Home » บทความทั่วไป ความรู้น้ำท่วม » การจัดการบ้านหลังน้ำท่วม : การตรวจสอบและเยียวยา

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
การจัดการบ้านหลังน้ำท่วม : การตรวจสอบและเยียวยา

Pic_223228

 

สิ่งที่ควรทำในวันแรก ๆ หลังเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว คือการตรวจสอบพื้นที่บ้านว่ามีความปลอดภัยก่อนเข้าบูรณะและอยู่อาศัยหรือไม่ โดยมีขั้นตอนการตรวจสอบดังนี้


• เข้าไปในบ้านอย่างระมัดระวัง และอย่าใช้วัสดุที่ทำให้เกิดประกายไฟในขณะสำรวจพื้นที่

• ถ่ายรูปความเสียหายเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากประกัน (ถ้ามี) ติดต่อบริษัทประกันภัยเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบความเสียหาย และซ่อมแซมทรัพย์สินต่าง ๆ

• เดินตรวจตรารอบ ๆ บ้าน เช็กสายไฟฟ้าและสายถังแก๊ส ถ้าเกิดปัญหาแก๊สรั่วเราสามารถรับรู้ได้จากกลิ่นแก๊ส ถ้าแก๊สรั่วจริงแนะนำให้ระวังและรีบโทรแจ้งร้านที่เป็นตัวแทนจำหน่าย

• เก็บกวาดทำความสะอาดบ้าน เปิดหน้าต่างและประตูเพื่อระบายอากาศ ระหว่างเก็บกู้ของมีค่าต่าง ๆ ไม่ควรห่อหุ้มของเหล่านั้นทันทีควรปล่อยผึ่งลมให้แห้งก่อน

• ตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้าง ตัวบ้าน ระเบียง และหลังคา ให้แน่ใจว่าโครงสร้างทุกอย่างยัง
ปลอดภัย

• ตรวจหารอยแตกหรือรอยรั่วของท่อน้ำ เมื่อเจอแล้วให้ปิดวาล์วน้ำเพื่อซ่อมบำรุงทันที และไม่ควรดื่มหรือประกอบอาหารด้วยน้ำจากก๊อกจนกว่าจะแน่ใจว่าน้ำสะอาดปลอดภัย ปราศจากตะกอนซึ่งเป็นแหล่งเชื้อโรค

• ถ้ามีห้องใต้ดินควรระบายน้ำออกจากห้องใต้ดินอย่างช้า ๆ เนื่องจากแรงดันน้ำอาจส่งผลให้เกิดรอยแตกที่ผนังและพื้นห้องได้

1. สำรวจโครงสร้างบ้าน


เราอาจตรวจสอบด้วยสายตาง่าย ๆ ว่ามีส่วนไหนที่มีการทรุดตัวหรือมีรอยแตกร้าวบ้าง โดยเฉพาะบริเวณชานบ้านและที่จอดรถ โดยในบ้านสมัยใหม่มักพบปัญหาการทรุดตัวค่อนข้างมาก เพราะส่วนมากมักไม่ตอกเสาเข็มในบริเวณนี้ แต่ใช้วิธีทำคานคอดินวางบนดินโดยตรงเพื่อกระจายน้ำหนักแทน

 

 

ถ้าพบว่ามีการทรุดตัวหรือแตกร้าวเพียงเล็กน้อยก็ควรหาไม้มาค้ำยันและเรียกช่างมาซ่อมทันที อีกอย่างที่ต้องสังเกต คือ อาจเกิดโพรงใต้พื้นหรือแนวตัวบ้านได้ เพราะบ้านสมัยใหม่มักปลูกสร้างลงบนที่ดินที่มีการถมดินไม่แน่นพอ วิธีแก้ปัญหาคือควรเร่งทำแนวอิฐบล็อกกั้นไว้แล้วอัดดินเสริมเข้าไปให้แน่น เพื่อป้องกันดินไหลซึ่งจะมีผลต่อรากฐานของบ้าน

 


สำหรับในเขตที่น้ำท่วมสูงรั้วบ้านถูกใช้เป็นแนวป้องกันน้ำอาจเกิดรอยร้าวขึ้นได้ กรณีน้ำท่วมสูงเป็นเวลานานๆ ควรเรียกวิศวกรมาตรวจสอบเพราะอยู่ดี ๆ กำแพงหรือรั้วบ้านอาจทรุดตัวและล้มลงมาได้ ซึ่งวิธีซ่อมแซมนั้นก็มีหลายวิธีให้เลือก ถ้าเสาและคานปูนยังอยู่ในสภาพดีอาจแก้ไขโดยการทุบอิฐบล็อกและก่อใหม่เป็นจุด ๆ แต่ถ้าเสียหายหลายจุดอาจต้องก่อใหม่ด้วยวัสดุที่มีน้ำหนักเบา เช่น อิฐมวลเบา หรือทำระแนงรั้วไม้ แต่ในกรณีที่ทรุดหรือเอียงลงมามาก ๆ ก็จำเป็นต้องรื้อทำใหม่เท่านั้นครับ

