Web Design by Softbiz+
|
เว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014 |
นิติบุคคลอาคารชุด...เรื่องที่ควรรู้ก่อนซื้อห้องชุดคอนโด |
นิติบุคคลฯ หัวใจบริหารคอนโดฯ
กฎหมายรอบรั้ว dailynews.co.th วันที่ 3 มีนาคม 2555
รูปแบบชีวิตของคนกรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนไปเลือกความสะดวกสบายของคอนโดมิเนียมที่อยู่ใจกลางเมืองมากขึ้นนั้น เมื่อมีผู้อยู่อาศัยจำนวนมากก็จำเป็นต้องมีการจัดการดูแลรักษาอาคารชุด เนื่องจากเจ้าของห้องชุดต่างก็มีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดนั้น ๆ นอกจากนั้นเจ้าของห้องชุดยังมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลางอีกด้วย
เฉพาะกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลเจ้าของห้องชุดนั้นแต่ผู้เดียวเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ และมีสิทธิขาดในห้องชุดนั้นแต่เพียงผู้เดียว จึงมีหน้าที่ดูแลรักษาห้องชุดนั้นแต่ผู้เดียวเช่นกัน
แต่ในส่วนของทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วม (ทรัพย์ส่วนกลาง) นั้น ไม่ใช่เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของเจ้าของร่วม คือเจ้าของห้องชุดทุกคน จะให้คนใดคนหนึ่งมาทำหน้าที่ดูแลรักษาย่อมไม่เป็นธรรม และเป็นภาระยุ่งยาก จึงจำเป็นต้องมีผู้มาทำหน้าที่ดูแลรักษา หรือบริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลาง เพื่อได้รับประโยชน์ในการใช้ทรัพย์ส่วนกลางอย่างดีที่สุด กฎหมายจึงกำหนดให้ตั้งนิติบุคคลอาคารชุดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่นี้
นิติบุคคลอาคารชุด หมายถึงนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 เท่านั้น และต้องจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดต่อเจ้าพนักงานที่ดิน โดยนิติบุคคลอาคารชุดที่ตั้งขึ้นมาก็มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการดูแลทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดเท่านั้น
การบริหารจัดการอาคารชุดนั้น จำเป็นต้องมีการออกกฎระเบียบข้อบังคับซึ่งเป็นเสมือนเป็นข้อตกลงร่วมกันของเจ้าของห้องชุดในอาคารชุดนั้น ๆ ที่จะต้องถือปฏิบัติ โดยกำหนดให้ทุกอาคารชุดจะต้องมีข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งอย่างน้อยจะต้องมีสาระสำคัญดังนี้
1) ชื่อนิติบุคคลอาคารชุดต้องมีคำนำหน้าว่า “นิติบุคคลอาคารชุด” ไว้ด้วย
2) วัตถุประสงค์ตามมาตรา 33
3) ที่ตั้งสำนักงานนิติบุคคลอาคารชุด
4) จำนวนเงินค่าใช้จ่ายของนิติบุคคลอาคารชุดที่เจ้าของร่วมต้องชำระล่วงหน้า
5) ทรัพย์ส่วนกลางนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 15 ถ้ามี
6) การจัดการทรัพย์ส่วนกลาง
7) การใช้ทรัพย์ส่วนบุคคลและทรัพย์ส่วนกลาง
8) อัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละห้องชุดมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง ตามที่ขอจดทะเบียนอาคารชุด
9) การเรียกประชุมใหญ่และวิธีการประชุมใหญ่เจ้าของร่วม
10) อัตราส่วนค่าใช้จ่ายร่วมกันของเจ้าของร่วมตามมาตรา 18
11) การแต่งตั้ง อำนาจหน้าที่ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการ
12) ข้อความอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อห้องชุด ควรศึกษาหาความรู้เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับอาคารชุดมาก่อน เพื่อความมั่นใจ ความมั่นคงในชีวิตอยู่กับอาคารชุดอย่างมีความสุขนะครับ.
ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/950/15252
|