Home » คอนโด นิติบุคคลอาคารชุด » อยู่คอนโดฯ..ปลอดภัยจากน้ำท่วมจริงหรือ? และแนวทางอยู่กับน้ำท่วม!..ของชาวคอนโดฯ

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
อยู่คอนโดฯ..ปลอดภัยจากน้ำท่วมจริงหรือ? และแนวทางอยู่กับน้ำท่วม!..ของชาวคอนโดฯ

อยู่คอนโดฯ..ปลอดภัยจากน้ำท่วมจริงหรือ???

โดย รัชด ชมภูนิช 30 ตุลาคม 2554

        หลังจากที่ (นอน) นิ่งนอน (จริงๆ) ใจว่าตัวเองจะอยู่รอดปลอดภัยไร้น้ำกัดเท้ากับมหาอุทกภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งนี้แน่ๆ แถมยังไม่ต้องเหนื่อยกับการกั้นกระสอบทราย และขนย้ายของขึ้นที่สูง (และชั้นสอง???) เพราะตัวเองพักอยู่ที่คอนโดมิเนียมแบบ Low-rise สูงตั้ง 8 ชั้นและอยู่บนชั้นบนสุด (เสียด้วย) จะไปโดนน้ำท่วมหรือเป็นผู้ประสบภัยได้อย่างไร จริงไหมครับ

        แต่นับวันยิ่งเห็นการรุกคืบหน้าของน้ำเข้ามาประชิดใกล้กรุงเทพฯ ชั้นใน (ซึ่งรวมคอนโดของผมเอง) เข้ามาทุกทีๆ รวมทั้งยังรู้ข่าวการอพยพย้ายถิ่นฐานของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย( ศปภ. )ทำให้แน่ใจได้เลยว่าตัวเราถึงแม้จะอยู่คอนโดฯคงไม่รอดจากภัยน้ำท่วมแน่ๆ

        เพราะอะไรหรือครับ แหม คงไม่ใช่เหตุผลที่ศปภ จะพาน้ำ (ท่วม) มาหาเราท่านเหมือนที่หลายๆ คนแอบแซวกันนะครับ

        แต่คงเป็นเพราะเมื่อผมได้ทบทวนความเป็นไปได้แบบไม่เข้าข้างตัวเอง และประเมินความเป็นจริงของอภิมหาน้ำครั้งนี้แล้วพบว่า คนเมืองที่พักอาศัยในคอนโดมิเนียมไม่ว่าสูงแบบเตี้ยๆ 7-8 ชั้นไปจนถึงสูงปรี๊ดดยัน 30-50 ชั้นก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงกับภัยน้ำท่วมไม่แพ้คนที่อยู่ในบ้านชั้นเดียว สองชั้น ทาวน์เฮ้าส์ที่ท่วมกันอ่วมไปแล้วตามชานเมืองหรือจังหวัดเช่นกัน และหนำซ้ำบางทีอาจมีความเสี่ยงมากกว่าเสียด้วยซ้ำ เริ่มสงสัย (ระคนวิตก) กันแล้วใช่ไหมครับ เราลองมาดูกันนะครับว่าเพราะอะไรครับ

