Home » คอนโด นิติบุคคลอาคารชุด » รู้ทันกฎหมายคอนโด - ความเป็นเจ้าของห้องชุดร่วมกัน (สามีภรรยา)

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
รู้ทันกฎหมายคอนโด - ความเป็นเจ้าของห้องชุดร่วมกัน (สามีภรรยา)

รู้ทันกฎหมาย - เจ้าของคอนโดร่วมกัน

คมชัดลึก : komchadluek.net  วันที่ 24 มิถุนายน 2553

           ตึกรามบ้านช่องต้องคอนโดถึงจะทันสมัยถูกใจตลาด เรียกว่าถูกใจคนขายสบายใจคนซื้อ เพราะได้ทั้งที่ตั้ง ราคา ความสะดวกสบาย ใช้ชีวิตตามสไตล์ฝรั่งมังค่า แถมราคาขึ้นได้เวลาปล่อยขายมือ

           ต่อให้มีภาระต้องจ่ายค่าส่วนกลาง ทั้งยังต้องมีคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดมาบริหารจัดการ  ก็ไม่ต่างจากบรรดาหมู่บ้านจัดสรรสักเท่าไหร่  เพราะก็ต้องอยู่ในระบบการบริหารและการจ่ายตามกฎหมายจัดสรรเช่นกัน

         
สามีภรรยา หาคอนโดอยู่ด้วยกัน แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าเป็นสินสมรส แต่ก็อดกังวลไม่ได้ เพราะหลายอย่างก็ต่างจากการมีบ้านและที่ดิน การใส่ชื่อในทรัพย์สินจะทำอย่างไร

          ภรรยาอาจอยากวัดใจหรือสามีหน้าใหญ่ หรือด้วยเหตุผลอื่นใด หากใส่ชื่อภรรยาหรือสามีคนหนึ่งคนใดไว้ในโฉนดห้องชุด เพื่อพิสูจน์ว่ารักจริง ก็ไม่ต่างจากกรณีของที่ดินสักเท่าไหร่

          เพียงแต่กฎหมายกำหนดเอาไว้ว่ากรรมสิทธิ์ในห้องชุดนั้นไม่อาจแบ่งแยกได้ ทีนี้ก็เลยกลายเป็นปัญหาว่าจะใส่ชื่อร่วมกันได้หรือไม่  เพราะใส่ไปก็แบ่งไม่ได้ หรือถ้าใส่เพียงคนใดคนหนึ่งไว้ เกิดจะเรียกร้องทวงสิทธิยามรักหน่ายต้องแยกย้ายหย่าร้าง จะแบ่งปันหารสองก็ต้องมีปัญหา เพราะกฎหมายบอกว่า แบ่งแยกไม่ได้

           หมายความว่า ถ้าจะแบ่งแบบแยกกรรมสิทธิ์ออกต่างหากจากกัน โดยการรังวัดจัดสรรแยกโฉนดอย่างที่ดินนั้นทำไม่ได้  แต่ตราบใดที่ห้องชุดนี้เป็นสินสมรส  สามีภรรยาก็ย่อมมีสิทธิเท่าๆ กันอยู่นั่นเอง  

           อย่าเพิ่งงงไป  หากต้องแบ่งส่วนเมื่อไหร่  ก็ต้องใช้วิธีใส่ชื่อร่วมกันไป หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใช้ราคาครึ่งหนึ่งแล้วได้คอนโดไว้เป็นของตนเอง หรืออย่างสุดท้ายก็คือ ขายทิ้งไปแล้วนำเงินที่ได้มาแบ่งเท่านั้นเอง

            การเป็นเจ้าของร่วมโดยไม่ได้เป็นสามีภรรยาก็ทำได้  และสามารถใส่ชื่อร่วมหรือไม่ก็ได้เช่นกัน  เพียงแต่ต้องมีหลักฐานกันสักหน่อยหากไว้ใจใส่ชื่อคนใดเพียงคนเดียว

            เกิดคนมีชื่อในโฉนดตายขึ้นมา  ทายาทอ้างว่าไม่รู้เรื่อง ขอถือตามเอกสารก็มีอันเสี่ยงสูญทรัพย์สิน  เพราะโฉนดถือเป็นเอกสารสิทธิเสียด้วย

            นอกจากนี้ ก่อนจะเป็นคอนโดของเราสองคน  ก็อาจต้องกู้เงินไปซื้อ และจำนองห้องชุดไว้เป็นประกัน  ก็ขอให้ทราบไว้ว่า  ชื่อในโฉนดเป็นหนึ่งหรือสองเราก็ตามที  ต้องดูที่ข้อตกลงกับเจ้าหนี้เป็นสำคัญ ว่าเขาหรือเราเป็นคนกู้ในสัญญา  และมีใครค้ำประกันไว้เป็นส่วนตัวหรือไม่ ก็ให้เป็นไปตามนั้น

            เป็นสามีภรรยากัน จะกู้จะค้ำอย่างไรก็ไม่ทำให้ความเป็นสินสมรสของคอนโดยูนิตนี้เปลี่ยนไป ดังนั้น ถ้าไม่จ่ายหนี้ตามที่ตกลงกับธนาคารไว้  จนต้องบังคับจำนองเมื่อไหร่  นอกจากห้องชุดจะหลุดมือไป หากเงินไม่พอจ่าย  ทั้งสามีทั้งภรรยาก็มีภาระต่อเจ้าหนี้ต่อไป ในฐานะผู้กู้เงินหรือผู้ค้ำประกัน

             ทั้งยังกระจายให้เจ้าหนี้บังคับจ่ายเอาจากสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่ายได้ เพราะเป็นหนี้สินสมรสที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันตามกฎหมาย  เพราะฉะนั้น  การมีชื่อหรือไม่ในโฉนดห้องชุดจึงเป็นคนละส่วนกับการเป็นหนี้ที่ต้องรับภาระ

             ตอนแรกก็ร่วมชื่อกันได้  ตอนหลังต้องการแยกวงเมื่อไหร่  หากคนหนึ่งอยากขายก็สามารถทำได้เฉพาะส่วนของตน หรือครึ่งหนึ่ง  เมื่อขายได้แล้วก็ต้องจดทะเบียนใส่ชื่อคนใหม่เข้ามาร่วมด้วยในโฉนดต่อไป  

             การร่วมชื่อในโฉนดห้องชุดจึงง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน สำคัญต้องเข้าใจคุณสมบัติเฉพาะตัวตามกฎหมายในความเป็นคอนโดเท่านั้นเอง

"ศรัณยา ไชยสุต"

 

ที่มา  คมชัดลึก : komchadluek.net  วันที่ 24 มิถุนายน 2553