Web Design by Softbiz+
|
เว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014 |
การจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ...เรื่องควรรู้ผู้ซื้อบ้านจัดสรร และเจ้าของโครงการ |
จัดตั้งนิติบุคคลฯแล้วจะเป็นอย่างไร
กฎหมายรอบรั้ว dailynews.co.th วันที่ 10 มีนาคม 2555
นับแต่พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 เรื่องของการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรก็ยังคงเป็นเรื่องใหม่เสมอ สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านจัดสรร และเจ้าของโครงการ ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าของโครงการจัดสรรไม่มีวางแผน และเตรียมการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเอาไว้ล่วงหน้า ทำให้มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเป็นไปได้สำเร็จน้อยมาก
ทุกฝ่ายต้องศึกษาและทำความเข้าใจก่อนว่าหลักสำคัญที่กฎหมายต้องการให้มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้จัดสรรที่ดินสามารถโอนสาธารณูปโภคภายในโครงการให้แก่ผู้ซื้อบ้านจัดสรรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนแปลงย่อยทั้งหมด เพื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรขึ้น มาทำหน้าที่รับโอนสาธารณูปโภคในโครงการจัดสรร เพื่อมาบริหารจัดการ ดูแล บำรุงรักษาด้วยตนเอง หากจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเรียบร้อยแล้ว จะมีผลดังนี้
1. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้จัดสรรนั้น จะทำให้พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค แต่ต้องโอนทรัพย์สินและส่งมอบเงินค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร (ในส่วนที่ดินที่ยังไม่จำหน่าย ผู้จัดสรรก็ยังคงมีหน้าที่ชำระค่าส่วนกลางตามปกติเช่นกัน) ในส่วนของผู้ซื้อบ้านจัดสรรนั้นไม่ว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ก็ตาม จะกลายสภาพเป็นสมาชิกในนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรทันที และในส่วนของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรนั้น จะมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโดยมีคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้ดำเนินกิจการแทนนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย และตามข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรนั้นๆ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่สมาชิก
2. นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจะได้สิทธิพิเศษเกี่ยวกับค่าธรรมเนียม ภาษี และอากรแสตมป์
3. นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจะมีหน้าที่จัดการและดูแลบำรุงรักษาทรัพย์สินที่รับโอนจากผู้จัดสรรที่ดิน กำหนดระเบียบการใช้ประโยชน์สาธารณูปโภค การอยู่อาศัยและการจราจร การเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่าย เป็นโจทก์แทนสมาชิก (ตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป) จัดให้มีบริการสาธารณะ ดำเนินการอื่นตามกฎหมาย
4. สมาชิกนิติฯมีหน้าที่ชำระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภค ทั้งนี้การกำหนดอัตราค่าใช้จ่าย ต้องได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมใหญ่หมู่บ้านจัดสรร โดยอาจกำหนดค่าใช้จ่ายให้แตกต่างกันตามประเภทของการใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือตามขนาดพื้นที่ก็ได้ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในข้อบังคับ
5. บทลงโทษสำหรับสมาชิกที่ชำระเงินล่าช้า กรณีชำระค่าใช้จ่ายล่าช้าต้องจ่ายค่าปรับตามอัตราที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกำหนด กรณีชำระค่าใช้จ่ายล่าช้าติดต่อกัน 3 เดือน ถูกระงับการให้บริการหรือการใช้สิทธิในสาธารณูปโภค และกรณีชำระค่าใช้จ่ายล่าช้าติดต่อกัน 6 เดือน พนักงานเจ้าหน้าที่อำนาจระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินแปลงดังกล่าวได้ โดยให้ถือว่าหนี้ที่ค้างชำระค่าส่วนกลางเป็นหนี้บุริมสิทธิในมูลรักษาอสังหาริมทรัพย์.
ดินสอพอง
ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/950/15252
|