      1.อยู่คอนโดก็มีโอกาสโดนตัดน้ำ ตัดไฟ

         ตามปกติระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าอาคารใหญ่ๆ และอาคารสูงโดยทั่วไปจะต้องจ่ายผ่านหม้อแปลงไฟฟ้าที่ท่านเห็นวางอยู่บนนั่งร้าน (กรณีอาคารไม่ใหญ่มาก) หรือวางบนพื้นแล้วมีตาข่ายล้อม ไปจนถึงการติดตั้งหม้อแปลงภายในอาคารซึ่งก็มักติดตั้งไว้ที่ชั้นล่างของอาคารหรือชั้นใต้ดิน
         นอกจากนี้อาคารใหญ่ๆ มากมายในปัจจุบันยังมีระบบการจ่ายไฟฟ้าแบบพิเศษเพิ่มเติมที่เรียกกันว่า Ring Main Unit : RMU ขึ้นมาอีกซึ่งห้องนี้คนออกแบบก็มักวางไว้ที่ชั้นล่างหรือขั้นใต้ดินอีกเช่นกัน เพื่อความสะดวกในการขนย้ายและซ่อมแซมอุปกรณ์
         ด้วยเหตุผลนี้ ถ้าน้ำเข้าท่วมชั่นล่างของคอนโดท่านซึ่งแน่นอนว่าต้องท่วมลงไปถึงชั้นใต้ดินด้วยแหงๆ และหากน้ำยังท่วมเข้าไปที่ห้องไฟฟ้าและหม้อแปลงของตึกท่านได้ เพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยและลดความเสียหายของอุปกรณ์เหล่านี้ ทางการไฟฟ้าก็จะตัดไฟฟ้าที่จ่ายเข้าสู่คอนโดฯของท่านแน่นอนครับ ในกรณีนี้ตึกที่ปลอดภัยจากการตัดไฟมากที่สุดหรือมีโอกาสถูกตัดไฟช้าที่สุดก็คือตึกที่มีหม้อแปลงอยู่ภายนอกอาคารและวางอยู่บนนั่งร้านครับ (พื้นที่อาคารประมาณไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร)

     2.คอนโดฯถูกตัดไฟเกิดอะไรขึ้น ?

        ตอบง่ายๆ ครับ เกิดความวุ่นวายกับตัวท่านแหงๆ และเกิดเยอะด้วยครับ เริ่มต้นจากไม่มีลิฟต์ใช้ : ท่านลองนึกภาพตัวท่านต้องเดินขึ้น-ลงคอนโดของท่านที่สูงซัก 10 ชั้นวันละ 2 ครั้งเพราะไม่มีลิฟต์ ท่านจะทนไหวได้ซักกี่วันครับ

  • ไม่มีน้ำใช้ : จินตนาการว่าท่านจะไม่มีน้ำใช้ น้ำอาบ และน้ำอึ หลังจากน้ำในถังเก็บน้ำบนตึกของท่านหมดเนื่องจากไม่มีไฟฟ้าปั๊มน้ำขึ้นไปเก็บไว้ ท่านจะทำอย่างไร
  • ไม่มีไฟฟ้าใช้ : ไฟฟ้าในที่นี้เกี่ยวข้องกับทั้งไฟฟ้าแสงสว่างไม่ว่าจะเป็นไฟ Downlight หรือนีออนที่เราท่านใช้กันในยามค่ำคืนทุกวี่วัน และยังรวมถึงไฟฟ้าที่ใช้กับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ ทีวี ตู้เย็น ไมโครเวฟ พัดลม มือถือ คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกสารพัดชนิด
  • ไม่มีแอร์ใช้ : เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของคนเมืองเลยนะครับ เพราะเราเคยชินกับการเปิดแอร์นอนกันทุกคืนจนแทบจะห่างกันไม่ได้แล้ว แล้วเราจะทนนอนใช้แอร์มือ (พัด) ได้ซักกี่วันครับ

    3.สำรองอาหารและน้ำดื่มไม่ได้ ?

