แนวทางการบริหารชุมชน อาคารชุด และ หมู่บ้านจัดสรร
โดย คุณพัลลภ กฤตยานวัช ฝ่ายวิชาการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์
Condominium and Housing Estate Management
1. พัฒนาการของการบริหารชุมชนที่อยู่อาศัย
2. องค์กรบริหารจัดการชุมชนที่อยู่อาศัย
3. เป้าหมายของการบริหารจัดการชุมชนที่อยู่อาศัย
4. ภารกิจหลักในการบริหารจัดการชุมชนที่อยู่อาศัย
5. ความจำเป็นในการจ้างผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดหรือนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมืออาชีพ
6. ความรับผิดชอบและความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดการนิติบุคคล และคณะกรรมการชุมชน
1. พัฒนาการของการบริหารชุมชนที่อยู่อาศัย
การบริหารชุมชนที่อยู่อาศัย ทั้งที่เป็นหมู่บ้านจัดสรรและอาคารชุด นับเป็นงานอาชีพสาขาหนึ่งเกี่ยวกับการบริหารงานทรัพย์สิน (Propery Management) ซึ่งงานนี้มีขอบข่ายครอบคลุมถึงการบริหารอาคารสำนักงาน อาคารศูนย์การค้า โรงแรม อพาร์ทเม้นท์ อาคารบ้านเช่า โรงงานอุตสาหกรรม คลังสินค้า ภัตตาคาร โรงพยาบาล โรงภาพยนตร์ ตลาดสด เป็นต้น
ที่จริงการบริหารหรือการจัดการทรัพย์สิน เป็นงานอาชีพที่มีมานานในประเทศไทยในหลายลักษณะทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม การจัดการทรัพย์สินที่มีมากที่สุด ได้แก่ การดูแลจัดการในเรื่องชุมชนที่อยู่อาศัย ซึ่งในเรื่องนี้ การเคหะแห่งชาติ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย เมื่อได้จัดสร้างเคหะชุมชนขึ้น ก็ได้จัดให้มีการบริหารงานดูแลชุมชนเหล่านั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนแบบแฟลต อาคารชุด หรือชุมชนแบบบ้านจัดสรร ทั้งนี้ โดยมีสำนักงานดูแลเคหะชุมชนทำหน้าที่ในการบริหารงานชุมชน ซึ่งต่อมาได้โอนภารกิจด้านนี้ให้กับบริษัทบริหารชุมชนโดยตรงดำเนินการ
ในส่วนหมู่บ้านจัดสรรต่างๆ ของภาคเอกชน ซึ่งมีเกิดขึ้นในประเทศไทยนานกว่า 30 ปีแล้ว ก็มีการดูแลรักษาทั้งในเรื่องการรักษาความปลอดภัย การรักษาความสะอาด การดูแลรักษาสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่างๆ โดยอาศัยบริษัทจัดการหรือโดยการรวมตัวเป็นองค์กรชุมชนรูปต่างๆ เช่น เป็นคณะกรรมการหมู่บาน, สหกรณ์ดูแลชุมชน หรือคหบาล เป็นต้น
นับแต่ปี 2531 - 2548 มีหมู่บ้านจัดสรรก่อสร้างเพิ่มขึ้นจำนวนมาก นับเฉพาะเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีเพิ่มขึ้นจำนวน 718,246 หน่วย
สำหรับการบริหารชุมชนอาคารชุดนั้นได้เกิดขึ้นตามมาภายหลังจากการออก พรบ. อาคารชุด พ.ศ. 2522 และเมื่อมีการก่อสร้างอาคารชุดหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า คอนโดมิเนียม (Condominium) กันเป็นจำนวนมากในกรุงเทพมหานคร ประมาณปี พ.ศ. 2523-2525 ซึ่งเรียกว่า “ยุคบูมของอาคารชุด ยุคที่ 1” ในช่วงนี้มีอาคารชุดเกิดขึ้น ประมาณ 120 โครงการ และต่อมาประมาณปี 2531-2533 ก็ได้เกิดการบูมของอาคารชุดอย่างมากมายอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้อาคารชุดได้ขยายตัวจากกรุงเทพมหานครไปยังต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่และเมืองตากอากาศอีกหลายแห่ง เช่นเมืองพัทยา, ระยอง หัวหิน เป็นต้น นับเป็น “ยุคบูมของอาคารชุด ครั้งที่ 2” หลังจากนั้นก็มีการก่อสร้างอาคารชุดอย่างต่อเนื่อง
ที่อยู่อาศัยประเภทแฟลตและอาคารชุด ได้สร้างเสร็จและจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเฉพาะในช่วงปี 2531 - 2548 มีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 470,000 หน่วย
