การตรวจสอบก่อนรับโอนห้องชุดคอนโดมิเนียม |
ก่อนรับโอนห้องชุด
dailynews.co.th - กฎหมายรอบรั้ว วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม 2556
ก่อนที่จะรับโอนห้องชุดจากผู้ประกอบการ ผู้จะซื้อควรให้ความสำคัญและเอาใจใส่กับเรื่องต่างๆ ดังนี้
-
ตรวจสอบโฉนดที่ดินที่ตั้งของอาคารชุด รายการทรัพย์ส่วนกลางที่จดทะเบียนโฉนดที่ดินทางเข้า-ออก ของโครงการ (ถ้ามี) และรายการทรัพย์ส่วนบุคคลที่ขอจดทะเบียน ทั้ง 4 อย่างข้างต้น ผู้จะซื้อ ควรจะต้องขอเอกสารจากผู้ประกอบการ เพื่อประกอบการตรวจรับมอบห้องชุด ว่าถูกต้องและสอดคล้องกับที่โฆษณาขาย หรือเป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดหรือไม่
หากมีกรณีที่ปรากฏว่ามีรายละเอียดไม่ตรงกัน ผู้จะซื้อสามารถใช้สิทธิโต้แย้งเป็นหนังสือ และสำเนาเรื่องดังกล่าวให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินรับทราบด้วยก็ได้นะครับ
โดยปกติ ผู้จะซื้อสามารถใช้สิทธิของตนในการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลได้ภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดจากผู้ประกอบการ และสิ่งที่ควรตรวจสอบเพิ่มเติมคือ
-
ตรวจสอบจำนวน หรือพื้นที่จอดรถยนต์ภายในอาคารชุดว่าจดทะเบียนเป็นทรัพย์ส่วนกลาง หรือทรัพย์ส่วนบุคคลหรือทรัพย์ร่วมของอาคารชุด ซึ่งโดยปกติจะมีที่จอดรถยนต์ไม่เพียงพอกับจำนวนห้องชุด ซึ่งดูจากข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด
-
ตรวจสอบพื้นที่ภายในห้องชุด โดยวัดความกว้าง ความยาว และความสูง เก็บไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งปัญหาเรื่องพื้นที่ห้องชุดแตกต่าง หรือไม่ตรงกับพื้นที่ขาย มีให้พบเห็นอยู่บ่อยครั้งครับ ซึ่งโดยหลักแล้วพื้นที่ห้องชุดที่ขายหายไปผู้ประกอบการจะต้องคืนเงิน หรือลดราคาให้ตามส่วน แต่หากพื้นที่ขาดหายไปเกินกว่าร้อยละ 5 ของพื้นที่ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว ผู้จะซื้อมีสิทธิที่จะปฏิเสธการรับโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดนั้น ๆ ได้เลยนะครับ
-
ตรวจสอบระบบความปลอดภัยภายในอาคารและห้องชุด ซึ่งอาคารสูงโดยมากจำเป็นต้องมีระบบความปลอดภัย เพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นต่อชีวิต และทรัพย์สินของเจ้าของร่วมจำนวนมาก ระบบความปลอดภัยภายในอาคารจำเป็นต้องสอดคล้องกับกฎกระทรวง กฎหมาย ข้อบัญญัติของท้องถิ่นนั้น ๆ อาทิ ท่อน้ำดับเพลิง อุปกรณ์ดับเพลิง ส่วนภายในห้องชุดจะมีอุปกรณ์ตรวจจับควันและอุปกรณ์น้ำฉีดดับเพลิง เป็นต้น
-
ตรวจสอบข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด คู่มือการพักอาศัยและการใช้ทรัพย์ส่วนกลาง การจัดเก็บค่าส่วนกลาง และเงินกองทุนของนิติบุคคลอาคารชุด จากฝ่ายบริหารอาคาร
ข้อบังคับ เป็นกฎระเบียบ กติกา และมารยาทของการอยู่อาศัยร่วมกันภายในอาคารชุด ข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด จะขัดหรือแย้งกับกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรือจะเอาเปรียบกับผู้จะซื้อห้องชุด หรือเป็นข้อบังคับซึ่งเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ ข้อบังคับเหล่านั้นไม่มีผลบังคับนะครับ สามารถขอแก้ไขภายหลังได้นะครับ.
ดินสอพอง ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/950/187647
|