๒๕๕๖ ปีมหามงคล พระชันษาครบ ๑๐๐ ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ข่าวไทยรัฐออนไลน์ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556
พุทธศักราช 2556 ปีที่หน้าประวัติศาสตร์ของวงการคณะสงฆ์ไทยต้องบันทึกถึงความสำคัญอีกครั้ง
เพราะเป็นปีที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทย จะทรงมีพระชันษาครบ 100 ปี หรือ 1 ศตวรรษ
นับเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่เจริญพระชันษายิ่งยืนนานกว่าสมเด็จพระสังฆราชในอดีตที่ผ่านมา
ทั้งยังทรงดำรงตำแหน่งต่างๆทางคณะสงฆ์ยาวนานกว่าพระสงฆ์รูปอื่นๆ คือ ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 23 ปี ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต 24 ปี ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร 51 ปี
ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2469 จากสามเณรที่บวชแก้บน ณ วัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี และได้เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรม และบวชเป็นพระสงฆ์ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2476 พระองค์ทรงปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดและครบถ้วน จนกระทั่งได้รับพระ ราชทานสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ลำดับที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2532
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงสร้างประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ไทยไว้อย่างมากมาย
ในด้านการพระศาสนา ช่วงที่พระองค์ยังไม่ได้มีพระอาการประชวร จะทรงประทานพระโอวาทสั่งสอนพระภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่อยู่ในฐานะพระอุปัชฌาย์อยู่เสมอ ทั้งยังทรงสอนกรรมฐานแก่พุทธศาสนิกชนเป็นประจำทุกวันพระ และหลังวันพระเป็นประจำ นอกจากนี้ ยังทรงเสด็จไปปฏิบัติศาสนกิจในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และเยี่ยมพระสงฆ์ในพื้นที่ต่างๆอยู่เสมอ เพื่อจะได้ทรงทราบปัญหาของคณะสงฆ์ ทั้งยังทรงสร้างโรงพยาบาลถวายเป็นพระอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง 18 พระองค์ขึ้นในภูมิภาคต่างๆ
ส่วนด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มกิจการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังต่างประเทศ ทรงส่งพระธรรมทูตไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินโดนีเซีย ทั้งยังเสด็จไปให้การบรรพชาอุปสมบทกุลบุตรในอินโดนีเซีย ทำให้เกิดคณะสงฆ์เถรวาทและวัดทางพระพุทธศาสนาเถรวาทขึ้นในประเทศอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก
ทรงส่งพระธรรมทูตไปยังออสเตรเลียทำให้เกิดวัดเถรวาทคือ วัดพุทธรังษี ขึ้นในทวีปนี้เป็นแห่งแรก ด้านงานพระนิพนธ์ ทรงพระนิพนธ์หนังสือต่างๆ จำนวนมาก และทรงแปลถึง 5 ภาษา คือ ไทย จีน อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส
ขณะที่ด้านการศึกษา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นผู้ดำริให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยทรงเป็นอาจารย์รุ่นแรกของมหาวิทยาลัย
ด้วยคุณูปการที่ทรงสร้างไว้ให้กับพระพุทธศาสนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้ ที่ประชุมสุดยอดพุทธศาสนิกแห่งโลก ที่มีสุดยอดผู้นำชาวพุทธโลกจาก 32 ประเทศเข้าร่วมประชุม ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2555 ได้มีมติทูลถวายตำแหน่งพระเกียรติยศอันสูงสุด “ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา” แด่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แห่งราชอาณาจักรไทย