จากการเกิดขึ้นของอาคารชุด ทำให้ต้องมีการบริหารงานอาคารชุดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ทั้งนี้เพราะกฎหมายอาคารชุดกำหนดให้มีการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุด เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดให้กับเจ้าของห้องชุดเกิดขึ้น และนิติบุคคลอาคารชุดนี้ ก็จะมีหน้าที่ในการจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางเป็นหลัก ทั้งนี้ โดยมีผู้จัดการอาคารชุดเป็นผู้ปฏิบัติการและเป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุด
สำหรับผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด กฎหมายกำหนดให้เป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นนิติบุคคลก็ได้ ดังนั้นในทางปฏิบัติ ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจึงมีทั้งบริษัทผู้ลงทุนโครงการ, เจ้าของร่วมในห้องชุด และบริษัทรับบริหารงานอาคารชุด
อนึ่ง ในปี 2543 ได้มีการยกเลิกกฎหมายควบคุมการจัดสรรที่ดินที่ใช้กันมาแต่เดิม คือ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 พ.ศ. 2515 โดยมีกฎหมายใหม่แทนที่คือ พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 กฎหมายกำหนดให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนแปลงย่อยตามแผนผังโครงการมีมติให้จัดตั้ง “นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร” และแต่งตั้งตัวแทนยื่นคำขอจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ดินจังหวัดพร้อมด้วยข้อบังคับที่มีรายการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และเมื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแล้ว ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกรายจะต้องเป็นสมาชิกของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรทั้งนี้ นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรที่จดทะเบียนแล้ว จะมี “คณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรร” เป็นผู้ดำเนินกิจการตามกฎหมายและข้อบังคับภายใต้การดูแลของที่ประชุมใหญ่สมาชิก โดยนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร มีอำนาจในการเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคในชุมชน
ต่อมาในปี 2545 ได้มีการออกกฎกระทรวงว่าด้วยการขอจดทะเบียนจัดตั้ง การบริหาร การควบและการยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ.ศ. 2545 หลังจากนั้น พบว่าในช่วงปี 2546 – 2548 มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแล้ว จำนวน 119 นิติบุคคล จำแนกเป็นเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 89 นิติบุคคลและต่างจังหวัดจำนวน 30 นิติบุคคล
ปัจจุบัน(ปี 2549) สมาคมบริษัททรัพย์สินแห่งประเทศไทย ประเมินว่ามีบริษัทบริหารชุมชนที่อยู่อาศัยประมาณ 100 บริษัท ในจำนวนนี้ เป็นบริษัทบริหารเฉพาะชุมชนอาคารชุดเพียงอย่างเดียวประมาณ 20 บริษัทและเป็นบริษัทที่บริหารทั้งชุมชนบ้านจัดสรรและชุมชนอาคารชุดประมาณ 80 บริษัท และมีแนวโน้มว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีบริษัทที่ทำงานด้านนี้มากขึ้นตามลำดับ ตามการเจริญเติบโตของหมู่บ้านจัดสรรและอาคารชุดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
2. องค์กรบริหารจัดการชุมชนที่อยู่อาศัย
ชุมชนที่อยู่อาศัยที่ก่อสร้างในประเทศไทย มีหลายหลายรูปแบบ แต่ที่สำคัญอาจจำแนกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ อาคารชุด ซึ่งก่อสร้างในแนวสูงโดยมีห้องชุดเป็นหน่วยอยู่อาศัย และหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งก่อสร้างในแนวราบ ซึ่งประกอบด้วยที่ดินและอาคารบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านทาวน์เฮาส์ หรือบ้านแถว และมีระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ รวมทั้งบริการอื่นๆ ภายในชุมชน ทั้งนี้ ผู้บริหารชุมชนที่อยู่อาศัย จำเป็นต้องเข้าใจความแตกต่างของชุมชนที่อยู่อาศัยทั้งในรูปแบบอาคารชุดและหมู่บ้านจัดสรร เพื่อจะได้บริหารจัดการและบำรุงรักษาชุมชนได้อย่างสอดคล้องเหมาะสมกับลักษณะและสภาพของทรัพย์สินนั้นๆ
