บ ไม่มีก็ไม่เป็นไร ไม่ถึงกับต้องไปเสาะหาจริงๆ จังๆ  แบบนั้นต้องใช้เงินเยอะ เราไม่มี ต้องทำใจ

ในยุคโลกาภิวัตน์ ข้อมูลบางอย่างอยู่ในรูปแบบดิจิทัล มีอุปสรรคในการเก็บรักษาและใช้งานหรือไม่  และมีวิธีจัดการกับของที่เริ่มเสื่อมสภาพอย่างไร ยกตัวอย่างฟิล์มขาวดำที่มีอายุเกิน ๑๐ ปี
ปัญหานี้ใหญ่มาก อันที่จริงการเก็บฟิล์มพอถึงจุดหนึ่งก็มีปัญหา เดิมผมเก็บข้อมูลแบบชาวบ้าน เช่นออกไปถ่ายรูป ส่งฟิล์มล้างแล้วก็เอามาเขียนวันเดือนปีที่ถ่าย สถานที่ถ่ายลงบนหน้าซอง จากนั้นก็ใส่นัมเบอร์ฟิล์มตามลำดับที่ถ่ายเพราะถ้าไม่จดบันทึกไว้ก็ไม่มีใครรู้

เอาฟิล์มลงลิ้นชักเหล็ก เก็บในห้องแบบธรรมดา เพราะไม่มีห้องทำงานดีๆ ชนิดเปิดแอร์ ๒๔ ชั่วโมง  วันดีคืนดีฟิล์มหมดสภาพ บวม อัดเป็นรูปไม่ได้ ก็เสียรูปสำคัญๆ ไป  สมัยก่อนหรือถึงสมัยนี้ก็เถอะ จะเอาไปอัดให้หมดทุกรูปได้ที่ไหน เงินทั้งนั้น ขนาดเดี๋ยวนี้ค่าสแกนฟิล์มเป็นดิจิทัลราคาลดลงมามากแล้วก็ยังทำไม่ได้ ราคาถูกที่สุดตอนนี้ตกม้วนละ ๘๐ บาท  สมมุติว่าทำ ๑๐๐ ม้วนก็ปาเข้าไป ๘ หมื่นบาท เราจะหาเงินมากๆ ได้จากที่ไหน ก็ต้องปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น

ถึงยุคมีกล้องดิจิทัล ผมก็ใช้กล้องดิจิทัล คือกล้องแบบฟิล์มมีน้ำหนักมาก ผมแบกขึ้นภูสีที่หลวงพระบางไม่ไหว พอมีกล้องดิจิทัลมาช่วย ก็ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าฟิล์มและค่าล้างฟิล์มได้มาก ประหยัดเวลาที่ต้องเข้าเมืองไปส่งไปรับหลายเที่ยว  ฟิล์มสไลด์นั้น คิดค่าฟิล์มและค่าล้างแล้วตกม้วนละ ๒๐๐ บาท ถ่ายได้ ๓๖ ภาพ  ผมถ่ายสไลด์ราว ๔,๐๐๐ ม้วน ใช้เงินไปราว ๘ แสนบาทใช่ไหม

การถ่ายภาพด้วยระบบดิจิทัล พอเอารูปลงคอมพิวเตอร์แล้ว ต้องคิดระบบอ้างอิงเอง  ถ้าไม่ทำไว้จะลำบากมากเพราะถ่ายเป็นแสนรูป  ช่วงแรกนี้ผมตั้งแฟ้มภาพไว้ด้วยเลข ๕ หลัก เช่น ๐๐๐๐๑, ๐๑๓๖๕  แบบนี้จะลงลำดับไฟล์ได้ ๙๙,๙๙๙ ไฟล์  ใน ๑ ไฟล์ ถ้ามี ๒๐๐ รูป ก็ต้องมีตัวเลขของแต่ละรูปกำกับต่อไปด้วย เช่น ๐๐๐๐๑-๐๐๑  ๐๑๓๖๕-๑๒๘  ต้องทำไปเรื่อยๆ  ถ่ายแล้วต้องรีบรีเนม ไม่งั้นจะขี้เกียจ และจะเอาไปอ้างอิงในคำบรรยายภาพไม่ได้

