Web Design by Softbiz+
|
เว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014 |
โรค คอมพิวเตอร์ซินโดรม |
รายการใครไม่ป่วยยกมือขึ้น ตอน หยุดโรคคอมพิวเตอร์ซินโดรม ด้วยธรรมชาติบำบัด โดย หมอแดง
คอมพิวเตอร์ซินโดรม (ตอนที่ 1) การกดแป้นอักขระ หรือการคลิกเมาส์คอมพิวเตอร์ ใครจะคิดว่าจะทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นทำลายระบบประสาทที่มือ แขน ไหล่ หรือคอ ได้ แต่ที่ผ่านมาการทำลักษณะนี้ซ้ำๆ หรือพิมพ์งานเป็นระยะเวลานานๆ ติดต่อกันโดยไม่พักแม้แต่สายตา หรือยืดเส้นยืดสาย แน่นอนว่าย่อมจะเสี่ยงมากกว่าคนอื่น และในทางการแพทย์เรียกกลุ่มอาการนี้ว่า คอมพิวเตอร์ซินโดรม (Computer Syndrome) หรือ CS นพ.ศักดา อาจองค์ แพทย์ประจำเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แจงรายละเอียดโรคว่า สามารถแบ่งออกเป็นโรคที่เกิด และเห็นปรากฏได้ทางร่างกาย โรคทางจิตใจ และโรคติดเชื้อ สำหรับโรคทางจิตใจนั้นมักได้ยินข่าวบ่อยครั้ง ว่า มีผู้ป่วยติดอินเทอร์เน็ต ติดเกมออนไลน์ ซึ่งหากอยู่ในเกณฑ์คล้ายโรคซึมเศร้า และมีปัญหาทางสภาวะจิตใจและขาดทักษะการเข้าสังคม ส่วนโรคติดเชื้อนั้นมักเกิดในสถานที่ทำงาน ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกัน และมักได้รับเชื้อรา หรือแบคทีเรียจากแป้นพิมพ์ อีกทั้งฝุ่นละอองจากเครื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้ผู้ใช้เป็นภูมิแพ้ได้ง่ายโดยที่เจ้าตัวอาจไม่รู้ "สำหรับโรคทางกายที่เห็นได้ชัดและเป็นกันมาก คือ อาการปวดตา เมื่อยตา ตาแห้ง มีปัญหาด้านการมองเห็นหรือที่เคยได้ยินว่า โรค CVS (Computer Vision Syndrome) และแรงกระตุ้นจากแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีกลุ่มอาการไม่จำเพาะ อาทิ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หรือนอนไม่หลับ ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากการอยู่หน้าจอเป็นเวลานานๆ โดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้ตัว" นพ.ศักดา เปิดเผยอีกว่า มีโรคอีกกลุ่มใหญ่ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ และไม่คิดว่าเป็นอันตรายหากปล่อยให้เรื้อรัง คือ กลุ่ม Computer Syndrome หรือ CS ที่มีผลกระทบกับกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดจากการวางท่าทางการทำงานไม่ถูกต้อง เช่น ท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนโดยใช้หัวไหล่และต้นคอรับน้ำหนัก นอกจากจะทำให้ปวดกล้ามเนื้อบริเวณคอและหลังแล้ว สามารถส่งให้สายตาเอียง หรือเส้นยึดกระดูกที่คอได้ ซึ่งมีกรณีศึกษาที่กลายเป็นข่าวครึกโครมที่ประเทศนิวซีแลนด์ ที่มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นาน 18 ชั่วโมง จนทำให้ลิ่มเลือดไปอุดตันที่ขาและกระจายไปที่ปอด แต่ในประเทศไทยยังไม่พบกรณีผู้ป่วยเช่นนี้ "การอยู่หน้าจอนานเกินไปโดยไม่เปลี่ยนท่าทางเลย หรืออยู่ในลักษณะที่ผิดท่านั้น มีผลเสียกับกายศาสตร์มาก แม้ว่าประเทศไทยยังระบุไม่ได้ว่ามีผู้ป่วยด้วยอาการจากคอมพิวเตอร์ในกลุ่มกล้ามเนื้อมากจำนวนเท่าใด แต่นั่นเพราะยังไม่มีใครรู้ว่าหากปล่อยไว้นานจะมีผลเสียถึงขั้นต้องผ่าตัด สถิติผู้ป่วยจึงยังไม่มีใครรวบรวม" แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน กล่าว ยังมีรายงานสนับสนุนหลายการศึกษาที่ระบุว่า การใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานๆ ทำให้เกิดกลุ่มอาการ Carpal Tunnel Syndrome หรือ CTS โดยเชื่อว่าเป็นการเกิดจากกลไก repetitive stress injuries (RSI) อธิบายได้ว่า เป็นการบาดเจ็บซ้ำของเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อมือและแขน ซึ่งถือว่าเป็นภัยที่มองไม่เห็น แพทย์หลายคนระบุว่าอาการนี้จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับ CS โดย Dr. Emil Pascarelli ศาสตราจารย์ผู้ศึกษาอาการอันเกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์มานานกว่า 23 ปี อธิบายไว้ในหนังสือที่เขาเขียนเรื่อง "Repetitive strain injury : Computer User's Guide" ว่า ในทางการแพทย์ RSI ถือเป็นอาการบาดเจ็บ หรือกล้ามเนื้อตึงเครียดซ้ำๆ เกิดการสะสมจากการนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน เป็นผลกระทบหนึ่งที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ ในสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยเป็น RSI กว่า 2 ล้านคน จนทำให้มีเว็บไซต์ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคนี้เกิดขึ้นมากมาย สาเหตุของการเกิดอาการนี้เกิดจากการเคลื่อนไหวแขนหรือมือในลักษณะเดียวกันซ้ำๆ นั่งทำงานไม่ถูกท่าทาง และใช้กล้ามเนื้อมือในลักษณะขนานกับพื้นเป็นเวลาต่อเนื่องกันนาน จนทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นบริเวณนั้นได้รับความเสียหาย โดยอาการจะมีตั้งแต่เคลื่อนไหวมือ นิ้วมือไม่สะดวก รู้สึกปวดที่ข้อมือซ้ำๆ และปวดกล้ามเนื้อบริเวณแขนระหว่างข้อศอกกับข้อมือ ในบางรายอาจจะปวดที่คอ ไหล่ และหลัง อย่างไรก็ตาม นพ.ศักดา ชี้แจงว่า เมื่อไม่นานมานี้ มี Special Health Report from Harvard Medical School ได้ปฏิเสธกลไกนี้โดยให้คำอธิบายว่าเป็นความเชื่อที่ผิดว่าการบาดเจ็บซ้ำของกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อมือในขณะใช้คอมพิวเตอร์ (RSI) นั้น ไม่เหมือนกับการอธิบายกลไกการเกิดโรคอื่น เช่น การบาดเจ็บของเอ็นและกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกาย กระนั้นก็ยังไม่มีคำตอบใดที่ให้คำตอบที่แน่ชัดว่า RSI เกิดจากสาเหตุใด ดังนั้น จึงพออนุมานได้ว่า การใช้งานคอมพิวเตอร์นานและต่อเนื่องประกอบกับการผิดหลักกายวิทยานั้นทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ และยังถือว่าเป็นอาการในกลุ่ม CS ซึ่งก็ยังต้องระวังเช่นเดียวกัน นิตยสาร Medical Upgrade ฉบับ 017
คอมพิวเตอร์ วิชั่น ซินโดรม ที่มา http://www.pinthong-group.com/content/detail.php?id=475 |