       ถ้าคอนโดฯของท่านถูกตัดไฟ อาหารสดมากมายที่ซื้อหามาไว้เต็มตู้เย็นจะมีอายุขัยได้ไม่เกิน 2-3 วันแหงๆ ครับ ของกินมากมายเหล่านี้จะกลายเป็นภาระให้ท่านต้องไปหาที่ทิ้งด้วยความเสียดายเพราะมันจะบูดเน่าและส่งกลิ่นเหม็นสร้างความรำคาญกับเรา เราคงต้องพึ่งอาหารแห้ง อาหารกระป๋องที่ไม่ต้องผ่านการปรุงเป็นหลัก เพราะท่านคงไม่สามารถใช้เตาไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่ในครัวสุดหรูของท่านเนื่องจากไม่มีไฟฟ้าใช้ และคงไม่มีคอนโดที่ไหนที่ยอมให้ท่านยกเอาถังแก๊สปิคนิคมาใช้ผัด ใช้ทอด มาหุงหาอาหารด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยครับ
      นอกจากนี้เมื่อไฟถูกตัด การปั๊มน้้ำใช้งานหรือเก็บไว้ในถังเก็บน้ำสำรองของอาคารย่อมทำไม่ได้ ท่านจะพบสภาพน้ำไหลเอื่อยๆ ในชั้นบนที่อยู่ใกล้ถังเก็บน้ำดาดฟ้าเพราะแรงดันน้ำไม่พอ ไปจนถึงภาวะไม่มีน้ำใช้เนื่องจากน้ำในถังเก็บน้ำสำรองถูกใช้จนหมด (ซึ่งไม่น่าเกิน 2 วัน) เพราะไม่มีไฟปั๊มน้ำใหม่เข้าไปในระบบครับ

    4.ติดต่อสื่อสารได้อย่างไร

       เมื่อไม่มีไฟฟ้าใช้ แน่นอนว่าโทรศัพท์มือถือ Smartphone สุดไฮเทคของท่าน จะมีพลังงานให้ใช้ได้ไม่เกิน 2 วันแน่ๆ นอกจากนี้  อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และระบบ Wifi ต่างๆ ก็จะมีสภาพไม่ต่างกัน วิทยุและโทรทัศน์ที่ต้องใช้ไฟฟ้าก็ใช้การไม่ได้
      คราวนี้คงต้องคิดหาทางใหม่ว่าท่านจะติดต่อและรับทราบข้อมูลข่าวสารกับภายนอกและเพื่อนฝูงของท่านได้อย่างไร และแน่นอนว่าคนที่ติด Social Network อย่างงอมแงมคงไม่มีโอกาสมา Update Status ของตัวเองไปอีกหลายวันครับ

    5.ขับถ่ายอย่างไร

       ในสภาพน้ำท่วมขังรอบอาคาร ระบบบำบัดน้ำเสียที่มักติดตั้งไว้ใต้ดินอาจเกิดปัญหาในการใช้งานได้ไม่มากก็น้อย เพราะการระบายน้ำที่ผ่านการบำบัดจากคอนโดฯของเราออกสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะอาจทำได้ยากลำบากหรืออาจเกิดการน้ำไหลย้อนเข้ามาในระบบบำบัดได้เช่นเดียวกันกับบ้านพักอาศัยต่างๆ เช่นกัน ซึ่งอาจทำให้การใช้ส้วมขับถ่ายในอาคารแต่ละชั้นเกิดการอุดตันได้มากบ้างน้อยบ้างขึ้นกับความสูง (ถ้าใกล้ชั้นล่างมากเท่าไรจะมีผลกระทบมาก) แต่ผลกระทบนี้อาจกินเวลาพอสมควรขึ้นอยู่กับระดับความสูงของอาคาร ระดับน้ำท่วมขัง ประสิทธิภาพของระบบและการป้องกันน้ำเข้าสู่ระบบว่าทำได้ดีเพียงใดครับ

     6.เดินทางเข้า-ออกอาคารลำบาก

       แน่นอนครับว่าเมื่อเกิดน้ำท่วมขังตามถนนหนทางรอบๆ คอนโดฯไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม น้ำท่วมก็จะเป็นอุปสรรคในการเดินทางออกไปทำงาน (ถ้ายังไม่มีประกาศหยุดงาน) หรือจ่ายตลาดและการประกอบกิจกรรมในชีวิตประจำวันของท่านเช่นกัน รถยนต์ของท่านอาจใช้งานไม่ได้เพราะท่านเอาไปจอดเก็บไว้บนที่สูงหรือห่อพลาสติกไว้แล้ว
      คราวนี้ท่านจะมีวิธีการเดินทางอย่างไร จะลุยน้ำอย่างไร มีรถเมล์ผ่านในจุดที่ท่านเดินลุยน้ำไปได้ไหม มีวินมอเตอร์ไซค์ใกล้ๆ คอนโดท่านหรือไม่ หรือจะขังตัวเองอยู่ในห้องไม่ไปไหนรอน้ำลดได้กี่วัน เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องประเมินครับ