2. ซ่อมแซมพื้นไม้

พื้นไม้จริงอย่างไม้ปาร์เกต์หรือไม้กระดานสามารถรื้อออกไปตากลมให้แห้งได้ แต่อย่าตากแดดแรง ๆ เพราะจะทำให้ไม้หดตัวเร็วและปริแตกได้ จากนั้นก็นำไปซ่อมผิวแต่งสีใหม่ก่อนจะติดตั้ง กรณีไม้ปาร์เกต์ที่ต้องใช้วิธีติดกาวลงบนพื้นคอนกรีต เราต้องทำให้พื้นแห้งเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยลงน้ำยากันความชื้นก่อนติดแผ่นปาร์เกต์ลงไป


ส่วนพื้นไม้เทียมอย่างไม้ลามิเนต ไม้เอ็นจิเนียร์ ต้องเปลี่ยนใหม่หมด เพราะไม้อาจเสียรูปบิดโก่งและบวมจนไม่สามารถนำมาใช่ใหม่ได้แม้จะผึ่งให้แห้งแล้วก็ตาม


สำหรับบ้านใครที่ใช้พื้นกระเบื้องไวนิลหรือกระเบื้องลายไม้นั้นก็สบายใจได้ เพราะสามารถซ่อมแซมได้ง่ายกว่า ถ้าไม่หลุดล่อนก็ยังสามารถใช้งานได้ แต่ถ้าหลุดออกมาแล้วก็เพียงแต่นำไปติดใหม่ ไม่ต้องขัดแต่งใด ๆ เพิ่ม เท่านี้พื้นบ้านก็จะกลับมาสวยเหมือนเดิม

 

 

3. การซ่อมแซมผนังบ้าน

 


เราสามารถเช็ดทำความสะอาดผนังไม้และปล่อยให้ความชื้นระเหยออกมาได้ง่าย เมื่อแห้งดีแล้วก็ใช้น้ำยารักษาเนื้อไม้ทาที่ผิวหรือทาสีทับ วิธีที่ดีควรทาสีในบ้านก่อน ทิ้งไว้ 5-6 เดือน จึงค่อยมาทาสีด้านนอก

ส่วนผนังก่ออิฐฉาบปูนก็ใช้วิธีเช่นเดียวกับผนังไม้ แต่เนื่องจากมีความหนามากกว่าจึงต้องใช้เวลาให้ความชื้นระเหยออกมานานกว่าผนังไม้


สำหรับผนังยิปซั่มบอร์ด คุณควรเลาะเอาแผ่นที่เสียหายออกก่อน ถ้าโครงเคร่าเป็นโลหะก็สามารถติดแผ่นใหม่ได้เลย แต่ถ้าโครงเคร่าเป็นไม้ ต้องทิ้งให้ความชื้นในเนื้อไม้ระเหยออกมาจนหมดเสียก่อนจึงค่อยติดแผ่นยิปซั่มบอร์ดแผ่นใหม่ลงไป


4. การซ่อมแซมฝ้าเพดานบ้าน


การซ่อมแซมฝ้าเพดานจะมีลักษณะคล้าย ๆ การซ่อมผนังและพื้น ถ้าเป็นฝ้าเพดานยิปซั่มบอร์ดหรือกระดาษอัดที่ีเปื่อยยุ่ยเพราะอมน้ำ คุณควรเลาะออกให้หมดแล้วจึงเปลี่ยนแผ่นใหม่ ทิ้งไว้ให้ทั้งหมดแห้งสนิทจริง ๆ แล้วจึงทาสีทับ

- ถ้าเป็นฝ้าโลหะให้เช็ดทำความสะอาดให้แห้ง ถ้าเป็นสนิมก็ใช้กระดาษทรายขัดออกให้เรียบร้อยแล้วจึงทาสีทับ


- ส่วนใหญ่เราจะเดินระบบสายไฟบนฝ้าเพดาน เมื่อเปิดฝ้าออกควรตรวจดูว่าระบบไฟยังเรียบร้อยดีอยู่ไม่ ถ้าชำรุดควรรีบซ่อมทันที

- ถ้าโครงฝ้าเพดานที่เป็นไม้เกิดการแอ่นหรือทรุดตัวต้องแก้ไขให้ได้ระดับก่อนการติดตั้งแผ่นฝ้าใหม่


5. ดูแลเฟอร์นิเจอร์หลังน้ำท่วม


ควรนำเฟอร์นิเจอร์ไม้จริงไปผึ่งในที่ร่มเพื่อไล่ความชื้น ไม่ควรนำไปตากแดดจัดเพราะจะทำให้ไม้แยกแตก เมื่อเฟอร์นิเจอร์ไม้แห้งสนิทแล้วจึงค่อยทาสีเคลือบไม้เสียใหม่

