Home » คอนโด นิติบุคคลอาคารชุด » ภาระภาษีของนิติบุคคลอาคารชุด

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
ภาระภาษีของนิติบุคคลอาคารชุด

        คนรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นทำงานหรือทำงานมานานแล้วก็ตาม มักจะชอบการเดินทางที่รวดเร็วสะดวกต่อการติดต่อธุรกิจหลายคนพยายามที่จะให้การติดต่อธุรกิจให้รวดเร็วขึ้นจึงเลือกที่จะหาที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน ให้ใกล้ที่สุด เพื่อสะดวกต่อการติดต่อสื่อสารหรือการเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง 
       
        นักธุรกิจรุ่นใหม่จะเลือกที่จะเดินทางที่ใช้ระยะเวลาสั้นๆ ประหยัดเวลา ประหยัดน้ำมันที่มีราคาแพงอยู่ในขณะนี้ และคงแพงขึ้นในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเลือกที่จะเดินทางให้ใกล้ก็ต้องเลือกที่อยู่อาศัยในราคาพอเหมาะกับกระเป๋าของตนเอง
       
        หากต้องการเป็นเจ้าของบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ราคาที่ไม่แพงมากนักก็ต้องอยู่ชานเมืองแต่การเดินทางไม่สะดวกต้องตื่นแต่เช้ากลับค่ำ หลายคนจึงเลือกที่จะซื้ออาคารชุดหรือ Condo เนื่องจากอยู่ในเมืองในราคาที่ยอมรับได้ การอยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายก็มักจะซื้ออาคารชุดอยู่อาศัยในเมืองที่มองว่าเป็นเรื่องของความสะดวกสบายต่อการเดินทางไม่ต้องตื่นเช้ามากนัก
       
        อาคารชุดหรือ Condo เป็นที่อยู่อาศัยที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมากที่อยู่ภายในตึกหรืออาคารเดียวกัน ซึ่งต้องมีกฎเกณฑ์ ระเบียบควบคุมผู้อยู่อาศัยให้มีระเบียบเรียบร้อย อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ผู้ที่เข้าซื้ออาคารชุดจะมีสิทธิในกรรมสิทธิ์ห้องชุดหรือห้องพักของตนเอง ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคล
       
        แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกันของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด เช่น ทางเดิน สระว่ายน้ำ ลิฟต์ บันไดเลื่อน การจัดระเบียบให้ผู้อยู่อาศัยมีระเบียบเรียบร้อยได้นั้นต้องอาศัยผู้ดูแลอาคารชุด ซึ่งเราจะเรียกว่า "นิติบุคคลอาคารชุด" ที่เกิดจากผู้อยู่อาศัยร่วมกันจัดตั้งขึ้นแล้วไปจดทะเบียนที่กรมที่ดิน โดยมีหน้าที่ดูแลรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด
       
        โดยมีคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดเข้ามาดูแลภายในอาคาร ซึ่งอาจจะมีบุคลากรหลายคนด้วยกัน ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ต้องมีการว่าจ้าง มีการจ่ายค่าจ้าง เงินเดือน เพื่อเข้ามาดูแลในอาคารชุด ดังนั้นผู้อยู่อาศัยหรือเจ้าของอาคารชุดจะต้องมีการจ่ายเงิน เพื่อนำไปจ่ายค่าจ้างบุคลากรเหล่านี้ และนำไปจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในอาคารชุด ซึ่งเกี่ยวข้องกับทรัพย์ส่วนกลาง เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าดูแลระบบลิฟต์
       
        เงินที่เรียกเก็บจากเจ้าของอาคารชุดในแต่ละห้องจะเรียกเก็บในนามของ "นิติบุคคลอาคารชุด" ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 เงินที่เรียกเก็บมักจะเรียกเก็บอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน คือ เงินกองทุน และค่าใช้จ่ายส่วนกลางจากผู้อยู่อาศัย เพื่อนำมาจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ข้างต้น
       
