คู่มือการเงินและการจัดการหนี้
ไทยรัฐออนไลน์ โดย ทีมเศรษฐกิจ 31 ธันวาคม 2555
“คุณเป็นคนหนึ่งไหม ที่ยังงงงวยกับโปรโมชั่นของแบงก์พาณิชย์?
คุณเป็นคนหนึ่งไหม ที่ไม่รู้จะขอสินเชื่อกับใคร ทำไมขอแล้วไม่ผ่าน?
และคุณเป็นคนหนึ่งไหม ที่เริ่มผ่อนชำระหนี้ไม่ไหว แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร?
...ทุกคำถาม “ทีมเศรษฐกิจ” มีคำตอบ....”
ช่วงส่งท้ายปีเก่า 2555 ต้อนรับปีใหม่ 2556 นี้ “ทีมเศรษฐกิจ” มีโปรโมชั่นดีๆมาฝาก เป็นการรวบรวมคำถามและตอบเกี่ยวกับการให้บริการทางการเงินต่างๆ ดีๆมาฝาก ทั้งบริการด้านเงินฝาก ซึ่งทุกรายต่างยืนยันว่าดอกเบี้ยของแบงก์ตัวเองสูงที่สุด รวมทั้งวิธีการเลือกสินเชื่อ และขอสินเชื่ออย่างไรไม่ให้ถูกปฏิเสธ ปรับโครงสร้างหนี้ดีหรือไม่ ติดแบล็กลิสต์ต้องทำอย่างไร และสุดท้าย เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินไม่สามารถชำระหนี้ได้ ต้องทำอย่างไร
เพื่อเป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ให้ปี 2556 ของทุกคน เป็นปีที่เราสามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเงินไว้ได้ในกำมือ!!!
ฝากรายเดือน-ดอกเบี้ยขั้นบันได
เริ่มต้นจาก “โครงการเงินฝากระยะสั้น” ไม่ถึง 1 ปี ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา หลายๆ คนคงเห็นแคมเปญแบบนี้จำนวนมากออกมาเพื่อแข่งกันแย่งเงินฝาก โดยให้ดอกเบี้ยสูงกว่าปกติ เช่น โครงการเงินฝาก 4 เดือน ดอกเบี้ย 6% ต่อปี
แต่...คุณรู้ใช่ไหมว่าดอกเบี้ยที่แท้จริงของแคมเปญนี้ไม่ใช่ 6% เพราะดอกเบี้ย 6% เป็นอัตราดอกเบี้ยต่อปี แต่เงินฝากดังกล่าวมีระยะเวลา 4 เดือน ดังนั้น ดอกเบี้ยที่คุณจะได้คือ 4 เดือน ไม่ใช่ 12 เดือน
ในกรณีนี้ หากนาย ก.ฝากเงินในโครงการนี้ 100,000 บาท เมื่อครบโครงการ 4 เดือน ดอกเบี้ยที่แท้จริงที่จะได้จะอยู่ที่ 2,000 บาท หรือ 2% ต่อปี ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ย 6,000 บาท หรือ 6% อย่างที่โฆษณาไว้
ตามมาด้วย “การให้ดอกเบี้ยแบบขั้นบันได” ซึ่งหมายถึงดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการฝาก โดยส่วนใหญ่จะกำหนดยอดเงินฝากขั้นต่ำ รวมทั้งเงื่อนไขการเบิกถอนก่อนกำหนด เช่น ฝากขั้นต่ำ 100,000 บาท และห้ามถอนก่อนกำหนด ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ประกาศ
