
บริษัท ซอฟท์บิส พลัส จำกัด Softbiz Plus co.,ltd. .
จำหน่ายโปรแกรมระบบบัญชีนิติบุคคลอาคารชุด/หมู่บ้านจัดสรร .
ติดต่อ สอบถาม สาธิตโปรแกรม ณ ที่ทำการท่าน โทรนัดที่ 081 826 2390
โทร. 025406201-2, 029198259 จ.-ศ. 9:00-17:00 ส. 9:00-15:00 .
|
เว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014 |
สิทธิประโยชน์ทางภาษี ของ ผู้ซื้อห้องชุดคอนโด ใน โครงการ "บ้านหลังแรก" : เงื่อนไขและวิธีการขอยกเว้นภาษี |
![]()
คอนโดหลังแรกกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หลังไหนได้-ใครมีสิทธิ
หลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติโครงการ "บ้านหลังแรก" ที่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และได้มีการตราออกมาเป็นพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นรัษฏากร (ฉบับที่ 528) เมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนที่ไม่เคยเป็นเจ้าของบ้าน หรือคอนโดมาก่อน สามารถซื้อบ้านหรือคอนโดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้โดยอาศัยมาตรการทางภาษีเข้ามาสนับสนุน วันนี้ เราลองมาดูกันครับว่า ใครจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตรงนี้บ้าง และภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง
อะไรคือประโยชน์ที่พวกเราจะได้
ประโยชน์ที่ท่านจะได้รับคือ ท่านจะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาน้อยลงตลอด 5 ปีหลังจากที่ท่านซื้อบ้าน หรือคอนโดหลังแรก คำนวณกันง่ายๆ แบบนี้ครับ เริ่มต้นด้วยตัวเลข 10% ของจำนวนเงินค่าซื้อบ้าน หรือคอนโดหลังแรก ให้ท่านเอามาหารออกเป็นเงิน 5 ส่วน (คือกระจายออกเป็นปีภาษี 5 ปี) แล้วจำนวนเงินแต่ละส่วนนี้จะตีเท่ากับจำนวนภาษีที่ท่านจะได้รับยกเว้นในแต่ละ 5 ปีนั้นๆ เช่น เดือนพฤศจิกายน 2555 ท่านซื้อและโอนคอนโดมือหนึ่งราคา 3,500,000 บาทเสร็จเรียบร้อย 10% จะเท่ากับ 350,000 ให้เอาจำนวนนี้ไปหารด้วย 5 จะเท่ากับ 70,000 ดังนั้น ถ้าในปีภาษี 2555 ท่านมีภาษีที่ต้องเสียคำนวณจากเงินได้สุทธิเป็นจำนวน 100,000 บาท ให้เอา 70,000 นี้มาหักยกเว้นออกก่อน (Tax Exemption) นั่นหมายถึง ถ้าพูดแบบสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ แทนที่จะต้องเสียภาษี 100,000 บาทสำหรับปีภาษี 2555 แต่เมื่อท่านซื้อบ้านหลังแรกนี้แล้ว ภาษีที่ท่านจะต้องเสียสำหรับปีภาษี 2555 จะเหลือแค่ 30,000 บาทเท่านั้น และหลังจากนั้นอีก 4 ปีที่เหลือก็จะใช้สูตรนี้ตลอด แต่ทั้งหมดนี้ จะต้องเข้าเงื่อนไขที่เราจะพูดถึงต่อไปนี้ด้วยนะครับ
เงื่อนไขสำหรับสิทธิภาษีโครงการบ้านหลังแรก
1. คุณสมบัติเกี่ยวกับตัวอสังหาริมทรัพย์
1.1 คำว่าอสังหาริมทรัพย์ที่จะได้สิทธินี้ต้องเป็นประเภท (ก) อาคารพร้อมที่ดิน หรือ (ข) ห้องชุดในอาคารชุดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น (พูดในอีกนัยหนึ่งก็คือ ที่ดินเปล่า หรือบ้านสร้างเองไม่เข้าเงื่อนไขนี้ ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีคนบ่นกันเยอะว่านโยบายแบบนี้ไม่ได้มุ่งเน้นประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงๆ (เพราะในมุมมองประชาชน ไม่ว่าจะบ้านมือสอง หรือมือสามก็ถือว่าเป็นบ้านหลังแรกในชีวิตสำหรับบางคนเสมอ) แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเจ้าของโครงการอสังหาฯ ให้ขายของได้มากกว่า)
1.2 อสังหาริมทรัพย์นั้นต้องไม่เคยมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์มาก่อน (พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ บ้าน หรือคอนโดมือสองไม่เข้าเงื่อนไขนี้)
1.3 ต้องมีราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท (ตัวอย่างคอนโดราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท)
1.4 ต้องมีการชำระเงินค่าซื้อ และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 2554 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2555 เท่านั้น (เช่น ถ้ายื่นจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่หน่วยงานที่ดินไม่ทัน 31 ธ.ค. 2555 ก็จะหมดสิทธิทันที)
2. คุณสมบัติเกี่ยวกับคนซื้อ
2.1 ต้องเป็นบุคคลธรรมดา (ตั้งบริษัทขึ้นมาซื้อไม่ได้)
