การใช้ชีวิตอยู่กับน้ำท่วม ..บทความโดย รศ.วิทยากร เชียงกูล |
ใช้ชีวิตอยู่กับน้ำท่วม
โดย : รศ.วิทยากร เชียงกูล
คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต คอลัมน์ “ปฏิรูปประเทศไทย แบบไหน อย่างไร”
การเมือง : ทัศนะวิจารณ์ ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2554
เมื่อท่านตื่นขึ้นมาในตอนเช้า ขอให้ท่านคิดว่าช่างเป็นสิทธิพิเศษที่มีค่าเสียนี่กระไร ที่ท่านได้มีชีวิตอยู่ ได้หายใจ ได้คิด ได้ชื่นชม และได้รัก
นี่คือคำคมของ มาร์คัส ออเรลิอุส จักรพรรดินักปรัชญาสำนักสโตอิก ที่ผมชอบยกมาปลอบตัวเองและอยากมอบให้เพื่อนร่วมชะตากรรมที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางน้ำท่วมใหญ่อยู่ในขณะนี้
ขณะที่เขียนบทความเตรียมไว้ล่วงหน้านี้ ผมติดอยู่ในบ้านสวนที่มีสภาพเหมือนเกาะ ในตำบลบางพลับ อำเภอปากเกร็ด นนทบุรี มาราว 2 สัปดาห์แล้ว ความจริงก็สามารถจะออกทางเรือ โดยการว่าจ้างเรือหางยาวให้ไปส่งที่ตลาดปากเกร็ดอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาได้ แต่ผมยังเลือกที่จะอยู่ที่บ้าน เพราะยังพอดำรงชีวิตอยู่ได้ และไม่จำเป็นต้องไปทำงานเพราะมหาวิทยาลัยเองก็ยังปิดและต่อมาก็โดนน้ำท่วมเช่นกัน
ตอนนี้เลยเรียนรู้ว่ามนุษย์อยู่ได้ด้วยปัจจัยจำเป็นไม่กี่อย่าง เช่น อาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ ก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า ยา วิตามิน เสื้อผ้า ที่นอน จริงๆ ส่วนโทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ ก็ช่วยเรื่องทางจิตใจ ในการการสื่อสาร โดยเฉพาะกับครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เพราะการอยู่เกือบตามลำพัง (มีคนช่วยทำงานบ้านอยู่ด้วยหนึ่งคน) ในวิกฤติเช่นนี้ มีความลำบากทางจิตใจรวมอยู่ด้วย
เรากำลังอยู่ในโลกที่ยากลำบากจริงๆ นอกจากทางกายแล้ว ยังลำบากทางใจด้วย ไม่ใช่เฉพาะที่มากระทบตนเองโดยตรงเท่านั้น หากยังเป็นความรู้สึกหดหู่เศร้าหมอง ที่ได้เห็นเพื่อนมนุษย์ จำนวนมาก ได้รับทุกข์ทรมาน ทั้งจากภัยธรรมชาติและภัยนักการเมืองเลว ที่ปกป้องไม่ให้น้ำเข้าพื้นที่ผลประโยชน์ของตน และแก้ปัญหาแบบทั้งขาดปัญญา และทั้งเห็นแก่ตัวและพรรคพวกมากกว่าประชาชน
เราควรจะต้องอยู่ให้รอดทั้งทางกายและใจ ที่บ้านผมต้นไม้ที่สูงเกินน้ำท่วมราว 50-100 เซนติเมตรยังคงสู้เพื่ออยู่ให้รอด ต้นที่ไม่ค่อยสู้น้ำเช่นจำปี เหี่ยวแห้งหมดแล้ว ทุเรียน และต้นอื่นบางต้นก็กำลังไป แต่ต้นไม้จำนวนมากยังใบเขียวอยู่ มะนาวและมะม่วงบางต้นพยายามออกดอก แม้แต่ต้นไม้ก็ยังพยายามอยู่ให้รอด คนเราก็น่าจะผ่านช่วงที่เลวร้ายนี้ไปได้
คำคมที่ผมยกมาข้างต้น ผมคัดมาจากหนังสือที่ผมแปลเรียบเรียงชื่อ ว่า “อยู่อย่างใจสงบ ในโลกที่ยากลำบาก ข้อคิด คำคม จากนักปรัชญาสำนักสโตอิกและพุทธปรัชญา” พิมพ์โดยสายธาร (www.winyuchon.co.th) เมื่อปีที่แล้ว ปรัชญาสโตอิกของพวกกรีกโรมันยุคโบราณ มีแนวคิดว่า การที่คนเราจะมีชีวิตอย่างสงบสุขได้นั้น เราควรใช้ชีวิตอย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติของจักรวาลที่มีเหตุผล ซึ่งก็คือการมีคุณธรรม ทำสิ่งที่ถูกต้อง และมีสติ ไม่หวั่นไหวไปกับเหตุการณ์หรือปัจจัยภายนอก เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้ย่อมมีเหตุผลของตนเอง อะไรจะเกิด ก็ต้องเกิด อะไรที่อยู่ในอำนาจของเราที่จะกำหนดได้ เปลี่ยนได้ เราก็ทำ อะไรที่อยู่นอกเหนืออำนาจของเราที่เรากำหนดไม่ได้ เปลี่ยนไม่ได้ เราก็ควรยอมรับมันอย่างไม่วิตกกังวล ไม่ทุกข์ร้อน
