เลือกเรียนอย่างไหนดีกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ โดย บัวอื่น
น้องๆนักเรียนหลายคนหันมาให้ความสนใจกับคอมพิวเตอร์ ทั้งอยากรู้ อยากเรียน อยากทำงานด้านนี้ ซึ่งแต่ละหลักสูตรต่างก็มีหลากหลายมากมายไปหมด ทั้ง วิทย์คอมฯ วิศวะคอมฯ Database คอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์ค เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้ง ICT แล้วแบบไหนกันที่ตรงตามความต้องการและความสามารถของเรา บทความจึงขอแนะนำสาขาหลักๆในศาสตร์การเรียนการสอนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ดังนี้
1. วิทยาการคอมพิวเตอร์ หรือ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (computer science)
2. วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (computer engineering)
3. วิศวกรรมมัลติมีเดียและระบบอินเทอร์เน็ต (Multimedia and Internet System Engineering)
4. เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology หรือ Information System)
5. วิศวกรรมซอฟต์แวร์ (software engineering)
ซึ่งแต่ละสถาบันการศึกษาก็อาจมีหลักสูตร หรือชื่อสาขาวิชาที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่หลักๆแล้วก็ไม่แตกต่างกันมากนัก
ภาพ Computer Laboratories
1. วิทยาการคอมพิวเตอร์ หรือ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (computer science)
สิ่งต่างๆที่เราใช้งานอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ระบบปฏิบัติการล่าสุดกับ Windows , PageMaker, AutoCAD, Java Programing, The Sims, intel pentium 4,ซอฟต์แวร์คำนวณการจัดเรียงสินค้าใส่ตู้คอนเทนเนอร์ ฯลฯ ล้วนมาจากการพัฒนาวิชาการทางด้านคอมพิวเตอร์นั้นเอง
ภาพ Java Programming
วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เป็นภาควิชาหนึ่งของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นศาสตร์เกี่ยวกับการศึกษาแนวคิด และทำการพิสูจน์อย่างมีแบบแผน ในการค้นคว้าทฤษฏีการคำนวณ และทฤษฏีการประมวลผลสารสนเทศ ทั้งด้านซอฟต์แวร์, ฮาร์ดแวร์ และ เครือข่าย เพื่ออธิบายระบบและกระบวนการขั้นตอนในการทำงานของคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ดิจิตัล อื่นๆ เช่น สถาปัตยกรรมด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์, การคิดค้นภาษาใหม่หรือปรับปรุงภาษาคอมพิวเตอร์แบบเก่าให้มีคุณภาพมากขึ้น, กรรมวิธีในการแก้ปัญหาalgorithm, ทฤษฏีการพัฒนาซอฟต์แวร์, ทฤษฎีภาษาคอมพิวเตอร์, กระบวนการประมวลผลของข้อมูลที่ไปประมวลผลที่คอมพิวเตอร์, ทฤษฏีเครือข่าย, เทคนิคในการติดต่อกับมนุษย์หรือผู้ใช้ทั่วไป เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการนำมาใช้ในการสร้างอุปกรณ์และนวัตกรรม ให้สาขาวิชาอื่นๆนำไปต่อยอดตามศาสตร์และศิลป์ของตนเอง
ตัวอย่างวิชาที่เรียน
กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิชาศึกษาทั่วไป เช่น ชีวิวิทยา, เคมีทั่วไป, เรขาคณิตวิเคราะห์และแคลคูลัส, หลักสถิติ, ปฏิบัติการฟิสิกส์, ฟิสิกส์พื้นฐานขั้นมหาวิทยาลัย, พีชคณิตเชิงเส้น และเทคโนโลยีสารสนเทศ
วิชาเฉพาะทาง เช่น การวิเคราะห์และการออกแบบระบบงาน, การสื่อสารข้อมูลและข่ายงาน, ระบบฐานข้อมูล, โครงสร้างโปรแกรม, โครงสร้างข้อมูลอัลกอริทึม, สถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์, ภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์, การออกแบบดิจิตอลทฤษฎี, การคำนวณชั้นสูง, หลักการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์, โครงสร้างคอมพิวเตอร์เบื้องต้น, ระบบคอมพิวเตอร์เบื้องต้นและภาษาแอสแซมบลี, โครงสร้างข้อมูลและหลักพื้นฐานของอัลกอริทึม, ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์, การออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ และเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์
