ปีกระต่ายขอจงสวัสดี
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
วัดป่าสุนันทวนาราม
บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
เวลาที่ผ่านไปเรื่อยๆ เป็นอดีต
บัดนี้ปีเก่า ปีเสือดุ ก็ผ่านไปเป็นอดีตแล้ว
ปีใหม่ ปีกระต่าย ที่เรียบร้อยน่ารักก็มาถึง
ให้เราตั้งต้นปีใหม่ด้วยการ คิดดี พูดดี ทำดี
ค่อยๆ ก้าวไปให้ถูกทาง ด้วยสติปัญญา
ด้วยความระมัดระวัง และ ด้วยความไม่ประมาท
ขอให้พวกเราจงมีความสุขในทุกสถานการณ์
ในปีที่ผ่านมา พวกเราหลายๆ คน
คงจะได้พบประสบกับโลกธรรมแปดฝ่ายไม่น่าปรารถนา
คือ ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์
ตกงานบ้าง ถูกลดเงินเดือนบ้าง
บางคนก็ประสบปัญหาขาดทุนมากมายมหาศาล
ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ ความสับสน
ต้องปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิตใหม่
เงินทองที่จะใช้สอยก็มีน้อยลง บางคนแทบจะหาเงินใช้ไม่ได้
ปัญหามากมาย........ ทุกข์ทั้งนั้น
นั่นเป็นทุกข์จากโลกธรรมแปด
ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงให้
เห็นเสมอว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดกับทุกคน
และพระองค์ก็ได้ทรงสอนเราด้วยว่า
อะหัง สุขิโต โหมิ
ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข
คือ ให้เรารู้จักดำเนินชีวิตให้มีความสุข
ในทุกสถานการณ์
ความจริงปีเก่าปีใหม่เป็นเพียงสิ่งสมมติ
ชีวิตความเป็นอยู่ของเรายังเหมือนเดิม
แต่ถ้ามองดูลึกๆ ด้วยสายตาที่ชัดเจน
ประกอบด้วยปัญญาแล้ว
เราจะเห็นได้ว่าในทุกขณะทุกวินาทีนั้นไม่เหมือนกัน
ไม่เคยเหมือนกันเลย แม้แต่ขณะจิต
เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามเหตุปัจจัย
เป็น อนิจจัง คือ ไม่เที่ยงแท้จริงๆ
ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้
อย่างน้อยเราก็จะยอมรับ
การเปลี่ยนแปลงที่ได้ปรากฏขึ้น
ด้วยจิตใจที่สงบ
สิ่งเลวร้ายต่างๆ ในปีเสือดุ
ทิ้งไป ปล่อยไป
เรามาตั้งต้นใหม่ ด้วยการ
คิดดี พูดดี ทำดี
ขอให้พบความสุข
กันถ้วนหน้าเถิด
อดีตเป็นเหตุ
อดีตที่ผ่านไปแล้ว แก้ไขไม่ได้ ปล่อยให้ผ่านไป
ปัจจุบันเป็นผล
ปัจจุบันขณะนี้เดี๋ยวนี้ เราเลือกได้
ปัจจุบันเป็นเหตุ
ปัจจุบันคือโอกาสทองสำหรับผู้มีปัญญา ที่จะทำความดี
อนาคตเป็นผล
และแสวงหาความสุขได้ในทุกสถานการณ์
รูปร่างหน้าตา ฐานะ ความเป็นอยู่
บริวาร และสิ่งแวดล้อม
การเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา
และทุกข์ต่างๆ ที่มากระทบ
สิ่งเหล่านี้เรากำหนดไม่ได้
เหมือนกับลมฟ้าอากาศ มันเป็นธรรมชาติ
เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน
จงมองให้เห็นว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
จงเชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมมีจริง
ชาติก่อนมีจริง
ปัจจุบันมีจริง อนาคตมีจริง
แม้ว่าเราจะไม่ชอบชีวิตของเราที่เป็นอยู่
