Home » คอนโด นิติบุคคลอาคารชุด » การซื้อขายและอยู่คอนโดฯ ไม่ให้ผิดกฎหมาย

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
การซื้อขายและอยู่คอนโดฯ ไม่ให้ผิดกฎหมาย

หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ ปีที่ 12 ฉบับที่ 3056 ประจำวัน พุธ ที่ 18 พฤษภาคม 2011

แนะซื้อขายคอนโดฯไม่ให้ติดคุก

          วิภาวดี : นักวิชาการแจงข้อดีของกฎหมายอาคารชุดปี 2551 เปรียบเทียบกับปี 2522 เชื่อคุ้มครองผู้ซื้อไม่ให้ถูกโครงการโกงมากขึ้น ระบุมีบทลงโทษอย่างเป็นธรรมทั้งผู้ซื้อผู้ขาย ยันมีหลายมาตราที่ผู้ทำผิดเสี่ยงติดคุก

          อาจารย์พิสิฐ ชูประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจัดสรรและคอนโดมิเนียม เปิดเผยกับ “โลกวันนี้” ถึงข้อแนะนำในการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมไม่ให้ผิดกฎหมายว่า ตามที่กรมที่ดินได้ประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 มีหลายมาตราที่ได้ปรับปรุงแก้ไขให้เกิดประสิทธิภาพ ลดปัญหาจากการตีความ และปัญหาอื่นๆที่จะตามมาได้จำนวนมาก รวมทั้งเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภค ผู้ซื้อห้องชุดในอาคารชุดและเจ้าของร่วมไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ขายหรือผู้ประกอบการโครงการ ตลอดจนเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้พัฒนาโครงการประเภท “มือสมัครเล่น” สามารถใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง

          ตัวอย่างรายละเอียดในข้อกฎหมาย เช่น การบังคับใช้แบบสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในอาคารชุด กรณีมีข้อสัญญาใดไม่เป็นคุณต่อผู้บริโภค ข้อสัญญานั้นไม่สามารถบังคับใช้ได้, สิ่งปลูกสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยภายในอาคารถูกบังคับให้ผู้จะขายหรือผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย หรือกรณีห้องชุดเหลือขายในนามผู้ประกอบการ ซึ่งเมื่ออาคารได้รับการจดทะเบียนอาคารชุดและนิติบุคคลอาคารชุดตามกฎหมาย ผู้ประกอบการต้องมีหน้าที่ชำระค่าส่วนกลางตามข้อบังคับเช่นเดียวกับผู้ซื้อห้องชุดหรือเจ้าของร่วมรายย่อย ฯลฯ

          ในเรื่องบทกำหนดโทษต่อผู้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2551 ซึ่งมีรายละเอียดและเนื้อหาครอบคลุมมากกว่าพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ที่บัญญัติไว้มีเพียงไม่กี่มาตรา เช่น กรณีเจ้าของร่วมค้างชำระค่าส่วนกลางหรือค่าสาธารณูปโภคส่วนกลางตามข้อบังคับ นิติบุคคลอาคารชุดสามารถคิดเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 12 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ และร้อยละ 20 ต่อปีเมื่อค้างชำระติดต่อกันตั้งแต่ 6 เดือน รวมทั้งไม่มีสิทธิใช้บริการทรัพย์ส่วนกลาง ตลอดจนการงดออกเสียงในการประชุมใหญ่เจ้าของร่วม

          กรณีการจดทะเบียนอาคารชุดโดยการฉ้อฉล หลอกลวงกับเอกสารหลักฐานการขายห้องชุดของผู้ประกอบการโครงการ และการไม่ใช้สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดตามแบบที่กำหนด ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 50,00-100,000 บาท และกรณีห้องชุดประกอบธุรกิจการค้าเชิงพาณิชย์ต้องจัดให้มีพื้นที่เข้า-ออกเป็นการเฉพาะ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 5,000 บาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน

         ส่วนกรณีที่ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ขัดขวาง หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดบทลงโทษในพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2551 อีกหลายมาตราที่เป็นโทษทางอาญา ซึ่งหมายถึงการปรับ หรือจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับต่อผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย

ที่มา   http://www.dailyworldtoday.com/columblank.php?colum_id=52829