แนวทางประกอบอาชีพ เช่น
นักเขียนโปรแกรม, นักวิเคราะห์ระบบ, นักวิศวกรระบบ, นักบริหารระบบปฏิบัติการ, นักพัฒนาระบบ, นักบริหารเครือข่าย, ที่ปรึกษาด้านคอมพิวเตอร์, ผู้จำหน่ายฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์, ผู้ช่วยเหลือสนับสนุนลูกค้า เรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการและเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์, นักออกแบบระบบ และนักวิจัยคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
2. วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (computer engineering)
LCD Monitor, mp4 player, Touch Pad, PDA Phon, เครื่องถ่ายรังสีเอ็กซ์ นี่คือตัวอย่างสิ่งในชีวิตประจำวันที่ได้มาจากการศึกษาทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
ภาพ Computer Engineering
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ สร้างเครื่องหรือระบบที่ใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องใช้ความรู้ทั้งซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ การสื่อสาร ควบคู่กับความรู้ทางด้านวิศวกรรม โดยมีรากฐานจาก Computer Science เป็นสาขาที่แตกตัวมาจากวิศวกรรมไฟฟ้า หรืออธิบายให้เห็นภาพก็คือ เหล่าเทคโนโลยี เริ่มมาจากประยุกต์ความรู้ทางฟิสิกส์ จนมาเป็นไฟฟ้า แล้วก็เรื่อยมาจนเป็นอิเส็กค์ทรอนิคส์ จากนั้นก็นำความรู้ทางฟิสิกส์ ไฟฟ้า คณิตศาสตร์ เป็นพื้นฐานในสร้าง Hardware และอุปกรณ์ที่ใช้คอมพิวเตอร์นั้นก็คือ วิศวกรคอมพิวเตอร์เน้นทางด้านฮารด์แวร์มากกว่าซอฟต์แวร์ และมีโดดเด่นทางด้านวิศวกรรม
ตัวอย่างวิชาที่เรียน
กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิชาศึกษาทั่วไป เช่น แคลคูลัส, เคมีทั่วไป, ปฏิบัติการเคมีทั่วไป, ฟิสิกส์ทั่วไป, ปฏิบัติการฟิสิกส์ทั่วไป และคณิตศาสตร์สำหรับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
กลุ่มวิชาเฉพาะทาง เช่น การเขียนแบบวิศวกรรม, คอมพิวเตอร์สำหรับวิศวกร, การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์, ทฤษฎีวงจรไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์, ความน่าจะเป็นและสถิติวิศวกรรม, สถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ โครงสร้างข้อมูลและอัลกอริทึม, การสื่อสารข้อมูลและเครือข่ายคอมพิวเตอร์, ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์, การออกแบบวงจร VLSI, ระบบไมโครโปรเซสเซอร์, ระบบดิจิตอล, โครงงานวิศวกรรมคอมพิวเตอร์, อาชญากรรมและการป้องกันทางคอมพิวเตอร์ และการออกแบบคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์
แนวทางประกอบอาชีพ เช่น
วิศวกรคอมพิวเตอร์, วิศวกรควบคุมดูแลระบบคอมพิวเตอร์, นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์, ผู้ผลิตงานด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกและมัลติมีเดีย, นักพัฒนาอุปกรณ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, นักบริหารเครือข่ายคอมพิวเตอร์, นักบริหารและจัดการฐานข้อมูล, นักออกแบบวงจร เช่น วงจรการขึ้นลงของลิฟท์ การออกแบบไมโครคอมพิวเตอร์ในรถยนต์
ภาพ To have a strong basic computer understanding, we need to know about software and hardware.
