Home » ตัวอย่างคู่มือ,เอกสาร,แบบฟอร์ม » ตัวอย่าง TOR หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการบริหารชุมชนแบบบูรณาการ

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
ตัวอย่าง TOR หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการบริหารชุมชนแบบบูรณาการ

ตัวอย่าง TOR

หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการบริหารชุมชนเอื้ออาทรแบบบูรณาการ

(อาคารแนวราบ)

 

               การบริหารชุมชนเอื้ออาทรแบบบูรณาการ  มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างชุมชนให้น่าอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน  สมาชิกชุมชนมีวินัย  มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีโอกาสในการสร้างรายได้และ/หรือลดค่าใช้จ่าย  บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เอื้ออาทรกันต่อกัน  เคารพสิทธิของผู้อื่น ชุมชนมีความเข้มแข็ง  มีศักยภาพและมีความสามารถบริหารจัดการด้วยระบบองค์กรชุมชนของตนเองได้ภายใน  2  ปี  ทั้งนี้โดยใช้บริหารจัดการด้วยระบบองค์กรชุมชนในรูปนิติบุคคล  โดยมีรายละเอียดดังนี้

             1. ขอบเขตการบริหารชุมชนเอื้ออาทรแบบบูรณาการ  เป็นการบริหารชุมชนแบบองค์รวมทั้งด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมชุมชน บริหารทรัพย์สินและธุรกิจชุมชน  ตลอดจน การจัดระเบียบชุมชนด้านสังคม  แบ่งเป็น  4  กิจกรรมดังนี้ 

1.1  การบริหารชุมชนด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม  เป็นการบริหารจัดการ ดูแลรักษาสภาพแวดล้อม   การรักษาความสะอาด   การรักษาความปลอดภัย   การต่อเติมอาคาร  งานควบคุมดูแลสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ ตลอดจนดูแลรักษาทรัพย์สินของชุมชนพื้นที่ต่างๆ  ภายในชุมชนมิให้มีการบุกรุกเข้าใช้ประโยชน์โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากการเคหะแห่งชาติเป็นลายลักษณ์อักษร

1.2  การบริหารสัญญาจัดประโยชน์ทรัพย์สินชุมชนและธุรกิจชุมชน   เป็นการบริหารจัดการโดยกำหนดวิธีการ แนวทางในการกำกับดูแลให้คู่สัญญาจัดประโยชน์ของการเคหะแห่งชาติปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญา  รวมทั้งดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย  ความสะอาด  จัดระเบียบจราจรบริเวณพื้นที่ที่ใช้ประกอบธุรกิจการค้า  รวมถึงการจัดเก็บเงินจากผู้ค้ารายย่อย

1.3  การจัดระเบียบชุมชนด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกชุมชน  และการสร้างวัฒนธรรมเอื้ออาทร โดยผู้รับบริหารให้ความร่วมมือและดำเนินงานประสานงานเพื่อให้สมาชิกชุมชนได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง ตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่การเคหะแห่งชาติเมื่อมีการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ตามแผนงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการสร้างวัฒนธรรมเอื้ออาทร             

1.4  การบริหารลูกหนี้  ให้เสนอแนวทางการบริหารลูกหนี้บนพื้นฐานวัฒนธรรมเอื้ออาทร  วิธีการบริหารลูกหนี้และติดตามหนี้ที่มีประสิทธิภาพสามารถติดตามหนี้ได้อย่างรวดเร็ว  และสอดคล้องกับระบบการบริหารลูกหนี้ของการเคหะแห่งชาติ  ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดหนี้ค้างชำระ ซึ่งส่งผลให้การเคหะแห่งชาติต้องซื้อคืนอาคาร  โดยการเคหะแห่งชาติ กำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารลูกหนี้  ดังนี้.-

1.4.1  กรณีมีหนี้ค้างชำระ  ให้ค้างชำระได้ไม่เกิน  2  งวด

1.4.2  หากมีหนี้ค้างชำระรายหนึ่งรายใดเกินกว่า  2  งวด

          ผู้รับบริหารต้องจัดทำแผนปรับปรุงการบริหารลูกหนี้ให้ การเคหะแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยด่วน

