ปัญหาน้ำท่วม มองในแง่บวก ..บทความโดย รศ.วิทยากร เชียงกูล |
ปัญหาน้ำท่วม วิเคราะห์อย่างวิพากษ์ มองโลกในแง่บวก
โดย : รศ.วิทยากร เชียงกูล
คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต คอลัมน์ “ปฏิรูปประเทศไทย แบบไหน อย่างไร”
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2554
การวิเคราะห์สาเหตุและทางออกที่แท้จริงของปัญหาน้ำท่วมเมืองไทยในขณะนี้ เป็นเรื่องจำเป็น เพราะถ้าไม่เข้าใจสาเหตุและสภาพปัญหาอย่างแท้จริง
จะแก้ไม่ได้ดี หรือ ทำให้ปัญหาหนักขึ้นขณะเดียวกัน คนไทยส่วนใหญ่ก็กังวล เครียดกับปัญหานี้ จึงควรช่วยกันมองในทางบวกว่า ปัญหาทุกปัญหาย่อมมีทางแก้ บทความนี้จะมองอย่างวิพากษ์ก่อน ตอนท้ายจะมองทางแก้ ในแง่บวกที่คำนึงถึงความเป็นไปได้จริง
สาเหตุของภัยน้ำท่วมหนักมากครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติล้วนๆ แต่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วยอย่างสำคัญ โดยสภาพธรรมชาติของประเทศไทย ภาคกลางตั้งแต่อยุธยาถึงกรุงเทพฯ เคยเกิดปัญหาน้ำหลากมาเป็นประจำ ที่ท่วมหนักก็นานๆ ปีครั้ง และท่วมอยู่ไม่นาน แต่ตอนหลังที่เกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงเสียหายเพิ่มขึ้น เป็นฝีมือมนุษย์ ส่วนใหญ่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ที่เน้นเพิ่มการผลิตเพื่อหากำไรและการบริโภคเพื่อเสพสุขทางวัตถุมากไป จนไม่คำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและการวางผังเมืองที่ดี
มีการตัดไม้ทำลายป่า ทั้งเพื่อเอาไม้ไปขาย ไปใช้ และการหักร้างถางพงทำการเกษตรเพื่อการค้าและส่งออก การทำเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าและเพื่อเกษตรแบบการค้า การทำถนน โรงงาน อาคารต่างๆ รีสอร์ท ฯลฯ มากเกินไป มีการใช้พลังงาน การผลิตบริโภคที่สร้างมลภาวะ โลกร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง จึงเกิดฝนตกมาก สลับกับความแห้งแล้ง
เมื่อฝนตกมาก แต่ป่าเหลือน้อย ฝนจะไหลลงมาจากเขาและที่สูงรวดเร็วขึ้น เพราะไม่มีป่าไม้ช่วยอุ้มน้ำไว้ เกิดกรณีดินโคลนถล่มเห็นได้ชัด การระบายน้ำก็มีปัญหามาก เพราะไม่มีการวางผังเมืองที่ฉลาดพอ การสร้างถนนและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทั้งนิคมอุตสาหกรรม บ้านเรือนขวางทางไหลน้ำ ไม่มีการขุดลอกคลอง แม่น้ำ กำจัดผักตบชวา ทำให้ตื้นเขิน น้ำไหลลงทะเลได้ช้า
ปีนี้ฤดูฝนมาเร็ว และตกบ่อย กรมอุตุฯ ก็พยากรณ์ว่าน้ำจะมาก น้ำก็เริ่มสะสมในเขื่อนมาก แต่เจ้าหน้าที่รัฐผู้ดูแลเขื่อน ไม่ได้ระบายน้ำแต่ต้นฤดูฝน รอจนน้ำมากเกือบเต็มเขื่อนจึงค่อยระบาย ซึ่งช้าเกินไป เพราะน้ำระบายลงทะเลช้าอยู่แล้ว เนื่องจากปัญหาที่ได้กล่าวมา ทำให้เมื่อกลางฤดูฝน ฝนตกมาก พร้อมกับการปล่อยน้ำจากเขื่อน น้ำจึงท่วมภาคกลางมากกว่าที่ควรเป็น
ปัญหาคือเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งข้าราชการและนักการเมือง ไม่สนใจติดตามสภาพปัญหาน้ำและมองทั้งระบบองค์รวมอย่างจริงจังแบบนักวิชาการหรือวิชาชีพ ทำงานตามความเคยชินไปวันๆ มีแนวคิดแบบจารีตนิยม คือรอให้เกิดปัญหาแล้วจึงค่อยคิดแก้ และก็แก้เฉพาะหน้าเป็นส่วนๆ ไม่ได้มองปัญหาอย่างเชื่อมโยง กับเรื่องอื่นๆ และไม่ได้มองผลในระยะยาว