สำหรับบ้านใครที่มีเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินที่เป็นโครงไม้จริง ขอแนะนำให้ดูแลเป็นส่วน ๆ ไป เช่น โครงไม้ด้านในหากไม่ผุกร่อนให้ทิ้งไว้จนกว่าจะแห้งสนิทแล้วจึงทาสีใหม่ ส่วนหน้าบานตู้หากเป็นไม้อัดอาจต้องทำใจเพราะจะเกิดการบวมน้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้ ซึ่งขอแนะนำให้เปลี่ยนหน้าบานใหม่จะดีกว่า และอย่าลืมตรวจสอบระบบไฟต่าง ๆ ที่อยู่ภายในตู้บิลท์อินด้วย หากชำรุดให้ซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ทันที

 

 

ส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่มีส่วนประกอบเป็นเหล็ก อย่างขาตู้ที่ต้องแช่น้ำอยู่เป็นเวลานาน แนะนำให้นำชิ้นส่วนนั้นออกไปตากแดด เมื่อแห้งดีแล้วให้ใช้น้ำยาขัดสนิมขัดคราบสนิมออก เคลือบผิวด้วยน้ำยากันสนิมและพ่นสีใหม่ แต่ถ้าใช้เฟอร์นิเจอร์หุ้มผ้าที่มีโครงไม้และผ้าหุ้มฟองน้ำต่างๆ ควรถอดเฉพาะโครงไปตากแดด ส่วนฟองน้ำและผ้าหุ้มขอให้ปล่อยไปเพราะน้ำที่ชื้นแฉะอยู่ในฟองน้ำนานๆ จะเป็นตัวเก็บกักเชื้อโรคที่มากับน้ำและเสี่ยงกับเชื้อราต่าง ๆ ทั้งนี้ หากเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดต้องแช่น้ำนานเกินสองสัปดาห์จนถึงหนึ่งเดือนขึ้นไป จนยากเกินซ่อมแซมหรือกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคยากจะนำมาใช้ใหม่ก็ควรเปลี่ยนจะดีกว่า

6. การทาสีบ้านหลังน้ำท่วม

 


การทาสีบ้านหลังน้ำท่วมควรทำเป็นสิ่งสุดท้าย เราควรซ่อมแซมส่วนอื่น ๆ ในบ้านก่อน และปล่อยให้ผนังทั้งหมดแห้งสนิทจึงค่อยแก้ไข เพราะสีทุกชนิดที่ใช้ทาบ้านเมื่อโดนน้ำท่วมนาน ๆ จะเกิดการลอกล่อนออกมาเพราะความชื้นจากน้ำ วิธีแก้ไขคือต้องขูดสีเดิมที่ลอกล่อนออก ทำความสะอาดผนังให้เรียบร้อย ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทประมาณ 3-6 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีความชื้นหลงเหลืออยู่ ต่อไปให้ทาสีรองพื้นชนิดกันเชื้อราแล้วทาทับด้วยสีจริงอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง


บ้านที่ต้องแช่น้ำนาน ๆ ความชื้นจะทำให้สีทาบ้านเสื่อมสภาพลง ทั้งยังมีคราบสกปรกและเกิดการหลุดล่อน ดังนั้น เราจึงต้องขัดลอกสีเดิมและล้างคราบเกลือออกไปให้หมด กรณีที่เกิดเชื้อราก็ให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อราทาลงไปบนผนัง แต่ถ้าผนังปูนล่อนออกมาเป็นผงแนะนำให้สกัดปูนฉาบออกจนถึงอิฐก่อ หลังจากนั้นให้ฉาบใหม่โดยใช้น้ำยาประสานคอนกรีตผสมลงไปเพื่อเพิ่มการยึดเกาะ เท่านี้ผนังก็จะกลับมาเรียบสวยและแข็งแรงเหมือนเดิม


สรุปง่าย ๆ คือเมื่อเราซ่อมผนังเสร็จแล้วควรปล่อยให้ผนังแห้งสนิทอย่างน้อย 3 เดือน ก่อนจะเริ่มทาสีใหม่ สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรกคือ ‘ทาน้ำยารองพื้น’ ชนิดพิเศษที่ช่วยป้องกันความชื้น จากนั้น ‘ทาสีรองพื้น’ ที่ป้องกันคราบเกลือและความเป็นด่างจากผิวปูน ต่อไปก็ทาสีให้เข้ากับผนังส่วนอื่น ๆ ของบ้าน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถสอบถามและหาซื้อได้ที่ร้านขายสีชั้นนำทั่วไป

7. น้ำท่วมนอกบ้าน วอลเปเปอร์ในบ้านจะเป็นอะไรไหม


แม้น้ำจะไม่ได้เข้ามาท่วมในตัวบ้านแต่ก็ทำให้ผนังชื้นได้ สำหรับบ้านที่ติดวอลเปเปอร์อาจจะมองไม่เห็นว่ามีคราบน้ำและความชื้นอยู่ที่ผนัง ในกรณีนี้อาจไม่จำเป็นต้องลอกวอลเปเปอร์ออก เมื่อน้ำลดให้ใช้พัดลมเป่าให้ทั่วผนัง เป่าทิ้งไว้เป็นระยะเวลา 1-2 วัน


