หมู่บ้านจัดสรร ต้องจัดตั้งเป็นนิติบุคคล เพื่อบริหารส่วนกลาง และสร้างระเบียบการอยู่ร่วมกัน |
dailynews.co.th วันเสาร์ ที่ 19 มีนาคม 2554
หมู่บ้านเล็กหรือใหญ่ก็ต้องเป็นนิติบุคคล
หากคุณอาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรโดยมีจุดมุ่งหมาย คือเพื่อต้องการหลีกหนีจากสังคม ญาติพี่น้อง ผู้คน และไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับใคร ๆ ถึงได้มาซื้อบ้านท่ามกลางคนที่ไม่รู้จัก แบบนี้คงเป็นการเข้าใจที่ผิดนะครับ เพราะตาม พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน กำหนดให้ผู้ซื้อบ้านจัดสรร หรือที่ดินจัดสรรทุกรายจะกลายเป็นสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรโดยอัตโนมัติ เพื่อร่วมเสนอแนะกฎเกณฑ์ในการอยู่อาศัย การใช้พื้นที่ส่วนกลาง ฯลฯ (ซึ่งหมายความรวมถึงหน้าที่ต้องไปประชุมในที่ประชุมใหญ่ประจำปีของหมู่บ้าน)
และหากบ้านหลังไหน หรือที่ดินผืนไหนยังไม่มีผู้ซื้อ ก็ให้เจ้าของโครงการหรือผู้จัดสรรทำหน้าที่เป็นสมาชิกแทนไปก่อน
การทำหน้าที่ของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการหมู่บ้านและที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกหมู่บ้านในทุกเรื่อง โดยเฉพาะการกำหนดอัตราการเรียกเก็บเงินค่าส่วนกลางรายเดือนซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากมติของที่ประชุมใหญ่ประจำปีของสมาชิกหมู่บ้าน (ดังนั้นผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร ควรจะเข้าประชุมสมาชิกหมู่บ้านทุกครั้งเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของตัวเอง) โดยอัตราค่าเรียกเก็บเงินค่าส่วนกลางมักจะเท่า ๆ กันในหมู่บ้านจัดสรรที่มีขนาดเท่ากันและใช้ประโยชน์จากบ้านเพื่อการอยู่อาศัยอย่างเดียว
แต่สำหรับหมู่บ้านจัดสรรที่มีบ้านขนาดแตกต่างกันไป เช่นบ้านเดี่ยว บ้านแฝด คฤหาสน์ ฯลฯ เจ้าของบ้านขนาดแตกต่างกันก็มีหน้าที่จ่ายเงินค่าส่วนกลางในอัตราที่เพิ่มขึ้นตามขนาดของพื้นที่ หรือหากนำบ้านไปทำเป็นร้านอาหาร โรงเรียนอนุบาล เปิดบริษัท ฯลฯ ซึ่งเป็นการใช้งานที่นอกเหนือจากการอยู่อาศัย ก็ต้องจ่ายค่าส่วนกลางที่ต่างออกไป ซึ่งก็แล้วแต่จะตกลงในที่ประชุมใหญ่ประจำหมู่บ้านจัดสรร
ตามกฎหมายหมู่บ้านจัดสรรกำหนดว่า ถ้าสมาชิกหมู่บ้านจ่ายเงินค่าส่วนกลางล่าช้า ก็จะถูกปรับตามอัตราที่กำหนดจากที่ประชุมใหญ่ (ซึ่งควรเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง) ถ้าค้างการชำระค่าส่วนเกิน 3 เดือนขึ้นไป อาจถูกระงับการใช้สิทธิในสาธารณูปโภคบางอย่าง เช่น ห้ามใช้สวนสาธารณะ ห้ามใช้สโมสรหรือสระว่ายน้ำ ฯลฯ (แต่ก็ยังไม่ถึงกับการห้ามใช้ถนน หรือห้ามเอารถเข้าออกหมู่บ้าน) เนื่องจากเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของเขา และหากคุณค้างชำระค่าส่วนกลาง 6 เดือนขึ้นไป คราวนี้เรื่องใหญ่เลยครับเพราะคุณจะถูกระงับสิทธิในการจดทะเบียนเพื่อซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ จนกว่าคุณจะจ่ายค่าส่วนกลางที่ค้างไว้จนหมดเสียก่อน
นอกจากนี้ถ้าหากคุณอยู่ในภาวะที่ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินก้อนแรกต้องนำมาใช้หนี้ในส่วนของค่าส่วนกลาง หมู่บ้านจัดสรรก่อนนะครับ เนื่องจากหนี้ค้างชำระค่าส่วนกลางเป็นหนี้บุริมสิทธิ์เหนือทรัพย์สิน และเหนือเจ้าหนี้อื่น
ไม่ว่าอาศัยอยู่ในหมู่บ้านขนาดเล็ก ๆ หรือหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยคฤหาสน์ของบรรดาเศรษฐีก็ตาม จะต้องเคารพกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกันโดยไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น และที่สำคัญควรต้องเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาชิกหมู่บ้านทุกครั้ง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคุณเอง ก่อนจะนึกเสียดายภายหลัง.
ที่มา http://dailynews.co.th
|