Home » บทความทั่วไป ความรู้น้ำท่วม » ซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม ด้วยงบ 5,000บาท ทำอะไรได้บ้าง?

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
ซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม ด้วยงบ 5,000บาท ทำอะไรได้บ้าง?

คืนชีพให้บ้าน 5,000 บาท เอาอยู่!

ไทยรัฐออนไลน์ วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2554

          หลังจากสถานการณ์อุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่สุดๆในรอบ 50 ปีทำให้บ้านเรือนเสียหายเป็นจำนวนมากซึ่งรัฐบาลมีนโยบายเยียวยาขั้นต้นให้ครอบครัวละ 5,000บาท ถึงเวลาที่ต้องลงแรงเทกแอ็กชั่น กันซะหน่อย เรามาลองดูว่างบจำนวนนี้จะสามารถคืนชีพให้กับบ้านสุดรักได้อย่างไร

         ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้างแต่ก็ไม่เสียหายที่จะเก็บไว้เป็นความรู้...ทั้งนี้ทางไทยรัฐออนไลน์ขอเสนอทางเลือกในการจัดสรรเงิน 5,000บาทในมือคุณให้อยู่ในงบประมาณที่รัฐจัดหาให้อย่างพิถีพิถันเพื่อให้คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ที่เสียไป 
 
 

ภารกิจทดสอบ 5,000 บาท ทำอะไรได้บ้าง?

Pic_221623

เคยได้อ่าน ได้ฟังมานักต่อนักแต่หลายคนบ่นอุบว่า ไม่ได้มาจากประสบการณ์คนน้ำท่วมจริงๆ ไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสได้ร่วมกับเจ้าของโปรดักชั่นเฮ้าท์ สุดเจ๋ง!!! นายอำนาจ เรืองธุระกิจ หรือที่ใครๆ เรียกกันว่าพี่หมอ ประธานกรรมการ บริษัท ออลสเต็ป ฟอร์เวอร์ด จำกัดผู้ประสบภัยในบางพลัด ซอยจรัญฯ 69 ใกล้กับบ้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งน้ำท่วมสูงเกือบแตะ 2 เมตร!! 


ข้าวของในบ้านวินาศสันตะโร มาถ่ายทอดประสบการณ์ที่รับประกันว่ามือใหม่หัดซ่อมที่ยังงงงวย ทั้งเรื่องการบริหารค่าใช้จ่าย โดยคิดธีมบังคับตัวเองเอาไว้ว่าเป็น "ภารกิจ" ที่จะใช้จ่ายวงเงิน 5,000 บาท ตามรัฐบาลกำหนดชดเชยด้วยภาษาง่ายๆ และนำไปใช้ได้จริงๆ...

 

Mission Impossible ภาค 1 ปฐมบทซ่อมบ้าน

ภารกิจแรก เจ้าของบริษัทออลสเต็ปฟอร์เวอร์ด เริ่มเล่าขั้นตอนในการกู้บ้านว่า เร่ิมต้นจากเตรียมซื้อ จัดหาอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ พร้อมกับแจกแจงเป็นข้อๆ ให้กับแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ฟัง

1.เตรียม (ซื้อหรือใช้อุปกรณ์เท่าที่มี) อุปกรณ์ทำความสะอาด : ไม้กวาดทางมะพร้าว มีด้าม-ไม่มีด้าม, แปรงลวดด้ามยาว-ด้านสั้น-แบบมือขยำ, กระป๋อง, กะละมัง, แปรงพลาสติกด้ามสั้น ด้ามยาว, กระบอกฉีด Foggy สำหรับใส่น้ำยาทำความสะอาดฉีดพ่น ผ้าสะอาดไว้เช็ดถู พลั่ว, ปุ้งกี๋ และถุงดำ ขนาดใหญ่ 36 x 45 นิ้ว ของเยอะจัดไป 10-15 แพ็กเลย