แต่ถ้ามีน้ำท่วมภายนอกนานเกิน 2-3 วัน ผนังจะรับความชื้นไว้มาก จนอาจเกิดเชื้อราส่งผลให้วอลเปเปอร์เสื่อมสภาพและเสียหาย เราจึงจำเป็นต้องลอกออก เช่นเดียวกับกรณีที่มีน้ำท่วมอยู่ในบ้านและน้ำโดนวอลเปเปอร์โดยตรงเป็นเวลานาน ๆ เมื่อจัดการลองแผ่นวอลเปเปอร์เก่าออกจนหมดแล้ว ควรปล่อยให้ผนังแห้งเองโดยใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน ซอกมุมต่าง ๆ ที่ดูท่าว่าจะมีความชื้นสะสมอยู่มากสามารถใช้พัดลมหรือไดร์เป่าผมช่วยเป่าได้ ที่สำคัญหากผนังปูนมีลักษณะหลุดล่อนก็ควรกะเทาะออกแล้วฉาบปูนใหม่ให้เรียบร้อยก่อนติดวอลเปเปอร์ใหม่


หากเสียดายวอลเปเปอร์ลายเก่า คุณสามารถใช้วอลเปเปอร์เดิมติดลงไปบนผนังบ้านที่แห้งดีแล้วได้ แต่ทางที่ดีควรเปลี่ยนไปใช้วอลเปเปอร์ใหม่จะดีกว่า เพราะวอลเปเปอร์ส่วนใหญ่ทำมาจากกระดาษเมื่อโดนความชื้นนาน ๆ จะเสื่อมสภาพได้ง่าย สำหรับวอลเปเปอร์ที่อยากแนะนำให้ใช้คือวอลเปเปอร์แบบไวนิล วอลเปเปอร์ประเภทนี้จะเคลือบด้วยพลาสติกจึงมีความทนทานกว่าแบบอื่น หรือจะลองเปลี่ยนมาใช้วอลล์คัฟเวอร์ริ่ง (Wall Covering) ก็ได้ ซึ่งวอลล์คัฟเวอร์ริ่งนี้ส่วนมากจะทำมาจากผ้าและไวนิล ซึ่งมีความทนทานกว่าวอลเปเปอร์กระดาษหลายเท่า แต่มีข้อจำกัดเรื่องราคาที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น จึงควรนำมาใช้ในพื้นที่ที่ไม่กว้างมากนักเพื่อประหยัดสตางค์

8. ทำความสะอาดผ้าม่านอย่างไรดี


ก่อนซักผ้าม่านควรนำวัสดุอื่น ๆ อย่างตะขอม่าน ห่วงตาไก่ โซ่ถ่วงออกจากชายผ้าม่านให้หมดก่อน ต่อมาให้แยกประเภทผ้าว่าผ้าม่านของคุณเป็นผ้าชนิดใด เช่น ผ้าฝ้าย (cotton), โพลีเอสเตอร์ (polyester) หรือ ผ้าไหม (silk) ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทำความสะอาดได้เหมาะสมตามชนิดของเส้นใยแต่ละแบบ

ผ้าฝ้าย (cotton) ควรซักด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ ปั่นแห้งด้วยความแรงระดับต่ำสุด และผึ่งให้แห้งในที่ร่มไม่ควรโดนแดดจัดเพราะสีผ้าจะซีดเร็ว ควรรีดที่อุณหภูมิปานกลาง การซักด้วยน้ำอาจมีผลทำให้ผ้าม่านหดขึ้นมาประมาณ 3-10 เซนติเมตร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความแน่นของเนื้อผ้า วิธีแก้ไม่ให้ผ้าม่านหดคือเมื่อซักเสร็จอาจต้องเลาะชายผ้าม่านลงมาเพื่อเพิ่มความสูงหรือเย็บต่อชายผ้าหากแขวนแล้วม่านลอย หากเป็นผ้าพิมพ์ลายต้องระวังเรื่องสีตก ทดลองง่าย ๆ โดยการนำผ้าไปแช่น้ำแล้วสังเกตดูว่ามีสีตกออกมาหรือเปล่า

ผ้าใยสังเคราะห์ (Polyester) สามารถซักในน้ำอุณหภูมิปกติได้ ปั่นแห้งด้วยความแรงระดับต่ำสุด ตากให้แห้งแล้วรีดที่อุณหภูมิต่ำ-ปานกลาง ผ้าใยสังเคราะห์บางประเภทจะหดตัวได้หากรีดที่อุณหภูมิสูง ส่วนผ้าไหม(silk) แนะนำให้ส่งซักแห้งโดยผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด


ทั้งนี้อยากให้เข้าใจธรรมชาติของผ้าม่านที่ผ่านการซักแล้วว่าความสวยงามและคุณสมบัติพิเศษของผ้าอาจไม่เหมือนเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น ความเงาของผ้า ความยืดหยุ่นของผ้า คุณสมบัติการกันน้ำ เพราะสารที่เคลือบเนื้อผ้าได้ถูกซักล้างออกไปแล้วนั่นเอง

9. ซ่อมประตูบ้านหลังน้ำท่วม

ประตูที่จะเกิดปัญหามากคือประตูไม้ ไม่ว่าจะเป็นประตูไม้เต็มแผ่นหรือประตูไม้อัด ส่วนประตูที่ทำจากวัสดุอื่น ๆ เช่น ประตูพีวีซีมักไม่ค่อยเป็นอะไร ยกเว้นส่วนที่เป็นโลหะเช่น บานพับและลูกบิด ประตูไม้ที่แช่น้ำนาน ๆ จะมีการบวมโก่งทำให้เปิด-ปิดลำบาก ควรถอดออกมาผึ่งให้แห้งอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ จากนั้นก็ขัดสีเก่าออก อุดโป้วรอยแยกแตกให้ดี ก่อนทำสีใหม่ สำหรับบานที่เป็นไม้อัดถ้าบวมโก่งมากหรือผุพังเสียหายอาจจะต้องเปลี่ยนใหม่ หรือถ้าทำได้ก็แนะนำให้ปิดผิวด้วยไม้วีเนียร์

บานพับและลูกปิดก็ต้องนำมาเป่าลมให้แห้ง ขัดสนิมออกด้วยกระดาษทราย และหยอดน้ำมันหล่อลื่น ถ้ายังใช้การได้ดีอยู่ก็ใช้ของเดิมไปก่อน ส่วนวงกบอาจมีการบวมโก่ง ถ้าแห้งแล้วยังปิดประตูไม่เข้า อาจต้องไสขอบบานประตูออกบ้างเพื่อให้บานประตูปิดลงได้สนิทตามเดิม

10. คอมพิวเตอร์ถูกน้ำท่วม


เปิดฝาเคสออกแล้วถอดชิ้นส่วนออกมาจาก Main Board อย่างระมัดระวัง แยกชิ้นส่วนหลัก ๆ ไว้ เช่น Power Supply, Hard-disk, CD ROM, RAM, CPU, Zink เช็ด Power Supply แล้วเป่าให้แห้งด้วยไดร์เป่าผมหรือพัดลม ห้ามเป่าชิ้นส่วนด้วยลมร้อน และไม่ควรนำออกไปตากแดดเด็ดขาด

เสร็จแล้วนำชิ้นส่วนที่ไม่ใช่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลงไปแกว่งในน้ำสบู่ ถ้าคราบติดแน่นให้ใช้ฟองน้ำเช็ดออก ล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วซับเบา ๆ ด้วยผ้า เป่าให้แห้ง ส่วนในซอกเล็กซอกน้อยให้พ่นด้วยสเปรย์ไล่ความชื้น เมื่อทุกชิ้นแห้งดีแล้ว ใช้แปรงขนนุ่มปัดฝุ่นให้สะอาด แล้วจึงค่อยประกอบกลับคืนที่เดิม ขณะเสียบปลั๊กเพื่อทดลองใช้งานต้องระวังมากเป็นพิเศษ เพราะอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่วได้ ดังนั้นจึงควรใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เป็นฉนวนไฟฟ้าแล้วค่อยเปิดใช้งาน


การกู้ชีพคอมพิวเตอร์นี้อาจต้องทำใจไว้บ้างเพราะมีโอกาสน้อยมากที่คอมพิวเตอร์แสนรักจะกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม ถึงแม้จะใช้ได้อายุการใช้งานก็จะลดลงไปอย่างแน่นอน ทางที่ดีควรรีบ Back-up ข้อมูลสำคัญเก็บไว้ให้เรียบร้อย ส่วนแล็ปท็อป (โน้ตบุ๊ก) ก็สามารถกู้ชีพด้วยวิธีเดียวกัน แต่การถอดประกอบต้องใช้ความชำนาญสูงจึงควรส่งให้ช่างผู้เชี่ยวชาญซ่อมแซมจะดีกว่า


11. ฟื้นฟูต้นไม้หลังโดนน้ำท่วม


หลังน้ำลดไม่ควรเข้าไปใกล้ต้นไม้ทันทีเนื่องจากดินยังอ่อนตัวอยู่ น้ำหนักตัวเราจะไปกดดินทำให้รากขาดหรือทำให้ดินเกิดการอัดแน่นเกินไปจนส่งผลกระทบต่อรากต้นไม้ได้ ทางที่ดีควรรอให้ดินแห้งสนิทแล้วจึงเข้าไปสำรวจความเสียหาย จากนั้นพรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนและช่วยให้รากต้นไม้แตกใหม่ได้ดีขึ้น