ในปัจจุบัน การบริหารจัดการชุมชนที่อยู่อาศัยอาจแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่
ก. ชุมชนที่มีการจัดตั้งนิติบุคคลอาคารชุดหรือนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ทั้งนี้ โดยมีคณะกรรมการอาคารชุดหรือคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรและผู้จัดการนิติบุคคล ทำหน้าที่ในการบริหารชุมชน ทั้งนี้ ผู้จัดการนิติบุคคลอาจจะเป็น
1) บุคคลที่เป็นผู้แทนของเจ้าของโครงการหรือบริษัทในเครือของเจ้าของโครงการ
2) บริษัทบริหารอาคารชุดอิสระ ที่ประกอบอาชีพในการบริหารทรัพย์สินโดยเฉพาะ
3) กรรมการนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา ที่คณะกรรมการนิติบุคคลแต่งตั้งหรือว่าจ้างให้ทำหน้าที่บริหารจัดการ
ข. ชุมชุนที่ไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามกฎหมาย อาจจะบริหารชุมชนโดย
1) เจ้าของโครงการ เป็นชุมชนบ้านจัดสรรที่เจ้าของโครงการเป็นผู้ดูแลเอง ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่ยังโอนกรรมสิทธิ์ยังไม่ครบทุกแปลงและไม่สามารถปิดการขายได้
2) คณะกรรมการชุมชนหรือองค์กรชุมชนรูปแบบต่างๆ การบริหารในรูปแบบนี้ส่วนใหญ่ จะมีการรวมกลุ่มผู้อยู่อาศัยเป็นองค์กรชุมชนในหลายรูปแบบเช่น สมาคม กรรมการหมู่บ้าน สหกรณ์ชุมชน คหบาล เป็นต้น
3) เจ้าของโครงการร่วมกับผู้อยู่อาศัย เป็นชุมชนที่เจ้าของโครงการและผู้อยู่อาศัยร่วมมือกันบริหารจัดการ
4) บริษัทบริหารชุมชน เป็นชุมชนที่เจ้าของโครงการหรือคณะกรรมการหมู่บ้านจ้างบริษัทรับบริหารชุมชน
ในปัจจุบัน แม้ว่าการบริหารจัดการชุมชนที่อยู่อาศัยจะกระทำโดยเจ้าของโครงการ คณะกรรมการชุมชน หรือบุคคลธรรมดา เป็นส่วนใหญ่ โดยที่ยังมีการจ้างบริษัทบริหารชุมชนอิสระในสัดส่วนไม่สูงนัก อย่างไรก็ตามคาดว่าในอนาคต จะมีการจ้างบริษัทบริหารชุมชนอิสระที่เป็นมืออาชีพ (Professional housing estate management company) มากขึ้น ตามลำดับ เนื่องจากเหตุผลสำคัญ ได้แก่
1) พรบ. อาคารชุด พ.ศ. 2522 กำหนดให้ทุกอาคารชุด ต้องมีนิติบุคคลอาคารชุดเพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางและพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 เปิดโอกาสให้มีการจัดตั้ง “นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร” ขึ้นมาบริหารชุมชน
2) ผู้อยู่อาศัยในชุมชนที่อยู่อาศัยทั้งอาคารชุดและหมู่บ้านจัดสรร ต้องการอยู่อาศัยอย่างมีความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และความสงบในการอยู่อาศัยร่วมกัน และต้องการให้มีการบริหารจัดการชุมชนและการจัดเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางให้เป็นไปตามกฎหมาย
3) ผู้อยู่อาศัย หรือเจ้าของโครงการไม่มีเวลา และไม่มีความรู้ความชำนาญในการจัดการชุมชน ซึ่งมีความยุ่งยากซับซ้อนและเทคนิควิธีการมากขึ้น กับทั้งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ จึงจำเป็นต้องมีการบริหารโดยมืออาชีพ ที่มีความรู้ ประสบการณ์ และความชำนาญพิเศษมากขึ้น ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการ
3. เป้าหมายของการบริหารจัดการชุมชนที่อยู่อาศัย
ในการบริหารจัดการชุมชนที่อยู่อาศัยให้เกิดประสิทธิภาพ องค์กรชุมชนหรือผู้จัดการนิติบุคคล ควรจะมีการกำหนดมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการที่ก่อประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้
ก. ประโยชน์เชิงทรัพย์สินต่อเจ้าของร่วม
-
สาธารณูปโภคสาธารณูปการหรือทรัพย์ส่วนกลางมีสภาพที่ดี มีการเสื่อมค่าน้อยที่สุด สามารถยืดอายุการใช้งานได้นานที่สุด
-
สามารถทำให้ทรัพย์ส่วนกลางหรือทรัพย์สินในชุมชนมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
