วิธีการอยู่กับน้ำท่วมแบบชาวบ้าน เอาไปปฏิบัติได้ง่ายๆว่าควรต้องทำอะไรบ้าง #1 |
วันที่ 28 ตุลาคม 2554 : อสังหาริมทรัพย์
วิธีการอยู่กับน้ำท่วมของชาวบ้าน ..ในเขตเมือง (ตอนที่1)
โดย : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
วิธีการอยู่กับน้ำท่วมแบบที่ชาวบ้านเอาไปปฏิบัติได้ง่ายๆว่าควรต้องทำอะไรบ้าง
-
เมื่อน้ำท่วมแล้ว เวลาเราเดินก็จะต้องก้าวเท้าลงในน้ำ ซึ่งเราจะไม่สามารถมองเห็นพื้นที่เรากำลังจะเหยียบได้ การลื่นหกล้มหรือไปเหยียบของมีคมจึงเกิดขึ้นได้ง่าย สิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ทำกันในยามนี้ คือ ใช้รองเท้าแตะหรือรองเท้าฟองน้ำ ซึ่งขอแนะนำว่าไม่ควรใช้เพราะรองเท้าพวกนี้ไม่ตรึงอยู่กับเท้าและลื่นได้มาก อยากจะ ขอแนะนำให้ใช้รองเท้าสาน คือ รองเท้าแตะแบบที่มีสายรัดกับข้อเท้า ซึ่งจะทำให้เดินได้สะดวกและมั่นใจได้มากขึ้น
-
รองเท้าบูตถ้ามีก็ดี แต่รองเท้าแบบนี้ใช้ได้เฉพาะกรณีน้ำท่วมไม่มาก หากท่วมสูงเป็นเมตรก็ไร้ประโยชน์ เพราะน้ำจะเข้าไปในรองเท้าบูตอยู่ดี นอกจากนี้ จะใช้ได้ดีก็เฉพาะสำหรับการเดินลุยน้ำในทางราบ (ซึ่งก็ไม่ดีเท่ารองเท้าสานอย่างที่ได้กล่าวไว้ในข้อ 1) และไม่สะดวกรวมทั้งอันตรายด้วยซ้ำหากจะใช้สวมปีนข้ามกำแพงกระสอบทรายที่กั้นบ้านไว้เป็นเมตร
-
ในช่วงน้ำท่วมอย่าไปกังวลเรื่องไม่ให้เท้าหรือขาเปียกตลอดเวลา เพราะเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ดังนั้น เมื่อเดินลุยน้ำมาแล้วและกลับมาบ้านหรือไปถึงพื้นที่ที่แห้งแล้วก็ควรล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและโรยแป้ง ให้ทั่ว ซึ่งนั่นหมายความว่าต้องไปจัดการหาหรือซื้อแป้งเตรียมไว้ล่วงหน้า
-
ในช่วงน้ำท่วม การไฟฟ้าอาจตัดไฟฟ้า เราจึง จำเป็นต้องมีไฟฉายไว้เตรียมพร้อมพร้อมถ่าน สำหรับอุปกรณ์นี้ถ้าเราสามารถจัดหาไฟฉายแบบใช้ในน้ำได้ก็ดี เพราะตกน้ำแล้วไม่เป็นไร แต่ถ้าเราไม่สามารถหาไฟฉายแบบนี้ได้ก็ต้องหาแบบที่มีสายร้อยหรือคล้องข้อมือเพื่อจะได้ไม่พลัดหล่นลงน้ำ เพราะหล่นลงน้ำแล้วไฟฉายก็จะใช้ไม่ได้อีกต่อไป ส่วนกรณีไฟฉายที่ซื้อมาไม่มีสายร้อยข้อมือก็ให้เอาเชือกร้อยรูที่ก้นไฟฉาย (ซึ่งส่วนใหญ่จะมีรูนี้ไว้ให้) และทำเป็นสายคล้องข้อมือเอาเอง นี่ก็ใช้ได้ดีเหมือนกัน
-
น้ำท่วมคราวนี้จะท่วมนาน หลายคนคาดการณ์ว่าจะเป็นเดือน การขาดแคลนน้ำใช้ต้องมีแน่ แม้แต่การประปานครหลวงก็ออกมาเตือนให้กักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในบ้านล่วงหน้า อย่ารอจนมีปัญหา สำหรับกรณีนี้ผมมีข้อแนะนำว่าอย่าสำรองน้ำใส่ตุ่มหรือถังพลาสติกไว้ที่พื้นชั้นล่าง เพราะเมื่อเราใช้น้ำพร่องถังไปแล้ว ถังหรือตุ่มนี้ก็กลายเป็นเรือ ซึ่งจะลอยไปไหนมาไหนได้ และยิ่งถ้าใช้น้ำไปมากจนน้ำงวดถึงใกล้ก้นถังหรือตุ่ม ก็จะเกิดปรากฏการณ์ตุ่มหรือถังพลิกคว่ำ จึงควรสำรองน้ำใส่ตุ่มไว้ที่สูง เช่น ชั้นสอง ยิ่งถ้าเป็นบริเวณพื้นปูนก็ยิ่งดีเพราะจะได้ดูแลได้สะดวกและง่ายขึ้น