1.4.3  ค่าปรับการบริหารลูกหนี้ 

            1.4.3.1  กรณีขอสินเชื่อกับธนาคาร (Post Finance) ผู้รับบริหารที่บริหารแล้วมีหนี้ค้างชำระจนเป็นเหตุให้การเคหะแห่งชาติต้อง    ซื้อคืนอาคารจากธนาคารผู้ให้กู้     ผู้รับบริหารต้องชำระค่าปรับ ในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่การเคหะแห่งชาติจ่ายให้กับธนาคาร  เมื่อมีการซื้อคืนอาคาร

            1.4.3.2  กรณีทำสัญญาเช่าซื้อกับการเคหะแห่งชาติ ผู้รับบริหารที่บริหารแล้วมีลูกหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 3 งวดขึ้นไป ผู้รับบริหารจะต้องชำระค่าปรับในอัตราร้อยละ 20 ของค่าเช่าซื้อที่ค้างตั้งแต่ 3 งวด 

           1.4.3.3 กรณีมีหนี้ค่าเช่าซื้อค้างชำระ ตั้งแต่ 3 งวดขึ้นไปก่อนที่ผู้รับบริหารเข้ารับบริหาร ให้ผู้รับบริหารดำเนินการติดตามหนี้ หรือดำเนินการบอกเลิกสัญญากับผู้เช่าซื้อให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา   3 เดือน และเมื่อครบกำหนด 3 เดือนแล้วมีลูกหนี้ค้างชำระตั้งแต่       3 งวดขึ้นไป ผู้รับบริหารต้องชำระ ค่าปรับตามหลักเกณฑ์ ข้อ 1. 4.3.2

                        โดยมีรายละเอียดขอบเขตงานในกิจกรรม  1.1 - 1.4  ตามเอกสารที่แนบท้ายหลักเกณฑ์และเงื่อนไขนี้

           2.  วิธีการบริหารชุมชนเอื้ออาทรแบบบูรณาการ  เป็นการดำเนินการร่วมกัน  3  ฝ่ายระหว่างการเคหะแห่งชาติ  องค์กรชุมชน  และผู้รับบริหาร  ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดแนวทางและขั้นตอนการบริหารชุมชนในทุกกิจกรรมที่กำหนดให้ผู้รับบริหารดำเนินการไปสู่องค์กรชุมชน  ดังนี้

 2.1  ผู้รับบริหารรับผิดชอบดำเนินการตามขอบเขตงานแต่ละกิจกรรมที่กำหนดแนบท้ายหลักเกณฑ์และเงื่อนไขนี้

 2.2  ผู้รับบริหารต้องเสนอแนวทางวิธีการและแผนงานการถ่ายทอดวิธีการและ ขั้นตอนการบริหารชุมชนให้องค์กรชุมชนที่จัดตั้งขึ้นในชุมชนได้เรียนรู้จนเกิดทักษะในการบริหารได้เช่นเดียวกับที่ผู้รับบริหารดำเนินการ

        3.  พื้นที่บริหาร  จำนวน……โครงการ     รวม ……… หน่วย  ดังนี้ 

                        3.1…………………………………………………………….

                        3.2……………………………………………………………..

        4.  ระยะเวลาดำเนินการบริหาร

 4.1 การเคหะแห่งชาติจะให้สิทธิการบริหารชุมชนแบบบูรณาการมีกำหนด 1 ปี และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลา 1 ปีแรก หากองค์กรชุมชนยังไม่สามารถบริหารจัดการชุมชนของตนเองได้ และผลการดำเนินการบริหารผ่านเกณฑ์ประเมินผลงาน การเคหะแห่งชาติจะพิจารณาต่อสัญญาให้เป็นคราวๆ ไม่น้อยกว่าคราวละ 3 เดือน

4.2 การกำหนดอายุสัญญา ให้เริ่มต้นเมื่อ การเคหะแห่งชาติส่งมอบอาคารให้ผู้ซื้อเข้าอยู่อาศัยในโครงการ

          5.  ค่าตอบแทนการรับบริหารชุมชน

5.1   ค่าตอบแทนบริหารชุมชน  ตามข้อเสนอของผู้รับบริหาร  รายที่ได้รับคัดเลือกจากการเคหะแห่งชาติ   และกำหนดไว้ในสัญญาจ้างบริหารชุมชนแบบบูรณาการ  โดยมีหลักเกณฑ์   ดังนี้.-

