Home » คอมพิเตอร์ เก็บตก » ประวัติคอมพิวเตอร์ประเทศไทย และผู้บุกเบิก

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
ประวัติคอมพิวเตอร์ประเทศไทย และผู้บุกเบิก

เครื่องคอมพิวเตอร์ IBM 1620

         อมพิวเตอร์ในประเทศไทย เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2506 โดย  ผู้ที่ริเริ่มนำเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ในประเทศไทยคนแรก คือ ศาสตราจารย์บัณฑิต กันตะบุตร หัวหน้าภาควิชาสถิติและเลขาธิการสถิติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2506 เครื่องที่ใช้ ครั้งแรกคือ เครื่อง IBM 1620 ( ในขณะนั้นประมาณสองล้านบาทเศษ) ซึ่งติดตั้งที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

         เริ่มใช้ในการศึกษา วิจัย การพัฒนาสถิติของประเทศ  เน้นในด้านการปฏิบัติงานสำมะโนและในด้านการค้นคว้า และวิจัยนานาประการ  หลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ศรีลังกา และสิงคโปร์ก็สนใจส่ง เจ้าหน้าที่มาดูการ ปฏิบัติงานของเครื่องอีกด้วย เพราะประเทศของเขาเองยังไม่มี  โดยในปัจจุบัน (พ.ศ. 2554)เครื่องนี้อยู่ที่ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพฯ    

         นับจากวันนั้นมาคอมพิวเตอร์เมนเฟรมถูกนำเข้ามาใช้งานอย่างกว้างขวางตามหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย และเป็นไอบีเอ็มอีกนั่นแหละที่ร่วมบุกเบิกคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปนำคอมพิวเตอร์ไปใช้งานทำบัญชี เขียนรายงาน นำเสนองาน วาดภาพ และจิปาถะ ก่อนขายธุรกิจคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊กให้เลอโนโวสานต่อ

         จากเครื่องคอมพิวเตอร์แรก ก็มีวิวัฒนาการ Timeline ในการนำมาใช้ในประเทศไทยต่อมา ตามลำดับดังนี้

  • ปี พ.ศ.2507 เดือนมีนาคม เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องที่สอง ได้แก่ "เมนเฟรมคอมพิวเตอร์" IBM 1401 ( มูลค่าประมาณ 8 ล้านบาท ) ขนาดพอกับเครื่องถ่ายเอกสารประจำสำนักงาน   ติดตั้งที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ใช้งานเก็บบันทึกข้อมูลประชากร การนำมาประมวลผล การสำรวจสำมะโนประชากร เพื่อใช้กำหนดนโนบายเศรษฐกิจและสังคม  จากเดิมต้องใช้เวลานานหลายปี แต่เมื่อนำระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลสูงเข้ามาใช้ การรวบรวมข้อมูลประชากรทั่วประเทศสามารถทำเสร็จในเพียง 18 เดือน

  

เครื่องคอมพิวเตอร์ IBM 1401

  • ปี พ.ศ. 2507 : ได้เริ่มนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย คือ บ.ปูนซีเมนต์ไทย กับ ธนาคารกรุงเทพ
  • ปี พ.ศ. 2517 : ตลาดหลักทรัพย์ ได้นำคอมพิวเตอร์ไปใช้งาน ในด้านการซื้อขายหุ้น โดยใช้ เครื่องมินิคอมพิวเตอร์
  • ปี พ.ศ. 2522 : ได้นำ ไมโครคอมพิวเตอร์ ไปใช้ในธุรกิจขนาดเล็กมากขั้น
  • ปี พ.ศ. 2525 : ได้นำคอมพิวเตอร์มาใช้ในด้านการเรียนการสอน ได้แก่ มหาวิทยาลัย โรงเรียนต่างๆ และมีการเปิดสอนวิชาคอมพิวเตอร์กันอย่างแพร่หลาย

 

ศาสตราจารย์ บัณฑิต กันตะบุตร 
ผู้บุกเบิกด้านคอมพิวเตอร์ของประเทศไทย

        ศาสตราจารย์ บัณฑิตกันตะบุตร ผู้ซึ่งนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในประเทศไทยเป็นคนแรก และเป็นผู้ริเริ่มการสอนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัย ได้สิ้นชีวิต เมื่อวันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม 2543 

