บ้านกับไม้ใหญ่
dailynews.co.th - มุมบ้านเบิกบาน วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556
ต้นใหญ่ไปไหม ปลูกได้หรือเปล่า ปลูกแล้วจะมีปัญหากับโครงสร้างหรือไม่ ต้นใหญ่จัง แต่อยากได้ ต้องทำอย่างไร แล้วต้องมีเนื้อที่แค่ไหนถึงจะปลูกต้นไม้ใหญ่ได้ ปัญหาเหล่านี้คงเป็นคำถามเริ่มต้นสำหรับคนรักต้นไม้และอยากปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ที่บ้านเป็นแน่ “บ้านและสวน” จึงมีคำแนะนำดี ๆ มาฝากกัน ดังนี้
ต้นใหญ่ไปไหม
ลักษณะของต้นไม้จะแยกตามขนาดของทรงพุ่มและลักษณะเรือนยอด ซึ่งมีรายละเอียดเหมาะสมกับพื้นที่ใหญ่เล็ก ดังนี้
สวนในพื้นที่แคบ เช่น พื้นที่สวนริมรั้ว หรือพื้นที่หลังบ้านเล็ก ๆ ขนาดกว้างประมาณ 2.50–3 ม. สามารถเลือกใช้ ไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 2.50–6 ม. และมีลักษณะเรือนยอดสัมพันธ์กับพื้นที่ คือ เรือนยอดแคบ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่มไม่เกิน 6 ม.เช่น อโศกอินเดีย ศรีตรัง จำปี
สวนในพื้นที่ขนาดกลาง ได้แก่ สวนในบ้านจัดสรรที่มีเนื้อที่ 70–120 ตร.ว. อาจเป็นสวนหน้าบ้าน สวนหลังบ้าน หรือบริเวณลานจอดรถสามารถเลือกใช้ไม้ต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 6–15 ม. และมีขนาดเรือนยอดปานกลาง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง
6–10 ม. เช่น ปีบ แคนา สุพรรณิการ์ อินทนิล ประดู่ ตีนเป็ดน้ำ น้ำเต้าต้น
สวนในพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น บ้านที่มีพื้นที่กว้างกว่า 120 ตรว. สวนสาธารณะหรือไม้ริมถนน สามารถเลือกใช้ ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงตั้งแต่ 15 ม.ขึ้นไป และมีเรือนยอดกว้าง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 10 ม. เช่น หางนกยูงฝรั่ง หูกระจง สัตบรรณ
ถ้าอยากปลูก จะกะระยะปลูกอย่างไรดี
โดยปกติไม้ยืนต้นที่นิยมปลูกทั่วไปจะมีขนาดทรงพุ่มเมื่อโตเต็มที่กว้างประมาณ 7–8 ม.
ดังนั้นระยะปลูกควรอยู่ห่างจากอาคารอย่างน้อยประมาณ 5 ม. เพื่อป้องกันรากดันตัวโครงสร้างของอาคาร และกิ่งก้านที่แผ่ดันหลังคาหรือรางน้ำ หากปลูกชิดกำแพงมากเกินไป ลำต้นจะเอนหาแสงทำให้รูปทรงไม่สวยงาม หากปลูกริมรั้วหรือแนวกำแพง ควรปลูกห่างจากกำแพงอย่างน้อย 2 ม. เพื่อป้องกันระบบรากดันคานหรือเสารั้วจนเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะไม้ที่มีเรือนยอดขนาดใหญ่และมีระบบรากแข็งแรง เช่น จามจุรี ชมพูพันธุ์ทิพย์ หางนกยูงฝรั่ง ไทร ยางอินเดีย และทองหลาง ไม่ควรเลือกปลูกชิดรั้วหรือตัวอาคารโดยเด็ดขาด
อยากได้ไม้ใหญ่ แต่พื้นที่จำกัด ต้องทำอย่างไรหากต้องการปลูกต้นไม้ชนิดนั้นจริง ๆ หนทางที่พอทำได้คือจำกัดการเจริญเติบโตของต้นไม้ได้ ดังนี้
1. ควบคุมการเจริญเติบโตของราก ทำได้ 2 วิธีคือ การปลูกต้นไม้แบบฝังกระถาง สำหรับไม้ที่ไม่ใหญ่มากสามารถเลือกฝังเลย หรือทุบก้นกระถางออกก่อนก็ได้ เพื่อไม่จำกัดการเจริญเติบโตมากจนเกินไป และ การสร้างกระบะปลูกต้นไม้ สำหรับไม้ที่ใหญ่เกินกว่าจะปลูกลงในกระถาง เพื่อให้ต้นไม้เจริญได้เฉพาะตำแหน่งและพื้นที่ที่กำหนดไว้ สามารถทำได้ทั้งการก่อกระบะบนผิวดินและฝังไว้ใต้ดิน
2. การตัดแต่งทรงต้น เบื้องต้นนั้นเมื่อต้นไม้ถูกตัดกิ่งด้านข้างออก อาหารที่สะสมอยู่จะไปเลี้ยงส่วนที่เหลือคือส่วนยอด ต้นก็จะเจริญตามความสูงได้ดีขึ้น ในทางกลับกัน เมื่อต้นถูกตัดส่วนยอดออก อาหารก็จะถูกส่งไปเลี้ยงที่กิ่งด้านข้าง ต้นก็จะเจริญเติบโตทางด้านข้างมากขึ้น ผู้ปลูกจึงสามารถบังคับการเจริญเติบโตของต้นไม้ให้มีขนาดหรือรูปทรงต่างๆ ได้ตามต้องการ โดย
2.1 การตัดแต่งเพื่อบังคับรูปทรง เช่น ตะแบก เสลา อินทนิลน้ำ ขณะที่ยังมีขนาดเล็ก ต้นจะแตกกิ่งก้านจำนวนมาก ลำต้นไม่แข็งแรง จำเป็นต้องตัดกิ่งทางด้านข้างออกให้หมด เพื่อให้โคนต้นโปร่ง เหลือเฉพาะกิ่งด้านบน และเรือนยอดจะได้รูปทรง ส่วนบางต้น เช่น ประดู่ ชมพูพันธุ์ทิพย์ ขณะต้นยังเล็กจะเจริญตามความสูงค่อนข้างมากและไม่ค่อยแตกกิ่งก้านด้านข้าง ซึ่งมีผลทำให้ต้นสูง วิธีแก้ไขคือ ตัดยอดให้ได้ความสูงตามที่ต้องการ จากนั้นต้นก็จะแตกกิ่งทางด้านข้างเพิ่มขึ้น
2.2 การตัดแต่งกิ่งเพื่อบังคับขนาด กรณีที่ปลูกไม้ต้นในพื้นที่จำกัด เช่น ริมถนนที่มีสายไฟหรือบริเวณสิ่งก่อสร้าง เมื่อต้นไม้มีขนาดใหญ่เกินไปจนก่อให้เกิดความเสียหาย เราสามารถตัดแต่งให้ได้ทรงพุ่มตามขนาดที่เหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งนี้ควรคำนึงถึงชนิดของต้นไม้ด้วย และควรปฏิบัติในช่วงฤดูหนาวหรือขณะที่ต้นกำลังผลัดใบ จะช่วยให้เห็นกิ่งก้านที่ต้องการตัดได้ชัดเจนและสะดวกต่อการปฏิบัติงาน.
บ้านและสวน http://www.dailynews.co.th/article/950/181949
|