2.2 ต้องใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ครั้งแรกภายใน 5 ปี นับแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ (นั่นหมายถึงว่า ถ้าจดทะเบียนรับโอนในปี 2555 ก็เริ่มใช้สิทธินี้ได้เลยตั้งแต่ปีภาษี 2555 จนถึงปีภาษี 2559) และต้องใช้สิทธิดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปีต่อเนื่องกัน โดยให้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเท่าๆ กันในแต่ละปี (เช่นตามตัวอย่างข้างต้น)
2.3 จำนวนที่จะนำไปยกเว้นภาษีสูงสุดตลอดทั้ง 5 ปีนั้น คือ ไม่เกิน 10% ของราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเท่านั้น
2.4 ต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือคอนโดมาก่อน (การดูกรรมสิทธิ์ให้ดูว่ามีชื่อเป็นเจ้าของอยู่ในโฉนดหรือไม่ หรือถ้ามีชื่อเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้านต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังนั้น)
2.5 หลังจากวันโอนกรรมสิทธิ์ ห้ามขายจนกว่าจะครบ 5 ปี
2.6 ต้องไม่เคยเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อเช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย (อธิบายง่ายๆ ก็คือ ต้องไม่เคยกู้ธนาคารซื้อบ้านมาก่อน)
2.7 ต้องไม่เคยเป็นผู้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่อยู่อาศัยเดิม และซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยใหม่ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 241 (พ.ศ. 2546) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และต้องไม่เคยเป็นผู้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ. 2552) (พูดอีกในนัยหนึ่งก็คือ พวกเราที่เคยได้สิทธิประโยชน์ภาษีการซื้อบ้าน หรือคอนโดในอดีตมาแล้วจะมาขอใช้สิทธิประโยชน์ภาษีบ้านหลังแรกนี้ไม่ได้อีก เช่น ช่วงปี 2552 รัฐบาลมีมาตรการภาษีกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ว่าถ้าใครซื้อในปี 2552 จะหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 300,000 บาท ซึ่งถ้าใครเคยใช้สิทธินี้เมื่อปี 2552 แล้วจะใช้สิทธิบ้านหลังแรกนี้ไม่ได้อีก)
![]() วิธีการขอยกเว้นภาษี
หลังจากที่ท่านได้ซื้อบ้าน หรือคอนโดหลังแรกมาแล้ว วิธีการใช้สิทธิก็คือเมื่อถึงเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ท่านก็ต้องกรอกตัวเลขที่ท่านได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เข้าไปในช่องที่กำหนด ทั้งนี้ ในกรณีของ ภ.ง.ด. 90 ให้ท่านกรอกในรายการที่ 13 (เงินได้ที่ได้รับยกเว้นจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์) ของข้อ 10 (การคำนวณภาษี) ของแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 และในกรณีของ ภ.ง.ด. 91 ให้ท่านกรอกในรายการที่ 13 (เงินได้ที่ได้รับยกเว้นจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์) ของหมวด ก. (การคำนวณภาษี) ของแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 91
![]()
ตัวอย่าง ภ.ง.ด. 90 (รายการที่ 13 ของข้อ 10 การคำนวณภาษี)
![]()
ตัวอย่าง ภ.ง.ด. 91 (รายการที่ 13 ของหมวดก. การคำนวณภาษี)
นอกจากนี้ ท่านจะต้องยื่นเอกสารประกอบดังต่อไปนี้ให้กรมสรรพากรด้วย
1. สำเนาสัญญาซื้อขายบ้าน หรือคอนโดนั้น
2. สำเนาสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้าน หรือคอนโดนั้น (ถ้ามีการกู้ยืมเงินสินเชื่อจากธนาคาร)
3. หนังสือรับรองจากบริษัทที่ขายบ้าน หรือคอนโดหลังแรกนั้นเพื่อยืนยันว่าได้มีการจ่ายเงินค่าซื้อบ้าน หรือคอนโดนั้น (ซึ่งกรณีนี้ ท่านก็จะขอจากบริษัทที่ขายบ้านให้ท่านได้)
4. หนังสือรับรองตนเองว่าเป็นที่อยู่อาศัยแห่งแรก (ซึ่งหนังสือนี้ท่านจะต้องทำ และลงนามเอง โดยมีเนื้อหาตามที่กรมสรรพากรกำหนดข้างล่างนี้)
![]() กรณีผู้มิเงินได้มีสามีหรือภรรยา จะได้รับยกเว้นภาษีเท่าใด
สามีภรรยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และความเป็นสามีภรรยามีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับ ยกเว้นภาษี ดังนี้
1. กรณีภรรยาไม่แยกยื่นแบบฯ ยกเว้นภาษีรวมกันเท่าจำนวนเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จริง แต่รวมกันไม่เกินร้อยละ10 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ฯ