ระยะแรกหลังจากน้ำลดรากต้นไม้ยังไม่สามารถดูดธาตุอาหารและน้ำจากดินได้ตามปกติ ดังนั้นหากต้นไม้มีอาการขาดน้ำ เช่น ใบเหลือง เหี่ยวเฉา ควรตัดแต่งกิ่งให้โปร่งเพื่อลดการคายน้ำ หากกำลังติดผลให้ปลิดผลออกและฉีดพ่นปุ๋ยทางใบให้ต้นไม้ ซึ่งในช่วงแรกนี้ไม่ควรให้น้ำ ปุ๋ย หรือสารเคมีต่าง ๆ เมื่อต้นไม้เริ่มฟื้นตัวแล้วจึงค่อยให้น้ำ เสริมปุ๋ยและฮอร์โมนแต่เพียงเล็กน้อย เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของรากและกระตุ้นให้แตกใบใหม่ กรณีที่มีโรครากและโคนเน่าจากเชื้อราให้ใช้สารป้องกันราราดที่โคนหรือทาที่ผิวลำต้น

12. น้ำท่วมบ้านประกันจ่ายค่าซ่อมให้ไหม

หลังจากเกิดเหตุน้ำท่วมและทรัพย์สินเสียหาย หลายคนมักถามถึงการประกันภัยทรัพย์สินที่กฎหมายรับรองไว้ เช่น สิทธิตามสัญญาเช่าหรือสิทธิครอบครอง ถ้าทรัพย์สินชำรุดเสียหายหรือถูกน้ำท่วม ค่าตอบแทนความเสียหายจะขึ้นอยู่กับกรมธรรม์หรือข้อสัญญาประกันภัยนั้น ๆ

· ส่วนความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในข้อสัญญาประกันภัย เช่น รถยนต์ที่ทำประกันภัยประเภท 1 จะได้รับความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด และถ้ารถยนต์เสียหายจนไม่สามารถซ่อมได้หรือประเมินมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ร้อยละ 70 ของมูลค่ารถ บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันที่ระบุไว้ ส่วนกรณีที่รถเลื่อนไถลไปชนรถคันอื่นจนได้รับความเสียหายนั้นกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจทุกประเภทอจะให้ความคุ้มครองค่าเสียหายแก่คู่กรณี


· สำหรับการประกันภัยทรัพย์สิน เช่น การทำประกันอัคคีภัยที่ได้ซื้อความคุ้มครองภัยน้ำท่วมไว้ หรือทำประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) ผู้เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองความเสียหายจากภัยน้ำท่วมด้วย

· ในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้หรืออุทกภัย การประกันภัยทรัพย์สินจะครอบคลุมความเสียหายที่มีต่อเฟอร์นิเจอร์ วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องเสียง เสื้อผ้า และรายการอื่น ๆ นอกจากนี้ยังครอบคลุมไปถึงการถูกโจรกรรมด้วย การทำประกันในลักษณะนี้ถือเป็นความรับผิดชอบส่วนตัว เราสามารถเลือกได้ว่าจะกำหนดอัตราประกันภัยไว้สูงสุดเท่าใด ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับทรัพย์สินในบ้านของคุณเอง หากเราเลือกอัตราการประกันภัยในระดับสูง ค่าเบี้ยประกันก็จะสูงตามไปด้วย ทั้งนี้หากกำหนดอัตราการประกันภัยต่ำเกินไป คุณอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายมากในกรณีที่เกิดเหตุการณ์สูญเสียขึ้น


สรุปแล้วการประกันทรัพย์สินในบ้านไม่ถือเป็นข้อบังคับ แต่เราอยากแนะนำให้ทำไว้ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านที่เรามีกรรมสิทธิ์ครอบครองหรืออยู่ในบ้านเช่าก็ตาม

13. บ้านที่ปลอดภัยจากน้ำควรเป็นอย่างไร


คำตอบง่าย ๆ คือ บ้านที่ “ยกใต้ถุนสูง” นั่นเอง หรือมีการถมให้สูงจากผิวถนนไม่เกิน 50 - 80 เซนติเมตร

สำหรับบ้านที่ปล่อยให้พื้นที่ชั้นล่างเป็นใต้ถุนแบบเปิดโล่ง ควรก่อสร้างด้วยวัสดุที่ทนน้ำได้ เช่น คอนกรีต พื้นที่โล่งนี้ยังสามารถปรับเป็นที่จอดรถและห้องเก็บของได้ด้วย ส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ก็ควรเป็นแบบลอยตัวสามารถเคลื่อนย้ายไปไว้ชั้นบนได้ง่าย นอกจากไม่ต้องกังวลว่าน้ำจะท่วมบ้านแล้ว การทำใต้ถุนบ้านให้โปร่งโล่งยังช่วยให้การถ่ายเทอากาศทำได้สะดวก บ้านจึงไม่ร้อนอยู่สบายขึ้น


