การทำบุญ คือการลงทุน ...ระริน อุทกะพันธุ์ ( อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง ) |
ระริน อุทกะพันธุ์...ลงทุนด้วยการทำบุญ
การลงทุนที่ทำให้มีความสุขมากที่สุดคือการทำบุญ มันอาจจะไม่เป็นรูปธรรม แต่การทำบุญไม่เคยสูญเปล่า ทุกครั้งที่เรานึกถึง ก็มีความสุขทุกครั้ง
อาจจะฟังดูแปลกไปสักหน่อย ถ้าใครสักคนจะพูดขึ้นว่า"การทำบุญคือการลงทุน"อย่างหนึ่ง แต่สำหรับ "ระริน อุทกะพันธุ์" กรรมการผู้จัดการ สายธุรกิจสำนักพิมพ์ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง เธอบอกว่าเชื่ออย่างนั้นจริงๆ
"การลงทุนที่ทำให้มีความสุขมากที่สุดคือการทำบุญ มันอาจจะไม่เป็นรูปธรรม แต่การทำบุญไม่เคยสูญเปล่า ทุกครั้งที่เรานึกถึง ก็มีความสุขทุกครั้ง เรียกว่าเป็นการลงทุนที่ยาวไปถึงชาติหน้า แม่เคยบอกว่า เงินเมื่อไม่ได้ใช้ ก็เป็นแค่ตัวเลข คนเราจะตายเมื่อไหร่ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นเมื่อยังมีลมหายใจ ก็ควรทำบุญให้เยอะๆ ปกติจะเป็นคนทำบุญหลากหลาย มีทั้งทางศาสนา ช่วยเด็กบ้าง สัตว์บ้าง เราคิดว่าตอนนี้อาจจะมีมากกว่าคนอื่น ก็ควรจะรู้จักแบ่งปันให้คนอื่นบ้าง นั่นเป็นสิ่งที่ควรจะทำ"
นอกเหนือจากลงทุนด้วยการทำบุญแล้ว ระรินยังกระจายลงทุนในหลายช่องทาง เช่นการลงทุนในตลาดหุ้นและในอสังหาริมทรัพย์ เธอเล่าให้ฟังถึงการลงทุนในตลาดหุ้นว่าเป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ใช่ซื้อๆ ขายๆ โดยจะเลือกลงทุนในหุ้นประเภทที่มีอนาคตและให้ผลตอบแทนดี ซึ่งก็ต้องเป็นหุ้นพื้นฐานดีข้อสำคัญคือ กระจายไปในหุ้นหลายกลุ่ม เพื่อกระจายความเสี่ยงให้พอร์ต
"สรุปว่า เลือกลงทุนในหุ้นที่ลงทุนแล้วนอนหลับสบาย และข้อตกลงอีกอย่างหนึ่งของแพรและสามีคือ จะต้องเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานการทำธุรกิจที่ดีด้วย เพราะเมื่อเราลงทุนแล้ว ควรจะรู้สึกดีกับบริษัทนั้นๆ ซึ่งเมื่อรู้สึกดี ผลตอบแทนก็จะดีตามไปด้วย โดยรวมๆ ก็คืออยากลงทุนอย่างมีความสุข"
สำหรับการลงทุนอย่างอื่น ก็มีพวกเพชรและทองคำ ที่ซื้อไว้บ้าง แต่ซื้อไว้ใช้เป็นเครื่องประดับมากกว่าที่จะมองเป็นมิติของการลงทุน กำไรที่ได้คือการได้ใช้ใส่เป็นเครื่องประดับ เวลาไม่ใช้อยากจะขาย มูลค่าก็เพิ่มขึ้น
ส่วนพวกอสังหาริมทรัพย์ระรินบอกว่า เธอสนใจอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะพวกที่ดิน แต่เป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินเยอะ ทำให้ต้องรอบคอบก่อนตัดสินใจ ซึ่งที่ผ่านมาก็มองหาที่ดินผืนงามอยู่ตลอด เพราะข้อดีของการลงทุนในที่ดินคือมีมูลค่าเพิ่มในระยะยาว