5.1.1  กรณีที่การเคหะแห่งชาติส่งมอบอาคารให้ผู้ได้สิทธิเกินกว่าร้อยละ50 ของจำนวนหน่วยทั้งโครงการ ให้เบิกค่าตอบแทนได้เต็มจำนวน  ตามข้อ 5.1

5.1.2  กรณีที่การเคหะแห่งชาติส่งมอบอาคารให้ผู้ได้สิทธิไม่เกินร้อยละ50 ของจำนวนหน่วยทั้งโครงการ  ให้จัดบุคลากรปฏิบัติงานในพื้นที่ตามตารางที่ 2 และเบิกค่าตอบแทนตามขนาดของโครงการ :-

  • จำนวนไม่เกิน 1,000 หน่วย ให้เบิกค่าตอบแทน  150 บาท/หน่วย/เดือน
  • จำนวน  1,001 –1,500 หน่วย ให้เบิกค่าตอบแทน  140 บาท/หน่วย/เดือน
  • จำนวน 1,501 หน่วยขึ้นไป  ให้เบิกค่าตอบแทน 130 บาท/หน่วย/เดือน

การเบิกค่าตอบแทนตามข้อ 5.1.2 ให้ถือเกณฑ์การส่งมอบอาคารให้ผู้ได้สิทธิ ณ วันสิ้นเดือนที่บริหารชุมชน   และ ณ  เดือนที่ส่งมอบอาคารให้ผู้ได้สิทธิเกินกว่าร้อยละ 50  ของจำนวนหน่วยทั้งโครงการ  ให้ผู้รับบริหารเบิกค่าตอบแทนได้เต็มตามจำนวนที่กำหนด ในสัญญาจ้าง  โดยต้องจัดจำนวนบุคลากรปฏิบัติงานในพื้นที่ครบถ้วนตามจำนวนที่กำหนดในสัญญาจ้างด้วย

หากอัตราค่าตอบแทนตามข้อ 5.1.1 ต่ำกว่าอัตราค่าตอบแทนตามข้อ 5.1.2 ให้ผู้รับบริหารเบิกค่าตอบแทนการบริหารชุมชนตามข้อ 5.1.1 

5.2   ค่าตอบแทนการบริหารลูกหนี้   

5.2.1  ผู้รับบริหารจะได้รับค่าตอบแทนการบริหารลูกหนี้ เมื่อสามารถบริหารให้ไม่มีหนี้ค้างชำระมากกว่าร้อยละ90 ของจำนวนลูกหนี้ที่บริหารโดยการเคหะแห่งชาติกำหนดค่าตอบแทนเป็นเงิน 60 บาท/หน่วย/เดือน เฉพาะส่วนที่ไม่มีหนี้ค้างชำระเกินกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนลูกหนี้ที่บริหาร  ทั้งกรณีขอสินเชื่อกับธนาคาร (Post Finance) และกรณีทำสัญญาเช่าซื้อกับการเคหะแห่งชาติ

5.2.2  กรณีทำสัญญาเช่าซื้อกับการเคหะแห่งชาติ นอกจากค่าตอบแทนตามข้อ 5.2.1 แล้ว ผู้รับบริหารจะได้รับค่าตอบแทนการบริหารลูกหนี้เพิ่มเติม เมื่อสามารถบริหารให้ยอดหนี้ค้างชำระค่าเช่าซื้อลดลงจากเดือนที่ผ่านมา ในอัตราร้อยละ 2 ของยอดหนี้ค้างชำระค่าเช่าซื้อที่ลดลง 

5.3  ค่าบริหารสัญญาจัดประโยชน์ตามสัญญาจัดประโยชน์หรือสัญญาการดำเนินธุรกิจในชุมชนที่เกิดขึ้นระหว่างอายุสัญญาจ้างบริหารชุมชน  โดยการเคหะแห่งชาติจะแจ้งให้ ผู้รับบริหารทราบทุกครั้งเมื่อมีการทำสัญญาจัดประโยชน์  ดังนี้

5.3.1  กรณีให้ผู้รับบริหารเป็นผู้กำกับ  ดูแล  ควบคุม  คู่สัญญาจัดประโยชน์ของการเคหะแห่งชาติให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาอย่างถูกต้องครบถ้วน  การเคหะแห่งชาติ  จะพิจารณาให้ค่าตอบแทนการดำเนินงานดังกล่าวในอัตราร้อยละ 10 ของค่าตอบแทนรายเดือนที่การเคหะแห่งชาติได้รับจากสัญญาจัดประโยชน์