2.น้ำยาทำความสะอาด แฟ้บ, วิกซอล, มิสเตอร์คลีน หรือ ยี่ห้อชื่อโฆษกเลือกตามใจชอบ

3. น้ำยาฆ่าเชื้อและลดกลิ่น ตามหลักการ มีหลายระบบให้เลือก ได้แก่ ใช้คลอรีนผสมน้ำสัดส่วน 1 cc. น้ำ 1,000 ซีซี หรือ แบบเม็ดซื้อตามร้านขายยา น่าจะมีใช้ไฮเตอร์ เพื่อฉีด พ่นฆ่าเชื้อรา ที่ตกค้างได้มากมายในพื้นที่ชื้น และพ่นฆ่าเชื้อบนเฟอร์นิเจอร์ไม้ไม่จริงต่างๆ ที่เปียกน้ำ

“สำหรับผมเลือกใช้แนวทางปลอดภัยต่อธรรมชาติ คือ ใช้น้ำส้มสายชู 100% ซื้อเป็นแกลลอน แกลลอนย่อมๆ ราคาประมาณ 40 บาท 5-6 แกลลอน ยี่ห้อที่ซื้อทำจากสับปะรด แวะซื้อที่ตลาดราชวัตร จริงๆ มีอีกแนวนึงคือ ใช้ผงฟู (Baking Soda) ผสมน้ำ ก็ใช้ฆ่าเชื้อและลดกลิ่นได้”

4. อุปกรณ์สำหรับคนทำความสะอาด อันได้แก่ รองเท้าบู๊ต, หน้ากากครอบจมูก-แบบกันไข้หวัดก็ได้, ถุงมือ และ แว่นกระจกครอบตา-แบบทำงานช็อป) บางรายการซื้อสำรองไว้หลายๆ อัน หรือเป็นกล่องไปเลย เพื่อที่จะใช้แบบเลอะก็ทิ้ง เปลี่ยนอันใหม่ เช่น หน้ากากครอบจมูก และถุงมือทั้งแบบหนา ใช้งานหนัก และแบบบาง ใช้งานเบาๆ ซึ่งจะสวมใส่ง่ายกว่า จัดให้ครบแบบ จะได้เลือกใช้ตามความเหมาะสมในการใช้งาน

 

5. อุปกรณ์พิเศษเพิ่มเติม จะช่วยได้มาก หากท่านต้องเป็นแจ๋ว ทำความสะอาดกันเอง ได้แก่ เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงเกือบ 3,000-9,900 บาท เลือกซื้อตามฐานะ (เขาบอกว่าเขายืมมาเพื่อนบ้านมา ภายหลังจึงซื้อมาอันละเกือบ 3,000 บาท) ไม้รีดน้ำ (ใบยาง) ด้ามยาวๆ ใช้ได้ดีมากสำหรับพื้นกระเบื้อง ลงแฟ้บ ฉีดน้ำ รีดน้ำได้แห้งเร็วดี กระบอกฉีดอัดลม (สำหรับใส่ปุ๋ยต้นไม้) ขนาด 3 ลิตร เราจะเตรียมไว้สำหรับใช้ฉีดน้ำส้มสายชู หรือ คลอรีน หรือ ไฮเตอร์ เพื่อพ่นฆ่าเชื้อ กำจัดกลิ่น น่าจะช่วยได้พอสมควรครับ

“ปั๊มไดโว่เล็ก หรือ ปั๊มจุ่มแบบใช้กับอ่างเลี้ยงปลา (จะดูดน้ำได้ตื้นมากเกือบถึงพื้น) ใช้ในพื้นที่น้ำขัง หรือขังระหว่างฉีดน้ำล้างได้ดีทีเดียว ผมเลือกซื้อปั๊มขนาด 1 นิ้ว ยี่ห้อ mitsu ราคา 1,500 บาทจากร้านตรงข้ามตลาด อตก.สายไฟปลั๊กพ่วง เส้นยาวๆ สำหรับต่อไฟจากชั้นบน ให้ต่อกันได้ ท่อนละ 10-20 เมตร รวมแล้วได้สัก 50 เมตรจะดีเลย คือ เตรียมไว้สำหรับใช้กับปั๊มฉีดน้ำแรงดันสูง 1 เส้น /สำหรับปั๊มจุ่มดูดน้ำออก 1 เส้น และอาจจะพัดลมก็ยังพอจัดมาได้ จะได้เย็นใจขึ้น (เราจะยังไม่ใช้ ไม่พยายามใช้ไฟฟ้าจากชั้น 1 ซึ่งเพิ่งผ่านการจมน้ำมา เปียกชื้น อันตราย จึงเลือกที่จะใช้ต่อจากชั้นบนลงมาปลอดภัยกว่า)”