เวลาดูทีวี ถ้าอัดข่าวลงวิดีโอหรือดีวีดี ต้องบันทึกว่าม้วนที่เท่าไร แผ่นที่เท่าไร  จากนั้นต้องทำสารบัญไว้ช่วยจำมีเป็นร้อยๆ ม้วน  เรื่องไฟล์งานต้นฉบับก็เหมือนกัน สมัยก่อนเราพิมพ์ดีด ก็ทำสำเนาเก็บไว้อีกชุด พยายามเย็บเข้าเล่มไปเรื่อยๆ  พอถึงยุคคอมพิวเตอร์ ก็พรินต์เข้าแฟ้มบ้าง ไม่พรินต์บ้าง เรื่องแบบนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง แต่บางทีก็ลืม  ทำคนเดียวปวดหัวมาก เดี๋ยวนี้สายตาชักไม่ดี

เขียนหนังสือมาเกือบ ๒๐๐ เล่ม เล่มไหนที่พี่เอนกคิดว่าเป็นการทำงานที่ยากที่สุด
ประวัติการถ่ายรูปยุคแรกของไทย พิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดีภาพ  เล่มนี้ผมแก้แล้วแก้อีก เริ่มเขียนตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ ว่าจะพิมพ์ก็ไม่ได้พิมพ์ ทำให้ต้องแก้ข้อมูลตลอดเวลาเพราะข้อมูลเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ เช่นสมัยหลังพบว่าบาทหลวงลานอร์ดีมีบทบาทในการนำวิชาถ่ายรูปเข้ามาเมืองไทยด้วย ก็ต้องเพิ่มเติมข้อมูลใหม่ๆ เข้าไป เพราะที่ผ่านมาเราให้เครดิตสังฆราชปาเลอกัวซ์เพียงคนเดียวเท่านั้น  สมัยนั้นคอมพิวเตอร์ช่วยจัดหน้ายังไม่แพร่หลาย การแก้ข้อความก็ลำบากมาก แก้ทีบรรทัดเลื่อนที คนตรวจปรู๊ฟก็ตัดวรรคตัดตอนรกรุงรังยุ่งเหยิงไปหมด  เอามาอ่านตรวจต่อผมแทบจะบ้าคลั่งตาย เรียกว่าไม่อยากเห็นเลย  พอแก้เสร็จก็ไม่ได้จังหวะพิมพ์ ต้องปล่อยอาร์ตเวิร์กกองไว้เฉยๆ อีกหลายปี กว่าจะพิมพ์ออกมาได้ก็ปาเข้าไป พ.ศ. ๒๕๔๗

การค้นคว้าบางเรื่อง กว่าจะได้คำตอบต้องใช้เวลาหลายปี เช่นปกหนังสือโรงพิมพ์วัดเกาะที่ผมเคยเห็นและประทับใจมาตั้งแต่เด็ก กว่าจะรู้ว่าเป็นฝีมือครูอาด อ๊อดอำไพ ต้องศึกษาสังเกตถึง ๔๐ ปี  ที่รู้ก็เพราะไปได้หนังสือ พระอภัยมณี มา  บนปกมีลายเซ็นเป็นเส้นบางๆ ถ้าไม่สังเกตก็ไม่รู้ว่าเป็นลายเซ็น  พอเปิดดูข้างใน มีบอกว่าวาดโดย อาด อ๊อดอำไพ เลยรู้ว่าลายเซ็นครูอาดเป็นอย่างนี้เอง

