Web Design by Softbiz+
|
เว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014 |
บ้านอยู่กับน้ำอย่างสมดุล : ออกแบบให้อยู่สบาย |
บ้านอยู่กับน้ำอย่างสมดุล:อยู่สบาย โดย... เอกพงษ์ ตรีตรงในช่วงวิกฤติน้ำท่วม นักออกแบบทั้งรุ่นเล็กรุ่นเยาว์ รุ่นใหญ่ต่างพากันออกไอเดียอย่างมากมายล้นทะลัก เหมือนน้ำหลาก ซึ่งก็เป็นประโยชน์มากๆ ต่อประเทศและเศรษฐกิจหลังน้ำลด เป็นไอเดียด้านการแก้ปัญหาไอเดียสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ในการอยู่กับน้ำหลายร้อยชิ้นงานเกิดขึ้น มีนักวิจัยครูบาอาจารย์ นักวิชาการต่างระดมสมอง สร้างผลงานที่เหลือเชื่อไม่แพ้ต่างชาติ บางชิ้นงานถ้ารู้จักนำไปใช้และประยุกต์ใช้ประเทศไทยอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันน้ำ และมีผลิตภัณฑ์อยู่กับน้ำมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง วิกฤติ คือ โอกาส ครับอย่าท้อกันเสียก่อน รายการอยู่สบายรายการสำหรับคนรักบ้าน ได้เสนอไอเดียมากมายทุกวันเสาร์ทางเนชั่นแชนแนล มีการออกแบบบ้านจัดหนัก จัดเต็มมาฝากแฟนๆ รายการครับ “บ้านอยู่กับน้ำ” เป็นบ้านที่นำเอาหลักคิดของบ้าน ของคนไทยที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มมาออกแบบ เพราะจริงๆ แล้วดินแดนสุวรรณภูมิลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ น้ำท่วมมาโดยตลอดเป็นพันปีแล้ว การที่เราเลือกแผ่นดินนี้อยู่ก็เพราะว่าอุดมสมบูรณ์มากเกิดจากตะกอนดินหลังน้ำหลาก สามารถทำการเกษตรได้ดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง แต่การจะอยู่และ “อยู่สบาย” กับดินแดนนี้จึงต้องเข้าใจการอยู่อย่างสมดุล การออกแบบบ้านจึงต้องมีความลึกซึ้ง และไม่ใช่การออกแบบที่นำเอาแต่เพียงลักษณะบ้านไทยรุ่นโบราณมาใช้แบบไม่ได้ประยุกต์ การออกแบบจึงจะต้องบูรณาการให้สมดุลกับวิถีชีวิตของคนไทยปัจจุบันด้วย สามารถอยู่ร่วมกับน้ำได้เมื่อน้ำหลาก ผนวกกับการดำรงชีวิตและเทคโนโลยีปัจจุบันได้ โดยแนวคิดในการออกแบบบ้านอยู่กับน้ำมีแนวทางดังนี้ 1.การออกแบบบ้านให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมไม่ฝืนธรรมชาติโดยการสำรวจที่ดิน สำรวจสภาพแวดล้อมอย่างตระหนักรู้ว่าบ้านจะต้องไม่ฝืนธรรมชาติ ไม่ฝืนตำแหน่งที่ตั้ง มีความเข้าใจถูกทิศถูกทาง เข้าใจทิศทางลม แดด และน้ำ มีการออกแบบลักษณะอาคารที่เหมาะสมกับภูมิภาคเขตร้อนชื้นและฝน 2.บ้านที่ประยุกต์จากเรือนไทย แต่ให้ร่วมสมัยนำลักษณะเฉพาะของบ้านไทยมาประยุกต์ใช้กับวิถีปัจจุบัน เช่น การออกแบบบ้านลักษณะที่ยกใต้ถุนสูงเหนือน้ำ แต่สามารถประยุกต์ใต้ถุนให้สามารถมีพื้นที่ และเฟอร์นิเจอร์ใช้สอยบางอย่างได้ เช่น มีถาดรองเสากันมดและปลวกขึ้นบ้าน เป็นที่สำรวจเดินท่องานระบบที่สามารถดูแลรักษาได้ เป็นที่นันทนาการของบ้านได้เป็นอย่างดี ลมโกรก ช่วยเรื่องการประหยัดพลังงานได้ด้วย 3.