Mission Impossible ภาค 2 กู้คืนสภาพบ้าน

พอเตรียมอุปกรณ์ทั้งซื้อ หรือนำของที่มีอยู่มาใช้แล้ว มาถึงขั้นตอนการกู้สภาพบ้าน เขาบอกว่า ต้องมีอุปกรณ์ช่างพื้นฐาน เช่น ไขควงปากแฉก สว่าน หรืออะไรที่มี ติดไปเผื่อเหลือ เผื่อขาดด้วย

“อันดับแรกที่ต้องคำนึงก็คือควรเข้าไปสำรวจบ้านก่อนครับ อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม อาจได้แก่ ฉมวก, มีดอีโต้, เชนไดร้ท์, ไขควงปากแบนอันใหญ่แบบแข็ง 2-3 อัน ค้อนอันใหญ่ปานกลาง, โซแน็กซ์สำหรับฉีดไล่ความชื้น ลดความฝืดในลูกบิดประตูและอุปกรณ์โลหะอื่นๆ และถ้ามีสายยู สำหรับล็อกประตูใหม่ๆ เหลืออยู่ จัดมาพร้อมกุญแจ 1 ตัว สำรองไว้ เผื่อกรณีขากลับ จะปิดประตูไม้ แล้วปิดไม่ได้ ก็อาจจำเป็นต้องตอกยึดสายยู ล็อกครอบไปเสียเลย ที่สำคัญอย่าลืมมาสก์กันจมูก แว่นกระจกครอบตา รองเท้าบู๊ต และถุงมือ ประจำตัวเสมอ”

สำหรับอุปกรณ์ในการเดินสำรวจรอบบ้านนั้นก็ไม่ควรมองข้ามสิ่งที่ต้องเตรียมก็คือ ควรมีชุดรองเท้าบู๊ต ถุงมือหนา พร้อมด้วยอาวุธประจำกาย อาจเป็นฉมวกด้ามยาวๆ เพื่อป้องกัน งู ตะขาบ และสัตว์ประหลาดแขกไม่ได้รับเชิญ หรือ อีโต้ เผื่อต้องใช้กำจัดแขกแปลกปลอมทุกพิกัดรอบๆ บริเวณบ้าน (หากแขกไม่ได้รับเชิญตัวใหญ่มาก แนะนำโทร. 191 ดีกว่า)

