บ้านกับปัญหาน้ำท่วม : การออกแบบ |
วันเสาร์ ที่ 8 ตุลาคม 2554 : กฎหมายรอบรั้ว
การออกแบบบ้านกับปัญหาน้ำท่วม
ปัญหาของน้ำที่กำลังท่วมในหลายพื้นที่ขณะนี้ มีผลต่อสิ่งปลูกสร้างและบ้านพักอาศัยของชาวบ้านจำนวนมาก โดยความเสียหายของบ้านจะขึ้นอยู่กับระดับความสูงของน้ำที่ท่วม ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และปัจจัยสำคัญอีกอย่างคือระดับความหนาแน่นของชั้นดินใต้พื้นบ้านที่น้ำท่วมนั้น หากพื้นที่ใต้ดินมีลักษณะเป็นดินโคลน หรืออยู่บริเวณพื้นที่ที่มีน้ำไหลผ่าน เช่น ริมคลอง หรือริมแม่น้ำ อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาบ้านทรุด โดยมีวิธีสังเกตแบบง่าย ๆ คือ ต้องหมั่นสำรวจตรวจตราบ้าน เพื่อตรวจหารอยแตกร้าวบริเวณผนัง หรือพื้น และรอยฉีกขาดบริเวณเสาและคานบ้าน
อาการจะรุนแรงกว่ารอยแยกที่เกิดขึ้นจากความทรุดโทรมตามปกติ และคนส่วนใหญ่คิดว่าบ้านที่สร้างนั้นได้ออกแบบให้สามารถรองรับปัญหาน้ำท่วมได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นบ้านที่ถูกน้ำท่วมในระดับ 1-2 เมตรจึงไม่น่าจะมีปัญหาต่อโครงสร้าง แต่ก็ต้องคอยหมั่นตรวจสอบปัญหาของบ้านทรุดตัวอย่างละเอียด ส่วนกรณีของบ้านไม้นั้นจะพบว่าส่วนใหญ่ทนทานต่อปัญหาน้ำท่วมได้ดีกว่า สังเกตได้จากบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำที่อยู่อาศัยมานานกว่า 20 ปี อย่างไรก็ตาม เจ้าของบ้านต้องหมั่นตรวจสอบปัญหาที่อาจเกิดจากความชื้นที่ส่งผลต่อเนื้อไม้และอาจส่งผลต่อโครงสร้างบ้านด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ จุดที่ควรระวังเป็นพิเศษอีกจุดหนึ่ง คือบริเวณรอยต่อของบ้านที่มีเสาและคานเชื่อมต่อกันเป็นจำนวนมาก อาจมีปัญหาระดับความสูงของคานที่ไม่เท่ากัน หรือสามารถสังเกตง่าย ๆ ด้วยการสำรวจจากภายนอกว่าโครงสร้างบ้านมีลักษณะเอียงผิดรูปหรือไม่ ทั้งนี้หากตรวจพบปัญหาดังกล่าวควรแจ้งให้วิศวกรเข้ามาตรวจสอบปัญหาด้านโครงสร้างโดยละเอียดว่าสามารถซ่อมแซมได้หรือไม่ และที่สำคัญ คือการซ่อมแซมโครงสร้างบ้านทุกขั้นตอนควรมีการควบคุมโดยวิศวกรโดยตลอด และควรหลีกเลี่ยงการปรับปรุงบ้านจากผู้รับเหมาที่ไม่มีวิศวกรควบคุมงาน เพราะการทำงานทุกขั้นตอนต้องมีการตรวจสอบ ควบคุมโดยผู้ชำนาญ
บ้านที่ดีในอนาคต จะต้องมีลักษณะที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ คือต้องไม่ออกแบบบ้านในลักษณะขวางทางไหลของน้ำตามธรรมชาติ ทั้งนี้บ้านในอดีตสามารถอยู่อาศัยในบริเวณริมน้ำ หรือริมทะเลได้หลายสิบปี ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบบ้านให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ แต่ปัจจุบันจะพบว่าบ้านหรืออาคารส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่รุนแรง ซึ่งเกิดจากการออกแบบที่ใช้แนวคิดตามแบบชาติตะวันตก คือ มีลักษณะเป็นบ้านจัดสรรขนาดใหญ่ เน้นพื้นที่ใช้สอยที่มาก แต่ในอดีตจะเน้นการสร้างบ้านแบบยกพื้นขึ้นสูงจากพื้นดิน เพราะเข้าใจดีว่าภูมิประเทศของเรามักต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี
ดังนั้น เมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้น บ้านจัดสรรจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ต่างจากบ้านที่ออกแบบตามภูมิปัญญาไทยที่ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย และอนาคตจะต้องมีการศึกษารูปแบบของการออกแบบบ้านตามภูมิปัญญาไทย เพื่อนำมาปรับใช้กับการสร้างบ้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด.
ดินสอพอง
http://dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=507&contentID=168201
|