แต่มันมีสิทธิ์ของมันที่จะเป็นไปอย่างนั้นตามเหตุปัจจัย
เรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเดี๋ยวนี้
ควรจะเป็นอย่างนั้นและต้องเป็นอย่างนั้น
ชีวิตที่เรามีประสบการณ์อยู่ขณะนี้สมบูรณ์ที่สุดแล้ว
สมบูรณ์ด้วยเหตุผล สมบูรณ์ตามเหตุปัจจัยของมันเสมอ
เรามีกรรมเป็นแดนเกิด
ชีวิตของเรา เราเป็นผู้กำหนดเอง
ถึงแม้ว่าเราจะพอใจ
หรือไม่พอใจในชีวิตของเราก็ตาม
เราต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของเราเอง 100%
เรานั่นแหละ ตนเองนั่นแหละกำหนดชีวิตของเราเอง
ไม่ใช่ว่า ลูกทำให้เราทุกข์
สามีภรรยา ทำให้เราทุกข์
พ่อแม่ของเรา สังคมประเทศชาติ หรือแม้แต่พระเจ้า
ไม่ได้เป็นผู้กำหนดชีวิตของเรา และไม่ได้ทำให้เราทุกข์
เรานั่นแหละ ตนเองนั่นแหละกำหนดชีวิตของเราเอง
กรรมของเราในอดีตเป็นผู้กำหนดชีวิตของเราเองในปัจจุบัน
และกรรมของเราในปัจจุบันก็จะกำหนดชีวิตของเรา
ในวันข้างหน้าหรือในอนาคต
การมีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ
นินทา สรรเสริญ สุข และ ทุกข์
ที่มากระทบต่อตัวเราทั้งหมด
ล้วนเป็นมรดกแห่งกรรมของเราเองทั้งสิ้น
โลกธรรมฝ่ายไม่น่าปรารถนาที่เข้ามากระทบเรานั้น
ก็เหมือนกับพายุ เหมือนกับความแห้งแล้งในชีวิตของเรา
ผ่านมาแล้วก็จะผ่านไป
สิ่งที่ปรากฏอยู่และสิ่งที่เข้ามากระทบทั้งหลายนั้น
มันเป็นวิบากกรรม เป็นมรดกแห่งกรรมของเราเองทั้งนั้น
ให้เรายอมรับในความเป็นจริงของมัน
เหมือนยอมรับความแปรเปลี่ยนของลมฟ้าอากาศ
เลิกโทษคนอื่นๆ เลิกคิดน้อยใจตัวเอง
มาเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการ คิดถูก พูดถูก ทำถูก
แล้วเราจะมีความสุขได้ในทุกสถานการณ์
“อะไรอะไรมันก็ไม่แน่ อย่าดีใจ อย่าเสียใจ”
มีนิทานของชาวจีนเรื่องหนึ่งเล่าว่า
สามีภรรยาคู่หนึ่ง อาศัยอยู่ในชนบท
กับท่านผู้เฒ่าท่านหนึ่ง
และมีม้าฉลาดแสนรู้อีกตัวหนึ่ง
ทั้งสองสามีภรรยารักม้าตัวนี้มาก
วันหนึ่งม้าหนีไป ทั้งสามีภรรยาเสียใจมาก
ท่านผู้เฒ่าก็ได้ปลอบใจว่า
“อย่าเสียใจเลย เพราะชีวิตนี้ไม่แน่”
เวลาผ่านไปหลายวัน
ม้าตัวนั้นก็กลับมาที่บ้าน
แต่คราวนี้ได้พาแฟนมาด้วยเป็นม้าป่าอีกตัวหนึ่ง
สามีภรรยาต่างก็ดีใจมาก
แต่ท่านผู้เฒ่าก็บอกว่า
“อย่าเพิ่งดีใจ เพราะชีวิตนี้ไม่แน่”
ต่อมาวันหนึ่ง
สามีพาม้าตัวใหม่มาหัดขี่เล่นไปรอบๆ บ้าน
ม้ายังไม่เชื่องดี จึงยังไม่สามารถบังคับได้ดังใจ
ม้าพาวิ่งลอดเข้าไปใต้ถุนบ้าน
ตัวเขาชนกระแทกเข้ากับตัวบ้านอย่างแรง
ตกลงมาพิการแขนขาหัก
ทั้งสามีภรรยาต่างก็เสียใจกับเหตุการณ์นี้มาก
ท่านผู้เฒ่าก็ปลอบว่า
“อย่าเสียใจเลย เพราะชีวิตนี้ไม่แน่”
ต่อมาเกิดสงคราม
ชายฉกรรจ์ในหมู่บ้านถูกทางราชการเกณฑ์ไปเป็นทหารทุกคน
สามีได้รับการยกเว้นเนื่องจากเป็นคนพิการ
การสู้รบเป็นไปอย่างรุนแรงทำให้ทหารตายเกือบหมด
สามีภรรยาก็ดีใจที่ตัวเองไม่ต้องไปเสียชีวิต
ในสงครามครั้งนี้
นิทานเรื่องนี้สอนเราว่า......
