Home » คอนโด นิติบุคคลอาคารชุด » การตรวจสอบห้องชุด(คอนโดมิเนียม)...ก่อนตัดสินใจซื้อ

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
การตรวจสอบห้องชุด(คอนโดมิเนียม)...ก่อนตัดสินใจซื้อ

ตรวจสอบห้องชุดอย่างไรก่อนตัดสินใจซื้อ

siamturakij.com > อสังหาริมทรัพย์ [ ประจำวันที่ 25-8-2012 ถึง28-8-2012 ]

ปัจจุบันราคาสำหรับการซื้อขายที่ดินในย่านชุมชนได้มีการปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ประกอบกับพื้นที่ว่างก็มีน้อยลง จึงเป็นเหตุให้ประชาชนไม่สามารถที่จะซื้อที่ดินและบ้านเพื่อใช้อยู่อาศัยได้ และอีกปัจจัยที่สำคัญคือ ผู้คนส่วนใหญ่มีความจำเป็นจะต้องเข้ามาทำงานในเมือง จึงต้องหลีกเลี่ยงปัญหาการเดินทาง อีกทั้งจากสถานการณ์มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ในเขตต่างๆ โดยเฉพาะเขตกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล

อาคารชุดจึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่มีความต้องการความสะดวกสบายและปลอดภัยจากน้ำท่วม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีข้อมูลเพื่อตรวจสอบก่อนตัดสินใจซื้อห้องชุด และก่อนการซื้อผมขอให้คำแนะนำเพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณา

อาคารจะมี 2 แบบ คือ อาคารที่ก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ และอาคารที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว 1.อาคารชุดที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างวางฐานรากแต่อย่างใด ควรจะต้องดูว่ามีใบอนุญาตให้ก่อสร้างจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 หรือไม่ ซึ่งเอกสารนี้สามารถตรวจได้จากเจ้าของโครงการ

2.โครงการที่จำนวนห้องชุดตั้งแต่ 80 ห้องชุดขึ้นไปหรือมีพื้นที่เกินกว่า 4,000 ตร.ม. จะต้องมีรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตามประกาศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมด้วย

3.ต้องตรวจสอบโฉนดที่ดินว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของโครงการแล้วหรือไม่ มีภาระผูกพันอย่างอื่นนอกจากการจำนองหรือไม่ ถ้าที่ดินมีภาระผูกพันอย่างอื่นจะไม่สามารถจดทะเบียนอาคารชุดได้ (ยกเว้นเรื่องจำนอง) ซึ่งหากไม่แน่ใจหลักฐานที่โครงการให้ดูก็สามารถตรวจสอบกับสำนักงานที่ดินท้องที่ที่อาคารนั้นตั้งอยู่อีกทางหนึ่งก็ได้

4.ดูแผนผังแสดงแนวเขตที่ดินที่ตั้งอาคารว่ามีทางเข้าออกหรือไม่ ทางเข้าออกนั้นเป็นทางสาธารณะหรือเป็นทางส่วนบุคคล ถ้าเป็นทางส่วนบุคคลต้องตรวจสอบว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร มีการจดทะเบียนภาระจำยอมให้ที่ดินแปลงที่ตั้งอาคารสามารถใช้เป็นทางเข้าออกได้เรียบร้อยแล้วหรือยัง

5.จัดเก็บแผ่นพับโฆษณาประชาสัมพันธ์ของโครงการ (ทุกฉบับที่มี) เพราะในวันข้างหน้าหากเจ้าของโครงการจัดทำรายการทรัพย์สินไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้ หรืออะไรที่บอกว่าจะมีแล้วไม่มี บอกว่าจะทำแล้วไม่ทำ ท่านสามารถนำเอกสารเหล่านี้เป็นหลักฐานฟ้องร้องค่าเสียหายจากโครงการได้

6.ตรวจสอบชื่อ ที่อยู่ เจ้าของโครงการว่าเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล และมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จะสร้างอาคารนั้นหรือไม่ ถ้าเป็นนิติบุคคลก็ต้องดูว่าจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ มีทุนจดทะเบียนเท่าไหร่ ทุนที่ชำระแล้วเท่าใด ใครเป็นกรรมการผู้จัดการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการ และหรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด

และข้อสุดท้ายซึ่งสำคัญที่สุดคือ จะต้องตรวจสอบว่าอาคารชุดจะเริ่มก่อสร้าง และแล้วเสร็จเมื่อไหร่

สำหรับอาคารชุดที่ท่านหมายตาไว้นั้นได้ทำการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มีขั้นตอนในการตรวจสอบอีกเหมือนกัน โดยดูในรายละเอียดเหล่านี้

1.มีการจดทะเบียนอาคารชุดแล้วหรือยัง การดำเนินการดังกล่าวสามารถตรวจสอบได้ที่สำนักงานที่ดินท้องที่ที่อาคารชุดนั้นตั้งอยู่

2.ติดต่อสำนักงานที่ดินท้องที่ที่อาคารชุดตั้งอยู่ เพื่อขอตรวจสอบเลขที่โฉนดที่ดิน จำนวนเนื้อที่ดิน แผนผังแสดงเขตที่ดินและทางเข้าออกของอาคารชุด

3.ตรวจสอบที่กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์หรือสำนักงานพาณิชย์ท้องที่ว่า ชื่อ ที่อยู่และสถานภาพของผู้ที่ยื่นขอจดทะเบียนอาคารชุดเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ถ้าเป็นนิติบุคคลก็ต้องดูต่อว่าใครเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพัน

4.ตรวจสอบรายการทรัพย์ส่วนกลางและส่วนบุคคลว่าถูกต้องตรงกับที่ได้โฆษณาไว้หรือไม่ 5.ตรวจสอบจำนวนเงินที่จะต้องชำระเป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลาง 6. ตรวจสอบข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดด้วยว่า กฎกติกาและระเบียบต่างๆ ท่านสามารถรับเงื่อนไขได้หรือไม่

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เกี่ยวเนื่องกับเอกสารโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งเน้นว่า จะต้องจัดเก็บไว้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องดำเนินคดี หากดีเวลอปเปอร์ เอารัดเอาเปรียบ และการโฆษณาไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านจะต้องตรวจสอบในรายละเอียดข้างต้นอย่างรอบคอบครับ

ที่มา http://www.siamturakij.com/home/news/display_news.php?news_id=413365385