ระรินยังเล่าให้ฟังถึงแง่มุมของการจับจ่ายใช้เงิน เธอบอกว่าแม้จะเป็นคนชอปปิง แต่ก็เป็นคนที่มีเงินเก็บ เพราะดูแลตัวเองให้อยู่ในจุดที่ว่า ไม่เคยใช้เงินเกินตัว เพราะแม่สอนให้ดูแลตัวเอง จึงพยายามใช้เงินของตัวเองตั้งแต่เริ่มทำงาน แต่เรื่องการเงินก็ไม่วางแผนอย่างจริงจัง แต่จะใช้วิธีจัดสรรเงินเป็น 4 ส่วน
ส่วนแรกกันไว้ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ซื้อของ เที่ยวบ้าง ส่วนนี้จะใส่ไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เพื่อเบิกถอนอย่างสะดวก อีกส่วนหนึ่งเป็นการออมในระยะยาว เช่นฝากประจำ อาจจะเป็นระยะ 2 ปีหรือ 5 ปีแล้วแต่ว่าช่วงไหนผลตอบแทนระยะไหนน่าสนใจ อีกส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งมาเริ่มลงทุนอย่างจริงจังหลังจากแต่งงาน เพราะสามีของเธอเป็นฝ่ายช่วยดูแลเรื่องการลงทุนให้ ส่วนสุดท้ายเป็นการจัดสรรเงินเพื่อทำบุญ โดยเฉลี่ยก็จัดสรรไว้สำหรับส่วนนี้ประมาณ 10%ของรายได้ ซึ่งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเกิน
"ที่จริงแล้ว ถือว่าไม่ใช่คนที่ใส่ใจกับเรื่องเงินทองเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ถึงกับละเลย ส่วนใหญ่ก็เป็นการเก็บออมด้วยการฝากแบงก์ แต่ไม่ได้นึกถึงว่าจะเอาไปต่อยอดให้ออกดอกออกผลยังไง แต่พอแต่งงานสามีเป็นฝ่ายช่วยจัดการเงินทองให้งอกเงยมากขึ้น ก่อนแต่งงาน ก็เหมือนผู้หญิงทั่วไป พอหลังแต่งงาน ทำให้เรื่องการใช้เงินเปลี่ยนไปพอสมควร เพราะมีสามีคอยเตือนสติอยู่ตลอดเวลา พอเห็นเราตั้งท่าจะซื้อเขาก็จะพูดว่า ซื้ออีกแล้ว ชอปปิงอีกแล้ว บางทีเขาจะพูดว่า ของชิ้นนี้เหมือนที่บ้านเคยมีแล้ว และคอยเตือนสติว่าของบางอย่างไม่จำเป็นต้องซื้อก็ได้"
สำหรับการใช้ชีวิตคู่นั้น ระรินยอมรับว่า เงินเป็นปัจจัยที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้ชีวิต เมื่อครอบครัวไม่มีปัญหาเรื่องเงิน ก็ทำให้เรามีเวลามุ่งมั่นกับเรื่องการงานมากขึ้น แต่ถ้าเป็นคู่ที่ไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง ก็มีความสุขได้ด้วยการใช้เงินตามกำลังตามฐานะของตัวเอง ใช้เงินไม่ให้เกินตัว ระมัดระวังการใช้เงินให้มากที่สุด
"ต้องบอกว่า หลังจากแต่งงาน เรื่องการใช้เงินก็เปลี่ยนไป ระมัดระวังมากขึ้น แล้วยิ่งตอนนี้กำลังจะมีอีกชีวิตที่กำลังจะเกิดมา ก็เลยกลายเป็นคนประหยัดขึ้นมา ใช้เงินน้อยลง เพราะเรานึกถึงว่าหลังจากนี้มีอีกชีวิตหนึ่งที่เราต้องดูแล ก็เลยระวังเรื่องการใช้เงิน เรื่องชอปปิงเสื้อผ้ารองเท้าก็หายไป เพราะช่วงท้องไม่ได้ใส่ชุดอะไรมากมายอยู่แล้ว รองเท้าส้นสูงก็ใส่ไม่ได้"