บางครั้งเราอาจเกิดความรู้สึกว่าเราได้สูญเสียมากมาย
เราเสียเปรียบ น่าเสียใจ
แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว เราอาจจะเห็นว่า
สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าเสียใจอะไรมาก
อาจจะกลับกลายเป็นสิ่งที่ดีก็ได้
บางสิ่งบางอย่างที่เรารู้สึกว่าดี
แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว
สิ่งเหล่านี้ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีก็ได้
มันก็กลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น
เป็น อนิจจัง ไม่แน่นอนจริงๆ
เราจึงควรทำความเข้าใจกับเรื่องของ “ความไม่แน่”
และรู้จัก “ปล่อยวาง”
อนิจจัง คือ ไม่แน่ เราต้องเข้าใจ
โลกธรรมแปดฝ่ายที่ไม่น่าปรารถนา ที่ได้เกิดขึ้นกับเรา
การตกงานก็ดี การถูกลดเงินเดือนก็ดี
การไม่มีเงินใช้เช่นที่เคยก็ดี
ไม่มีเงินให้ลูกเรียนหนังสือเช่นเคยก็ดี
เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เรา ทุกข์ใจ เสียใจ น้อยใจ
เบื่อหน่าย ท้อถอย
เราต้องพิจารณาให้เห็นว่า
สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ไม่แน่
เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เอาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
มาตั้งไว้ที่หัวใจของเรา
เพื่อรักษาสุขภาพใจที่ดี ให้ใจดี ใจมีกำลัง ใจมีเมตตา
เมื่อใจมีกำลัง ใจสงบแล้ว เราจะสามารถแก้ไขปรับปรุง
ให้สถานการณ์ดีขึ้นได้
เราก็จะสามารถทำหน้าที่ของเราได้อย่างถูกต้อง
แล้วเราก็จะอยู่อย่าง มีความสุขได้ในทุกสถานการณ์
สิ่งเลวร้ายต่างๆ ในอดีตปล่อยวางเสีย
ให้เรา คิดดี พูดดี ทำดี ในทุกสถานการณ์
อริยมรรคมีองค์ 8 คือ
ศีล สมาธิ ปัญญา
ให้ตั้งมั่นอยู่ในหัวใจของเรา
ให้เอาทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นอาจารย์
เป็นเพื่อนที่ให้กำลังใจแก่เรา
ให้ทุกข์เป็นปุ๋ย เป็นยาบำรุง
การคิดดี พูดดี ทำดี ของเรา
เหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต
ทำให้เราต้องผิดหวังต้องเสียใจมากๆ
ให้เราเห็นชัดๆ ว่าสิ่งเหล่านี้คือ วิบากกรรมของเรา
เป็นสิ่งที่ต้องเกิดตามเหตุปัจจัยของมัน
ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราสามารถ คิดดี พูดดี ทำดีได้
ก็จะทำให้จิตของเรามีกำลังมากขึ้น
เป็นการยกจิตใจของเราให้สูงขึ้น
เป็นการเสริมสร้างบารมีให้แก่ตัวเอง
จงมองดูทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่เรา
ทั้งทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ
ด้วยจิตใจที่ดี จิตใจที่สุขุมอ่อนโยน