ส่วนบ้านในกรุงเทพ ฯ ที่มีระดับพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางไม่มากนัก ก่อนถมที่ให้สูงควรสอบถามกับ “กรมแผนที่ทหาร” ก่อนว่าพื้นที่ของเขตคุณอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางเท่าไหร่ อยู่ด้านในหรือนอกของแนวคันกั้นน้ำ รวมถึงควรสำรวจด้วยว่าตลิ่งของคลองหรือแม่น้ำใกล้บ้านคุณสูงเท่าไหร่ ถ้าอยากให้รอดพ้นจากปัญหาน้ำท่วมคุณอาจต้องยกพื้นสูงขึ้นมาอย่างน้อย 1 เมตร ทั้งนี้บอกไม่ได้ว่าจะอยู่ในระดับสูงกว่าถนนหน้าบ้านเท่าไหร่เพราะแล้วแต่พื้นที่ และควรคำนึงว่าการถมที่อย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดของการป้องกันน้ำท่วม แต่ยังเกี่ยวพันกับการออกแบบบ้านด้วย ดังนั้นจึงควรปรึกษากับสถาปนิกก่อนสร้างบ้านจะเป็นการดีที่สุด

อีกหนึ่งการแก้ปัญหาให้บ้านหลังเดิมมีระดับความสูงเพิ่มขึ้นก็คือ “การดีดบ้าน” เป็นวิธีการยกระดับบ้านให้สูงขึ้นหรือลดระดับให้ต่ำกว่าเดิม (ก็ทำได้) หรือการยกบ้านไปจากจุดเดิมโดยไม่ต้องรื้อถอนบ้านทั้งหลัง โดยในขณะดีดบ้านเรายังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้ ส่วนราคาค่าดีดบ้านนั้นไม่มีการกำหนดตายตัว ขึ้นอยู่กับวิธีการทำงานและความยากง่ายของงาน ซึ่งมักตีราคาเบื้องต้นจากจำนวนเสา เช่น งานยกบ้าน สองชั้นโดยตัดเสาชั้นล่าง แล้วดีดเฉพาะชั้นสองขึ้นไป ราคาต่อจำนวนเสา ต้นละ 10,000 - 20,000 บาท / งานยกบ้านสองชั้นโดยขุดดินจนถึงฐานราก แล้วดีดบ้านทั้งหลังขึ้นไป ราคาต่อจำนวนเสา ต้นละ 25,000 - 40,000 บาท / งานยกปรับระดับบ้านสองชั้นที่มีปัญหาการทรุดตัว โดยเสริมฐานรากก่อนแล้วดีดบ้านทั้งหลังขึ้นไป ราคาต่อจำนวนเสา ต้นละ 60,000 - 100,000 บาท

การดีดบ้านนั้นต้องใช้ช่างที่ชำนาญและเทคนิคทางวิศวกรรมอย่างมาก ซึ่งระยะเวลาในการดีดบ้านจะขึ้นอยู่สภาพพื้นที่ ขนาดของบ้าน ความยากง่ายของงาน อย่างบ้านไม้หรือบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ที่ทำงานไม่ยุ่งยาก อาจใช้เวลา 2 – 3 วัน แต่หากเป็นบ้านที่ต้องทำฐานรากใหม่ อาจต้องใช้เวลา 1 – 5 เดือน

14. ทุกบ้านควรมีวาล์วหรือประตูน้ำที่ท่อระบายน้ำ


บ้านในประเทศไทยเกือบทั้งหมดไม่มีการติด “วาล์ว หรือ ประตูน้ำ” ที่ท่อระบายน้ำของตัวเอง แต่ในต่างประเทศจะมีกฎหมายให้บ้านที่สร้างใหม่ทุกหลังติดตั้งประตูน้ำที่ท่อน้ำทิ้งหรือ “แบ็กโฟลว์วาล์ว”(Backflow Valve) ในเขตบ้านตัวเอง ก่อนจะไปเชื่อมต่อกับท่อระบายสาธารณะ (Sewer Main) ซึ่งจะช่วยป้องกันการไหลย้อนของน้ำทิ้งกรณีที่ระบบระบายน้ำของเมืองอุดตันหรือเกิดน้ำท่วม


“แบ็กโฟลว์วาล์ว” ที่เหมาะกับเมืองไทยคือการติดตั้ง “ประตูน้ำมือหมุน” ซึ่งทำจากเหล็กหล่อ ช่างประปาที่มีประสบการณ์หรือร้านวัสดุก่อสร้างใหญ่ ๆ จะรู้จักวาล์วนี้ดี แบ็กโฟลว์วาล์วจะต่อได้กับท่อตั้งแต่ขนาด 6 - 12 นิ้ว มีวงล้อหมุนเพื่อปิด-เปิดประตูน้ำด้วยมือ แต่ต้องไม่ลืมว่าเวลาปิดแล้วจะไม่สามารถระบายน้ำออกได้ ถ้าจะให้ดีควรติดตั้งแยกเป็นส่วน ๆ เช่น ประตูสำหรับห้องน้ำชั้นบนและชั้นล่าง

15 เครื่องสูบน้ำ เครื่องมือของคนยุคใหม่?