สำหรับข้อสงสัยที่น้องนักเรียนมักถามกันบ่อยๆว่าอะไรคือข้อแตกต่างชัดๆระหว่าง วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คืออะไร
สำหรับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จะให้ความสนใจทางสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์เป็นหลัก คือ เน้น Hardware เป็นส่วนใหญ่นั้นเอง คล้ายว่าเป็นการเรียนเพื่อสร้างอุปกรณ์
ส่วนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จะให้ความสนใจด้านการวิเคราะห์ออกแบบระบบ คือ เน้น Software เป็นหลัก สนใจทางด้านระบบคอมพิวเตอร์มากกว่าทางด้าน physical คล้ายว่าเป็นการเรียนใช้งานอุปกรณ์
3. วิศวกรรมมัลติมีเดียและระบบอินเทอร์เน็ต (Multimedia and Internet System Engineering)
เป็นศาสตร์ที่นำเอาองค์ความรู้ของการผลิตสื่อมัลติมีเดีย รวมทั้งบริการผ่านเทคโนโลยีสื่อสารและคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ ใช้ทักษะการออกแบบสื่อตามจุดมุ่งหมาย มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อรวมสื่อการพัฒนาเนื้อหาและบริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีรับความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสื่อนั้น เช่น การบันทึกสื่อ การลดขนาดสื่อมัลติมีเดีย เครือข่ายอินเทอร์เน็ต หลักการและการทำงานของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูง การผลิตและทดสอบเกมคอมพิวเตอร์ และการประยุกต์อุปกรณ์สมัยใหม่ร่วมกับสื่อมัลติมีเดีย
ภาพ Engineering Program in Multimedia and Internet System Engineering
ตัวอย่างวิชาที่เรียน
กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิชาศึกษาทั่วไป เช่น แคลคูลัส, เคมีทั่วไป, ปฏิบัติการเคมีทั่วไป, ฟิสิกส์สมัยใหม่, ปฏิบัติการฟิสิกส์สมัยใหม่, คณิตศาสตร์สำหรับวิศวกรรมระบบและมัลติมีเดียและเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
วิชาเฉพาะทาง เช่น การเขียนแบบวิศวกรรม, ทักษะการสร้างสรรค์สื่อมัลติมีเดีย, พื้นฐานระบบคอมพิวเตอร์, ทฤษฎีสัญญาณและเสียง, การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์, การเขียนโปรแกรมสำหรับวิศวกรรมเครือข่าย, เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตการผลิตสื่อมัลติมีเดีย, วงจรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์,เครือข่ายไร้สายและเคลื่อนที่, ระบบดิจิตอล, ความน่าจะเป็นและสถิติวิศวกรรม, การจัดการสารสนเทศและบริการ, ระบบสื่อสารด้วยมัลติมีเดีย, การเขียนโปรแกรมระบบมัลติมีเดีย, เทคโนโลยีเครื่องบริการเว็บ, คอมพิวเตอร์กราฟิกและอนิเมชัน, เทคนิคพิเศษสำหรับมัลติมีเดีย, วิศวกรรมระบบเสียงและภาพ, ความปลอดภัยในระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย,โครงงานวิศวกรรมมัลติมีเดียและระบบอินเทอร์เน็ต, ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ และหลักการสื่อสาร
แนวทางประกอบอาชีพ เช่น
วิศวกรดูแลและพัฒนาระบบมัลติมีเดีย, วิศวกรระบบภาพและเสียง, ผู้ผลิตเกมคอมพิวเตอร์, วิศวกรระบบเครือข่าย, ผู้ผลิตงานด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกและมัลติมีเดีย, วิศวกรเครือข่ายสื่อสารความเร็วสูง, ผู้ผลิตสื่อดิจิตอล, ผู้พัฒนาระบบแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์เคลื่อนที, นักเขียนโปรแกรมด้านมัลติมีเดีย และผู้จัดการระบบสารสนเทศ
4. เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology หรือ Information System)
เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) หรือบางสถาบันจะเปิดสอนในชื่อหลักสูตร เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (information and communications technology ย่อว่า ICT)
ไอที (IT) หมายถึงเทคโนโลยีสำหรับการประมวลผลสารสนเทศ สาขานี้มุ่งเน้นให้ผู้เรียน มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เน้นเทคโนโลยีเครือข่าย เทคโนโลยีซอฟต์แวร์ และการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งครอบคลุมถึง การรับ-ส่ง การแปลง การจัดเก็บ การประมวลผล และการค้นคืนสารสนเทศ ในการประยุกต์ การบริการ และพื้นฐานทางเทคโนโลยี เพื่อนำข้อมูลนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การทำ Simulation หรือ โปรแกรมการจำลองการทำงานต่าง ๆ อย่างการจำลองการทำงานของตลาดหุ้น, การจำลองการทำงานของเครื่องบิน
ภาพ Systems analysis
หรืออธิบายสั้นๆ ได้ว่า เป็นการจัดการข้อมูล โดยศึกษาโปรแกรมต่างๆ เพื่อใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาจัดระบบ
ตัวอย่างวิชาที่เรียน
กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิชาศึกษาทั่วไป เช่น ความน่าจะเป็นและสถิติ, แคลคูลัส, คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ, มนุษย์และสิ่งแวดล้อม, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจ, สถิติธุรกิจ, หลักการบัญชี, เคมีทั่วไป และคณิตศาสตร์ไม่ต่อเนื่อง
วิชาเฉพาะทาง เช่น หลักการสืบค้นสารสนเทศ, เบื้องต้นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์, โครงสร้างข้อมูลและหลักพื้นฐานของอัลกอริทึม, การวิเคราะห์และออกแบบระบบ, หลักการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สารสนเทศ ระบบปฏิบัติการ, เครือข่ายคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม, ระบบการจัดการฐานข้อมูล, ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์, การสื่อสารข้อมูลและ, การสื่อสารข้อมูลและเครือข่าย เทคโนโลยีเครือข่ายและอินเทอร์เน็ต, การออกแบบส่วนต่อประสานกับมนุษย์, ความปลอดภัยของระบบสารสนเทศ, เทคโนโลยีมัลติมีเดีย, การออกแบบปฏิสัมพันธ์บนอุปกรณ์ไร้สาย, การออกแบบและสร้างเว็บ
แนวทางประกอบอาชีพ เช่น
ผู้บริหารระบบคอมพิวเตอร์, นักวิเคราะห์ระบบ, ผู้พัฒนาระบบสื่อ, นักเขียนโปรแกรม, นักพัฒนาระบบ, นักออกแบบระบบ, นักบริหารเครือข่าย, นักวิจัยคอมพิวเตอร์, ผู้ช่วยเหลือสนับสนุนลูกค้า ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการและเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์ ผู้จำหน่ายฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์
5. วิศวกรรมซอฟต์แวร์ (software engineering)
เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตซอฟต์แวร์พัฒนาอย่างรวดเร็ว นับวันจะมีขนาดและความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นที่ต้องมีพัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ขึ้นเพื่อที่จะควบคุมและดำเนินการผลิต ให้ได้ซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพตามต้องการและเป็นมาตรฐานสากล
ภาพ Top Ten Software Engineering Ideas, in Jacksonville
วิศวกรรมซอฟต์แวร์ จะเน้นที่กระบวนการวิศวกรรมสำหรับระบบซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ เป็นศาสตร์เกี่ยวกับการประยุกต์ความรู้และเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ การบริหารจัดการโครงการ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน โดยเริ่มด้วยการวิเคราะห์ความต้องการ, การตั้งเป้าหมายของระบบ, การออกแบบ, การพัฒนา, การทดสอบ, การประเมินผล, การติดตามโครงการ, การประเมินต้นทุน, การรักษาความปลอดภัย, การบำรุงรักษาระบบซอฟต์แวร์ ตลอดจนถึงถึงการคิดราคาซอฟต์แวร์
ตัวอย่างวิชาที่เรียน
กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิชาศึกษาทั่วไป เช่น แคลคูลัส, พีชคณิตเชิงเส้น, เคมีทั่วไป, ปฏิบัติการเคมีทั่วไป, ฟิสิกส์ทั่วไป และปฏิบัติการฟิสิกส์ทั่วไป
วิชาเฉพาะทาง เช่น วิศวกรรมซอฟต์แวร์, การกำหนดและการจัดการความต้องการทางซอฟต์แวร์, การวิเคราะห์และออกแบบโปรแกรมเชิงวัตถุ, สถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์, กระบวนการซอฟต์แวร์และการประกันคุณภาพ, การจัดการโครงงานซอฟต์แวร์, การทวนสอบและทดสอบซอฟต์แวร์, กลยุทธ์และสถาปัตยกรรมการทำธุรกิจผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์, วิศวกรรมเทคโนโลยีมัลติมีเดีย, การพัฒนาระบบประยุกต์ไร้สาย และการออกแบบและการพัฒนาระบบเครือข่ายในองค์กร
แนวทางประกอบอาชีพ เช่น
นักเขียนโปรแกรม, นักพัฒนาระบบ, นักวิเคราะห์ระบบ, นักออกแบบระบบ, วิศวกรระบบ, นักบริหารระบบปฏิบัติการ, นักบริหารเครือข่าย, ที่ปรึกษาด้านคอมพิวเตอร์, นักวิจัยคอมพิวเตอร์, ผู้ช่วยเหลือสนับสนุนลูกค้า, ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง กับวิทยาการและเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์ และผู้จำหน่ายฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์
ภาพ Scoop Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอนท์
แน่นอนว่าจะเลือกเรียนในสาขาใด ต้องคำนึงถึงตลาดแรงงานที่รองรับด้วยว่า เวลานี้ประเทศไทยยืนอยู่ ณ จุดใด และมีแน้วโน้มไปในทิศทางไหน และต้องไม่ลืมว่าลำพังการเอนท์ติด หรือได้เข้าเรียนไม่ใช่จุดสำเร็จของชีวิต แต่อาจเป็นพียงจุดเริ่มในการเปิดประตูสู่อาชีพเท่านั้น
ข้อมูลอ้างอิง
คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
Department of Computer Engineering, Faculty of Engineering, Chulalongkorn University
School of Information Technology , King Mongkut's University of Technology Thonburi
ที่มา http://www.vcharkarn.com/varticle/39764
|