-
สามารถเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางจากเจ้าของร่วมได้ครบทุกราย หรือเพียงพอในการบริหารชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-
ได้รับค่าเช่าหรือผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดจากการใช้สอยที่ดินหรือทรัพย์ส่วนกลางที่มีอยู่ในชุมชน
ข. ประโยชน์ด้านการอยู่อาศัยร่วมกัน
-
ความสะดวกสบายในการจอดพาหนะหรือการเดินทางเข้าออกในชุมชน
-
ความสงบสุขในการอยู่อาศัย โดยปราศจากการรบกวน
-
ความสะดวกสบายและความพอใจในการอยู่อาศัยร่วมกัน
-
ความสะอาดของชุมชนและความร่มรื่นของชุมชน
-
ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
-
การเฉลี่ยภาระค่าใช้จ่ายอย่างเป็นธรรม
-
ความภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในชุมชน
4. ภารกิจหลักในการบริหารจัดการชุมชนที่อยู่อาศัย
การบริหารจัดการชุมชนที่อยู่อาศัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทรัพย์สินและต่อผู้อยู่อาศัยในชุมชน เป็นภารกิจร่วมกันของเจ้าของทรัพย์สิน ผู้อยู่อาศัย องค์กรชุมชน และผู้จัดการนิติบุคคลของชุมชนโดยตรง ภารกิจเหล่านี้มีหลายประการ โดยอาจแยกได้ดังนี้
4.1 ภารกิจในการบริหารจัดการทรัพย์สิน
1) การบำรุงรักษาและซ่อมแซม (Maintenance and Repairs)
-
การบำรุงรักษาอาคารและทรัพย์ส่วนกลางให้อยู่ในสภาพที่ดีเสมอ
-
การซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดหรือใช้งานไม่ได้
-
ทรัพย์ส่วนกลาง
-
ทรัพย์ส่วนบุคคล (เจ้าของต้องออกค่าใช้จ่ายเอง)
2) การรักษาความปลอดภัย (Security Protection)
-
การป้องกันโจรภัย
-
การป้องกันอัคคีภัย
3) การรักษาความสะอาด (Cleaning)
4) การประกันภัย (Insurance)
-
การประกันภัยอัคคีภัย (Fire Insurance)
-
การประกันการสูญหายของทรัพย์สินจากการโจรกรรม (Theft Insurance)
-
การประกันความเสียหายจากอุบัติภัยอื่นๆ ตามที่เห็นสมควร
5) การจัดประโยชน์ในทรัพย์สิน (Income Producing)
-
การจัดบริการอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่ผู้อยู่อาศัย โดยมุ่งแสวงหารายได้ให้แก่นิติบุคคลเช่น ค่าจอดรถ เป็นต้น
-
การเป็นตัวแทนหรือนายหน้าในการติดต่อซื้อขาย หรือเช่าห้องชุดในอาคาร
6) การจัดเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ (Expense Collection)
-
ค่าใช้จ่ายประจำเดือนในการบริหารทรัพย์ส่วนกลาง
-
ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลอื่นๆ
-
การออกหนังสือทวงหนี้
7) การจัดทำบัญชีการเงินและการรายงาน (Accounting and Reporting)
-
การจัดทำงบประมาณรายจ่ายระยะยาวและงบประมาณประจำปี
-
การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย
-
การจัดทำงบการเงินและงบดุลประจำปี
-
การจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานด้านต่างๆ
4.2 ภารกิจต่อชุมชนหรือบุคคลผู้อยู่อาศัย
1) การจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่างๆ (Servicing)
-
บริการด้านกีฬา
-
บริการด้านบันเทิง
-
บริการด้านร้านค้า อาคาร เครื่องดื่ม
-
บริการสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ในชุมชน
2) การสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้อยู่อาศัย (Resident Relations)
-
การจัดงานรื่นเริงตามประเพณี
-
การส่งเสริมการพบปะสังสรรค์หรือนันทนาการแก่ผู้อยู่อาศัย
3) การแก้ปัญหาข้อร้องทุกข์ (Complaint Handling)
-
การรับเรื่องราวร้องเรียนร้องทุกข์
-
การแก้ปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆ โดยรวดเร็ว
4) การประชาสัมพันธ์ (Public Relations)
-
การแจ้งข่าวสารต่างๆ โดยใช้สื่อที่เหมาะสม
-
การเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้อยู่อาศัยและผู้บริหารชุมชน