-
ในกรณีที่มีปั๊มน้ำอยู่ชั้นล่างและใช้ดูดน้ำขึ้นชั้นบน เมื่อน้ำมาหรือก่อนน้ำมาก็ให้ตัดไฟตัดท่อ และ เอาปั๊มขึ้นที่สูง
-
ถ้ายังมีเวลาและพอหาช่างประปาได้ ก็ควรตัดต่อท่อประปาในบ้านเสียใหม่ ให้สามารถใช้น้ำตรงจากท่อประปานครหลวงได้ เราจะได้ใช้น้ำนี้ได้ในกรณีที่ตัดปั๊มทิ้งออกจากระบบท่อไปแล้ว แต่สิ่งนี้ต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า ไม่ควรรอจนน้ำมาแล้วจะไม่ทันกาล
-
ในช่วงน้ำท่วมนานแบบนี้ เรา ต้องใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด น้ำอาบถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้ ให้ใช้วิธีเช็ดตัวเอา นอกจากนี้ หากสถานการณ์เลวร้ายสุดๆ น้ำกินแทบจะไม่มีแล้ว เราก็ไม่ควรแปรงฟันโดยใช้ยาสีฟัน เพราะต้องเปลืองน้ำบ้วนปากหลายครั้ง แต่เพื่อรักษาคุณภาพฟันเราก็ควรใช้ไหมขัดฟันเพื่อขจัดเศษอาหารออกจากซอกฟัน และใช้แปรงสีฟันมาแปรงสดๆ โดยไม่ใช้ยาสีฟัน แบบนี้เราก็จะประหยัดน้ำไปได้ครั้งละหลายร้อยซีซี (แก้วหนึ่งประมาณ 200 ถึง 300 ซีซี) หรือหลายแก้ว ซึ่งเท่ากับการกินหนึ่งมื้อ
-
พูดถึงการใช้และกินน้ำรวมทั้งกินข้าวแล้ว ก็ต้องพูดถึง การถ่ายของเสีย ซึ่งในกรณีน้ำท่วมบ้านซึ่งจะท่วมบ่อเกรอะบ่อซึมด้วย เราควรชั่งใจว่าจะใช้กระดาษชำระหรือน้ำชำระดี (ล้างก้นแบบวิธีเดิมๆ ที่คนไทยใช้กัน) เพราะถ้าใช้กระดาษจะเกิดโอกาสท่อตันได้มาก เพราะท่อส้วมจะมีน้ำไปอยู่เต็ม แต่ถ้าใช้น้ำชำระก็จะเปลืองน้ำ ดังนั้น ต้องพิจารณาดูเอาเอง
-
ถ้าจะให้ดี ก็ควรใช้ส้วมเฉพาะกิจแบบถุงดำครอบส้วมกระดาษหรือเก้าอี้เจาะรู แบบที่สื่อต่างๆ ได้นำเสนอไปมากแล้ว แต่ควรโรยปูนขาว (ไม่ใช่ปูนซีเมนต์ขาวนะครับ และหาซื้อได้ตามร้านขายวัสดุก่อสร้างทั่วไป) เข้าไปสักครึ่งกำมือต่อการถ่ายหนึ่งครั้ง ซึ่งเมื่อพอเต็มแล้วก็มัดปากถุงให้แน่น และหาที่เก็บให้ไกลตัว (จะได้ไกลกลิ่น) อย่าทิ้งลงน้ำนะครับ เพราะนั่นจะเป็นการไปทำให้น้ำในบริเวณบ้านท่านเน่าและเหม็น ซึ่งก็ท่านนั่นแหละที่จะต้องดมอยู่เองทุกวันจนกว่าน้ำจะแห้ง ซึ่งเป็นเดือนนะครับ ขอเตือนอีกครั้ง
-
เตรียมเชือก (ใหญ่ขนาดนิ้วก้อย) ไว้สัก 2-3 ขดๆ ละ 10-20 เมตร เอาไว้ใช้สำหรับกิจกรรมต่างๆ ที่คาดไม่ถึง หรืออาจเอาไว้ใช้โยนมารับของเวลามีคนเอาของมาช่วย หรือเอาไว้ขึงตากผ้า หรือเอาไว้ผูกโยงกับเสาหรือรั้ว เอาไว้จับพยุงตัวเวลาเดินลุยน้ำ ฯลฯ