ใครที่เครียด ไม่สบายใจอยู่ ผมขอแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีแนวคิดคล้ายปรัชญาพุทธมาก จะอ่านหนังสือพุทธ เช่นธรรมบท พุทธวจนะ พุทธภาษิต ก็ได้ เพียงแต่จะไม่ค่อยตรงมากเท่าเล่มนี้
แนวคิดนี้ไม่ได้เสนอการยอมรับชะตากรรม แบบยอมจำนน และไม่ได้มองโลกในแง่ดีอย่างสุดโต่งหรืออ่อนหัด ผมได้ยินคนที่พูดทางวิทยุ และโทรทัศน์บางคน พยายามพูดในแง่ดีมาก ว่า น้ำท่วมทำให้คนไทยสามัคคีกันดีมาก ไม่มีแบ่งสีแบ่งพวก คนไทยมีน้ำใจอาสาช่วยเหลือกันดีมาก ผมคิดว่าเป็นการพูดแบบผิวเผินมากไป ในแง่ประชาชน มีคนที่มีจิตอาสาช่วยเหลือกันมากพอสมควรจริง แต่ในแง่นักการเมือง มีทั้งการที่ต่างฝ่ายต่างต้องการสร้างภาพ และการที่นักการเมืองฝ่ายที่มีอำนาจปกป้องผลประโยชน์ของพวกตนและมุ่งหาคะแนนนิยมในฐานเสียง ไม่ได้มีการสามัคคีเพื่อหาทางแก้ไขผลประโยชน์ส่วนรวมของคนทั้งประเทศจริงๆ นอกจากรัฐบาลไม่ฟังฝ่ายค้านแล้ว แม้แต่นักวิชาการที่รู้เรื่องน้ำก็ไม่ฟัง ไม่คิดจะฟัง หรือเชิญไปร่วมทำงานแก้ปัญหา
ถ้าเราไม่วิเคราะห์ปัญหาน้ำท่วมและวิธีการแก้ไขอย่างวิพากษ์วิจารณ์ตรงไปตรงมา เราจะไม่รู้จักตัวปัญหาและทางแก้ไข ปัญหานี้ไม่ใช่ภัยธรรมชาติล้วนๆ แต่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วย โดยเฉพาะพวกนักตัดไม้ทำลายป่า นายทุนนักอุตสาหกรรม การค้า และบริการทั้งหลาย เป็นทั้งปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อม และปัญหาการบริหารจัดการเรื่องการพัฒนาประเทศแบบเน้นการหากำไรเอกชนมากไป
รัฐบาลนี้ทำให้ปัญหาสาหัสมากขึ้น ทั้งโดยการขาดความรู้ความสามารถ ขาดภาวะผู้นำ และการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง เหนือผลประโยชน์ของประชาชนคนอื่น
สื่อมวลชน นักจัดรายการบางคนก็อ่อนหัด เข้าข้างเห็นใจรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีอยู่เรื่อยไป แทนที่จะเห็นใจประชาชน มีสื่อ นักพูด นักเขียนส่วนน้อย ที่พยายามเสนอความจริง หรืออย่างน้อยภาพทั้งสองด้าน
ยกตัวอย่าง ทำไมรัฐบาลจึงทุ่มเทป้องกันฉะเชิงเทราและสุพรรณบุรี มากกว่าที่อื่น ทั้งๆ ที่น่าจะมีส่วนรับการผันน้ำออกไปทะเลได้ไม่น้อย น่าจะศึกษาหาข้อมูลกันว่ามีนักการเมืองระดับใหญ่คับฟ้ามากคนไหนร่วมมือกับทุนต่างชาติปลูกข้าวไว้แปลงใหญ่มาก และข้าวกำลังจะเก็บเกี่ยว
เราจะต้องช่วยกันหาความจริง เปิดเผยความจริงให้คนส่วนใหญ่ได้รับรู้ เราจึงจะแก้ไขปัญหา หรือฟื้นฟูบูรณะประเทศเพื่อคนทั้งหมดได้ การพูดว่า อย่าทะเลาะกัน อย่าวิจารณ์กัน ให้สามัคคีช่วยกันทำงานกันไปคนละไม้คนละมือ จะฟังได้ ก็ต่อเมื่อมีรัฐบาลที่ดี ฉลาด มีความสามารถเท่านั้น ในเมื่อเราไม่ได้มีรัฐบาลเช่นนั้น การจะไปสามัคคี เชื่อฟังคนที่ไม่สามารถเป็นผู้นำที่ดีได้ ก็จะเป็นเรื่องหน่อมแน้ม อ่อนหัด หรือ แม้แต่โง่เขลา ไร้เดียงสา
ที่มา ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล
http://witayakornclub.wordpress.com/2011/12/06/ใช้ชีวิตอยู่กับน้ำท่วม/
|