คืนชีวิตให้บ้านสวยหลังน้ำท่วม Refreshing House |
รู้ก่อนเลือก
ข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้ที่กำลังมองหาบ้านใหม่ หรือหาทำเลใหม่เพื่อการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ควรศึกษาประวัติความเป็นมาของพื้นที่นั้นๆ ว่า ในแต่ละมีเคยมีปัญหาน้ำท่วมขังหรือไม่ อาจสังเกตได้จากสภาพแวดล้อม สิ่งปลูกสร้างอื่นๆ เช่น ต้นไม้ กำแพงปูน หรือเสาไฟฟ้า ว่ามีรอยคราบน้ำเกาะติดอยู่หรือไม่
หรือศึกษาจากข้อมูลของภาครัฐว่าเขตใดเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน หรือน้ำท่วมขังได้ เช่น พื้นที่ชายฝั่ง หรือแถบริมตลิ่ง
ไม่เว้นแม้แต่อาคารพาณิชย์ที่มีอายุการก่อสร้างมานานกว่า 30 - 40 ปี อาจอยู่ในอาการเสื่อมสภาพโดยที่เรามองไม่เห็น เพราะมีน้ำท่วมขังในชั้นใต้ดินจนอาจทำให้ดินอ่อนตัว และส่งผลให้อาคารเหล่านี้ทรุดตัวในเวลาต่อมา
จากการสำรวจข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ และข้อมูลในสนามของกรมทรัพยากรน้ำ ยังพบว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมบนที่ลุ่มที่กินเนื้อที่กว่า 27.2 ล้านไร่ ครอบคลุมเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจถึงกว่า 30 จังหวัด ทั้งในเขตภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออก
ยังมีอีกจุดหนึ่งที่ถือเป็นจุดเสี่ยงที่ต้องระแวดระวังกันให้ดี สำหรับท่านที่มีบ้านพักอยู่ในพื้นที่บริเวณที่ราบเชิงเขาอาจเสี่ยงต่อภัยน้ำท่วมฉับพลัน และดินถล่ม หากมีการเดินทางไปพักผ่อนในช่วงหน้าฝนก็ยิ่งต้องเตรียมความพร้อมไว้ด้วยการเติมน้ำมันรถยนต์ให้เต็มตลอดเวลา ปะเหมาะเคราะห์ดีจะได้ใช้รถขับหนีออกมาทัน พร้อมทั้งต้องศึกษาเส้นทางการหลบหนีไว้ล่วงหน้า และหมั่นฟังข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยาอยู่เป็นระยะด้วยนะครับ
พร้อมไว้ไม่กลัวน้ำ
การเตรียมพร้อมรับสภาพน้ำท่วม และการติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา หรือรับฟังข่าวสารจากทางสถานีวิทยุ และโทรทัศน์อยู่เสมอจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับภาวการณ์เช่นนี้
เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ประชาชนจึงไม่ควรเก็บทรัพย์สินเงินทอง ของมีค่า เอกสารสำคัญไว้กับตัวเอง หรือไว้กับบ้านมากเกินความจำเป็น ซึ่งการนำไปฝากไว้กับธนาคารน่าจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยกว่า ส่วนบัตรประชาชนก็ควรพกติดตัวไว้เสมอ เพื่อสะดวกต่อการลงทะเบียนผู้เสียหายในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นจริง
เมื่อรับทราบประกาศแจ้งเตือน ควรรีบเคลื่อนย้ายคน สัตว์เลี้ยง สิ่งของ อุปกรณ์ไฟฟ้า และรถยนต์ไปยังพื้นที่สูง และปลอดภัยกว่า
ที่สำคัญ เตรียมพร้อมด้วยการนำถุงทราย กระสอบทรายมาไว้สร้างแนวป้องกันน้ำ และเตรียมอุดรูทางน้ำเข้าจากท่อระบายน้ำจุดต่างๆ ภายในบ้าน เช่น ซิงค์น้ำ ท่อน้ำทิ้ง เพื่อกันการไหลย้อนกลับของน้ำเสีย หากโถส้วมภายในบ้านอยู่ในระดับต่ำมากๆ ก็ควรเตรียมทำถุงทรายขนาดพอควรวางไว้ในโถส้วมเพื่อกันการไหลย้อนกลับของน้ำ และสิ่งปฏิกูล