ยกตัวอย่างเช่น เงินฝากขั้นต่ำ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 10% ต่อปี ระยะเวลา 4 ปี โดยปีแรกได้ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ปีที่ 2 ได้ดอกเบี้ย 4% ต่อปี ปีที่ 3 ได้ดอกเบี้ย 6% ต่อปี 6 เดือนแรกของปีที่ 4 ได้ 8% ต่อปี และ 6 เดือนหลังของปีที่ 4 ให้ดอกเบี้ย 10% คำนวณดอกเบี้ยที่แท้จริงได้แบบนี้
- ฝาก 100,000 บาท ปีแรกได้ดอกเบี้ย 2% เท่ากับ 2,000 บาท
- ฝาก 100,000 บาท ปีที่ 2 ดอกเบี้ยขึ้นเป็น 4% เท่ากับ 4,000 บาท
- ฝาก 100,000 บาท ปีที่ 3 ดอกเบี้ยขึ้นเป็น 6% ได้ดอกเบี้ย 6,000 บาท
- ฝาก 100,000 บาท ปีที่ 4 ช่วง 6 เดือนแรก ดอกเบี้ย 8% จะได้ดอกเบี้ย 4,000 บาท
- ฝาก 100,000 บาท ปีที่ 4 ช่วง 6 เดือนหลัง ดอกเบี้ย 10% จะได้ดอกเบี้ย 5,000 บาท
เท่ากับเราฝากเงินในโครงการครบ 4 ปี คิดดอกเบี้ยแบบขั้นบันได จะได้รับดอกเบี้ยทั้งสิ้น 21,000 บาทต่อ 4 ปี หรือเฉลี่ย 5,250 บาทต่อปี หรือคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5.25% ต่อปีเท่านั้น
ส่วนบรรดาแคมเปญ “เงินฝากที่มีการแจกของแถมให้กับผู้ฝากเงิน” เช่น ฝากเงิน 1,000,000 บาท ได้รับดอกเบี้ย 3% ต่อปี แจกไอแพดมินิ 32 GB อย่าคิดว่าธนาคารพาณิชย์ใจดีให้ของแถมเราฟรีๆ เพราะธนาคารพาณิชย์ได้รวมมูลค่าของของแถมเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่เราได้รับแล้ว
เช่น ฝากเงิน 1,000,000 บาท ดอกเบี้ย 3% ต่อปี บวกมูลค่าของไอแพดมินิ 18,200 บาท ฝากครบ 1 ปี ดอกเบี้ยที่แท้จริงที่เราควรจะได้คือ ในส่วนของดอกเบี้ย 30,000 บาท บวกกับมูลค่าไอแพดมินิ 18,200 บาท รวมเป็น 48,200 บาท หรือ 4.82% ต่อปี ดังนั้น ถ้าไม่แจกไอแพดมินิ ฝากเงินในโครงการนี้ควรจะได้ดอกเบี้ยที่ 4.82% ไม่ใช่ ได้แค่ 3%
ต่อไปเป็น “คำแนะนำ” สำหรับในเรื่อง “ภาษี” ของเงินฝาก ซึ่งตามปกติดอกเบี้ยที่ได้จากเงินฝาก จะถูกหักรายได้ภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของรายได้ดอกเบี้ยรวม
แต่ในส่วนของเงินฝากออมทรัพย์ หากรายได้ดอกเบี้ยต่อปีไม่เกิน 20,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่หากเกิน 20,000 บาท จะเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกินเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น ต่อปีมีรายได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์ 25,000 บาทนั้น 20,000 บาทแรกไม่ต้องเสียภาษี และรายได้ส่วนเกินอีก 5,000 บาท ธนาคารจะหักภาษีจากดอกเบี้ย 15% หรือ 750 บาท