2. กรณีภรรยาแยกยื่นแบบฯ ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีได้กึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จริง แต่รวมกันไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ฯ ทั้งนี้ การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ครั้งแรกของสามีและภรรยา จะต้องกระทำในปีภาษีเดียวกัน
3. กรณีต่างฝ่ายต่างมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้อยู่ก่อนแล้ว ให้ได้รับยกเว้นภาษีรวมกันไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ฯ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
สามีภรรยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และความเป็นสามีภรรยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ซึ่งต้องแยกยื่นแบบฯ ดังนี้
1. กรณีมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีอยู่ก่อนแล้ว ให้สามีและภรรยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างยังคงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เท่าจำนวนเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ฯ
2. กรณีผู้มีเงินได้สมรสกัน ต่อมามีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จริง แต่รวมกันไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ฯ
กรณีการกู้ยืมเงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ร่วมกัน
ถ้าผู้กู้ร่วมมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยของตนเอง หรือเคยใช้สิทธิหักลดหย่อน หรือยกเว้นภาษีมาแล้ว ผู้กู้ร่วมจะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีในส่วนของเงินได้ที่ใช้กู้ร่วม
ถ้าไม่ทำตามเงื่อนไขกรมสรรพากรล่ะ?
ถ้าสมมติบังเอิญว่าท่านลืม หรือไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดตามที่พูดมาข้างต้น เช่น ดันไปขายคอนโดทิ้งภายใน 5 ปีหลังจากที่ซื้อ หรือกรมสรรพากรมีบันทึกไว้ว่า ท่านเคยเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมบ้านมาก่อน เป็นต้น กรมสรรพากรได้กำหนดไว้เลยว่า ให้สิทธิยกเว้นภาษีบ้านหลังแรกนี้สิ้นสุดลงทันที ตั้งแต่ปีภาษีแรกที่ได้ใช้สิทธิ และให้ถือว่าไม่เสียภาษีภายในกำหนดเวลาที่ต้องเสีย (ผลคือต้องเสียเบี้ยปรับให้กรมสรรพากร) และให้เสียเงินเพิ่มอีกเป็นจำนวนเท่ากับ 1.5% ต่อเดือน (หรือเศษของเดือน) ของภาษีที่ต้องเสียสำหรับภาษีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีมาแล้วด้วย ดังนั้น หากผิดเงื่อนไขกรมสรรพากรแล้วล่ะก็ ต้องขอบอกว่าโดนเยอะทีเดียว ทั้งเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม
สินเชื่อบ้านหลังแรก
นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่พูดถึงข้างต้นแล้ว รัฐบาลก็ได้มีการขยายเวลาโครงการกู้ซื้อบ้านหลังแรกผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำหรับผู้มีรายได้น้อยด้วย ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ของมาตรการนี้จะเป็นในเรื่องของสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยมีเงื่อนไขคือ ที่อยู่อาศัยที่ซื้อจะต้องมีราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท (ดูข้อมูลคอนโดราคาเริ่มต้นไม่เกิน 1 ล้านบาท) และจะต้องยื่นคำขอกู้กับ ธอส. ภายในวันที่ 29 มีนาคม 2556 และทำนิติกรรมซื้่อที่อยู่อาศัยภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2556 สิทธิประโยชน์คือดอกเบี้ยเงินกู้จะเป็นอัตรา 0% สำหรับ 3 ปีแรก โครงการนี้กระทรวงการคลัง และ ธอส. จัดทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อต้องการช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยดอกเบี้ยต่ำ และสร้างโอกาสให้มีบ้านเป็นของตนเองได้ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและคุณสมบัติผู้กู้)
สำหรับใครที่ยังไม่มีบ้าน หรือคอนโดเป็นของตัวเอง ลองเข้าไปเสาะหาข้อมูลบ้าน หรือคอนโดที่น่าสนใจกันได้ในเว็บไซต์ checkraka.com ของเรานะครับ ข้อมูลครบโดยเฉพาะฟังก์ชั่น Smart Search ที่คลิกสองสามทีก็เจอบ้านหรือคอนโดที่ต้องการ เมื่อเจอแล้วก็ขอให้พวกเราแฮปปี้มีความสุขกับบ้าน และคอนโดหลังแรกกันนะครับ
บทความ โดย checkraka.com
|