บ้านในโครงการหมู่บ้านจัดสรรถูกโจรกรรมทรัพย์สิน ใครรับผิดชอบ |
ขโมยขึ้นบ้าน ใครจะรับผิดชอบ?
dailynews.co.th - กฎหมายรอบรั้ว วันเสาร์ 16 พฤศจิกายน 2556
กรณีบ้านในโครงการจัดสรรถูกโจรกรรมทรัพย์สิน ความรับผิดชอบจะตกอยู่ที่ใคร?
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่า คดีลักษณะนี้เป็นคดีผู้บริโภค ซึ่งผู้เสียหายที่เป็นผู้บริโภค จะได้รับการยกเว้นเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมศาลตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง โดยมีบริษัทรักษาความปลอดภัย เป็นจำเลย (มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการให้บริการรักษาความปลอดภัยให้กับทรัพย์สินของบุคคล และอาคารสถานที่) หรือเป็นนิติบุคคล ที่ประกอบธุรกิจค้าอสังหาริมทรัพย์ในโครงการ หมู่บ้านจัดสรร โดยมีผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของบ้านในโครงการหมู่บ้านจัดสรรเป็นโจทก์ ซึ่งได้ซื้อบ้านมาจากบริษัทเจ้าของโครงการฯ (กรณียังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จก็จะยังอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าของโครงการ) และถ้าหมู่บ้านมีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแล้ว ก็จะอยู่ในความรับผิดชอบของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรครับ
แต่ในการทำสัญญาว่าจ้างบริษัทที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้แก่บรรดาทรัพย์สินของหมู่บ้านตลอดจนสมาชิกทุกคนที่พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรดังกล่าว เมื่อมีบ้านของผู้เสียหายถูกโจรกรรมทำให้มีทรัพย์สินสูญหายไปหลายรายการ เช่น เงินสดจำนวนหนึ่ง เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก กล้องถ่ายรูป สร้อยข้อมือ ทองคำ สมุดสะสมธนบัตรเก่า สมุดสะสมแสตมป์เก่า สายสัญญาณโทรทัศน์ พระเครื่อง และเครื่องเสียง ซึ่งหากคำนวณเป็นเงินแล้ว อาจมีราคาสูงถึงประมาณ 500,000 บาท
ผู้เสียหายจะเรียกร้องค่าเสียหายจากใคร และใครจะต้องรับผิดชอบ เนื่องจากเหตุโจรกรรมซึ่งเกิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด อันถือเป็นการละเมิดต่อผู้เสียหาย บริษัทรักษาความปลอดภัยในฐานะนายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างของตนในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย ซึ่งความรับผิดจะมากน้อยอาจขึ้นอยู่กับข้อตกลงว่า มีการจำกัดวงเงินความรับผิดในสัญญาว่าจ้างที่ทำกับบริษัทเจ้าของโครงการ หรือนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร (แล้วแต่กรณี) ในฐานะคู่สัญญาอย่างไรบ้าง ซึ่งสัญญาดังกล่าวถือว่าเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก (รวมถึงผู้เสียหาย) ด้วย
ในส่วนของความรับผิดต่อผู้เสียหาย (ผู้รับประโยชน์ตามสัญญา) บริษัทเจ้าของโครงการ หรือนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ในฐานะตัวการที่ได้มอบหมายให้บริษัทรักษาความปลอดภัย และพนักงานรักษาความปลอดภัยเป็นตัวแทน ในการทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของบริวาร และลูกค้าทุกคนที่พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร จะต้องร่วมกันรับผิดไม่เกินความเสียหายที่แท้จริง โดยหากมีทรัพย์สินที่สูญหายตามที่ผู้เสียหายกล่าวอ้างก็จะต้องมีหลักฐานประกอบ เช่น ใบเสร็จรับเงินหรือใบรับประกันสินค้าสำหรับทรัพย์สินนั้น ๆ นอกจากนี้ ความเสียหายจะมากหรือน้อยยังขึ้นอยู่กับสภาพที่แท้จริงของทรัพย์สินนั้น ๆ การเสื่อมของราคาทรัพย์สินนั้น ๆ ก็จะต้องนำมาพิจารณาประกอบ ซึ่งผู้เสียหายมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ชัดแจ้ง หากพิสูจน์ได้ บริษัทรักษาความปลอดภัย และบริษัทเจ้าของโครงการ หรือนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรที่เป็นคู่สัญญาว่าจ้าง ก็จะต้องร่วมกันรับผิดชอบ ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายตามกฎหมายนะครับ.
ดินสอพอง
ที่มา http://www.dailynews.co.th/Content.do?contentId=195010
|