เงินฝากประจำทุกประเภทจะหักรายได้ภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของรายได้ดอกเบี้ย แต่ถ้าหากต้องการฝากประจำแบบปลอดภาษี แนะนำ “เงินฝากประจำปลอดภาษี” เป็นโครงการการส่งเสริมการออมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งออกผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน โดยจะต้องฝากเท่าๆกันทุกเดือนต่อเนื่อง ขั้นต่ำ 1,000 บาท และสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน ผู้ฝากเงินจะได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำปกติ 0.25% และข้อดีไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ย ณ ที่จ่าย 15%
รวมสารพัดงัดกลยุทธ์ “สินเชื่อ”
สำหรับผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อนั้นก่อนจะก่อหนี้สินให้กับตัวเอง ไม่ว่าหนี้สินระยะสั้น หรือระยะยาว ต้องถามตัวเองก่อนว่า ผ่อนชำระหนี้สินที่ก่อก้อนนี้ได้ และต้องแน่ใจว่าการก่อหนี้ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ “จำเป็น”
โดยในส่วนของผู้ที่มีรายได้ประจำ การขอสินเชื่อไม่ยุ่งยาก เพียงแต่เตรียมเอกสารตามที่ธนาคารพาณิชย์ขอ เช่น สลิปเงินเดือนล่าสุด บัตรประชาชน ฯลฯ ในขณะที่หากเป็นเจ้าของกิจการ ให้แสดงหลักฐานการเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝากของกิจการ หรือของตนเอง หรือสมุดลงบัญชีรายรับ-รายจ่ายของกิจการ เป็นต้น
ส่วนผู้ประกอบธุรกิจครอบครัว ร้านค้า หรือร้านแผงลอย ที่ไม่มีหลักฐานทางการเงิน เช่น บัญชีรายรับ-รายจ่าย ก็ยังมีโอกาสที่จะได้รับสินเชื่อ เพราะสถาบันการเงินบางแห่งมีความถนัดทำธุรกิจกับลูกค้ารายย่อย เช่น อาจส่งเจ้าหน้าที่ไปสังเกตการณ์แผงลอยของผู้ขอสินเชื่อเพื่อประเมินความสามารถในการหารายได้ของผู้ขอสินเชื่อ
หรืออีกวิธีใช้ “การเดินบัญชี” โดยฝากเงินเป็นประจำกับธนาคารที่เราต้องการกู้เงินเท่าๆกันทุกเดือน เพื่อให้ธนาคารเห็นว่าเรามีเงินเหลือรายเดือนเพียงพอในการชำระหนี้เงินกู้ได้ เช่น ธนาคารกสิกรไทยมีบริการ “ไม่มีสลิปเงินเดือนก็กู้เงินได้” มีเงื่อนไขให้นำเงินมาฝากในอัตราเท่ากันทุกเดือน เป็นเวลา 12 เดือน
โดยหากจะขอสินเชื่อบุคคล และบัตรเครดิตจะได้รับเงินกู้ 10 เท่าของยอดเงินฝากสะสม สินเชื่อรถยนต์ 45 เท่า และสินเชื่อบ้าน 125 เท่า ยกตัวอย่าง เช่น ฝากเงินเดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา 12 เดือน จะได้รับวงเงินกู้สินเชื่อบุคคล หรือบัตรเครดิต สูงสุดถึง 100,000 บาท หรือสินเชื่อรถยนต์ 450,000 บาท และสินเชื่อบ้าน 1.25 ล้านบาท
ขณะที่คำถามยอดฮิตในการขอสินเชื่อคือ ประวัติหนี้เสียก็ไม่มี แต่ทำไมขอสินเชื่อไม่ผ่าน !