หรือเรื่อง แม่นาคพระโขนง ผมอ่านมาตั้งแต่เด็ก จนปี ๒๕๒๑ จึงได้ไปที่วัดมหาบุศย์ ไปสอบทานข้อมูลเรื่องแม่นาค  ช่วงนั้นผมอ่านไมโครฟิล์มหนังสือ สยามประเภท ในหอสมุดแห่งชาติ ไปพบข้อเขียนเกี่ยวกับแม่นาคของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เข้า  พอไปวัดมหาบุศย์แล้วก็นำทุกอย่างมาเขียนเผยแพร่ให้คนยุคปัจจุบันเข้าใจ  เรื่องแม่นาคฉบับพิสดารนั้นผมทำๆ หยุดๆ  เขียนมาแล้วหลายร้อยหน้า แล้วก็วาง

วิธีการเขียนของพี่เอนกค่อนข้างให้ความสำคัญกับการอ้างอิงและสื่อสารกับผู้อ่านอย่างตรงไปตรงมา
ผมเลือกสไตล์การเขียนแบบนี้เพราะเห็นปัญหามาจากหนังสือและการอ่านสมัยก่อน ผมไม่ชอบการเขียนแบบตรัสรู้ การเขียนแบบไม่ให้เครดิตคนที่เราได้ความรู้มา ทำแบบนั้นเป็นการไม่ให้เกียรติกัน  ผมไม่อยากให้คนรุ่นหลังเจอปัญหาอย่างที่ผมเจออีก  การเขียนแบบวกวน เยิ่นเย้อ ผมจะไม่ทำ  การชอบเขียนทำนอง “ผู้ใหญ่เล่าว่า...” “หนังสือเล่มหนึ่งกล่าวว่า...” จะพยายามไม่ทำ จะระบุให้รู้กันไปเลยว่าใครว่า หนังสือเล่มไหนว่า  เวลาผมเขียนสารคดี ผมอยากบอกคนอ่านว่าเคยมีคนเขียนอะไรไว้อย่างไร บัดนี้มีปัญหาหรือข้อสงสัยให้ชำระอย่างไร  บอกโจทย์ให้รู้ว่าเป็นอย่างไร แล้วค่อยๆ หาคำตอบมาแสดงเป็นเปลาะๆ ไป

พี่เอนกมีฮีโร่หรือคนที่สร้างแรงบันดาลใจไหมครับ
อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ เป็นคนที่ผมนับถือและเป็นต้นแบบของผมคนหนึ่ง  คนอื่นก็มีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  หรือ ฟ. ฮีแลร์ ผู้เขียนตำราเรียน ดรุณศึกษา  นายกี่ กีรติวิทโยฬาร ผู้เขียนเรื่อง ลูกสัตว์ต่างๆ ซึ่งประทับใจคนทั้งประเทศในสมัยผมเป็นเด็กๆ  กระทั่ง ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ผมก็ได้รับอิทธิพลด้านภาษามาเขียนหนังสือ เพลงยังไม่สิ้นเสียง และ เพลงนอกศตวรรษ อยู่พักหนึ่ง

ในความคิดของพี่เอนก นักเขียนและนักค้นคว้าที่ดีควรเป็นอย่างไร
เอาแคบๆ เฉพาะผู้เขียนสารคดีเรื่องเก่าๆ  อย่างแรก ต้องบอกที่มาของข้อมูล เพื่อให้คนรุ่นหลังตรวจสอบและค้นคว้าเพิ่มเติมได้  สอง การให้เครดิตแหล่งข่าว ผมถือว่าการให้เกียรติคนให้ความรู้เป็นเรื่องสำคัญมาก อย่าเนรคุณ  บางทีประโยคประโยคเดียวจากการอ่าน แม้ไม่ได้นำไปอ้างอิงในเรื่อง แต่ถ้ามีส่วนจุดประกายความรู้ให้ผม ผมก็ใส่ไว้ในตัวเรื่องหรือท้ายเล่ม  การทำแบบนี้ดีทั้งตัวผู้เขียนและผู้ให้ความรู้ ผมไม่อยากลืมคนที่ให้ความรู้แก่เรา

สาม ผมคิดว่าต้องออกภาคสนามด้วย ไม่อย่างนั้นก็เท่ากับนั่งขยอกน้ำในขวดเก่า ใช้แต่ความรู้ชุดเดิม ไม่มีน้ำใหม่เติมลงไปใหม่ คนอ่านได้แต่ข้อมูลซ้ำไปซ้ำมา ถ้าเจอหลักฐานใหม่จะทำให้เราได้ความรู้มากขึ้น

