ค่าส่วนกลางคอนโด(นิติบุคคลอาคารชุด) ..จ่ายช้าต้องเสียค่าปรับ |
ค้างจ่ายค่าส่วนกลางมีค่าปรับ
dailynews.co.th กฎหมายรอบรั้ว วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม 2555
ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมก็ต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับว่าผู้ซื้อห้องชุดมีหน้าที่ต้องชำระค่าส่วนกลาง โดยเงินค่าส่วนกลางที่เก็บได้นั้นจะนำไปชำระค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนาปรับปรุงให้ส่วนกลางใช้ได้อย่างต่อเนื่องและน่าอยู่
หากเจ้าของร่วมที่ไม่ชำระค่าส่วนกลาง นิติบุคคลอาคารชุด หรือผู้จัดการนิติบุคคลฯ ก็มีหน้าที่และความจำเป็นที่ต้องเรียกเก็บเงินให้ได้ เพื่อมิให้มีการค้างชำระค่าส่วนกลางเป็นจำนวนมาก และเพื่อเป็นการรักษาสิทธิของเจ้าของร่วมทุกคนที่ต้องใช้พื้นที่ ผู้จัดการนิติฯ อาจพิจารณาดำเนินการตามข้อบังคับของอาคารชุด เช่นการเรียกเบี้ยปรับเงินเพิ่ม การระงับบริการสาธารณูปโภค รวมถึงห้ามมิให้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินส่วนกลางส่วนใดส่วนหนึ่งได้ หรืออาจใช้สิทธิตามกฎหมายถึงขั้นฟ้องร้องเจ้าของห้องชุดที่ไม่ชำระก็ได้
การไม่ชำระค่าส่วนกลางมีผลเสียมากมายต่อเจ้าของร่วมทุกคน ทางที่ดีควรชำระตามกำหนดและร่วมกันบริหารจัดการหรือตรวจสอบบัญชีน่าจะเป็นการดีกว่านิติบุคคลอาคารชุดของคอนโดฯจะเป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลาง เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ปรับปรุงดูแลซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ในคอนโดฯ ซึ่งจะนำเงินจากการจัดเก็บค่าส่วนกลางมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
นิติบุคคลอาคารชุดแต่ละแห่งจะมีมาตรการในการจัดเก็บค่าส่วนกลางไม่เหมือนกัน แล้วแต่ข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดนั้น ๆ บางนิติบุคคลมีการจัดเก็บที่ไม่เป็นธรรมกับเจ้าของห้อง มีการคิดค่าปรับในกรณีที่เจ้าของห้องชำระค่าส่วนกลางล่าช้า (อาจสูงถึงร้อยละ 10 ต่อเดือน) ซึ่งคอนโดฯ บางแห่งก็นำเอาดอกเบี้ยนี้มาทบต้นด้วย เป็นการเอาเปรียบเจ้าของห้องมาก
ตามพระราชบัญญัติอาคารชุดฉบับปรับปรุงปี 2551 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 4) มาตรา 11 จึงได้กำหนดอัตราค่าปรับใหม่เพื่อความเป็นธรรมกับเจ้าของห้องมากยิ่งขึ้น แบ่งเป็น 2 กรณี
กรณีแรก หากเจ้าของร่วมไม่ชำระเงินค่าส่วนกลาง หรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดจากการให้บริการส่วนรวมภายในระยะเวลาที่กำหนด (ค้างชำระไม่เกินหกเดือน) นิติบุคคลอาคารชุดไม่สามารถเรียกเก็บค่าปรับเกินร้อยละ 12 ต่อปี และไม่สามารถนำค่าปรับนี้มาคิดทบต้น ตามข้อบังคับของคอนโดฯ
กรณีที่สอง หากเจ้าของร่วมค้างชำระเงินค่าส่วนกลางเกินกว่าหกเดือน นิติบุคคลอาคารชุดไม่สามารถเรียกเก็บค่าปรับได้ เกินร้อยละ 20 ต่อปี และนิติบุคคลสามารถระงับการให้บริการส่วนรวม หรือการใช้ทรัพย์ส่วนกลางที่ได้กำหนดไว้ตามข้อบังคับของคอนโดฯ และไม่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมของคอนโดนั้น ๆ ได้.
ดินสอพอง.. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/950/134500
|