“ทำการตรวจสภาพบ้านโดยรวม รวมถึงระบบไฟฟ้า ระบบประปา ปั๊มน้ำ แอร์ เพื่อประเมินด้วยสายตาก่อนว่า ส่วนใดน่าจะใช้ได้ ส่วนใดน่าจะใช้ไม่ได้ รวมถึงสภาพผนังปูน ประตู หน้าต่าง มุ้งลวด หลังน้ำท่วมขังมานาน ว่ามีจุดชำรุด ร้าว ส่วนใดผิดสังเกตบ้าง เพราะน้ำท่วมนานอาจมีปัญหาถึงโครงสร้างของบ้านได้เลยทีเดียว ที่สำคัญ ต้องตรวจดูว่ามีช่องอะไร? รูอะไร? เกิดขึ้น เปิดขึ้นที่ประตู มุ้งลวด กระจก เพิ่มเติมกว่าก่อนน้ำท่วมบ้างหรือไม่? เพราะนั่นอาจเป็นช่องทางให้ตัวร้ายอะไรๆ มุดเข้าไปในบ้านเราได้หรือไม่? ทั้งงู ทั้งตะขาบ พร้อมกับ ตรวจดูสภาพข้าวของ เพื่อประมาณเสียหายที่ต้องทิ้ง เดาปริมาณขยะไว้ล่วงหน้า ระหว่างนี้ ถ้าพื้นที่ได้มีกลิ่นน้ำเน่ามาก ก็อาจใช้น้ำส้มสายชู ราด หรือฉีดพ่น ช่วยฆ่าเชื้อและกำจัดกลิ่นได้เลย พื้นที่ตรงไหน? เกรงว่าจะมีสัตว์ร้าย ตะขาบอยู่ ก็อาจใช้เชนไดร้ท์ฉีด ไล่ดูก็อาจจะช่วย หรือ ในวันที่สำรวจนี้ อาจฉีดเชนไดร้ท์ทิ้งไว้ตอนก่อนกลับออกมาก็จะเหมาะยิ่ง”

  

 

หลังจากนั้นก็ถึงเวลาเปิดประตูบ้านเพื่อสำรวจภายใน เขาบอกว่า โดยปกติประตูไม้ที่จมน้ำมานาน อาจบวม ขยาย แน่นเต็มวงกบ หรือบิดเบี้ยว จำเป็นต้องใช้ไขควงปากแบนงัด ด้านบน ด้านล่าง ด้านข้าง จนเปิดประตูได้ หากประตูบ้านมีหลายประตูให้ทดลองเปิดดู แล้วเลือกประตูที่จะเปิดได้ง่ายที่สุด ถ้าเป็นบานกระจกอะลูมิเนียมก็ต้องทดลองกันดู อาจง่ายกว่า ด้วยการฉีดโซแน็กซ์ช่วย

“เมื่อเปิดประตูได้ จึงเริ่มสำรวจในบ้าน แต่อย่าลืม ต้องไปพร้อมอาวุธสำคัญ ใส่บู๊ตและถุงมือให้ทะมัดทะแมงนะครับ เคาะ ตี ไปเรื่อยๆ ทุกพื้นที่ จนถี่ถ้วนพอประมาณ หากเจอตัวประหลาดก็จัดการให้เรียบร้อย อย่าให้ขาด งานนี้ต้องเลือกข้าง หลังจากนั้น จึงตรวจสอบระบบไฟฟ้าคร่าวๆ ว่า ระบบไฟฟ้าชั้น 2 ที่เคยใช้ได้ แล้วเราปิดคัตเอาต์ใหญ่ไว้ก่อนน้ำท่วมนั้น ถ้าเปิดคัตเอาต์แล้วยังใช้ได้ดีไหม…? (ยืนในที่แห้งเสมอ และมีคนช่วยยืนดูห่างๆ อยู่เสมอเพื่อความปลอดภัย ถ้าเกิดไฟฟ้าดูดแนะนำวิธีช่วยด้วยการใช้เท้าบรรจงถีบดีที่สุด ห้ามเอามือไปดึง หรือจับ) ปั๊มน้ำที่ไม่ได้ถอดหนีน้ำ อาจเสียหาย หรืออาจไม่เสียเลยก็เป็นได้ ให้ตรวจสอบ บ้านผมโชคดีมากๆ ปั๊มน้ำที่ล้มตกไปที่พื้น เมื่อยกกลับขึ้นมา ทดลองเปิดคัตเอาต์ Main ก็ใช้งานได้ทันที อาจเพราะท่อที่ใช้ไม่ใช่ท่อแอสล่อน แต่เป็นท่อแบบกึ่งอ่อนกึ่งแข็ง จึงยืดหยุ่นได้ดี ไม่แตกเมื่อล้ม ช่วยได้เยอะเลยครับ เพราะเมื่อทดลองสับคัตเอาต์ชั้น 2 ไฟฟ้าใช้ได้ น้ำและปั๊มน้ำเปิดได้ โชคดี ประหยัดเวลาไปได้เยอะ”