การออกแบบบ้านให้มีระบบการประหยัดพลังงาน และบ้านที่มีอุปกรณ์ผลิตพลังงานทดแทนประจำบ้านติดตั้งโซลาร์เซลล์ไว้บนหลังคา หรือออกแบบหลังคาประเภทที่เป็นโซลาร์เซลล์ไปในตัว มีกังหันลมประจำบ้าน และใช้แบตเตอรี่ที่เก็บไฟฟ้าไว้ได้นานๆ มีที่เก็บน้ำจืดที่ยกไว้บนที่สูงเหนือน้ำ และระบบท่อทั้งหมดจะต้องอยู่เหนือพื้นไม่ต่ำกว่า 3 เมตรทั้งระบบท่อน้ำ และระบบไฟฟ้า 4.ยกงานระบบทุกประเภทอยู่ชั้น 2บ้านแนวใหม่จะไม่มีงานระบบอยู่ชั้น 1 แน่นอนครับ เพราะความเสียหายที่เราเห็นช่วงน้ำท่วม คือ งานระบบต่างๆ และเครื่องใช้ไฟฟ้าโดนน้ำแล้วเสียหายอย่างมาก ประกอบด้วย คอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศ ปั๊มน้ำ แผงควบคุมไฟประจำบ้าน ที่จะต้องออกแบบอยู่ชั้น 2 หรือสูงที่สุดของบ้าน 5.การออกแบบวงจรชีวิตยั่งยืนประจำบ้านช่วงน้ำหลากบางคนอยู่ลำบากมากครับ เพราะไม่มีอะไรประทังชีวิตแต่ถ้าเราวางแผนรอบคอบ สามารถอยู่ได้เป็นเดือนๆ ครับ เช่น การออกแบบสวนแนวตั้งต้นไม้กินได้ การออกแบบชานผลไม้ให้ร่มเงาด้วย และมีผลไม้ประจำบ้านทุกฤดู มีบ่อเลี้ยงปลายกสูง มีพืชผักสวนกระถาง และสิ่งเหล่านี้สามารถเลี้ยงคนช่วงวิกฤติได้ดี แม้ไม่วิกฤติก็ดูสวยงามประหยัดเงินด้วยนะครับ 6.การออกแบบที่จอดรถยกสูงได้เป็นระบบที่ไม่ใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นลักษณะคันโยก หรือแม่แรงยก เพราะถ้าเป็นระยะไฟฟ้าอาจเกิดปัญหาเวลาใช้งานสามารถยกรถหนีน้ำเหนือได้ 7.การมีเรือประจำบ้านในลักษณะ 2 in 1สิ่งเหล่านี้อาจจำเป็น และเป็นความต้องการในอนาคตแน่นอนครับ แต่เรือที่ผมแนะนำ คือ เรือที่หล่อด้วยไฟเบอร์ ในช่วงหน้าแล้งทำหน้าที่เป็นสระขนาดเล็กฝังดินอยู่ หรืออาจจะติดตั้งอยู่บนระเบียงไม้ สระขนาดย่อมนี้ลูกๆ ต้องชอบแน่ๆ ครับ และเมื่อน้ำหลากมันก็จะทำหน้าที่เป็นเรือ โดยนำเครื่องยนต์ขนาดเล็กมาติดตั้งก็วิ่งขนส่งเสบียงได้สบายครับ 8.ระบบบ้านแบบน็อกดาวน์
บ้านอยู่สบายอยู่กับน้ำได้สมดุล อาจเป็นต้นคิดที่ทำให้หลายคนหายกังวลใจไปได้ในปีหน้า ทั้งคนรวยคนจนก็สามารถประยุกต์ได้ทั้งสิ้น อยู่ที่วัสดุประเภทไหน ระบบน็อกดาวน์อาจจะเป็นบ้านทางเลือกที่ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพราะมาจากบ้านไทยเดิมเราอยู่แล้ว ระบบน็อกดาวน์น้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย และรวดเร็ว ไม่ก่อความเสียหายหลังน้ำหลาก ย้ายได้ง่ายเมื่อเจอวิกฤติ ถอดประกอบได้ใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ทรุด ไม่ร้าว และไม่ร้อนครับ
|