-
ในกรณีน้ำท่วมเป็นเมตร และเราจำเป็นต้องขึ้นไปอยู่บนชั้นสอง การรับของที่ส่งไปช่วยอาจไม่สะดวกทั้งสำหรับคนรับและคนให้ เพราะเอื้อมกันไม่ถึง จึง ควรหาตะขอหรือภาชนะบางชนิด เช่น ตะกร้อสอยมะม่วง (หาซื้อได้ตามร้านขายวัสดุก่อสร้างเช่นกัน) มาผูกปลายเชือกและหย่อนลงมารับของ
-
สำหรับคนที่ทำกำแพงกระสอบทรายกันน้ำเข้าบ้าน สิ่งที่หลายคนลืมดู คือ บริเวณสุดปลายซ้ายขวาของกำแพงกระสอบ จุดนี้จะเป็นจุดที่น้ำเข้าได้มาก วิธีการที่ดี ถ้าใช้พลาสติกหุ้มกำแพงอยู่ ก็ให้เหน็บปลายผ้าพลาสติกเข้าแนบกับกำแพงให้มากที่สุด (หมายเหตุ : ผ้าพลาสติกจึงต้องยาวกว่าช่องที่เรากั้น อย่างน้อยข้างละ 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร) แล้วใช้เศษผ้าอุดรูที่ยังอาจมีหลงเหลืออยู่ โดยอุดที่ด้านนอก อย่าอุดที่ด้านในเพราะถ้าอุดด้านนอก เวลาน้ำท่วมแรงดันน้ำจะยิ่งกดดันให้ผ้าไปอุดรูแน่นขึ้น แต่ถ้าอุดไว้ด้านในเวลาน้ำรั่วน้ำจะดันให้ผ้าหลุดได้ และในกรณีนี้น้ำก็จะรั่วเข้าบ้านได้มาก
-
ในกรณีมีกำแพงกระสอบทรายหรือกำแพงก่ออิฐกันน้ำเข้าบริเวณบ้าน ก็อย่าลืมว่าน้ำจะตีโอบหลังเข้าบ้านได้ โดยไหลย้อนเข้ามาตามท่อระบาย ซึ่งในเวลาปกติท่อนี้จะใช้ระบายน้ำออกจากบ้าน แต่ในช่วงน้ำท่วมน้ำจะไหลย้อนเข้ามา จึง ต้องอุดท่อนี้ โดยอาจใช้กระสอบทรายอัดและอุดที่บ่อพักสุดท้ายก่อนบรรจบกับท่อเทศบาลภายนอก โดยอาจต้องวางซ้อนๆ กันหลายๆ ถุง ขึ้นอยู่กับว่าน้ำข้างนอกท่วมสูงมากหรือน้อย
-
ตัดไฟทั้งบ้าน วิธีการทดสอบว่าเบรกเกอร์ (ตัวตัดไฟ) ตัวไหนใช้คุมบริเวณใดก็ทำได้ง่ายๆ โดยเอาโคมไฟหรือวิทยุตัวเล็กๆ ไปเสียบที่เต้าหรือปลั๊กไฟ แล้วสับเบรกเกอร์ขึ้นลงดูว่าไฟติดหรือวิทยุดังหรือไม่ หากไฟไม่ติดหรือวิทยุไม่ดัง ก็แสดงว่าไม่มีไฟเข้า ก็แสดงว่าเบรกเกอร์ตัวนั้นใช้ควบคุมบริเวณนั้น พอรู้อย่างนั้นแล้วก็ใส่หมายเลขเบรกเกอร์หรือทำเครื่องหมายไว้บนตัวที่มีความเสี่ยงสูงสุด ซึ่งก็คือส่วนที่ต่ำที่สุด เช่น ห้องครัว ห้องแม่บ้าน ฯลฯ เพื่อจะได้ตัดไฟได้ทันเวลาและไม่ตระหนกตกใจจนเกินเหตุ
-
เรื่องสุดท้ายที่อยากแนะนำ คือ จดเบอร์โทรศัพท์ที่จำเป็นไว้ในที่ที่จะหาดูได้ง่ายๆ เบอร์ที่จำเป็นก็คือเบอร์ของเขตหรืออำเภอของเรา เบอร์หน่วยกู้ภัยในบริเวณ ฯลฯ
สิบหกข้อที่เขียนมานี้คิดว่าใช้ประโยชน์ได้จริงสำหรับชาวบ้านธรรมดา ส่วนถ้าสู้แล้วสู้ไม่ได้ก็อย่าเสียสติ ให้คิดเสียว่าไม่ใช่เราคนเดียวที่มีปัญหานี้ ยังมีอีกเยอะแยะที่มีปัญหาเหมือนเรา ดูทีวีฟังเพลงสนุกๆ ตลกๆ กันบ้าง อย่าไปดูข่าวน้ำท่วมมาก (ซึ่งตรงกับความจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง)
ที่มา http://www.bangkokbiznews.com
|