น่าสงสัยไหม พระองค์ผ่อง พระราชธิดาพระองค์แรกในรัชกาลที่ ๕ อายุตั้งมาก แต่หาประวัติและรูปถ่ายไม่ได้ มีรูปเท่าเหรียญ มีประวัติใน ราชสกุลวงศ์ แค่ ๓-๔ บรรทัด หาประวัติมากกว่านั้นไม่ได้ ไม่รู้ว่าท่านอยู่อย่างไร สร้างงานอะไร  เจ้านายอีกหลายองค์ก็เป็นอย่างนี้ คือหาประวัติผลงานยาวๆ ไม่ได้ ยกเว้นองค์ที่โดดเด่นจริงๆ  คนไทยจำนวนมากเกิดแล้วตายไปโดยไม่รู้ว่าจะเล่าอะไรให้คนรุ่นหลังทราบ เป็นหน้าที่ของคนที่สนใจเรื่องเก่าต้องตามหาและนำภูมิปัญญาจากศักยภาพของผู้คนมาแสดง ยกตัวอย่างนักประดิษฐ์เก่าและใหม่ ต้องไม่ปล่อยให้ความรู้หายไปกับตัวของเขา  ถึงมีข้อมูลอยู่แล้วก็อย่าไปเชื่อทันที ต้องตรวจสอบข้อมูลที่อาจผิดพลาดด้วย

ทุกวันนี้จัดตารางชีวิตอย่างไรในฐานะนักเขียนและนักค้นคว้าอิสระ
ทุกวันนี้ถ้าว่างก็ออกไปกวาดใบไม้ ถ้าออกมาพักผ่อนที่บ้านพิพิธภัณฑ์ เช้าๆ ก็กวาดขยะในซอย ทำให้มันสะอาดตา เป็นการออกกำลังกายไปด้วย  จากนั้นก็เปิดคอมพิวเตอร์เขียนงาน เอารูปถ่ายในกล้องลงเครื่อง เขียนบันทึกประจำวัน เขียนต้นฉบับส่งไปลงคอลัมน์ “นอกตำรา” ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ถ้ามีเวลาเหลือก็ทำงานที่จะรวมเล่ม

ตอนบ่ายบางทีก็ไปวัดสวนแก้ว นนทบุรี ไปดูของเก่า ไปเดินเล่นที่ตลาดบางใหญ่  บางทีขับรถเข้าไปในทุ่งนา ไปดูต้นไม้ ดูน้ำดูท้องฟ้า  ไปวัดเล่งเน่ยยี่ บางบัวทอง ไปนั่งดูสวนผัก  บางวันออกต่างจังหวัดกับเพื่อนๆ เช่น ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์, พงษ์ศักดิ์ ศรีสด, รังสิต จงฌานสิทโธ หรือน้องๆ ที่มาช่วยงานบ้านพิพิธภัณฑ์  ผมค่อนข้างสบายใจกับชีวิตแบบนี้  รถยนต์ก็เพิ่งซื้อใช้เมื่อปี ๒๕๓๗ เพราะรำคาญบัสซาวนด์บนรถเมล์  รถช่วยทำให้ผมสำรวจได้ง่ายขึ้น  สองสามปีนี้ผมออกสำรวจเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นไปทางอำเภอสามโคก ลานเท บางไทร เพราะชอบชื่อและบรรยากาศแถวนั้น  บางทีไปแวะดูบ้านป้าสำอางค์เพลงขอทานซึ่งเดี๋ยวนี้รื้อไปหมดแล้ว บางทีเลยไปจนถึงวัดไชยวัฒนารามที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ผ่านวัดเก่าแก่มากมาย