ระรินพูดถึงแบบแผนการเลี้ยงดูลูกน้อยของเธอที่จะลืมตามาดูโลกในไม่กี่เดือนข้างหน้าว่า หลักๆ คงเน้นวางพื้นฐานด้านจิตใจที่ดีให้กับเขา ทำยังไงให้ลูกคิดดี คิดเป็น ปลูกฝังให้มีจิตใจเข้มแข็ง ถัดมาคอยวางรากฐานเรื่องความรู้และการศึกษาให้เขา เน้นเรื่องพื้นฐานจิตใจก่อน เพราะคนเราถ้าขาดข้อแรกก็ไปไม่รอด ส่วนเรื่องความรู้และปัญญามาเติมได้ตลอดชีวิต
"เด็กสมัยนี้มีความอดทนต่ำ ไม่รู้จักรอ ไม่ค่อยอยู่กับตัวเอง เพราะฉะนั้น ก็อยากให้เขาเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นมาด้วยพื้นฐานจิตใจที่ดี"
สำหรับเธอเองนั้น ใช้ธรรมะนำทางชีวิตให้เดินทางสายกลาง ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วยความพอเพียง คือรู้จักประมาณตน ไม่ได้แปลว่าไม่ใช้เงินเลย แต่ต้องใช้เงินให้เป็น เก็บและใช้อย่างสมดุล บางสิ่งบางอย่างต้องใช้ก็ใช้ เช่นเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ใช้ของให้คุ้มค่าเกิดประโยชน์ อยากบอกทุกคนว่า การรู้จักประมาณตน จะทำให้ไม่เกิดหนี้ การไม่มีหนี้เป็นความสุขรองจากการมีสุขภาพดี ฉะนั้น พยายามอย่าก่อหนี้ เป็นดีที่สุด
"เรื่องการชอปปิงนั้น ยอมรับว่าที่ผ่านมา ก็ผิดพลาดมาเยอะ เพราะซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ หรือบางอย่างใช้ไม่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป จริงอยู่ แม้จะไม่ทำให้เดือดร้อนกับฐานะทางการเงิน แต่ก็ทำให้เห็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น เดี๋ยวนี้ ถ้าเป็นการซื้อของบางอย่างที่ราคาแพง ก็จะไม่รีบตัดสินใจซื้อเดี๋ยวนั้น เพราะการตัดสินใจซื้อในทันที ทำให้พลาดมาเยอะ ตรงนี้เป็นการทำงานของจิต การที่เดินออกมาก่อน
ก็จะพบว่า ความอยากลดน้อยลงทุกครั้ง คนเราต้องรู้จักตัวเองก่อน ว่าเป็นยังไงแล้วหาวิธีควบคุมจิตและความอยากของตัวเอง เพราะของบางอย่างพอด่วนซื้อก็ไม่ได้ใช้งานอย่างคุ้มค่า วิธีแบบนี้ก็ช่วยประหยัดไปได้เยอะ คนเราบางครั้งจิตตามไม่ทันความอยาก ไม่ทันความรู้สึกตัวเอง อย่างแพรเอง เรื่องอื่นจิตจะตามทันหมด ยกเว้นเรื่องชอปปิง ที่จิตยังตามไม่ทัน ยังไม่แข็งแรงพอ
เคยตั้งงบเหมือนกันว่า แต่ละเดือนเรามีงบชอปปิงไม่เกิน 20-25% แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็ส่วนใหญ่จะเกิน แต่ตอนนี้ลดน้อยลงอย่างอัตโนมัติ"
เป้าหมายชีวิตของระรินไม่ได้มีความสุข จากการดิ้นรนไขว่คว้าหาเงินทอง เธอบอกว่า แค่ทำงานให้ออกมาดีที่สุด แล้วเงินจะมาหาเอง
โดย : กาญจนา หงษ์ทอง
bangkokbiznews.com วันที่ 19 เมษายน 2552
|