5.3.2  กรณีกำกับ  ดูแล  ควบคุม  คู่สัญญาจัดประโยชน์ของการเคหะแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาอย่างถูกต้องครบถ้วน และรับผิดชอบจัดเก็บเงินจากคู่สัญญา     นำส่งให้การเคหะแห่งชาติด้วยจะมีค่าตอบแทนนอกเหนือจากข้อ 5.3.1 ดังนี้

  • ผู้รับบริหารต้องจัดเก็บเงินได้ไม่น้อยกว่า   ร้อยละ 90 ของเงิน ค่าตอบแทนตามสัญญาจัดประโยชน์ ซึ่งผู้รับบริหารจะได้ค่าตอบแทนเพิ่มอีกร้อยละ 5 ของเงินที่จัดเก็บได้ตามสัญญาจัดประโยชน์
  • กรณีจัดเก็บเงินได้ต่ำกว่าร้อยละ90 ของค่าตอบแทนตามสัญญาประโยชน์  ผู้รับบริหารจะต้องชำระค่าปรับในอัตราร้อยละ  2   ต่อวันของเงินที่จัดเก็บไม่ได้จนกว่าจะจัดเก็บได้และนำส่งให้การเคหะแห่งชาติ
  • กรณีที่ไม่นำส่งเงินที่จัดเก็บได้ตามกำหนดผู้รับบริหารต้องชำระค่าาปรับในอัตราร้อยละ 1 ของเงินที่ไม่ได้นำส่งต่อวัน  นับตั้งแต่วันที่ถึงกำหนดนำส่งเงินถึงวันที่ได้นำส่ง

          6.  ค่าใช้จ่ายที่ผู้รับบริหารต้องรับผิดชอบ

6.1  สถานที่ปฏิบัติงานของผู้รับบริหารชุมชน  การเคหะแห่งชาติจะจัดหาสถานที่  เช่น  ห้องนิติบุคคลอาคารชุด  หรือ  อาคารศูนย์ชุมชนในโครงการ  เป็นสำนักงานบริหารชุมชนกำหนดอัตราค่าเช่าเดือนละ 2,000.- บาท และจัดให้มีครุภัณฑ์สำนักงาน  (ตามรายการที่แนบ)  โดยผู้รับบริหารชุมชนเป็นผู้รับผิดชอบชำระค่าน้ำ  ค่าไฟฟ้า  ค่าโทรศัพท์  และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริการส่วนสำนักงานเองทั้งหมด ทั้งนี้เมื่อครบกำหนดอายุสัญญา ผู้รับบริหารต้องส่งมอบทรัพย์สินวัสดุอุปกรณ์สำนักงานคืนให้การเคหะแห่งชาติอย่างครบถ้วน  หากเกิดความชำรุดเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้ผู้รับบริหารต้องซ่อมแซมหรือ   จัดซื้อทดแทนให้การเคหะแห่งชาติ

6.2  ค่าใช้จ่ายตามขอบเขตงานรักษาความสะอาด ยกเว้นค่าธรรมเนียมการ    จัดเก็บขยะกำหนดให้ ผู้อยู่อาศัยในชุมชนเป็นผู้รับผิดชอบ

6.3  ค่าใช้จ่ายตามขอบเขตงานรักษาความปลอดภัย  รวมถึงค่าใช้จ่ายกรณีทรัพย์สินส่วนกลางสูญหายหรือชำรุดจากการโจรกรรม

6.4   ค่าใช้จ่ายต่างๆ  ในงานควบคุมดูแล  รักษา  ซ่อมแซม  ระบบสาธารณูปโภค  สาธารณูปการ  ระบบไฟฟ้า  ระบบประปา  ระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย  ทางระบายน้ำในชุมชน  ระบบถนนทางเท้า  และอื่นๆ  ที่เกี่ยวข้อง  โดยผู้รับบริหารเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย  นอกเหนือจากความรับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกันการก่อสร้าง        

6.5  ค่ารักษามาตรวัดน้ำ  ค่ารักษามาตรวัดกระแสไฟฟ้า  (หากมี)  ซึ่งต้องจ่ายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง

6.6  ค่าไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในชุมชน  ยกเว้นค่าไฟฟ้าในที่อยู่อาศัยของสมาชิกชุมชน

6.7 ค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้ก่อนการซื้อคืนอาคาร

6.8  ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลแก่สมาชิกชุมชน และการประสานงานเพื่อจัดหาสถานที่ในชุมชน (ไม่รวมค่าสถานที่ในการจัดกิจกรรม) ตามขอบเขตและแผนงานพัฒนา คุณภาพชีวิตและการสร้างวัฒนธรรมเอื้ออาทร

          7. หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้รับบริหาร

 7.1  การพิจารณาข้อเสนอในกิจกรรมที่ให้ระบุจำนวนบุคลากรการปฏิบัติงานในพื้นที่ เช่น ยาม พนักงานทำความสะอาด (ตามตารางที่ 1 )  หากข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอรับบริหารชุมชนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ กคช. กำหนดไว้จะไม่พิจารณาข้อเสนอทั้งหมด

 7.2  ข้อเสนอของผู้รับบริหารชุมชนต้องมีคะแนนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 จึงจะมีสิทธิเสนอราคาและผู้ได้สิทธิจะเป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด ของการประมูลราคาในแต่ละโครงการและต้องเสนออัตราค่าตอบแทนไม่เกิน  180  บาท  สำหรับโครงการที่มีจำนวนหน่วยบริหารเกินกว่า 1,000 หน่วย และ 200 บาท สำหรับโครงการที่มีจำนวนหน่วยบริหารไม่เกิน 1,000 หน่วย

              8.  หลักเกณฑ์การติดตามประเมินผลการดำเนินงาน  ผู้รับบริหารต้องนำเสนอรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนงาน  เพื่อให้การเคหะแห่งชาติติดตามประเมินผลการดำเนินงานของผู้รับบริหารทุก  3  เดือน  โดยรายงานต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย  ดังนี้

  • ผลการดำเนินงานตามแนวทางแผนงานที่กำหนดตามสัญญา
  • วิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นและข้อเสนอแนวทางแก้ไข

             9. หลักเกณฑ์การเบิกค่าตอบแทนการบริหารชุมชน  ผู้รับบริหารชุมชนต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินงานตามสัญญาจ้าง ฯ โดยมีรูปแบบและวิธีการรายงานตามที่การเคหะแห่งชาติกำหนด เพื่อเบิกค่าตอบแทนการบริหารชุมชนประจำเดือนภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไป และหักลดค่าเช่าสำนักงานบริหารชุมชน ตามข้อ 6.1 นำส่งให้ การเคหะแห่งชาติ  ก่อนด้วย

           10.  ประกันความเสียหาย  ผู้รับบริหารชุมชนต้องประกันความเสียหายเงินที่จัดเก็บกับบริษัทผู้รับประกัน ตามวงเงินประกันที่การเคหะแห่งชาติกำหนด และระบุให้การเคหะแห่งชาติเป็นผู้รับประโยชน์ในกิจกรรม ดังนี้

10.1  การจัดเก็บเงินจากการบริหารสัญญาจัดประโยชน์

10.2  การจัดเก็บเงินจากการบรรจุผู้ได้สิทธิ  เมื่อมีอาคารว่างจากการซื้อคืน

             11. หลักประกันสัญญาจ้าง ให้ผู้รับบริหารชุมชนวางหลักประกันการจ้าง ตามระเบียบเงื่อนไขสัญญาจ้างของการเคหะแห่งชาติ 

         12.  คุณสมบัติของผู้รับบริหารชุมชน

12.1  เป็นนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท และต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีวัตถุประสงค์การดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการบริหารชุมชนและการบริหารลูกหนี้

12.2   นิติบุคคลหรือ กรรมการผู้จัดการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้มีสิทธิยื่นข้อเสนอ  จะต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีผู้ละทิ้งงาน หรือเป็นผู้ถูก กคช. บอกเลิกสัญญา

12.3   มีประสบการณ์และผลงานในการรับบริหารชุมชน  (ถ้ามี)

             13.  ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องทำสัญญา  ตามข้อกำหนดในสัญญาแนบท้ายประกาศ

 

---------------------------------------------------------

ที่มา http://tor.gprocurement.go.th/06_tor_old/uploads/77069/1/land1-4.doc