เหตุผลที่รวบรวมมาอาจมีได้หลายประการ เช่น ภาระหนี้เดิมที่มีอยู่มากเกินไป และความสามารถในการชำระหนี้น้อย หลัก ประกันมีความเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงจากตัวหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือผู้ค้ำประกัน โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้มีมาก และประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาของลูกหนี้ไม่ดี
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุอะไร ธปท.กำหนดให้สถาบันการเงินต้องชี้แจงเหตุผลที่ไม่ปล่อยสินเชื่อให้ทราบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าธนาคารพาณิชย์ทำเฉยๆ ให้ผู้ขอสินเชื่อสอบถามเพื่อให้ขอทราบความจริงได้
“มีหนี้สินเดิมเท่าไหร่ ธนาคารพาณิชย์ถึงไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่ม” ปกติแล้ววงเงินในการผ่อนชำระหนี้รายเดือนของคนปกติ ไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ในแต่ละเดือน เช่น ถ้าผู้ขอสินเชื่อมีรายได้ 12,000 บาทต่อเดือน จะสามารถผ่อนหนี้ได้ประมาณ 4,000 บาท ดังนั้น หากเรามีภาระผ่อนหนี้อยู่แล้วเดือนละ 5,000 บาท ก็เป็นไปไม่
ได้ที่ธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อให้อีก เพราะกลัวว่าเราจะไม่สามารถใช้หนี้คืนได้
ทั้งนี้ หากท่านต้องการตรวจสอบภาระหนี้สินที่ตนมีกับสถาบันการเงินต่างๆ ว่ามากน้อยแค่ไหน สามารถติดต่อขอทราบรายละเอียด และตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตนเองได้ที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร)
ส่วนกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ให้คำตอบว่า “เราติด Blacklist” หรือติดบัญชีดำของเครดิตบูโร นั้น ที่จริงไม่ได้แปลว่า “เครดิตบูโร” ห้ามไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้เรา แต่เป็นเพราะ “เครดิตทางการเงินของเราไม่ดี ทำให้ธนาคารพาณิชย์ตัดสินใจไม่ปล่อยกู้” และถ้าเป็นอย่างนี้ “หากประวัติเครดิตไม่ดีจะต้องแก้ไขอย่างไร”
ถ้ายังอยู่ในช่วงผิดนัดชำระหนี้ให้รีบติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นหนี้เพื่อชำระหนี้ที่ค้างให้เสร็จสิ้น เริ่มสร้างประวัติสินเชื่อใหม่ ชำระหนี้ให้ตรงเวลา แม้จะไม่สามารถลบประวัติเครดิตที่ไม่ดีออกได้ในทันที แต่อย่าเพิ่งท้อ เพราะสถาบันการเงินจะส่งข้อมูลเครดิตล่าสุดให้กับเครดิตบูโรทุกเดือน การชำระหนี้ใหม่ที่ดีจะค่อยๆทยอยเข้าไปแทนที่ประวัติไม่ดี และเมื่อครบ 3 ปี ประวัติส่วนที่เคยไม่ดีจะถูกลบหายไป และเราจะขอสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ได้อีกครั้ง
ผ่อนหนี้ไม่ไหวทำอย่างไรดี
คราวนี้มาถึงคนที่ได้รับเงินกู้ไปแล้ว แต่เกิดปัญหาฉุกเฉินเริ่มที่จะผ่อนชำระหนี้ที่มีอยู่ไม่ไหว เช่น ตกงาน ป่วยไข้ไม่สบาย หรือมีภาระอื่นที่ต้องจ่าย อย่าตัดสินใจกู้หนี้นอกระบบมาชำระหนี้คืนเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดหนี้พอกพูนเป็น “ดินพอกหางหมู” จนแก้ปัญหาไม่ไหว
แนวทางที่ถูกต้อง ลูกหนี้ควรรีบเข้าไปคุยกับสถาบันการเงินโดยเร็วเพื่อแจ้งสาเหตุและหาทางแก้ไขปัญหา เช่น ลดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละงวดชั่วคราว จนกว่าจะสามารถกลับไปชำระเงินในแบบเดิมที่เคยตกลงกันไว้ หรือคิดว่าถ้าไม่ไหวจริงให้คุยกับธนาคารพาณิชย์เพื่อปรับโครงสร้างหนี้