มีเมตตา มีขันติ
ด้วยความอดกลั้นและด้วยปัญญา
เมื่อมีทุกข์มาก
เราต้องมีขันติธรรม
คือความอดกลั้น
ผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะอดทนและอดกลั้นได้
ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่เมื่อเราทำได้แล้ว
เราก็จะสามารถตั้งอยู่ในความดี ความถูกต้อง
และเจริญก้าวหน้าต่อไปได้
เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่เราเคยคิดว่าเลวร้าย
ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไป
และอาจจะนำสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิตของเราก็ได้
และถ้าใจเรามีกำลัง ใจสงบ ใจดี ใจมีเมตตาแล้ว
จะไม่มีอะไรที่เราแก้ไขไม่ได้
ฉะนั้นขอให้เราตั้งอยู่ในความดี ความถูกต้อง
คิดดี พูดดี ทำดี ในทุกสถานการณ์
ตราบใดที่เรายังอยู่ในโลก อยู่ในวัฏสงสาร
แม้จะทำดี ทำความดีขนาดไหนก็ตาม
พายุแห่งการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์
มันก็ยังมีอยู่ ไม่มีใครหนีพ้น
แม้แต่พระบรมศาสดาของเราก็ต้องประสบเหมือนกัน
หลังจากท่านตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญานแล้ว
แม้จิตใจท่านจะบริสุทธิ์ขนาดไหน มีปัญญาลึกซึ้งขนาดไหน
มีเมตตาขนาดไหนก็ตาม เหตุการณ์ต่างๆ ก็ยังคงเกิดขึ้นกับท่าน
ซึ่งตามความรู้สึกของเรา
ก็คิดว่าไม่น่าจะมีเหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นกับพระองค์
แต่นั่นเป็นเพียงความคิดของเรา
ตามความเป็นจริง โลกธรรมฝ่ายไม่น่าปรารถนา
ก็มีมากระทบพระพุทธองค์เหมือนกัน
ปล่อยวาง
บางทีเราก็ไม่เข้าใจคำว่า ปล่อยวาง
เรากำลังตกงาน เราไม่มีเงินจะส่งค่าบ้าน
เราไม่มีเงินจะส่งลูกเรียนหนังสือ
เราไม่มีเงินจะพาพ่อแก่แม่แก่ ไปโรงพยาบาล
เราจะปล่อยวางได้อย่างไร
ถ้าเราปล่อยวางแล้ว ใครจะรับผิดชอบ
การดูแลลูก การรับผิดชอบต่อครอบครัว
การดูแลพ่อแม่ เป็นหน้าที่ของเรา
แต่เราต้องทำด้วยสุขภาพใจที่ดี ใจดี
ไม่ใช่ทำไปทุกข์ไป ทำไปบ่นไป เห็นเป็นเรื่องยุ่งๆ
เช่นเรามักจะพูดว่า เรายุ่งมาก เพราะ
เราต้องดูแลพ่อแม่
ต้องดูแลลูก ดูแลภรรยาแล้วก็ต้องไปทำงาน
ต้องหางานทำ
งานก็มีปัญหามากมาย
ทำไปก็ทุกข์ไป ยิ่งทำก็ยิ่งยุ่ง ยิ่งสับสน
อย่างนี้มันก็ไม่เป็นบุญ ไม่ได้บุญ
การปล่อยวางไม่ใช่การไม่ทำอะไร
ไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่สนใจ ไม่ทำหน้าที่
เหล่านี้ก็ไม่ใช่
ตรงกันข้ามคำที่ว่าปล่อยวาง
คือปล่อยวางความรู้สึกเห็นแก่ตัว
ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นและกิเลสต่างๆ
