Home » บทความทั่วไป ความรู้น้ำท่วม » การซ่อมแซมบ้าน (หลังน้ำท่วม)

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
การซ่อมแซมบ้าน (หลังน้ำท่วม)

รอบบ้านมีน้ำท่วมจะทำอย่างไร

          ในกรณีที่บริเวณรอบบ้านต่ำกว่าถนนสาธารณะ ซึ่งเพิ่มความสูงมาทีหลัง ทำให้บ้านต่ำ มาก มีวิธีแก้ปัญหาดังนี้
การแก้ปัญหาก็คือ ทางเข้าหน้าบ้านทำความลาดเป็นลักษณะหลังเต่า เพื่อป้องกันน้ำจากถนนไม่ให้เข้าบริเวณบ้าน และต้องทำขอบคันดินรอบบ้านหรือทำรั้วด้านล่างให้ทึบ เพื่อป้องกันน้ำ พร้อมทั้งทำท่อระบายน้ำรอบบ้าน โดยมีบ่อพักรวม เพื่อปั๊มน้ำออกนอกบ้านเมื่อเวลาจำเป็น  อีกวิธีถ้ามีเงินพอ ก็ควรถมที่ให้สูงกว่าระดับถนนสาธารณะเลย ก็จะแก้ปัญหาได้ถาวร

การยกบ้านเพื่อหนีปัญหาน้ำท่วม

          ถ้าน้ำท่วมมากๆ จะยกบ้านให้หนีปัญหาน้ำท่วมนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มีสิ่งต่างๆ ที่ต้องระวัง อย่างมาก  ถ้าเป็นบ้านที่มีโครงสร้างทั้งหมดเป็นไม้ ก็พอที่จะเป็นไปได้ เพราะมีน้ำหนักเบา  แล้วการยึดส่วนต่างๆ ก็ยังยืดหยุ่นได้มากกว่า  ถ้าเป็นบ้านที่มีโครงสร้างเป็นปูน ส่วนต่างๆ จะยึดติดกันเป็นเนื้อเดียว ซึ่งเมื่อบิดเพียงเล็กน้อย ก็จะเกิดการแตกร้าวได้ ทั้งยังมีน้ำหนักมากด้วย และบ้านปูนยังมีเสาเข็มที่หล่อติดกับตัวฐานราก จะต้องตัดออกแล้วเสริมฐานรากใหม่ ซึ่งทำได้ยากมาก

          นอกจากโครงสร้างแล้ว ยังมีงานระบบต่างๆ ที่ติดกับพื้นดิน เช่น ท่อประปา ท่อไฟฟ้า ส่วนต่างๆ เหล่านี้ต้องตัดออก แล้วเชื่อมใหม่ทั้งสิ้น ค่อนข้างยุ่งยาก  ถ้าผู้รับเหมาไม่มีความชำนาญพอ ก็จะเสี่ยงมาก อาจจะเสียบ้านไปทั้งหลัง ค่าใช้จ่ายเหมือนสร้างใหม่เลย

สาเหตุที่น้ำซึมขึ้นมาบนพื้นเวลาน้ำท่วม

          ถ้าเวลาน้ำท่วมบ้าน เกิดน้ำซึมขึ้นมาบนพื้นห้อง อาจจะเกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้
          1.โครงสร้างพื้นแตกร้าวอยู่เดิมแล้ว หรืออาจจะเกิดจากแรงดันน้ำก็ได้ แก้ไขโดยสกัดออกให้ร่อง แล้วใช้กาวคอนกรีตอุดให้เรียบร้อย แล้วจึงปิดด้วยวัสดุปูพื้นให้เหมือนเดิม
          2. เนื่องจากพื้นเป็นพื้นสำเร็จรูป หรือระบบพื้นที่วางอยู่บนดิน ไม่ได้ต่อยึดกับคาน  ถ้ามีรอยซึมสามารถใช้ซิลิโคนอุดรอยรั่วได้
          3. เกิดจากรูที่บริษัทกำจัดปลวกเจาะทิ้งไว้ วิธีแก้ไข เมื่อเจอรูแล้วก็อุดเสียให้เรียบร้อยด้วยไม้ และอุดทับด้วยซิลิโคน

 