ไม่ควรใช้วิธีหนี หากสถาบันการเงินติดต่อมาไม่ควรเลี่ยงหรือไม่รับรู้ เช่น ไม่ยอมรับโทรศัพท์ จดหมาย เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีก รวมทั้งอาจมีค่าใช้จ่ายอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้
ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ทำอย่างไรนั้น จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามปัญหาของลูกหนี้ โดยธนาคารเจ้าหนี้จะมีการพิจารณาเป็นกรณีๆ เช่น ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ ลดเงินผ่อนชำระลง หรือ ชำระแค่ดอกเบี้ย พร้อมกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม เมื่อลูกหนี้แข็งแรง จึงจะกลับมาผ่อนค่างวดเป็นปกติ
ยกตัวอย่างเช่น การยืดระยะเวลาการชำระหนี้ จากปกติผ่อนค่างวดเดือนละ 12,000 บาท เมื่อพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้แล้ว เห็นว่าผ่อนได้เต็มที่เดือนละ 8,000 บาท ก็จะลดวงเงินผ่อนรายเดือนลง แต่เพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระ เช่น จากเดิมต้องผ่อนชำระเสร็จภายใน 15 ปี ก็เลื่อนระยะเวลาการผ่อนออกไปเป็น 17-18 ปี
หรือกรณีมีหนี้บัตรเครดิต 3 ใบ ใช้เต็มวงเงินใบละ 100,000 บาท หรือรวมเป็นหนี้ 300,000 บาทต่อเดือน ต้องผ่อนชำระขั้นต่ำ 10% หรือเดือนละ 30,000 บาท แต่มีเงินที่ผ่อนชำระได้เพียงเดือนละ 20,000 บาท แนวทางแก้ไขคือ การรวมหนี้บัตรเครดิตทั้งหมดที่มีอยู่ แล้วขอกู้สินเชื่อบุคคลมาโปะหนี้บัตรเครดิตทั้งหมด เพื่อให้ลดวงเงินการผ่อนรายเดือนที่สูงมากลง และเลือกค่างวดในการผ่อนชำระที่เหมาะสมกับความสามารถชำระหนี้เราแทน
ในทางตรงกันข้าม หากมีเหตุการณ์ดีๆทางการเงินในชีวิตเกิดขึ้น เช่น ได้โบนัสก้อนใหญ่ ถูกรางวัล ลูกหนี้ก็อาจจะเอาเงินที่ได้ไปจ่ายเงินคืนหนี้ ซึ่งอาจจะเป็นการจ่ายทั้งหมด หรือเพื่อให้เงินต้นลดลงบางส่วนก็ได้ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ภาระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลดลง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นหนี้ผ่อนบ้าน เงินที่โปะลงไปจะไปตัดเงินต้นทันที แต่ต้องดูเงื่อนไขที่ทำสัญญากับสถาบันการเงินว่าห้ามโปะหนี้ในปีใดของการชำระ เช่น ในช่วงดอกเบี้ยคงที่ 3-5 ปีแรก ถ้าโปะจะมีการคิดค่าปรับเมื่อชำระก่อนครบกำหนด ส่วนกรณีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ตามเงื่อนไขห้ามโปะชำระหนี้ ยกเว้นจะปิดบัญชีที่เหลือทั้งหมด โดยหากเราโปะเงินทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีสถาบันการเงินจะลดดอกเบี้ยที่เหลือลงครึ่งหนึ่งหรือ 50%
ส่งท้ายระบบการเงินปลายปี 2555 ด้วยทิศทางอัตราดอกเบี้ยของปีใหม่ 2556 ธนาคารพาณิชย์ฟันธงตรงกันว่า ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ลดลงตามด้วย ในขณะนี้คาดกันว่าการขยายตัวของสินเชื่อปีหน้ายังอยู่ในตัวเลข 2 หลัก สภาพคล่องยังดี เงินล้นระบบ สัญญาณอันตรายเดียวที่มีคือ “หนี้ครัวเรือน” ที่มีแนวโน้มสูงมาก.
ที่มา http://www.thairath.co.th/content/eco/316895
|