เช่น ความโลภ โกรธ หลง ความขี้เกียจ
ขี้น้อยใจ ขี้หงุดหงิด ขี้บ่น ขี้นินทา
คือ ปล่อยความรู้สึกไม่ดีทั้งหลาย
แล้วทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ด้วยใจดี ใจเมตตา
ปัจจุบันธรรม
นอกจากนี้ก็ให้เราอยู่กับ ปัจจุบันธรรม
เป็นอีกข้อหนึ่งที่เราก็ต้องศึกษา
เพราะบางทีเราก็ไม่ค่อยเข้าใจ ปัจจุบันธรรม
หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ สบายๆ
ให้ความรู้สึกตัวมันติดต่อกัน
ยืนก็ยืนทำใจสงบ
เดินก็เดินทำใจสงบ ไม่ต้องคิดอะไร
นั่งก็ทำให้ใจสงบ ไม่ต้องคิดอะไร
ยืน เดิน นั่ง นอน ทำใจสงบ
นี้คือปัจจุบันธรรม
คือการอยู่กับปัจจุบัน
อดีต อนาคต ไม่ต้องคิดถึง
ในชีวิตประจำวัน ในสังคม ในการทำงาน
การที่เราต้องคิดเรื่องอดีต เรื่องอนาคตก็มีมาก
ให้เราคิดด้วยใจสงบ คิดด้วยสุขภาพที่ใจที่ดี
ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรมากมาย
ถ้าเราคิดและทำงาน ด้วยสุขภาพใจที่ดี
คิดด้วยสติปัญญาชอบ
ก็เรียกว่า ปัจจุบันธรรมเหมือนกัน
การกำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
ตามหลักอานาปานสติ 16 ขั้น
เป็นการเจริญศีล สมาธิ ปัญญา
เป็นสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน
และเป็นปัจจุบันธรรมด้วย
ในระหว่างวันที่เราต้องวุ่นอยู่กับการทำงาน
เมื่อรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ มีเวลาเหลือสักครึ่งชั่วโมง
เราก็ใช้เวลานั้นพักผ่อนทำจิตใจให้สงบได้
หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย
หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ
กำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
จิตใจก็จะสงบ เกิดปีติสุขได้
นี่ก็เป็นปัจจุบันธรรม
การทำงานก็ให้จบไปทีละเรื่อง
เมื่อเรื่องนี้จบแล้วก็ให้มันจบ
มีเรื่องใหม่เข้ามาก็ตั้งใจทำ ทำแล้วก็ให้มันจบไป
การอยู่กับปัจจุบันก็คืออย่างนี้
ถ้าไม่มีอะไร ก็กำหนดรู้ลมหายใจออกลมหายใจเข้าทำใจสงบได้
อย่างนี้เราก็สามารถอยู่ด้วยปัจจุบันธรรมได้ตลอดวันตลอดเวลา
เจริญเมตตา
จงหมั่นเจริญเมตตาภาวนาให้เหมือนกับการรับประทานอาหาร
รับประทานอาหารอย่างไร ก็เจริญเมตตาภาวนาอย่างนั้น
ในชีวิตของเราสิ่งที่มากระทบ
และทำให้จิตใจเศร้าหมองเป็นทุกข์ก็มีมาก
ถ้าไม่ระวัง จิตใจก็จะตก จมในกองทุกข์ โดยไม่รู้สึกตัว
และยากที่จะยกจิตขึ้นมาให้เป็นปกติได้
ทางกาย................
เราต้องรับประทานอาหารเป็นระยะๆ
เพื่อบำรุงร่างกายให้แข็งแรง
แล้วนำพลังงานนี้ไปใช้ในการดำรงชีวิต
และทำงานได้ตลอดวัน
ทางใจ................