        ศาสตราจารย์ บัณฑิตกันตะบุตร เกิดที่จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2458 หลังจากเรียนจบชั้นมัธยม 8 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญกรุงเทพฯ ท่านเดินทางไปศึกษาต่อในประเทศฟิลิปปินส์ จนสำเร็จปริญญาตรี (B.S.) จาก Far Eastern University และ ปริญญาโท (M.S.) จาก The University of Philippines หลังจากนั้นท่านบินข้ามทวีป ไปศึกษาต่อ ณ.ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ the University of Chicago ได้รับปริญญา MBA เน้นหนักวิชาคณิตศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ 

         ระหว่างที่ศาสตราจารย์ บัณฑิต กันตะบุตร ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) พร้อม ๆ กับเป็นผู้ก่อตั้ง และหัวหน้าภาควิชาสถิติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านมองเห็นศักยภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถปฏิวัติการศึกษา และการพัฒนาประเทศไทย ท่านจึงได้หาเงินทุนสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ และทรัพยากรอื่น ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อจัดหา และติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์สองระบบแรกของประเทศไทย คือ เครื่อง IBM 1620 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือ่ง IBM 1401 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเวลาไล่เลี่ยกัน ในปี พ.ศ.2506

เครื่องคอมพิวเตอร์ IBM 1620
เครื่องคอมพิวเตอร์ IBM 1401

         สำหรับการสอนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ศาสตราจารย์บัณฑิต กันตะบุตร ได้จัดหลักสูตรสอนการเขียน Machine Language, Symbolic Language, FORTRAN และ COBOL เป็นแห่งแรกของประเทศ ที่ภาควิชาสถิติ จุฬาลงกรณ์มาหวิทยาลัย โดยใช้เครื่อง IBM 1620 ให้นิสิตใช้เรียน และใช้วิ่งโปรแกรมได้เต็มที่ ขณะเดียวกันก็ยังมีสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มาขอใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ทั้งเพื่อการเรียนการสอน และเพื่อการทำวิจัยมากกมาย

         กล่าวได้ว่า จากวิสัยทัศน์ที่ล้ำสมัยนี้ เป็นจุดเริ่มต้น ของการผลิตลุคลากรชั้นนำด้านไอที ให้กับประเทศ ซึ่งมีผลจนถึงทุกวันนี้ หลักสูตรคอมพิวเตอร์ที่ภาควิชาสถิตินี้ ยังเปิดโอกาสให้บุคคลภาคนอก เข้ารับการอบรมด้วย จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญอย่างหนึ่ง ของการพัฒนาไอที และเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลาต่อมา ส่วนเครื่อง IBM 1401 ที่ สสช. ก็ใช้ปฏิบัติงานด้านประมวลข้อมูลจำนวนมาก ๆ เช่นงานสำมโนประชากรเป็นต้น

         ศาสตราจารย์ บัณฑิตกันตะบุตร ยังเป็นผู้บุกเบิกด้านธุรกิจประกันภัย และประกันชีวิต โดยที่ท่านเและภรรยา (อาจารย์ประภา กันตะบุตร) เป็นนักคณิตศาสตร์ประกันชีวิตรุ่นบุกเบิกของประเทศไทย

         ศาสตราจารย์ บัณฑิตกันตะบุตร ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และรางวัลมากมาย จากการรับใช้ชาติบ้านเมือง ล่าสุดท่านได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทวิติยาภรณ์ช้างเผือก ท่านได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยสามสถาบันภายในประเทศ และได้รับ Professional Achievement Citation จากสมาคมศิษย์เก่าแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ศาสตราจารย์ บัณฑิตกันตะบุตร ไดัรับยกย่องให้เป็น บิดาของวิชาสถิติ และเป็นผู้บุกเบิกด้านคอมพิวเตอร์ของประเทศไทย 

         ศาสตราจารย์ บัณฑิตกันตะบุตร มีภรรยาคือ อาจารย์ประภา กันตะบุตร ซึ่งท่านก็เป็นนักคณิตศาสตร์เช่นเดียวกับสามี และสืบตระกูลโดยบุตรชายสองคน คือ คุณบุรินทร์ และดร.วิฑิต และบุตรสาวคนเดียวคือ คุณจิตราภา หิมะทองคำ