ที่สำคัญมากๆ วันที่เข้าบ้านครั้งแรกๆ ที่บ้านยังชื้น มีเชื้อราขึ้นอยู่นี้ อย่าได้เปิดแอร์เป็นอันขาด เพราะระบบแอร์ของเราจะเป็นที่อยู่ของเชื้อราในบัดเดี๋ยวนั้น

“หลังการสำรวจบ้านในวันแรกแล้วเสร็จ ก่อนจะออกจากบ้าน ควรฉีดเชนไดร้ท์ให้ทั่วทุกห้องทุกพื้นที่ เพื่อกำจัดตะขาบ หรือแมลง ให้หมดสิ้นไปก่อน ณ ระฆังยกแรก จัดไปอย่าให้เสีย การปิดประตูไม้ ก่อนกลับออกมาจากบ้านน้ำท่วม บางครั้งอาจเป็นเรื่องยากเย็น เหงื่อแตกกันได้ง่ายๆ เลยทีเดียว เพราะประตูจะบวมขยายจากการแช่น้ำมานานๆ อาจแก้ไขได้โดยใช้ไขควงแบนเสียบข้างในวงกบประตูในช่วงที่ประตูบานออก แล้วค่อยๆ ดันประตูปิดเสียบข้างไขควง แล้วใช้ค้อนตีตอกประตู พร้อมกับงัดไขควงช่วงง้าง จนเข้าหรืออาจลองปิดประตูแบบเหวี่ยง คือ เปิดประตูออกแล้วปิดปึ้ง! อย่างแรง เพื่อให้ประตูเบียดวงกบเข้าไปเอง แล้วค่อยตอกค้อนให้ประตูปิดเข้าไปให้ได้”

เขาแนะนำว่า ในกรณีที่ปิดไม่ได้จริงๆ สิ้นหนทาง อย่าตกใจ! หยิบสายยูพร้อมกุญแจล็อกอันใหม่ และไขควง ที่เตรียมมาด้วย ติดตั้งซ้อนเข้าไปเลย

Mission Impossible ภาค 3 วันปฏิบัติการกู้บ้าน

และแล้ววันที่รอคอย วันปฏิบัติการกู้บ้านก็มาถึง คุณหมอเล่าให้ฟังว่า ปกติน่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 3-7 วัน อาจต้องมีลูกมือช่วยยก บรรจุขยะ ขัดล้างทำความสะอาดจนแล้วเสร็จ จัดวางแผนกันให้พอเหมาะครับ ลูกมือรับจ้างช่วงนี้ระดับค่าแรงน่าจะประมาณ 400-500 บาท/คน/วัน แผนปฏิบัติการอาจเริ่มต้นด้วย

สำรวจข้างนอกบ้าน และข้างในบ้านใหม่อีกรอบ ตรวจดูว่าสภาพบ้านยังเหมือนปกติ ณ วันล่าสุดที่มาสำรวจหรือไม่? มีรูอะไร แปลกปลอม น่าสงสัย เพิ่มเติม ให้ตัวแปลกปลอมเข้าไปในบ้านได้หรือไม่ สภาพผนังซีเมนต์ไม่มีรอยร้าว หรือชำรุดหนักให้ผิดสังเกต มีสัตว์ร้ายจัดการให้เรียบร้อย

“เคลียร์พื้นที่ภายนอกบ้านบางส่วนให้โล่งก่อน อย่างน้อยเพื่อให้มีพื้นที่ว่างเพียงพอที่จะวางถุงขยะ มีที่วางเสบียงอาหารและน้ำของทีมงาน และนั่งพักได้ ส่วนน้ำเน่าขังอาจเริ่มจากฉีดน้ำแรงดันสูงไล่คร่าวๆ ล้างด้วยแฟ้บ แล้วฉีดน้ำไล่ให้น้ำเน่าหมดไปก่อน อาจยังไม่ต้องฉีดน้ำล้างพื้นและผนังแบบล้างละเอียด เพราะยังจะมีขยะ มีน้ำเน่าจากภายใน ออกมาระหว่างจัดการบ้านอีกเยอะ”

