Home » บทความทั่วไป ความรู้น้ำท่วม » การป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินตามบ้านเรือน

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
การป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินตามบ้านเรือน


บอร์ด ถาม-ตอบ กฏหมายในงานตำรวจ
โดย somboon51 วันที่  31 สิงหาคม 2010

            วันนี้ในหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  มีภาพผมกำลังยืนสำรวจดูตู้เซฟที่ถูกคนร้ายเข้าไปงัดทำลายเพื่อโจรกรรมทรัพย์สิน ถ้าดูจากภาพ จะเห็นสีหน้าที่เคร่งเครียดของผม กำลังมีความฉงนสนเท่ห์ว่า ตู้เซฟที่มีความมั่นคงแข็งแรงขนาดนี้ ระบบการป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินขนาดนี้ ยังไม่สามารถป้องกันคนร้ายที่เข้าไปลักทรัพย์ภายในเคหสถานได้อีกหรือ???  ความจริงในที่เกิดเหตุ ก็มีระบบการป้องกันที่ดีแล้ว คือ มีพนักงานรักษาความปลอดภัยหนึ่งคนประจำอยู่ในคืนที่เกิดเหตุ มีกล้องวงจรปิดที่สามารถจับภาพคนร้ายได้ มีการติดเหล็กดัดที่หน้าต่าง แต่คดีนี้คนร้ายเข้าทางประตูด้านหลังที่เปิดไว้ ในที่เกิดเหตุมีคนอยู่ไม่ต่ำกว่า 5-6 คน เหตุเกิดที่ชั้นหนึ่ง มีคนนอนอยู่ที่ชั้นสามจำนวน 2-3 คน ด้านนอกประตูทางเข้าด้านหลัง มี รปภ. ทำหน้าที่อยู่ มีคนขับรถที่เข้าไปรับ-ส่งสินค้าที่บริเวณใกล้ประตูด้านหลัง ซึ่งคนร้ายแฝงตัวเข้าไปก่อเหตุ  

           ผมเคยกล่าวถึงแนวทางในการป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สิน 5 มาตรการ โดย

  1. มาตรการโดยตำรวจ เช่น มาตรการสายตรวจ การติดตั้งตู้แดง  การตั้งด่านตรวจ
  2. มาตรการโดยเจ้าของสถานที่ เช่น เจ้าของอาคารสถานที่ เจ้าของสถานที่ โดยการสร้างกำแพง ติดตั้งเหล็กดัด  ปรับปรุงสภาพแวดล้อม
  3. มาตรการโดยผู้ใช้สถานที่ เช่น ผู้เช่า ผู้อยู่อาศัย
  4. มาตรการโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น ระบบไฟฟ้าส่องสว่างริมทาง ตัดต้นไม้ริมทางไม่ให้รกทึบ
  5. มาตรการโดยใช้เทคโนโลยี เช่น กล้องวงจรปิด

            ผมจะกล่าวเพื่อเตือนใจชาวบ้านหรือประชาชนเสมอว่า อย่าคาดหวังการป้องกันอาชญากรรมจากตำรวจ 100 % โดยเฉพาะการป้องกันอาชญากรรมในเคหถสถาน ซึ่งเป็นพื้นที่ปฐมภูมิ ไม่อนุญาตให้ตำรวจเข้าไป ตำรวจจะมีความสามารถในการป้องกันเหตุในพื้นที่สาธารณะ เช่น ตามถนน หนทาง ตลาด สถานที่ที่อนุญาตให้คนทั่วไปเข้า-ออก เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า รวมถึงพื้นที่ทุติยภูมิ(พื้นที่ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ปฐมภูมิ (พื้นที่ที่อนุญาตให้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไป )เช่น  ลานจอดรถในหอพัก บริเวณหน้าลอบบี้ของโรงแรม บริเวณหน้าลิฟท์ พื้นที่ในหมู่บ้านจัดสรร

            ในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ามาตรการโดยเจ้าของสถานที่ มีมาตรการในการป้องกันเหตุที่ค่อนข้างดีพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น ร้านทองในพื้นที่ที่ผมรับผิดชอบ มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด จำนวน 16 ตัว  มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอดเวลาที่เปิดทำการ  มีการติดตู้แดงซึ่งอยู่หน้าร้าน  มีการติดตั้งกลไกของประตูทางเข้า-ออก  มีการกั้นเหล็กดัดเพื่อไม่ให้คนร้ายปีนเข้าไปหาพนักงานคนขายทองหลังเคาน์เตอร์ได้  เรียกได้ว่าเป็นร้านทองในฝันของผมทีเดียว แต่จริงๆ แล้วอยากนำเอาระบบของตำรวจนครบาลมาใช้นั้นก็คือการติดตั้งสัญญาณแจ้งเตือนเหตุที่หน้าร้านทองเข้าไปอีก เมื่อเกิดเหตุก็มีสัญญาณไฟวับวาบสีแดงแสดงหรือโชว์ให้เห็นและมีเสียงไซเรนดังแจ้งเตือน  หรือแม้กระทั่งคดีงัดตู้เซฟที่เป็นข่าว ผมก็คิดว่าทางเจ้าของสถานที่มีระบบการป้องกันที่ค่อนข้างดีแล้ว 