5. ความจำเป็นในการจ้างผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด/นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมืออาชีพ
การบริหารงานอาคารชุดหรือหมู่บ้านจัดสรรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูง จำเป็นต้องจ้างบริษัทรับบริหารทรัพย์สินมืออาชีพ แทนที่จะให้ผู้เป็นเจ้าของโครงการหรือผู้อยู่อาศัยที่เป็นเจ้าของห้องชุดบริหารเอง ด้วยเหตุผลดังนี้
1) บริษัทมีความพร้อมด้านบุคลากร โดยมีพนักงานที่มีความรู้ความชำนาญ มีประสบการณ์ ได้รับการฝึกฝนอบรมในการจัดการทรัพย์สินโดยเฉพาะ จึงย่อมบริหารงานได้ดีกว่า
2) บริษัทมีความเป็นกลางในการจัดเก็บค่าใช้จ่ายหรือการจัดการทรัพย์สิน มากกว่าการปล่อยให้เจ้าของโครงการ หรือเจ้าของทรัพย์สินคนอื่นที่อาจจะลำเอียงหรือเป็นที่คลางแคลงใจของเจ้าของร่วมได้
3) บริษัทมีพนักงานในการบริหารงานตลอดเวลา 24 ชั่วโมง สามารถทำงานในหน้าที่ความรับผิดชอบได้อย่างเต็มที่ ดีกว่าเจ้าของโครงการ หรือเจ้าของทรัพย์สิน
4) หากบริษัททำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพตามนโยบายหรือตามที่ได้ตกลงไว้ คณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดหรือหมู่บ้านจัดสรร หรือเจ้าของร่วมอาจจะยกเลิกสัญญาหรือถอดถอนผู้จัดการได้
6. ความรับผิดชอบและความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดการนิติบุคคล และคณะกรรมการชุมชน
โดยปกติ การบริหารงานชุมชน จะดำเนินการโดยผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดหรือนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรโดยมีคณะกรรมการชุมชน (คณะกรรมการอาคารชุดหรือคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรร) ที่ได้รับการเลือกตั้งจากเจ้าของที่อยู่อาศัย เป็นผู้กำหนดนโยบายและควบคุมกำกับการบริหารงาน
สำหรับบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการชุมชนและผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดหรือนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร อาจจำแนกได้ดังนี้
คณะกรรมการชุมชน
|
ผู้จัดการนิติบุคคล
|
1. กำหนดนโยบายการบริหารงาน |
|
2. กำหนดข้อบังคับและระเบียบ |
-
ควบคุมการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับและระเบียบ
|
3. อนุมัติงบประมาณรายรับรายจ่ายประจำปี |
-
เสนอแนะและจัดทำงบประมาณรวมทั้งบริหารงานตามงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ
|
4. กำหนดมาตรฐานของงานซ่อมบำรุง |
-
ทำงานตามมาตรฐานการซ่อมบำรุงที่คณะกรรมการกำหนด
|
5. กำหนดมาตรการควบคุมและการรายงาน ด้านการเงิน |
-
ทำงานตามนโยบายและแนวทางที่คณะกรรมการกำหนด
|
6. รับข้อร้องเรียนต่างๆ ของเจ้าของเสนอผู้จัดการ นิติบุคคลหรือบริษัทรับบริหารงาน |
-
แก้ไขข้อร้องเรียนต่างๆ หรือเสนอแนะวิธีการที่เหมาะสมให้กับคณะกรรมการ
|
7. อนุมัติค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น |
-
ดำเนินการเบิกจ่ายเงินตามที่ได้รับอนุมัติ
|
8. กำหนดลำดับความสำคัญของค่าใช้จ่าย |
-
ใช้จ่ายเงินตามลำดับความสำคัญ
|
9. กำหนดลำดับความสำคัญของงาน |
-
กำหนดแผนงานปฏิบัติตามลำดับความสำคัญของงาน
|
10. อนุมัติอัตราเงินเดือนสำหรับพนักงานทุกระดับ |
-
เสนออัตราเงินเดือน, การบรรจุ การฝึกอบรม, และการควบคุมบังคับบัญชาพนักงานทุกระดับ
|
11. พิจารณาอนุมัติข้อความที่สำคัญในการประกาศ หรือการสื่อสารต่างๆ |
-
ดำเนินการจัดทำประกาศหรือการสื่อสารจากคณะกรรมการสู่เจ้าของห้องหรือผู้อยู่อาศัยหรือบุคคลอื่นๆ
|
12. ดำเนินการประชุมคณะกรรมการ |
-
ให้ข้อมูลหรือข้อเสนอแนะ และจัดเตรียมเอกสารประกอบวาระการประชุม รวมทั้งการอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการประชุม
|
13. จัดตั้งคณะอนุกรรมการตามที่เห็นสมควร |
-
เสนอแนะและประสานงานคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ
|
|