    

 

ทั้งนี้ เมื่อเสร็จแล้ว จึงเข้าเคลียร์พื้นที่ภายในบ้าน ปกติอาจต้องเริ่มต้นด้วย การเก็บขยะ และข้าวของเสียหาย บรรจุถุงดำ ทยอยเก็บออกมาให้หมด ข้าวของวัสดุผ้าทิ้งได้ ตัดใจได้ ทิ้งเถอะครับ ถ้าจะเก็บไว้ ต้องรวมไว้รอต้มสถานเดียว เลือกเอาเลยจ้า ส่วนข้าวของวัสดุพลาสติก หรือโลหะ ให้ใช้ mode เลือก “ทิ้ง” หรือ “ไม่ทิ้ง” แล้วจัดแยก ออกมากองนอกบ้านตามกลุ่มที่จัดไว้ให้เหมาะ เวลาขนย้ายขยะไปทิ้งจะได้ไม่สับสนเก็บเสร็จ จึงล้าง แล้วฉีดน้ำไล่น้ำเน่าเสีย ขัดล้าง ให้สะอาดเท่าที่ต้องการ

สำหรับ เฟอร์นิเจอร์ ไม้ไม่จริงทั้งหลาย ส่วนใหญ่จะเสียหายทั้งหมด งานนี้ต่อไปเราคงต้องคิดหนักในการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ ผ้าหรือตุ๊กตาที่เปียกน้ำควรทิ้ง อย่าเสียดาย หากส่วนใดเสียดายจริงๆ ต้องนำมาต้มน้ำเดือดให้สะอาดจริงๆ เพื่อป้องกันเชื้อโรค เชื้อราตกค้าง ส่วนเฟอร์นิเจอร์ใดที่คิดจะบูรณะใช้งานต่อ ก็ควรฉีดคลอรีน หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทิ้งไว้ให้สบายใจอีกขั้นพื้นกระเบื้องล้างขัด ทำความสะอาด แล้วใช้ไม้รีดน้ำจะช่วยได้เยอะ เพราะรีดน้ำได้เร็ว แห้งเร็ว

“เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง สามารถปรับหัวฉีด และกะปริมาณความแรงได้ สามารถใช้ทำความสะอาดได้ทุกพื้นผิว พื้นซีเมนต์สะอาดได้เลย ต้องต้องค่อยๆ ทำใจเย็นๆ อาจใช้พร้อมติดตั้งไดโว่ตั้งไว้อีกด้าน เพื่อดูดน้ำออกไปจากพื้นที่น้ำขังนั้นๆ ระวังปลั๊กจ่ายไฟที่ต่อมา ต้องติดเทปให้อยู่สูงเสมอนะครับ อย่าประมาทเด็ดขาด ไฮเตอร์ กัดคราบราได้ บางคนใช้ผงฟู เบคกิ้งโซดา ก็จะดี เพราะค่อนข้างไม่มีผลข้างเคียง สะอาดปลอดภัยกว่าไฮเตอร์ หรือคลอรีน เลือกเอาครับ เลือกได้เลย”

      

 

Mission Impossible ภาค 3 .1 การเลือกข้าวของทิ้ง

เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ เจ้าของโปรดักชั่นเฮ้าท์ บอกว่า ตนมีของสะสมเป็นตุ๊กตาเป็นร้อยๆ ตัวเปียกน้ำ หนังสือเปียกน้ำทิ้งหมด แต่สมุดแสตมป์ และสมุดสะสมซองวันแรกจำหน่ายที่เก็บตั้งแต่สมัยเด็กที่เปียก ตัดสินใจไม่ทิ้ง ค่อยๆ แช่น้ำผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วล้างด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด แล้วจึงค่อยๆ บรรจง นำมาวางบนแผ่นพลาสติก หรือผ้าเช็ดตัว ผึ่งไว้ 1 คืน ให้แห้งสนิท แล้วค่อยบรรจุในหนังสือหนักๆ ทับไว้ให้แบน แล้วจึงรอซื้อสมุดเล่มใหม่มาจัดเก็บ ซึ่งโชคดีที่ได้คืนสภาพมาเยอะ