การซ่อมแซมพื้นบ้านหลังน้ำท่วม

หลังน้ำท่วมถ้าพื้นไม่เสียหาย ก็ทำความสะอาดให้เรียบร้อย ก็สามารถใช้ได้ แต่ถ้าเสียหาย มีวิธีแก้ไข คือ
-พื้นไม้ปาร์เก้ จะหลุดล่อนง่ายเมื่อโดนน้ำท่วม เพราะติดกับพื้นคอนกรีตด้วยกาว  วิธีแก้ก็คือ ถ้าแผ่นปาร์เก้ไม่เสียหายมากก็ผึ่งลมให้แห้งก่อน รวมถึงพื้นคอนกรีตด้วย  แล้วจึงทาด้วยกาวลาเท็กซ์ หนา 1-2 มิลลิเมตร ค่อยๆ กดลงไปที่เดิมให้แน่น ทิ้งไว้อย่างน้อย 15 วันจึงใช้งานได้ ถ้าเสียหายมากจะเปลี่ยนใหม่ต้องใช้ไม้ชนิดเดียวกับของเดิม
-พื้นพรมต้องลอกออก แล้วนำไปซักและตากแดดให้แห้งสนิท แล้วจึงนำกลับมาปูใหม่ โดยพื้นคอนกรีตต้องแห้งก่อนเช่นเดียวกัน

 
 

การซ่อมแซมผนังบ้านหลังน้ำท่วม

         วัสดุต่างๆ ที่ใช้ทำผนังบ้าน เมื่อเวลาถูกน้ำท่วมนานๆ ก็จะเกิดความเสียหายแน่นอน มี วิธีแก้ไข คือ

         1. ถ้าเป็นผนังไม้ เช็ดทำความสะอาด เพื่อให้ผิวสามารถระเหยความชื้นได้ง่าย เมื่อแห้ง ดีแล้วใช้น้ำยารักษาเนื้อไม้ชะโลมที่ผิว หรือทาสีต่อไป วิธีที่ดีควรทาสีด้านในบ้านก่อน ทิ้งไว้ 5-6 เดือน จึงทาสีด้านนอก

         2. ถ้าเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูน ก็ใช้วิธีเดียวกับผนังไม้ แต่ต้องทิ้งให้ระเหยความชื้นนานกว่า  ผนังไม้ เพราะมีความหนามากกว่า

         3. ถ้าเป็นผนังยิบซั่มบอร์ด ก็เลาะเอาแผ่นที่เสียออก ถ้าโครงเคร่าเป็นโลหะก็สามารถติดแผ่นใหม่ได้เลย แต่ถ้าโครงเคร่าเป็นไม้ ต้องทิ้งไว้ให้ความชื้นในไม้ระเหยหมดก่อน จึงจะติดแผ่น ใหม่ได้

การซ่อมวอลล์เปเปอร์หลังน้ำท่วม

          เมื่อน้ำท่วมบ้านที่มีผนังบุด้วย วอลล์เปเปอร์ มีวิธีแก้ไขและซ่อมแซม ดังนี้ วอลล์เปเปอร์จะมีลักษณะคล้ายสี ถ้าโดนความชื้นมากๆ  จะลอกหรือร่อน การแก้ไขก็โดยการลอกออกให้หมด เพื่อให้ผนังที่ชื้นสามารถระเหยออกมาได้ โดยรอให้ผนังแห้งจริงๆ ทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ แล้วจึงปิด วอลล์เปเปอร์ทับลงไป อาจจะปิดเองถ้าทำได้ หรือตามช่างมา ก็ได้ ถ้าส่วนไหนขึ้นราหรือเป็นคราบเช็ดไม่ออก ก็สามารถเปลี่ยนแผ่นใหม่ โดยเลือกให้มีลวดลายเหมือนเดิม ก็จะได้ผนังสวยงามเหมือนก่อนน้ำท่วม