เช่นชอบสร้างเขื่อนใหญ่เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนอุตสาหกรรม การค้า และการบริการ ทั้งที่การสร้างเขื่อนใหญ่ ต้องทำลายป่าและระบบนิเวศมาก และไม่ได้แก้ปัญหาน้ำท่วมได้ การทำฝายหรือเขื่อนเล็กตามแม่น้ำ และการทำอ่างเก็บน้ำ เป็นการลงทุนชะลอการไหลของน้ำและเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ดีกว่าการสร้างเขื่อนใหญ่
การขาดผู้นำและการบริหารบ้านเมืองที่ดี นอกจากจะเป็นสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมบ่อยและมากขึ้นแล้ว เวลาเกิดน้ำท่วม รัฐบาลรวมทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นเช่น กทม.ยังใช้ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาผิดพลาด และขาดประสิทธิภาพ ทำให้แก้ปัญหาได้ช้า และปัญหาเลวร้ายเพิ่มขึ้น
คือ แทนที่จะคิดเรื่องระบายน้ำลงทะเลให้เร็วขึ้น เพื่อแก้ปัญหาโดยรวม กลับแก้ปัญหาแบบทำกำแพงกั้นน้ำ ของจังหวัด อำเภอ ตำบล นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ เพราะคิดได้ง่ายๆ และนักการเมือง ข้าราชการต้องการหาเสียงหรือความดีความชอบในการปกป้องพื้นที่ของตน ซึ่งแก้ได้แค่บางส่วน และชั่วคราว เพราะน้ำที่มีปริมาณมาก ก็ไหลเลี้ยวไปมา ไม่ได้ระบายไปไหนไกล
หมู่บ้านจัดสรร ชุมชนต่างๆ ก็ต่างคนต่างแก้ปัญหาด้วยวิธีสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วมแบบเดียวกับภาครัฐ ในหลายกรณีคือการบีบน้ำให้รวมตัวสูงในบางพื้นที่และมีแรงดันมากขึ้น จึงทำลายกำแพง ประตูน้ำ เขื่อนเล็กที่สร้างกันน้ำไปจำนวนมาก ทำให้น้ำท่วมฉับพลันและเสียหายรุนแรง เพราะคนไปเชื่อนักการเมืองว่าจะป้องกันได้ แต่จริงแล้วก็ป้องกันไม่ได้ เพราะน้ำมาก ลงทะเลได้น้อยและช้า เพราะต่างคนต่างบีบให้ไปพ้นพื้นที่ตนเอง น้ำ ก็ไหลวนเวียนไปมาในภาคกลางโดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล น้ำก็เลยท่วมหลายพื้นที่ และท่วมนาน
ทางแก้ไขที่ถูกต้องคือ ต้องคิดและทำเพื่อส่วนรวม ระดมนักวิชาการและนักวิชาชีพที่รู้เรื่องน้ำเรื่องสิ่งแวดล้อมและสาขาที่เกี่ยวข้องมาเป็นคณะทำงาน และมีประธานที่เข้าใจปัญหาและกล้าตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศแบบมองการณ์ไกล ไม่ใช่ตั้งอดีตนายตำรวจและเป็นรัฐมนตรียุติธรรมมาเป็นประธาน และนักการเมือง ข้าราชการต่างหน่วยต่างตัดสินใจกันตามความรู้ที่จำกัดและการห่วงแต่ประโยชน์ตัวเอง แบบต่างคนต่างทำ อย่างค่อนข้างสะเปะสะปะ ไม่มีแผนใหญ่ ไม่มีเอกภาพ
นายกรัฐมนตรีมือใหม่หัดขับยังติดเรื่องการสร้างภาพ ประชาสัมพันธ์หาเสียง ได้แต่วิ่งวุ่นไปโน่นมานี่ ฟังคนนั้นทีคนนี้ที และตัดสินใจไปตามที่มีคนใกล้ชิดแนะนำ หรือที่ตนพอเข้าใจและเห็นด้วย นักการเมืองคนอื่นๆ ทั้ง ส.ส.ในเขตน้ำท่วมทุกพรรค รวมทั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากคนละพรรคกับรัฐบาล ก็คิดแต่ปกป้อง กทม. โดยไม่ได้มองภาพรวมว่าต้องแก้ปัญหาของทั้งประเทศด้วยการระบายน้ำลงทะเลให้เร็วที่สุด มากที่สุด จึงจะแก้ปัญหากรุงเทพฯ ได้อย่างแท้จริง