เราก็บำรุงหัวใจของเราด้วยการนั่งสมาธิเจริญเมตตาภาวนา
เราควรแบ่งเวลานั่งสมาธิ
ครั้งละ 15 นาที 20 นาที 30 นาที
วันละ 1 ครั้ง 2 ครั้ง 3 ครั้ง
เพื่อทำจิตใจให้มีความสุขแข็งแรงเต็มที่
บำรุงหัวใจด้วยความรู้สึกเป็นเมตตาและสุขใจ
เมื่อเราเจอสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
ที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกไม่ถูกใจ
ไม่สบายใจ ผิดหวัง เสียใจ เป็นทุกข์
ถ้าเราหมั่นเจริญเมตตาภาวนาอยู่เสมอ
เราก็จะสามารถรับสถานการณ์ได้ด้วยจิตใจที่ดี
จิตใจที่มีกำลัง
เราทุกคนมีสิทธิที่จะสัมผัสกับความสุขทางใจ
หรือปีติสุขของจิตใจได้ทุกคน
โดยธรรมชาติ….. จิตใจของเรามีความสุขอยู่แล้ว
แต่พวกเราไม่ยอมสัมผัส
มักจะสัมผัสแต่อารมณ์ที่เป็นทุกข์ เศร้าหมอง
ใจเราก็ไม่สบาย ใจเสีย เสียใจ
นักจิตวิทยากล่าวไว้ว่าจิตของเรานี้สำคัญมีกำลังมาก
คิดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
ถ้าเราสังเกตดูจิตของตัวเองก็จะเห็นชัด
โดยเฉพาะจิตที่ตกต่ำไป
อำนาจจิตตรงกันข้ามก็เป็นได้เหมือนกัน
“อะหัง สุขิโต โหมิ”
ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ถึงความสุข
คิดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
ถ้าเราอยากจะเข้าถึงความสุขที่นี่เดี๋ยวนี้
ทุกคนมีโอกาสมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงและสัมผัสได้
จิตใจที่ใส สะอาด สงบสันติสุข มีเมตตา
มันก็มีอยู่กับเราทุกคน เราต้องเข้าไปให้ถึง
"อะหัง สุขิโต โหมิ"
ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ถึงความสุข
ถ้าถูกกระทบด้วยโลกธรรมฝ่ายที่ไม่น่าปรารถนา
ใจเราจะเริ่มเสียแล้ว จะเสียใจแล้ว
อย่าปล่อยให้จิตของเราคิดผิดๆ ไป
ถ้าคิดผิดๆ ไปแล้วก็เป็นทุกข์
ยิ่งคิดยิ่งทุกข์ ทุกข์เพราะคิดผิด
เราต้องรีบตั้งสติ หยุดทำ หยุดพูด หยุดคิด
หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ สบายๆ หายใจสบายๆ
กำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ให้มันติดต่อกัน
ปล่อยวางอดีต ปล่อยวางอนาคต
ปล่อยวางสิ่งภายนอก บุคคลภายนอก
แล้วโอปนยิโก น้อมเข้ามาที่กาย
ที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
จิตอยู่ที่กาย อยู่ที่ลมหายใจ อยู่กับเนื้อ อยู่กับตัว
เป็นการเริ่มต้นชีวิตที่ถูกต้อง
เป็นอริยมรรคมีองค์แปดคือ
ศีล สมาธิ ปัญญา
ใจเราก็จะสงบ ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม 8
ไม่ยินดียินร้าย ไม่ยึดมั่นถือมั่น
เพราะเห็นชัดว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป
เหมือนลมฟ้าอากาศ
ต่อไปเราก็ค่อยๆ เปลี่ยนกำหนด กำหนดความรู้สึกที่ดีๆ
คือปีติและสุข
กำหนดปีติสุขทุกครั้งที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
คิดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น กำหนดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
เราสามารถกำหนดให้เราเป็นสุขได้ โดยกำหนดปีติสุข
โดยพยายามมีสติ มีสัมปชัญญะ มีสมาธิ
ประคับประคองความรู้สึกปีติสุขให้ติดต่อกันต่อเนื่องกัน
ปีติสุขก็จะค่อยๆ เต็มเปี่ยมในจิตใจของเรา
เราสามารถสร้างปีติสุขได้โดยอาศัยอำนาจของสมาธิ
ด้วยการระลึกถึงบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เรามีความสุข มีความภูมิใจ
เช่น ระลึกถึงการทำความดีของตัวเอง
การทำบุญให้ทาน การรักษาศีลก็ดี
หรือ ระลึกถึงพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ
อะไรก็ตามที่เป็นบุญเป็นกุศล
ถ้าเราระลึกถึงสิ่งไหนแล้วเกิดปีติสุข ก็ระลึกถึงสิ่งนั้นเสมอๆ
ให้จิตใจมีความสุขเต็มที่ได้
ให้เรามีปีติสุขทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
ขอให้จงเต็มเปี่ยมด้วยปีติ และสุขตลอดปีใหม่เถิด
>>>>> จบ >>>>
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ประวัติและปฏิปทาพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20086
รวมคำสอนพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
http://www.dhammajak.net/book-mitsuoe/2.html
http://www.dhammajak.net/dhamma/dhamma18.php
วัดป่าสุนันทวนาราม-มูลนิธิมายา โคตมี และแผนที่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=20076
ที่มา http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=575
|