 การซ่อมแซมฝ้าเพดานบ้านหลังน้ำท่วม

           การซ่อมแซมฝ้าเพดาน จะมีลักษณะคล้ายๆ การซ่อมผนังและพื้นปนกัน มีวิธีการแก้ไขคือ ถ้าเป็นฝ้าเพดานยิปซั่มบอร์ด หรือกระดาษอัด  ถ้าเปื่อยยุ่ยมากเพราะอมน้ำ ก็ควรเลาะ ออกแล้วจึงเปลี่ยนแผ่นใหม่เลย ทิ้งไว้ให้ทั้งหมดแห้งสนิทจริงๆ แล้วจึงทาสีทับ
           - ถ้าเป็นฝ้าโลหะ ให้เช็ดทำความสะอาดให้แห้ง ถ้าเป็นสนิม ก็ใช้กระดาษทรายขัดออกให้เรียบร้อย แล้วจึงทาสีทับเข้าไปใหม่
           - ระบบสายไฟส่วนใหญ่ จะเดินในฝ้าเวลาเปิดฝ้าเข้าไปต้องตรวจดูว่าความเรียบร้อยว่า มีส่วนใดชำรุดหรือเปล่าด้วย
           - ถ้าโครงฝ้าเพดานที่เป็นไม้ เกิดการแอ่นหรือทรุดตัว ต้องแก้ไขให้ได้ระดับก่อนการติดตั้งแผ่นฝ้าใหม่

การซ่อมแซมประตู หลังน้ำท่วม

          ประตูต่างๆ เมื่อถูกน้ำแช่อยู่นานๆ ก็จะบวมขึ้น หรือไม่ก็จะเกิดเป็นสนิม มีวิธีแก้ไขคือ
          1. ประตูไม้ เมื่อโดนแช่น้ำก็จะบวมและผุพัง มีวิธีแก้ก็โดยทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วซ่อมแซมส่วนที่ผุให้เรียบร้อยแล้วจึงทาสีใหม่ แต่ถ้าผุมาก ก็ควรจะเปลี่ยนเลย
          2.ประตูเหล็กที่ขึ้นสนิม ก็ใช้กระดาษทรายขัดสนิมออกให้หมด เช็ดให้สะอาดแล้วจึงทาสีใหม่ โดยอย่าลืมทาสีกันสนิมก่อน แต่อย่าลืมดูรอยต่อต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นท่อโครงเหล็กว่า มีน้ำหลงเหลืออยู่เหลือเปล่า ต้องให้แห้งจริงๆ ก่อนจึงจะทาสีได้

การซ่อมแซม บานพับ ลูกบิด และรูกุญแจหลังน้ำท่วม

อุปกรณ์ต่างๆ เช่น บานพับ ลูกบิด และรูกุญแจ ทำด้วยโลหะ เมื่อโดนน้ำท่วมย่อมมี ปัญหาตามมา มีวิธีแก้ไข คือ
          - เช็ดให้แห้งสนิท ขัดส่วนที่เป็นสนิมออกให้หมด ใช้พวกน้ำยาหล่อลื่นชโลมตามจุดรอยต่อและรูต่างๆ ให้ทั่ว
          - อย่าใช้จาระบี หรือพวกขี้ผึ้งทา เพราะจะทำให้ความชื้นระเหยออกไม่ได้ จะทำให้ฝังอยู่ข้างใน และจะเป็นปัญหาในภายหลัง
          - ถ้ายังใช้การไม่ได้ ก็ลองทำตามวิธีที่ว่านี้หลายๆ ครั้ง ถ้ายังมีปัญหา ก็ควรจะต้องถอดออก แล้วซื้อมาเปลี่ยนใหม่

การทาสีบ้านหลังน้ำท่วม

         การทาสีบ้านหลังน้ำท่วม ควรจะทำเป็นสิ่งสุดท้าย ควรที่จะซ่อมแซมส่วนอื่นๆ เสียก่อน ปล่อยให้แห้งสนิทก่อน แล้วจึงทำการแก้ไข  เพราะสีทุกชนิดที่ใช้ทาบ้าน เมื่อโดนน้ำท่วมนานๆ ก็จะเกิดการลอกและล่อนออกมาได้ เนื่องจากความชื้นของน้ำ วิธีแก้ไขคือ ต้องขูดสีเดิมที่ลอกและล่อนออก ทำความสะอาดผนังให้เรียบร้อย ทิ้งไว้ให้แห้งสนิท ถ้าทำได้ควรจะเป็น 3-6 เดือนเลยยิ่งดี เมื่อแห้งแล้วจึงทาสีรองพื้นชนิดกันเชื้อรา แล้วจึงทาทับด้วยสีจริงอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง

การตรวจสอบระบบประปาหลังน้ำท่วม

         หลังน้ำท่วมระบบที่สำคัญและไม่ควรมองข้ามไปก็คือ ระบบประปาภายในบ้าน มีสิ่ง ที่ควรตรวจสอบ ดังนี้
          - ถังเก็บน้ำใต้ดิน ต้องตรวจดูว่าน้ำท่วมถึงหรือเปล่า ถ้าท่วมควรล้างภายในถังทั้ง หมด เพราะน้ำที่ท่วมไม่สะอาดเท่าน้ำประปา
         - ถ้ามีปั๊มน้ำต้องตรวจดูว่าเครื่องทำงานผิดปกติหรือเปล่า แรงดันน้ำลดหรือไม่ ถัง อัดลมเก็บแรงอัดไว้ได้นานหรือเปล่า แต่ถ้าน้ำท่วมปั๊ม ต้องรอให้แห้งเสียก่อน อย่าใช้งานทันที ถ้ามีปัญหาควรตามช่างมาแก้ไขจะดีกว่า เพราะอาจจะทำให้ไฟไหม้ได้

ปัญหาต่างๆ ของส้วมหลังน้ำท่วม

         ปัญหาต่างๆ ของบ้านหลังน้ำท่วมจะมีอยู่มากมาย โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับส้วมมีในระหว่างน้ำท่วม เราคงปิดระบบไฟฟ้าทั้งหมด  แต่เมื่อน้ำลดแล้ว เราต้องตรวจสอบดังนี้
         1. เปิดคัตเอ๊าต์ให้ไฟเข้าระบบ ถ้าส่วนใดยังชื้นอยู่คัตเอ๊าต์จะตัดและฟิวส์จะขาดทิ้งไว้ประมาณ 1 >วัน เปลี่ยนฟิวส์ แล้วลองเปิดใหม่ ถ้ายังตัดอีก คงต้องตามช่างไฟฟ้ามาตรวจดู
         2. เมื่อไฟไม่ตัดแล้วลองเปิดไฟดูทุกดวง แล้วใช้ไขควงชนิดตรวจกระแสไฟโดยเฉพาะ
         3. ดับไฟทุกจุดและถอดเครื่องใช้ไฟฟ้าตามปลั๊กออกทั้งหมด แล้วตรวจดูที่มิเตอร์ไฟฟ้าว่าตัวเลขยังเดินอยู่หรือเปล่า ถ้าเดินแสดงว่าระบบไฟฟ้าในบ้านรั่ว ควรตามช่างไฟฟ้ามาเช็คดู

วิธีเตรียมระบบไฟฟ้าสำหรับบ้านที่น้ำท่วม

         ระบบไฟฟ้าเป็นสิ่งที่มีอันตรายมาก สำหรับบ้านที่น้ำท่วมเป็นประจำ ควรเตรียมระบบไฟฟ้าใหม่ ดังนี้
          - ตัดระบบไฟฟ้าของปลั๊กเดิมทิ้ง ย้ายให้สูงขึ้นมาจากระดับพื้นประมาณ 1 เมตร เพื่อให้พ้นระดับน้ำ ส่วนชั้นบนของบ้านสองชั้นไม่จำเป็นต้องย้าย เพราะระดับน้ำท่วมไม่ถึง
          - แยกระบบไฟฟ้าในส่วนที่น้ำท่วมบ่อยๆ ออกเป็นอีกวงจรหนึ่ง เพื่อสะดวกในการปิด- เปิดโดยเฉพาะ ส่วนปลั๊กที่อยู่ชั้นล่าง
         ถ้าท่านรู้ตัวว่าบ้านของท่านอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมบ่อย เวลาออกแบบ้านก็ควรให้วิศวกรแยกระบบไฟฟ้าตั้งแต่แรก ก็จะประหยัดงบประมาณได้มาก และจะสวยงามกว่าที่จะมารื้อและแก้ ไขในภายหลัง