การจะระบายน้ำลงทะเลให้ได้เร็วและมาก ต้องเปิดประตูน้ำแบบมีการวางแผนและการควบคุม ให้น้ำไหลผ่านกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยพยายามให้ท่วมเท่าที่จำเป็น และพยายามไม่ให้อยู่นาน ด้วยการสูบน้ำ ดันน้ำออกทะเล การท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามบริเวณที่ใกล้ทางผ่านของน้ำและเป็นที่ต่ำ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะปริมาณน้ำไหลลงมามาก อยู่ที่จะท่วมเมื่อไหร่เท่านั้น ถ้าระดมความเห็นนักวิชาการให้ดี และระดมกำลังในเรื่องขุดลอกคลอง สูบน้ำ ใช้เรือดันน้ำ เพื่อระบายน้ำลงทะเลเป็นหลัก แทนที่จะไปมัวทำกำแพงป้องกัน ซึ่งจริงแล้วไม่ได้ผล ก็จะเสียหายน้อยหน่อย และจะยืดเยื้อน้อยกว่า รวมทั้งจะวางแผนเคลื่อนย้าย สิ่งของ ผู้คน ให้ค่าชดเชย ช่วยเหลือเรื่องความเสียหายได้ดีกว่า
การแก้ปัญหาหลังน้ำลด ควรมีการระดมความคิด และแผนงานที่เน้นเรื่องประสิทธิภาพและความเป็นธรรม รวมทั้งเชื่อมโยงกับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ซึ่งต้องคำนึงเรื่องผังเมือง และสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง คนรวย คนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ควรจะแบกรับภาษีได้เพิ่มขึ้น เพื่อที่รัฐบาลจะได้มีงบประมาณไปช่วยคนจน คนรายได้ปานกลางที่ได้รับความเสียหายได้
นโยบายประชานิยมหาเสียงควรจะยกเลิก เปลี่ยนแปลง หรือเลื่อนออกไปได้ ต้องแก้ปัญหาความเสียหาย คนตกงาน ทรัพย์สินเสียหาย เศรษฐกิจเสียหายจากน้ำท่วมให้ได้ก่อน โดยเน้นการช่วยคนไทย ให้มีปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิตที่พอเพียงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่พูดว่าต้องทำเพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศมั่นใจ ซึ่งดูเหมือนการห่วงนายทุนต่างประเทศมากกว่าห่วงคนไทย
เวลาเกิดปัญหาเช่นน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ประชาชนช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือกันและกันได้มากทีเดียว แต่ยังเป็นลักษณะเฉพาะกิจ กระจัดกระจาย ประชาชนควรสรุปบทเรียนและตื่นตัวมากขึ้นว่า การปล่อยให้พวกนักการเมืองที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ (เห็นแก่ตัว และไม่ฉลาด) ปกครองบ้านเมืองนั้น นอกจากจะแก้ไขปัญหาได้ไม่เก่งแล้ว ยังทำให้ปัญหาเลวร้ายมากขึ้นอีกด้วย
น้ำท่วม ข้าวของเสียหาย เรายังสามารถสร้างใหม่ได้ แต่ถ้าน้ำท่วมสติปัญญา จิตสำนึกเพื่อส่วนรวมของคนไทยชั้นนำ และคนส่วนใหญ่ด้วย นี่จะเป็นเรื่องที่แก้ได้ยากกว่า
แต่ปัญหาที่เกิดจากการกระทำของคนทุกปัญหา ย่อมมีทางแก้เสมอ ถ้าเราไม่ยอมจำนน ท้อแท้ หรือมองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป
ที่มา ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล
http://witayakornclub.wordpress.com/2011/11/18/ปัญหาน้ำท่วม-วิเคราะห์อ/
|