พระอนิลมาน ธมฺมสากิโย ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช บอกว่า ใบประกาศถวายตำแหน่งดังกล่าว ระบุว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ผู้ทรงได้รับการเคารพอย่างสูงสุดและได้รับการไว้วางใจอย่างสุดซึ้งจากพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาว่า ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แห่งดินแดนแห่งรอยยิ้ม ทรงเป็นผู้สอนพระ ธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทุกคนปฏิบัติธรรมตั้งอยู่ในพระปัญญาธรรมและพระกรุณาธรรม ทั้งทรงเป็นผู้นำราชอาณาจักรไทยไปสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง นับว่าเป็นแบบอย่างของสากลโลก และทรงมีพระบารมีปกแผ่ไพศาลไปทั่วราชอาณาจักรไทยและประเทศพุทธศาสนาทั่วโลก พระศรัทธาที่เปี่ยมพระทัยในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระองค์ได้รับการแซ่ซ้องและเทิดทูนจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ด้วยความซาบซึ้งในพระกรณียกิจทั้งปวงในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในนามของพุทธศาสนิกชน 370 ล้านคนทั่วโลก พร้อมสุดยอดผู้นำชาวพุทธโลกจาก 32 ประเทศ ขอทูลเกล้าถวายพระเกียรติยศอันสูงสุดนี้ ด้วยความปีติโสมนัสยิ่ง
“สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์ทุกนิกาย พร้อมทั้ง เป็นที่เทิดทูนของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก แม้แต่องค์ดาไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ยังนับถือ และเรียกพระองค์ว่า เป็นพี่ชายคนโตของฉัน” พระอนิลมาน กล่าวถึงสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ทรงได้รับความนับถือจากคณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนจากทั่วโลกอย่างแท้จริง
และเนื่องในวโรกาสที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จะทรงมีพระชันษาครบ 100 ปี ในวันที่ 3 ต.ค.2556 นี้ รัฐบาล มหาเถรสมาคม (มส.) สำนังานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร และมูลนิธิหอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ
จึงจัดกิจกรรมเนื่องในวโรกาสสำคัญดังกล่าวโดยให้เริ่มจัดกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.2555 จนถึงวันที่ 3 ต.ค.2556 โดยแบ่งการจัดกิจกรรมออกเป็นส่วนต่างๆดังนี้
วัดบวรนิเวศวิหาร จัดแสดงนิทรรศการ จัดพระราชพิธี และบำเพ็ญพระกุศล รวมทั้งจัดทำเอกสารเผยแพร่พระประวัติ พระศาสนกิจ โดยจะเน้นการจัดกิจกรรม 2 ช่วง คือ วันที่ 21 เม.ย. 2556 ซึ่งเป็นวันที่ตรงกับวันสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และช่วงวันที่ 3 ต.ค. 2556 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของพระองค์
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดแสดงนิทรรศการในสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทุกจังหวัด รวมทั้งจัดทำบุญตักบาตรในวันที่ 3 ต.ค. 2556 และจัดปฏิบัติธรรมในวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม และวัดไทยในต่างประเทศ
มูลนิธิหอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ จัดกิจกรรมวันที่ 21 เม.ย. 2556 โดยจะมีการจัดประมวลงานทางธรรม เพื่อคัดสรรผลงานทางธรรมของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะ ภายในงานเทศกาล “ญาณสังวร”
ขณะที่ สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช จะจัดตั้ง ห้องสมุดพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย โดยจะเป็นห้องสมุดแห่งแรกที่จะรวบรวมมรดกทางธรรมของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ไว้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นลายพระหัตถ์ หนังสือพระนิพนธ์ หนังสือวิชาการส่วนพระองค์ พระสุรเสียงที่พระองค์ทรงเทศน์ในงานต่างๆ รวมไปถึงพระรูปที่หาชมได้ยาก โดยเริ่มดำเนินการรวบรวมข้อมูลต่างๆตั้งแต่เดือนต.ค.2555 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.2556 นอกจากนี้ ยังมีโครงการจัดสร้างโบสถ์ดิน เพื่อเป็นต้นแบบแห่งความพอเพียงให้กับวัดต่างๆ โดยจะสร้างโบสถ์ดินเป็นต้นแบบ 9 แห่ง ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ
เนื่องในวโรกาสอันเป็นมหามงคลนี้ ทีมข่าวศาสนา ในนามพุทธศาสนิกชนชาวไทยขอน้อมถวายพระพร
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประมุขสงฆ์ที่มีพระชันษายืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย
ทีฆายุโก โหตุ มหาสังฆราชา.
ทีมข่าวศาสนา
ที่มา http://www.thairath.co.th/content/edu/317059
|