หากจำเป็นต้องตระเตรียมอุปกรณ์ หรือทำสิ่งของ ก็ควรทำให้เสร็จภายในเวลากลางวัน เพราะช่วงกลางคืนอาจทำได้ค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะหากมีปัญหาเรื่องระบบไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง และไม่ลืมที่จะบอกญาติมิตร เพื่อนสนิท และคนบ้านใกล้เรือนเคียงให้ทราบด้วยนะครับ
เรียนรู้วิธีคืนชีวิตให้บ้านสวย
หลังน้ำลด ลองตรวจเช็คสภาพบ้านกันดูว่า มีอะไรเปลี่ยนแปลง เสียหาย หรือสูญหายไปบ้าง แล้วมาดูกันว่าเรามีงบประมาณสำหรับการซ่อมแซมกันเท่าไหร่ ก่อนจะพิจารณาดูว่าส่วนไหนสำคัญที่สุดที่จำเป็นต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน หนึ่ง สอง สาม เรียงลำดับลงมา ส่วนจุดอื่นๆ ก็ค่อยๆ ทยอยแก้ไขไปที่ละส่วน
สำหรับความเสียหายในบางส่วน เราอาจแก้ไขอาการเบื้องต้นด้วยตัวเราเอง บางปัญหาไม่จำเป็นต้องถึงมือช่าง แต่ถึงกระนั้นบางอาการก็จำเป็นที่จะต้องอาศัยความชำนาญของช่าง เช่น ความเสียหายที่เกิดกับงานระบบอย่างประปา ไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่อาจชำรุดอยู่ภายในตัวเครื่องโดยที่เรามองไม่เห็น
เพื่อให้การจัดการกับปัญหาต่างๆ ทำได้ง่ายยิ่งขึ้น จึงควรเตรียมพร้อมด้วยการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ที่จำเป็นต่องานซ่อมแซมติดบ้านไว้บ้าง เช่น ปืนยิงกาว วัสดุสำหรับอุด หรือประสานรอยร้าว รอยแตก ประเภทกาวซิลิโคน หรืออะคริลิค และโซแน็กซ์ (น้ำยากันสนิม) เป็นต้น
บางครั้งการแก้ไขปัญหาขั้นพื้นฐานด้วยตัวเอง ยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้นับพันบาทเชียวครับ
เริ่มต้นจากส่วนประกอบสำคัญในส่วนต่างๆ ของโครงสร้างตัวบ้าน อาทิ พื้นบ้าน ผนัง ประตู หน้าต่าง
พื้นบ้านหลุดร่อน อาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ บางครั้งสามารถซ่อมแซมได้ไม่ยากด้วยตัวเองดังนี้
พื้นกระเบื้อง หากแตกร้าว หรือหลุดร่อน ให้กะเทาะส่วนที่เสียหายออกเสีย ทิ้งพื้นปูนให้แห้งสนิทประมาณ 1-2 วัน ก่อนจะลงพื้นด้วยกระเบื้องสำรองที่มีอยู่ และยาขอบกระเบื้องให้เรียบร้อยอีกครั้ง แต่ถ้าหากกระเบื้องหลุดหายไปหลายแผ่น กระเบื้อสำรองที่มีอยู่อาจไม่พอต่อการซ่อมแซม การนำกระเบื้องลายอื่นมาซ่อมแซมอาจขาดความสวยงาม ในกรณีนี้หากพอจะมีงบประมาณ คุณอาจต้องตัดใจเปลี่ยนกระเบื้องใหม่ทั้งชุด
พื้นปาเก้ เป็นพื้นที่มีปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นไม้จึงมักเกิดอาการบวมเมื่อต้องเจอกับภาวะน้ำท่วมเป็นเวลาหลายวัน หากน้ำท่วมไม่นานเมื่อน้ำลดเพียงแค่ทำความสะอาด ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งด้วยการเปิดหน้าต่าง ประตูให้อากาศถ่ายเท ลมโกรก เพื่อลดความชื้นในเนื้อไม้ พื้นที่สวยงามก็อาจคืนกลับสู่สภาพปกติได้ไม่ยาก เมื่อแน่ใจว่าแห้งสนิทค่อยลงแว๊ก เคลือบเงากันใหม่