วิธีจะใช้เครื่องไฟฟ้าหลังโดนน้ำท่วม

         เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ จะมีมอเตอร์และเครื่องจักรกลต่างๆ เมื่อโดนน้ำเข้าไปแล้วจะมี ความชื้นอยู่ ซึ่งเป็นอันตรายมาก มีข้อควรปฏิบัติ  ดังนี้
          - ก่อนอื่นต้องทิ้งเอาไว้ให้แห้งสนิทจริงๆ บางส่วนถึงถอดออกได้ ก็ควรเปิดออกมาตากลมให้แห้งก่อน
          - เมื่อแน่ใจว่าแห้งแล้ว ก็ลองเปิดเครื่องดู ถ้ามีความผิดปกติก็ควรดับเครื่องทันที
          - และสำหรับที่คัตเอ๊าต์ไฟฟ้า ควรมีฟิวส์ไว้เมื่อเกิดการลัดวงจรไฟฟ้าจะได้ถูกตัดออก
          - ถ้ามีปัญหาจริงๆ ก็ควรนำไปให้ช่างแก้ไขดีกว่าจะทำเอง

การซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์หลังน้ำท่วม

          การซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์ก็คล้ายๆ กับการซ่อมแซมพวกประตู หน้าต่าง พื้น หรือฝ้า เพดาน มีวิธีดังนี้
           - พยายามเอาความชื้นออกจากเฟอร์นิเจอร์ให้มากที่สุด
           - พวกประเภทที่บุด้วยนุ่นหรือฟองน้ำ ถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนเลย เพราะน้ำจะพาเอาเชื้อโรคมาติดอยู่ ถึงจะตากแดดให้แห้ง เชื้อโรคก็ยังมีอยู่
           - เฟอร์นิเจอร์ที่ติดกับที่ที่เรียกว่า Built in ต้องตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้าง และสายไฟที่ฝังอยู่ในตู้ รวมถึงทำความสะอาดรูกุญแจและลูกบิด
           - ส่วนเฟอร์นิเจอร์ไม้ ไม่ควรนำไปตากแดด เพราะจะทำให้บิดงอได้ และถ้าจะทาสีใหม่ ควรรอให้แห้งสนิทก่อน มิฉะนั้นจะลอกได้

วิธีช่วยต้นไม้ทีโดนน้ำท่วม

           ถ้าบ้านของท่าน น้ำท่วมนานๆ ต้นไม้กำลังจะตาย มีวิธีช่วยให้อยู่รอดได้ ดังนี้
            1. อย่าให้ปุ๋ย เพราะน้ำท่วมทำให้รากอ่อนแอ ต้องการเวลาพักฟื้น
            2. ขุดหลุมกว้างประมาณ 50 ซม.-1 เมตรไว้ข้างๆ ต้นไม้ เพื่อให้น้ำที่ขังอยู่บริเวณรากไหลมารวมกัน แล้วเอาเครื่องดูดน้ำออกไป หรือจะใช้วิธีตักออกก็ได้
            3. ถ้ารากต้นไม้ไม่แข็งแรง อย่าอัดดินลงไป จะทำให้ต้นไม้ตาย ควรใช้ไม้ค้ำยันลำต้นไว้ เมื่อรากแข็งแรงแล้ว จึงเอาไม้ค้ำออก

การซ่อมแซมรั้วบ้านหลังน้ำท่วม

           เมื่อน้ำท่วมอยู่นานๆ รั้วบ้านก็จะมีปัญหาเช่นกัน มีวิธีซ่อม คือ
            - ลองเล็งด้วยสายตา ถ้าเอียงเล็กน้อยก็นำไม้มาค้ำยันไว้ก่อน ถ้าเอียงมากก็ควร ตามช่างมาซ่อม
            - ส่วนใหญ่ข้างล่างของรั้วจะมีคานคอดินอยู่ บางครั้งน้ำจะพัดเอาดินใต้คานนี้หายไปเป็นโพรง ต้องรีบนำดินมาถมให้แข็งแรง มิฉะนั้นดินในบ้านจะไหลออกไปข้างนอกหมด ถ้าไหลออกไปมากๆ อาจทำให้บ้านเอียงได้
           - ควรตรวจประตูรั้วด้วย สำหรับที่เป็นเหล็กก็ขูดสนิมออกให้หมด แล้วทาสีใหม่ ส่วนบานพับก็หาน้ำมันหล่อลื่นมาหยอดเพื่อที่จะได้เปิด-ปิดได้สะดวก ถ้าเสียหายมากก็ควรเรียกช่างมาเปลี่ยนใหม่

ข้อมูลจาก "ร้อยพันปัญหาในงานก่อสร้าง" 

บทความแนะนำเพิ่มเติม  หนังสือ บ้านหลังน้ำท่วม โดย คุณยอดเยี่ยม เทพธรานนท์