     7.การจัดการขยะและสิ่งปฎิกูล

       ยิ่งมีคนอาศัยในอาคารมาก ขยะและสิ่งปฏิกูลย่อมมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นหากคอนโดฯท่านเกิดน้ำท่วมขังสูงจนรถขยะเข้ามาขนย้ายขยะจากตึกของท่านไม่ได้ คอนโดท่านจะจัดการกับถุงขยะกองมหาศาลที่สะสมขึ้นทุกวันๆ อย่างไร รวมทั้งขยะทั้งหลายในห้องพักของท่านด้วยว่าถ้าไม่มีที่ทิ้งขยะแล้วท่านจะทำอย่างไร วิธีการทิ้งขยะเปียก เศษอาหาร และขยะแห้งรวมๆ กันจนส่งกลิ่นบูดเน่าหากสะสมกันหลายๆ วันจนถึงหลายอาทิตย์จะสร้างความแก่รบกวนตัวท่านมากน้อยแค่ไหน

     8.มีความเสี่ยงจากอัคคีภัย

       หากไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ หากคอนโดฯของท่านไม่มีเครื่องปั่นไฟสำรอง อุปกรณ์สำคัญๆ ที่ใช้รองรับเหตุฉุกเฉินจากไฟไหม้ย่อมไม่ทำงาน เราจะไม่มีปั๊มน้ำดับเพลิง ไม่มี Sprinkler ใช้งาน สัญญาณเตือนภัยอาจใช้งานไม่ได้ ระบบไฟฉุกเฉินอาจเปิดทิ้งไว้จนแบตเตอรี่หมดตั้งแต่แรกเริ่มโดนตัดไฟและไม่สามารถใช้งานได้
      เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน การอพยพหรือหนีไฟที่ไม่มีแสงไฟปกติและไฟฉุกเฉินตามเส้นทางหยีไฟและบันไดหนีไฟจะทำได้อย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องนำมาคิดมากๆ เช่นกันครับ

    9.น้ำท่วมบ้าน หรือท่วมคอนโดฯเป็นน้ำ (เน่า) เหมือนกัน

       กรุณาอย่าลืมว่าน้ำท่วมที่จะเดินทางมาถึงคอนโดของท่านเป็นน้ำที่ผ่านอะไรๆ มามากมาย (แม้จะผ่าน อย หรืออยุธยาก็ตาม) มวลน้ำก้อนนี้เป็นน้ำก้อนเดียวกับที่ท่านเห็นท่วมบ้านพี่น้องของเราในข่าวเช้า ข่าวกลางวัน ข่าวเย็นและข่าวดึกอยู่ทุกวันๆ น้ำก้อนนี้ย่อมพัดพาสิ่งปฏิกูล ไบไม้ ใบหญ้า เศษอาหาร ฯลฯ สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ
       ยิ่งเวลาผ่านไปนานเข้ากว่าน้ำท่วมจะมาถึงคอนโดท่าน น้ำก้อนนี้ก็กลายสภาพเป็นน้ำเน่าเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นน้ำก้อนนี้ย่อมไม่เหมือนน้ำฝนใสๆ ที่ท่วมขังตามถนนที่เราคุ้นๆ กันแน่ๆ เพราะมันจะมีกลิ่นเหม็น มีสีดำ มีโรคร้ายแฝงอยู่ และสร้างความคันคะเยอให้เราแน่นอนครับ