หากน้ำท่วมขังเป็นเวลาหลายวัน จนทำให้ปาเก้คืนชีพลอยฟ่องกันเป็นปลาท่องโก๋ เมื่อน้ำลดก็ควรปล่อยให้พื้นแห้งสนิท (จริงๆ) ทำความสะอาดพื้นก่อนทากาวหนาประมาณ 1-2 มล. หรือทากาวซิลิโคนที่ปาเก้ กดให้แน่นเรียบเสมอกัน ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 10-15 วัน จึงใช้งานได้ตามปกติ
(อย่าลืม! เก็บปลาท่องโก๋ เอ๊ย! ปาเก้ที่หลุดออกมาลอยเล่นน้ำเก็บไว้ซ่อมแซมหลังน้ำลดด้วยนะครับ)
แต่ถ้าหากน้ำท่วมขังมากกว่า 1 สัปดาห์ หรือนานนับเดือน ปาเก้ของคุณคงหมดทางเยียวยา กรณีนี้ก็ต้องเรียกช่างให้มาปูพื้นใหม่สถานเดียวล่ะครับ
พื้นปูพรม เมื่อถูกน้ำท่วมไม่ว่าจะมาก หรือน้อย ก็ต้องรื้อออกไปซักให้หมด เพราะการปล่อยทิ้งไว้แน่นอนว่าต้องเกิดอาการเน่าเหม็น แต่เมื่อนำออกไปซัก ตากแดดแห้งสนิทก่อนจะนำกลับมาปูใหม่ก็จะหมดปัญหาเรื่องกลิ่นอับชื้นไปโดยปริยาย และเมื่อจะปูกลับต้องแน่ใจว่าพื้นเดิมแห้งสนิทจริงๆ
ประตูหน้าต่างบวม จากความชื้น หรือแช่อยู่ในน้ำนานๆ
ประตู หน้าต่างไม้ แก้ไขโดยการทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วค่อยซ่อมแซมโดยการทาสี หรือเคลือบผิวตามความชอบ แต่ถ้าเกิดประตูหน้าต่างอมน้ำไว้มากอาจมีอาการที่เรียกว่า “ประตูตก” แก้ไขโดยการใช้ลิ่มอันเล็กๆ สอดเพื่อค้ำยัน รอจนความชื้นลดลง บานประตู หน้าต่างก็จะกลับสู่ภาวะปกติ เนื่องจากน้ำหนักลดลง
ประตูเหล็ก เมื่อเกิดความชื้นมักขึ้นสนิม แก้ไขโดยทิ้งไว้ให้แห้งประมาณ 3 -4 วัน หรือไล่ความชื้นออกให้หมดจากโครงเหล็ก ขัดสนิมออก เช็ดให้แห้ง และสะอาดก่อนจะทาสีใหม่
ส่วนบริเวณบานพับ ข้อต่อ หรือรูกุญแจ ควรเช็ดทำความสะอาด ทิ้งไว้ให้แห้งสนิท หยอดน้ำมันหล่อลื่น หรือน้ำยาป้องกันการเกิดสนิม
ผนังบ้านปูด สีหลุดร่อน แก้ไขโดยเช็ดล้าง ทำความสะอาด ทิ้งไว้ให้แห้ง หากมีอาการสีบวมปูดควรขูดออกให้หมดก่อนทำความสะอาด ทิ้งไว้ให้แห้งก่อนทาสีใหม่ ถ้าพื้นที่ไม่กว้างมากสามารถทำเองได้ไม่ยุ่งยาก
ผนังวอลล์เปเปอร์ เมื่อเกิดความชื้นมักเป็นหลุดล่อน เป็นรอยคราบไม่น่าดู แถมยังทำให้ผนังเดิมอมความชื้นไปด้วยโดยเฉพาะวอลล์เปเปอร์ประเภทไวนีล จำเป็นต้องรื้อ และปูใหม่จึงจะได้ผนังที่สวยงามเช่นเดิม
ผนังยิบซั่มบอร์ด เมื่อแช่อยู่ในน้ำนานๆ จะเกิดความเสียหายค่อยข้างมาก จึงควรเลาะออกจากโครงสร้างผนังเดิม และสามารถติดแผ่นใหม่ได้ทันที ยกเว้นในกรณีที่โครงสร้างเดิมเป็นไม้ ต้องทิ้งไว้ให้แห้งสนิทเสียก่อนจึงค่อยบุแผ่นใหม่ใส่เข้าแทนที่
ข้อควรจำ หากพื้นเดิมไม่แห้งสนิท อย่าทาสี หรือเคลือบเงาทับทันที เพราะความชื้นที่ฝังอยู่ภายในเนื้อวัสดุจะสร้างความเสียหายได้ในภายหลัง
ส่วนต่อมาที่เรายังสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง จะเป็นส่วนของ ปัจจัยเสริม ที่มาช่วยเติมเต็มให้บ้านมีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ก็ยังอยู่ในวิสัยที่สามารถแก้ไขปัญหาเองได้ อาทิเช่น
เฟอร์นิเจอร์ชำรุดเสียหาย ปัญหาของเฟอร์นิเจอร์ที่ประสบชะตากรรมหลังน้ำท่วม มักมีปัญหาไม่ต่างไปจากอุปกรณ์ประเภทประตู หน้าต่าง ผนังบ้าน วิธีการแก้ไขเริ่มต้นที่การไล่ความชื้นออกไปโดยเร็วเช่นกัน