“ปกติการทำความสะอาดบ้าน กวาด ถู เช็ด ๆๆ จะกินเวลาหลายวัน ก่อนกลับออกมาในแต่ละวัน จึงควรฉีดพ่นด้วยน้ำส้มสายชูผสมน้ำ หรือคลอรีน (หรือ เดทตอลตามสะดวก) ในพื้นที่ที่มีกลิ่น หรือสกปรก หรือจะราดเพียวๆ ในบางพื้นที่ก็ได้ แล้วแต่สะดวก แล้วฉีดเชนไดร้ท์ทิ้งไว้ด้วย เมื่อวันรุ่งขึ้นเรากลับเข้ามาใหม่ กลิ่นและสภาพบ้านก็จะดีขึ้น ๆ น้ำส้มสายชู เวิร์กทีเดียวครับ ผมราดวันละ 1 แกลลอนเล็ก ในทุกที่ที่มีกลิ่นน้ำเน่า ตรงตู้บิลท์ที่เปียกน้ำ ฯลฯ ใช้ดี ซื่อสัตย์กว่านักการเมือง”

หลังจากทำความสะอาดบ้านเสร็จระดับหนึ่ง จึงนัดช่างไฟฟ้าให้เข้ามาช่วยตรวจสอบทั้งระบบ ควรเปลี่ยนระบบไฟส่วนที่โดนน้ำท่วมถึงทั้งหมด เดินสายไฟใหม่ไปเลยครับ เพราะสายไฟชื้นแน่ๆ ติดตั้งปลั๊กใหม่ให้สูงขึ้นกว่าเดิมเสียเลย) เราคือ อนาคตของชาติ ความปลอดภัยในชีวิตของเราสำคัญยิ่ง แล้วก็นัดช่างแอร์ ลองเป่ายิ้งฉุบดู เอาช่างไหนก่อนดี

Mission Impossible ภาค 4 มิติ ประมวลผล ตกหรือผ่าน!!

สุดท้าย ผู้ประสบภัยย่านบางพลัด ซึ่งใกล้กับบ้านอดีตนายกฯ ผู้นี้ บอกด้วยว่าสิ่งที่ต้องคำนึงก็คือการเฝ้าระวังดูโครงสร้างความเสียหายของบ้านที่ไม่สามารถตรวจพบทันที อีกทั้งการทาสีใหม่แนะนำว่า รอให้บ้านแห้ง 1-3 เดือนให้หลังก่อน เพราะตัวบ้านจะเข้าหน้าหนาว สภาพทุกพื้นผิวและผนังจะแห้งขึ้น จึงค่อยประเมินสภาพพื้นผิวซีเมนต์ สี ทั้งหมดของบ้านอีกครั้ง แล้วซ่อมแซม ทาสี เพิ่มเฟอร์นิเจอร์เท่าที่จำเป็น

“มันเป็นการบังคับตัวเองให้ใช้เงินตามที่รัฐบาลให้มา 5,000 บาท ซึ่งที่กล่าวมาข้างต้นน่าจะหมดงบที่กำหนดพอดิบพอดี แต่นี่ยังไม่รวมค่าแรงรายวันที่จ้างคนมาช่วย 5 คน 2 วันละ 500 บาทเพราะไม่สามารถทำได้คนเดียว”

ดังนั้นสรุปแบบทดสอบนี้ 5,000 บาท พอเฉพาะค่าซื้อของกระจุกกระจิกซ่อมบ้าน แต่ถ้ารวมค่าแรงงาน ค่าเฟอร์นิเจอร์ ค่าสูญเสียโอกาส 5,000 บาท ไม่มีทางเพียงพอ.