แนวทางอยู่กับน้ำ (ท่วม) ของชาวคอนโดฯ

       จากข้อมูลข้างต้นขอเรียนว่าทุกท่าน อย่าเพิ่งตื่นตะหนกตกใจกันจนต้องอพยพหนีน้ำลงจากคอนโดกันหมดทุกตึกครับ เพราะผมเพียงแต่ต้องการสะท้อน Worst Case Scenario มานำเสนอเพื่อความไม่ประมาทของท่านและตัวผมเองเป็นสำคัญครับ

       เรามาดูกันว่าเมื่อเราคาดว่าน้ำจะท่วมคอนโดท่าน (และของผม) แน่ๆ และตัวท่านได้ประเมินข้อมูลต่างๆ ข้างต้นแล้ว พบว่าท่านสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ต่อไปหรือจะปักหลักอยู่ที่คอนโดของท่าน เพราะระดับน้ำอาจไม่สูงมาก ไฟฟ้า/ ประปาไม่น่าจะถูกตัด ยังพอเดินทางสัญจรได้ไม่ลำบากนัก ยังพอดำเนินชีวิตได้ตามปกติบ้างโดยไม่ลำบาก และแน่ใจในความเข้มแข็งทางจิตใจและร่างกายของตัวเองก็ตาม เราจะมีวิธีการเตรียมตัวเพื่อเอาตัวรอดกันอย่างไรร่วมกัน

       ครับ! ผมขอย้ำนะครับว่า ต้องทำร่วมกันโดยทุกท่านที่อยู่อาศัยกันในคอนโดฯของท่านนี่แหละที่จะต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำโดยไม่ต้องรอให้ใครมาช่วยเหลือครับ

1.แจ้งนิติบุคคลให้จัดทำระบบป้องกันพื้นที่สำคัญของอาคาร

      การป้องกันห้องเครื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นห้องไฟฟ้า ห้องปั๊มน้ำดีและปั๊มน้ำดับเพลิงยังเป็นสิ่งจำเป็นด้วยวิธีการปกติ เช่น ก่อกำแพงปูนป้องกันน้ำที่ห้องเครื่องต่างๆ การป้องกันน้ำท่วมเข้าถังเก็บน้ำที่อยู่ใต้ดิน การป้องกันน้ำท่วมเข้าชั้นใต้ดิน การจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำให้เพียงพอรวมทั้งการจัดเวรยามเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังน้ำท่วมพื้นที่สำคัญเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นครับ เพื่อลดความเสียหายและประวิงเวลาน้ำให้มากที่สุด
      นอกจากนี้ท่านควรศึกษาข้อมูลว่าระบบการจ่ายไฟฟ้าและตำแหน่งการติดตั้งหม้อแปลงเป็นแบบใด อยู่ตำแหน่งใด ถังเก็บน้ำสำรองอยู่ใต้ดินหรือบนดิน มีความจุให้ใช้งานได้กี่วัน มีความเสี่ยงในการถูกตัดไฟ/ ตัดน้ำมากน้อยแค่ไหน มีเครื่องปั่นไฟสำรองไหม เหล่านี้เป็นต้นครับ

2.จัดการประชุมลูกบ้านเพื่อชี้แจงแนวปฏิบัติร่วมกันในช่วงน้ำท่วม

      เมื่อสถานการณ์น้ำท่วมเป็นปัญหาสำคัญของทุกคน ดังนั้นการร่วมกันแก้ปัญหาจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่พักอาศัยอยู่ในอาคารเพราะคอนโดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ถือได้ว่าเป็นอาคารที่มีคนอยู่เป็นหลักร้อยหรือหลายร้อย หากเราไม่มีกติกาในการอยู่ร่วมในภาวะวิกฤตก็อาจเกิดปัญหามากมายดังที่เห็นๆ กันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการแย่งพื้นที่จอดรถยนต์ในที่จอดรถชั้นที่ปลอดภัย การลักลอบปรุงอาหารด้วยแก๊สจนอาจเกิดอันตรายกับผู้อยู่อาศัยรายอื่นๆ การตุนน้ำ เก็บน้ำสำรองที่ผิดวิธีจนอาจเกิดความเสียหายกับโครงสร้างอาคารได้ เป็นต้น
      ครับ ข้อมูลเหล่านี้นิติบุคคลควรจัดประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ลูกบ้าน หารือสร้างความเข้าใจร่วมกันเพื่อแบ่งปันและจัดสรรทรัพยากรของอาคารต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และจัดทำประกาศหรือคู่มือปฏิบัติร่วมกันของผู้อยู่อาศัยทุกคนเพื่อเผยแพร่ให้รับทราบทั่วกันครับ

3.สมมติคอนโดตัวเองเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว

       ถ้าผู้พักอาศัยในคอนโดฯแต่ละตึกมีการรวบรวมเสบียง ข้าวปลาอาหารและน้ำดื่มน้ำใช้ไว้เป็นส่วนกลางเพื่อการใช้สอยร่วมกัน มีการจัดพื้นที่ส่วนกลางจัดเป็นพื้นที่ตุนเสบียง และครัวกลางสำหรับหุงหาอาหารกรณีไม่มีไฟฟ้าใช้ (หรือมีก็ตาม) เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้อาศัยจะช่วยลดปัญหาและภาระค่าใช้จ่ายของแต่ละครอบครัวลงได้อย่างมากมาย รวมทั้งยังลดความเสี่ยงการเกิดเพลิงไหม้จากการลักลอบหุงหาอาหารจากเชื้อเพลิงที่ไม่ปลอดภัย และยังช่วยลดความเสียหายของโครงสร้างอาคารในภาพรวมอันเนื่องมาจากการเก็บกักน้ำสำรอง (ซึ่งมีน้ำหนักมาก) อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ครับ

4.จัดเตรียมแผนอพยพสำหรับผู้อยู่อาศัย

       ในระดับตัวบุคคล และครอบครัวควรมีการเตรียมการสำหรับการอพยพกรณีฉุกเฉินไว้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ยังชีพ การจัดเก็บเอกสารสำคัญ และเตรียมแพ็คกระเป๋าสิ่งของจำเป็นของบุคคลและครอบครัว สำหรับในระดับโครงการเองควรเตรียมการสำหรับการเคลื่อนย้ายอพยพคนในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือน้ำท่วมฉับพลันไว้เช่นกันทุกระดับ
       ทั้งนี้นิติบุคคลควรนำแผนปฏิบัติในกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้และแนวทางการอพยพคนของราชการมาปรับปรุงใช้ เช่น การอัพเดตจำนวนผู้อาศัยแต่ละห้อง แต่ละชั้นผ่านการมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบลูกบ้านเป็นรายชั้น การกำหนดจุดรวมพลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเมื่อตัดสินใจอพยพคนอาศัย การจัดเตรียมยานพาหนะสำหรับอพยพคนและสัตว์เลี้ยงให้เพียงพอผ่านเครือข่ายลูกบ้าน การจัดเตรียมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น รถเข็นคน รถเข็นของ เสื้อชูชีพสำรอง ถุงยังชีพสำรอง เป็นต้น

5.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิต

       เราคงต้องทำความเข้าใจกับตัวเอง คนในครอบครัวและเพื่อนร่วมคอนโดฯของเราว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาไม่ปกติของบ้านเมือง ดังนั้นการลด ละ เลิก พฤติกรรมฟุ่มเฟือยความสะดวกสบายส่วนตัวจึงเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการกิน การอยู่อาศัย การขับถ่ายของคนในครอบครัว การลดการใช้น้ำและการซักล้างเท่าที่จำเป็น การประหยัดพลังงานและเชื้อเพลิง เหล่านี้ จะช่วยให้ท่านอยู่อาศัยได้อย่างมีความสุขในภาวะวิกฤตครับ

ที่มา http://www.prasong.com/highlight/อยู่คอนโดฯ-ปลอดภัยจากน้ำท่วมจริงหรือ