เฟอร์นิเจอร์ไม้ ไม่ควรนำไปตากแดดโดยตรง เพราะอาจทำให้เฟอร์นิเจอร์คด งอ เสียหายได้ หรือหากเป็นเฟอร์นิเจอร์ประเภทโซฟาที่มีทั้งส่วนประกอบที่เป็นทั้งไม้ และนุ่น สามารถอมน้ำได้ในปริมาณมากๆ หากสภาพย่ำแย่มากๆ ก็คงต้องตัดใจทิ้ง เพราะถ้าเก็บไว้ใช้งานต่อ คงได้ไม่คุ้มเสีย เนื่องจากจะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคอย่างดี
เฟอร์นิเจอร์ Built In ควรตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้าง และอุปกรณ์สำคัญที่เป็นสายไฟ
ต้นไม้ สนามหญ้า ทางเดิน สวนหย่อม เป็นจุดเล็กๆ ที่มักได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อต้องตกอยู่ในภาวะน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ต้นไม้ใหญ่อาจถึงขนาดยืนต้นตาย เพราะเกิดปัญหารากเน่า ประสาอะไรกับต้นไม้เล็กๆ สวนหย่อม หรือสนามหญ้าหน้าบ้าน รวมถึงทางเดินอันสวยงามที่เราอาจต้องปลูก และทำขึ้นมาใหม่
สำหรับต้นไม้ใหญ่ อาจมีทางเยียวยาได้ด้วยการขุดหลุมขนาดเล็กลึกประมาณครึ่งเมตรใกล้ๆ กับบริเวณที่เป็นรากต้นไม้ เพื่อให้น้ำที่ขังอยู่บริเวณนั้นไหลลงสู่หลุม ก่อนใช้เครื่องดูดน้ำเล็ก ๆ สูบน้ำออก หรือตักออกด้วยแรงงานคน ดามต้นด้วยไม้ค้ำยัน เมื่อรากแข็งแรงเหมือนเดิมแล้วจึงค่อยเติมดินให้แน่นดังเดิม
และส่วนสุดท้าย เกี่ยวข้องกับงานระบบล้วน ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของท่อระบายน้ำ น้ำประปา ไฟฟ้า เรื่องเหล่านี้ ส่วนใหญ่ต้องเพิ่งความสามารถของช่าง อันนี้ไม่ควรประหยัด หรือเสียดายเงินจ้างช่างซ่อมนะครับ
ท่อระบายน้ำ ที่สามารถเปิดฝาได้ ตักเศษดิน เศษขยะออก หรือหาไม้ยาวๆ ควานไปมาเพื่อระบายน้ำ ที่สำคัญลองตรวจเช็คให้ดีว่า น้ำระบายออกไปทางไหน กลับเข้าสู่ตัวบ้านอีกหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเรื่องที่เกินกำลังความสามารถก็ควรจ้างช่าง หรือผู้รู้มาทำแทน
สำหรับน้ำประปา ไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็น เครื่องซักผ้า ปั้มน้ำ เครื่องจักรกล รวมไปถึงรถยนต์ที่เกิดความชื้น หรือแช่อยู่ในน้ำแม้จะเป็นเวลาเพียงสั้นๆ ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ เพราะมีอันตรายสูงมาก ไม่ใช่เพียงแค่นำออกไปตากแดดแล้วจะนำกลับมาใช้ได้เหมือนเดิม
เรื่องเหล่านี้สมควรปรึกษา และอาศัยความสามารถของช่างผู้เชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่ง
เช่นเดียวกับ ห้องน้ำ ห้องส้วม เป็นเรื่องที่ยากแก่การทำความเข้าใจ รวมถึงเรื่องหนักๆ อย่างรั้วบ้าน ไม่ว่าจะเป็นรั้วคอนกรีต หรือรั้วเหล็ก ล้วนเป็นเรื่องที่สมควรปรึกษาช่างครับผม
อย่าลืม ตั้งสติให้ดีเมื่อเจอปัญหา เพราะปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ ขอให้ใจเย็นๆ ค่อยทำไปทีละส่วน แต่ก็ขอให้ทุกท่านโชคดี น้ำไม่ท่วมบ้านดีกว่านะครับ สวัสดี
จากคอลัมน์ Make It Worth โดย นายช่างเลือก นิตยสาร M&W กันยายน 2551
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/TradingHour/tabid/86/newsid480/66395/Default.aspx
|