คิดว่าตนเองประสบความสำเร็จในชีวิตหรือยัง และมีเป้าหมายอะไรต่อจากนี้
ผมพอใจที่ได้บันทึกประวัติพ่อเพลงแม่เพลง และตัวอย่างเพลงพื้นบ้านภาคกลางไว้มากมาย  การทำบ้านพิพิธภัณฑ์ก็ถือว่าได้งานอีกขั้นหนึ่ง  การได้รับรางวัลสารคดี เกียรติยศ ครั้งที่ ๑ จากนิตยสาร สารคดี พ.ศ. ๒๕๕๓  ถือว่าเป็นเกียรติและเป็นกำลังใจอย่างยิ่ง  ผมว่าคนทำงานสารคดีเป็นคนสันโดษ คนเขียนสารคดีนั้นเหมือนอยู่อีกฟากหนึ่งของโลกประพันธ์ไทย บางทีผมไม่กล้าเรียกตัวเองว่านักเขียนด้วยซ้ำ เป็นคนเขียนหนังสือมากกว่า  ผมทำงานที่อยากทำ ทำสิ่งที่รักและศรัทธา แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว  ผมภูมิใจกับงานทุกชิ้นที่เขียนออกมา ทำงานสำเร็จชิ้นหนึ่งก็เหมือนชูตลูกบาสลงห่วง ลงลูกหนึ่งก็รู้สึกดี อยากทำงานชิ้นต่อไปออกมาอีก

ตอนนี้ผมมีโครงการชื่อ “ตลาดเล็กๆ” บนเนื้อที่ ๒ ไร่ครึ่ง ที่ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม คงเป็นฝันสุดท้ายแล้วกระมัง สำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่อง งบประมาณยังไม่มี แต่ต้องลงมือทำ  คือบ้านพิพิธภัณฑ์เก็บเงินและขอหยิบยืมเงินเพื่อนสำนักพิมพ์ไปกระเสือกกระสนซื้อที่ดินมา ๑ แปลง อยากสร้างพิพิธภัณฑ์ที่กว้างขวางขึ้นอีกหน่อยเพราะบ้านพิพิธภัณฑ์ในซอยศาลาธรรมสพน์แคบมาก เจ้าหน้าที่และของบริจาคไม่มีที่พักเลย

จะทำเป็นห้องแถวริมน้ำ ผมขอให้คุณธีรพล นิยม สถาบันอาศรมศิลป์ บางมด วานนักศึกษาปริญญาโทมาช่วยออกแบบให้  จากนั้นจะไปขอบิณฑบาตอิฐหินดินทรายและเงินมาทำพิพิธภัณฑ์ให้เสร็จ  ทั้งบ้านพิพิธภัณฑ์และตลาดเล็กๆ ไม่ใช่บ้านส่วนตัวของผม เป็นของสาธารณะ ใครสนใจมาช่วยกันได้ เป็นงานเพื่อส่วนรวม สังคมจะได้มีแหล่งเรียนรู้มากขึ้น มีที่พักผ่อนสำหรับครอบครัว เพราะเราขาดแคลนสถานที่แบบนี้มาก

วัดหรือห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ หนวกหูและเสียงดังมาก เวลานี้เด็กๆ และครอบครัวหาที่พักใจดีๆ ยากเหลือเกิน  ถ้าบริษัทใหญ่ๆ หรือคนใจบุญร่วมบริจาคเงินสร้างตลาดเล็กๆ ให้เสร็จโดยเร็วได้ ก็จะขอบพระคุณเป็นอันมาก  ความจริงสร้างพิพิธภัณฑ์ก็ได้บุญกุศลไม่แพ้สร้างวัดสร้างโรงพยาบาลเลย

พี่เอนกมีอะไรอยากฝากหรือแนะนำนักเขียนและนักค้นคว้ารุ่นหลัง
ถ้าทำสิ่งที่ชอบได้ก็ถือเป็นความสุข แต่ผมเข้าใจว่าเงื่อนไขของแต่ละคนแตกต่างกัน แนะนำได้กว้างๆ ว่าให้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ถ้าทำเป็นอาชีพไม่ได้ก็ทำเป็นงานอดิเรก มีกำลังก็ค่อยพัฒนาต่อ

This article comes from Sarakadee สารคดี