             วันนี้ผมได้มีโอกาสกลับเข้าไปที่สถานที่เกิดเหตุอีกครั้งหนึ่ง และได้พูดคุยกับเจ้าของสถานที่ถึงเรื่องมาตรการในการป้องกัน เขาบอกว่ามีบริษัทหนึ่งเสนอให้ติดตั้งสัญญาณกันขโมย ซึ่งมีรถโมบายเคลื่อนที่ทำหน้าที่ในการรับสัญญาณและแจ้งเตือน เขาคิดค่าใช้จ่ายประมาณหนึ่งแสนกว่าบาท ความจริงแล้วหลังจากตรวจที่เกิดเหตุตามภาพที่ปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์ ผมได้ไปพบกับตัวแทนจำหน่ายสัญญาณกันขโมยในบ้าน คนหนึ่ง กำลังให้เขาเขียนรายละเอียดถึงรูปแบบและวิธีการทำงานของสัญญาณกันขโมยเข้าบ้านซึ่งจะติดตั้งที่ทางเข้า-ออก เช่น ประตู หน้าต่าง ในเบื้องต้นตัวอุปกรณ์สัญญานกันขโมยซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาประมาณ 5,900 บาท ค่าบริการติดตั้งอีกไม่เกิน 2,000 บาท สามารถติดตั้งตัวเซนเซอร์ที่รับสัญญาณจากผู้บุกรุกได้ประมาณ 60 จุด แยกควบคุมการทำงานในแต่ละชั้นของบ้านได้ เมื่อมีผู้บุกรุก สัญญาณเสียงจะแจ้งเตือนที่บ้านนานประมาณ 5 นาที และจะแจ้งเตือนไปที่โทรศัพท์มือถือหรือโทรศัพท์บ้าน รวม 5 หมายเลข( หากหมายเลขที่ 1 ไม่รับสายหรือไม่รับสัญญาณ ก็จะแจ้งเตือนไปที่หมายเลขที่ 2) แม้เจ้าของบ้านไม่อยู่บ้าน ก็จะทราบได้ว่ามีผู้บุกรุกเข้าไปที่บ้าน รับประกัน 1 ปี  หลังจากนั้นอาจจะมีการค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดูแลซ่อมบำรุงหากระบบมีปัญหาบ้างนิดหน่อย

               ความจริงคนโบราณใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องสัญญาณกันขโมยมาก่อนหน้าเราแล้วโดยการเลี้ยงสุนัขไว้เฝ้าบ้าน คอยเห่าส่งเสียงแจ้งเตือนเมื่อมีคนแปลกหน้าบุกรุกจะเข้าไปในบ้าน (แต่สัญญาณกันขโมยแต่ดั้งเดิมในสมัยโบราณ ก็มีปัญหาตรงที่มักจะถูกยาเบื่อ ก่อนที่คนร้ายจะเข้าไปโจรกรรมทรัพย์สิน)  ในปัจจุบันเรากำลังย้อนกลับไปนำระบบสัญญาณกันขโมยกลับมาใช้อีกโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินตามบ้านเรือน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนโดยทั่วไปควรทีจะตระหนักและให้ความสำคัญพื่อเสริมมาตรการในการระวังป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สิน  ในขณะนี้มีผู้ที่สนใจยื่นความจำนงค์ที่จะติดตั้งระบบกันขโมยในบ้านตามที่ผมกล่าวมาแล้วหนึ่งราย เป็นคนเร่ขายลอตเตอรี่ซึ่งต้องเร่ขายลอตเตอรี่อยู่ในกรุงเทพฯ  ซื้อบ้านเอื้ออาทรไว้พักอาศัย ไม่ค่อยมีเวลาอยู่บ้าน เพิ่งจะถูกคนร้ายงัดบานเกร็ดและเหล็กดัดเตรียมจะนำทรัพย์สินออกจากบ้านไป

              ที่กล่าวมาทั้งหมดทั้งมวล ต้องการชี้ให้เห็นว่าคดีงัดตู้เซฟ เจ้าของสถานที่เขามีระบบการป้องกันที่ดีแล้ว แต่ยังขาดสัญญาณแจ้งเตือนภัยที่จะทำให้ทราบว่ามีผู้บุกรุกเข้าไปในอาคารหรือบ้านพัก นำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้ประชาชนตื่นตัวและหามาตรการวิธีการป้องกันทรัพย์สินหรือทรัพย์สมบัติอันมีค่าไม่ให้ถูกโจรกรรมไป หากมีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการในฐานะเจ้าของพื้นที่หรือผู้ใช้สถานที ก็ควรจะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันไปตามสัดส่วนที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งโดยพื้นที่ (Area) หรือการแบ่งโดยหน้าที่ (Fuction) หากแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้กระทำตามมาตรการที่กล่าวมา โดยช่วยกันอุดช่องโหว่ซึ่งเดิมเป็นการเปิดโอกาสให้คนร้าย หากตัดองค์กระกอบของอาชญากรรมในส่วนช่วงโอกาสของคนร้ายได้ เมื่อนั้นอาชญากรรมก็จะไม่เกิด การป้องกันก็จะบรรลุผล

              คำโบราณกล่าวว่า "วัวหาย ล้อมคอก"  ท่านมีความคิดเห็นประการใด เกี่ยวกับสำนวนไทยนี้
      
ที่มา       http://www.siampolice.com/forum/index.php?topic=16495.0