ใครจะนึกว่าเครื่องสูบน้ำจะกลายมาเป็นเครื่องมือที่ทุกบ้านต้องมีไว้ใช้ในกรณีเกิดอุทกภัย ซึ่งเครื่องสูบหรือปั๊มน้ำที่ใช้กันบ่อย ๆ จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ


1) “ปั๊มไดโว่” หรือ “ปั๊มจุ่ม” (Submersible Water Pump) มีข้อดีคือประหยัดและเบา แต่ไม่ทนทานเท่าไหร่ นาน ๆ ใช้ทีก็พอไหว ปั๊มมีขนาดเล็กและใช้ไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ ปั๊มจะทำงานได้ต้องให้ตัวปั๊มจมอยู่ในน้ำไม่เช่นนั้นปั๊มจะร้อนเกินไป เหมาะกับบ้านที่ยังไม่โดนตัดไฟ ใช้สูบน้ำที่ไหลผ่านแนวกำแพงกั้นน้ำได้ครับ

2) “ปั๊มหอยโข่ง” (Centrifugal Pump) เป็นปั๊มที่สามารถสูบน้ำได้ไวและแรงที่สุด อัตราการสูบน้ำขึ้นอยู่กับแรงดัน สามารถต่อท่อเพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่ได้ ปั๊มหอยโข่งเหมาะกับงานที่ต้องการดันมวลน้ำออกไปมากๆ จึงอาจเกินไปกับการสูบน้ำที่ท่วมขังอยู่ภายในบ้าน แต่เหมาะกับงานที่ต้องใช้แรงดันมาก ๆ เช่น การสูบน้ำขึ้นที่สูง


3) ปั๊มพญานาค (Propeller Pump) เป็นปั๊มที่มีราคาแพงกว่าไดโว่ แต่ทนกว่าเยอะ อัตราการสูบน้ำขึ้นอยู่ความเร็วของใบพัด สามารถสูบน้ำได้ปริมาณมาก แต่ไม่สามารถสูบน้ำในที่ตื้นได้เนื่องจากหัวสูบมีลักษณะที่ใหญ่

เมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำที่สูบได้ต่อวินาที จึงถือว่าปั๊มประเภทนี้ใช้งานได้คุ้มค่าที่สุดในบรรดาเครื่องปั๊มทั้ง 3 แบบ ข้อสำคัญคือน้ำที่เราจะสูบออกไปนั้นต้องเป็นน้ำที่ล้นมาจากแนวคันกั้นน้ำเอ่อเข้าท่วมตัวบ้าน การใช้งานเครื่องสูบน้ำควรวางบนตำแหน่งที่อยู่ต่ำสุดในพื้นที่รอบ ๆ บ้าน (ซึ่งมักเป็นท่อระบายน้ำ) และสูบน้ำออกไปยังพื้นที่นอกบ้าน โดยเฉพาะปั๊มแบบไดโว่ที่นิยมใช้ตามบ้านทั่วไป เราต้องคอยตรวจดูอย่าให้ปั๊มจุ่มนี้ทำงานโดยไม่มีน้ำที่จะดูดออกไปเพราะจะทำให้ปั๊มไหม้ได้ ควรเปิดใช้งาน 3 ชั่วโมง และพัก 15 นาที เพื่อพักไม่ให้เครื่องทำงานหนักเกินไป


การเลือกปั๊มมาใช้ให้พิจารณาจากอัตราการไหลของปริมาณน้ำ (Quantity - Q) ต่อหน่วยเวลา และแรงดันหรือแรงส่งน้ำ (Head - H) บอกความสูงเป็นเมตร และแรงของปั๊มน้ำซึ่งบอกเป็นวัตต์ (W) กิโลวัตต์ (kW) หรือแรงม้า (hp) โดยดูได้จากป้ายแจ้งข้อมูลที่ตัวปั๊ม ซึ่งใช้หลักง่าย ๆ คือ ถ้าต้องการดันปริมาณน้ำมหาศาลควรเลือกเครื่องสูบน้ำที่บอกปริมาณน้ำ (Q) มาก ๆ แต่ถ้าต้องการส่งน้ำไปไกล ๆ หรือส่งขึ้นที่สูงก็ต้องเลือกปั๊มที่บอกค่าแรงดัน (H) สูง ๆ ส่วนราคาของเครื่องปั๊มน้ำก็เริ่มต้นตั้งแต่หลักพันกว่าบาทไปจนถึงหลักหมื่นขึ้นไป

ขอขอบคุณ Room ฉบับเดือนธันวาคม  คอลัมน์ room rescued www.roommag.com

ที่มา  http://www.thairath.co.th/content/life/223228