Home » หมู่บ้าน นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร » ปัญหาการค้างจ่ายค่าส่วนกลางนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
ปัญหาการค้างจ่ายค่าส่วนกลางนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร

หนี้ค่าส่วนกลางหมู่บ้านจัดสรร

กฎหมายรอบรั้ว dailynews.co.th วันที่ 31 มีนาคม 2555

          หลังจากที่โครงการหมู่บ้านจัดสรร ได้ดำเนินการขายบ้านที่อยู่ในโครงการได้ทั้งหมด และมีการปิดโครงการลง แต่ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนกลาง และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ทางหมู่บ้านจัดสรรได้จัดเตรียมไว้ ก็มิได้สิ้นสุดลงพร้อมกับการปิดโครงการแต่อย่างใดไม่ว่าจะเป็นถนน ไฟฟ้าส่องสว่าง การจัดเก็บขยะมูลฝอย สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือแม้แต่สระว่ายน้ำที่บางโครงการจัดไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกในหมู่บ้านจัดสรรทางเลือกสำหรับเรื่องนี้ ก็คงจะมี 3 วิธีด้วยกัน นั่นก็คือ 1) ให้เจ้าของโครงการเป็นผู้จัดเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อนำมาบริหารจัดการระบบเหล่านั้น ภายในโครงการต่อไป หรือ 2) จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรขึ้นมา เพื่อดำเนินรับโอนทรัพย์ส่วนกลาง มาบริหารจัดการแทนเจ้าของโครงการ หรือ 3) ยกทรัพย์สินส่วนกลางต่าง ๆ เหล่านั้นให้เป็นที่สาธารณะ เพื่อให้ทางราชการ (องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) เข้ามาจัดเก็บค่าใช้บริการ และบำรุงรักษาทรัพย์สินต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานได้ต่อไป

          ทางเลือกของหลายหมู่บ้านที่เห็นตรงกัน และคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ก็คงจะเป็นทางเลือกที่ 2 เพราะการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ก็เปรียบเสมือนการตั้งตัวแทนของลูกบ้าน เข้ามาบริหารจัดการ ดูแลทรัพย์สินของหมู่บ้านจัดสรรต่อไป ซึ่งก็แน่นอนว่า เมื่อมีการบำรุงรักษาก็ต้องมีการจัดเก็บค่าใช้จ่าย เพื่อนำมาบำรุงรักษาให้ระบบต่างๆ ภายในหมู่บ้านจัดสรรสามารถใช้งานได้อย่างราบรื่นเป็นปกติสุข

          ดังนั้นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร จึงได้มีการกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ซึ่งลูกบ้านแต่ละหลังภายในโครงการจะต้องเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบ โดยการชำระเงินหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าเป็นค่าส่วนกลาง


          หากกรณีที่ผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้าน ไม่ยอมจ่ายค่าส่วนกลางหมู่บ้านจัดสรร ตามกฎหมายกำหนดว่า ผู้ที่ไม่ยอมจ่ายค่าส่วนกลางให้กับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร จะมีโทษ เช่น สมาชิกในหมู่บ้านจัดสรรจ่ายค่าส่วนกลางล่าช้า ก็อาจจะถูกปรับตามอัตราที่ที่ประชุมใหญ่ (นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร) กำหนดค้างชำระเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไป ก็อาจถูกระงับการใช้สิทธิในสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ห้ามใช้สวนสาธารณะ ห้ามใช้สโมสร หรือสระว่ายน้ำ เป็นต้น ค้างชำระเกินกว่า 6 เดือน ก็อาจจะถูกระงับสิทธิในการจดทะเบียนเพื่อซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ จนกว่าลูกบ้านนั้นจะจ่ายค่าส่วนกลาง หรือเงินค่าบำรุงรักษา และจัดการสาธารณูปโภคที่ค้างไว้จนครบถ้วนก่อน

          นอกจากนี้ถ้าหากลูกบ้านอยู่ในสภาวะที่ถูกบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาด เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินก้อนแรกต้องนำมาใช้หนี้ในส่วนของค่าส่วนกลางของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรก่อน เนื่องจากหนี้ค้างชำระค่าส่วนกลางเป็นหนี้บุริมสิทธิ์เหนือทรัพย์สินก็คือบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านจัดสรรนั่นเองนะครับ.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/950/19766