        การจัดตั้ง "นิติบุคคลอาคารชุด" จึงเป็น "นิติบุคคล" ประเภทหนึ่ง แต่มิใช่นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร จึงเกิดปัญหาขึ้นมาว่า เงินกองทุน หรือเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เรียกเก็บจากผู้อยู่อาศัยจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากร 
       
        เนื่องจาก "นิติบุคคลอาคารชุด" ไม่ใช่นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรจึงไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล อีกประเด็นหนึ่งถูกพิจารณาว่า เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เรียกเก็บจากเจ้าของ ห้องชุดจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ กรณีนิติบุคคลอาคารชุดจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอาคารชุดตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 แล้วย่อมมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากเจ้าของห้องชุด และการกระทำการเรียกเก็บเงินกองทุน เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลาง และค่าสาธารณูปโภคจากเจ้าของห้องชุด เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลอาคารชุด จึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่า "บริการ" ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร
       
        ดังนั้น นิติบุคคลอาคารชุดนั้น ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 33/2540 วินิจฉัยว่า นิติบุคคลอาคารชุดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ซึ่งกระทำกิจการเฉพาะตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ยังไม่เข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องนำเงินกองทุน ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง และค่าสาธารณูปโภคที่เป็นค่าไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ ที่จำเป็นอย่างอื่นที่เรียกเก็บจากเจ้าของห้องชุดมารวมคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

  1. นิติบุคคลอาคารชุดต้องกระทำกิจการเฉพาะ เพื่อจัดการ และดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางหรือกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายว่าด้วยอาคารชุดกำหนดไว้      
  2. นิติบุคคลอาคารชุดต้องไม่กระทำกิจการใดนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายว่าด้วยอาคารชุดกำหนดไว้      
  3. นิติบุคคลอาคารชุดต้องไม่ขายสินค้าหรือให้บริการใดกับบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่เจ้าของห้องชุดนั้น      
  4. กิจการตามวัตถุประสงค์ตาม 1. ต้องเป็นกิจการ ซึ่งตามปกติวิสัยในการจัดการดูแลรักษาอาคารชุดเป็นกิจการที่จำเป็น และสมควร

        อย่างไรก็ดี เมื่อนิติบุคคลอาคารชุดได้กระทำกิจการอื่น นอกจากการเรียกเก็บเงินกองทุนค่าใช้จ่ายส่วนกลาง และค่าสาธารณูปโภคส่วนกลางตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ซึ่งกิจการนั้น อยู่นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้หรือขายสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้ที่มิใช่เจ้าของห้องชุด

        เช่น ค่าสันทนาการ ค่าส่งแฟกซ์ ค่าถ่ายเอกสาร ค่าล้างรถ รายได้ค่าบริการแม่บ้านทำความสะอาด เป็นต้น การประกอบกิจการอื่นๆ นั้น เข้าลักษณะเป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หากรายรับมีมูลค่าเกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี นิติบุคคลอาคารชุดฯ นั้นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากรายรับที่ได้จากกิจการดังกล่าวด้วย 

 

ที่มา นสพ.ผู้จัดการรายสัปดาห์ วันที่ 28 กรกฎาคม 2551 http://www.boybdream.com/manager-news-content.php?newid=79991

 

การหักภาษี ณ ที่จ่าย

นิติบุคคลอาคารชุด/นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เป็นนิติบุคคลตามกฏหมายอาคารชุด/กฎหมายจัดสรรที่ดินไม่เข้าลักษณะป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ ดังนั้นไม่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 51 แต่เมื่อจ่ายเงินให้ผู้อื่นยังมีหน้าที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายตามกฏหมาย เนื่องจากเป็นนิติบุคคลอื่นซึ่งกฏมายกำหนดให้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายอยู่ ดังนี้นจึงต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 1 2 3 53 54 แล้วแต่กรณี

ที่มา  http://www.sanpakornsarn.com/page_webboard_view.php?tID=226