Web Design by Softbiz+
|
เว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014 |
ปฐมเหตุจัดตั้ง นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ได้ยาก |
17 สิงหาคม 2553 Posttoday.com โดย...นคร มุธุศรี นายกก่อตั้งสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย อุปสรรคสำคัญอยู่ที่บทบัญญัติข้อกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้ผู้ซื้อบ้านลงมติเห็นชอบเกิน “กึ่งหนึ่ง” ของจำนวนแปลงทั้งหมดของโครงการขึ้นไปจึงจะจัดตั้งเป็นนิติบุคคลหมู่บ้านได้... แม้ พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 จะเปิดโอกาสให้หมู่บ้านทั่วประเทศไทยสามารถจัดระเบียบการอยู่อาศัยร่วมกัน โดยการจดทะเบียนจัดตั้งเป็น “นิติบุคคล” เพื่อบริหารการจัดการด้วยตนเอง แต่ในทางปฏิบัติจริงนั้น “ยาก” พอๆ กับเข็นครกขึ้นภูเขาเชียวแหละ
อุปสรรคสำคัญอยู่ที่บทบัญญัติข้อกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้ผู้ซื้อบ้านลงมติเห็นชอบเกิน “กึ่งหนึ่ง” ของจำนวนแปลงทั้งหมดของโครงการขึ้นไปจึงจะจัดตั้งเป็นนิติบุคคลหมู่บ้านได้ ด้วยเหตุฉะนี้ ไม่ว่าจะออกหนังสือเชิญชวนให้เข้าประชุมกี่ครั้งกี่คราว คะแนนเสียงก็ไม่ครบสักกะที นอกเหนือจากกฎกติกาที่ยากจะปฏิบัติตามข้างต้นแล้ว ผู้ซื้อบ้านส่วนใหญ่ยังติดใจสงสัย ระหว่างการ “จด” และ “ไม่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลหมู่บ้าน” อยู่หลาประเด็น อาทิ “ในโครงการมีหลายเฟสหลายโซน บางส่วนมีผู้พักอาศัย แต่หลายซอยกำลังตอกเข็มเทคานและก่อสร้างอยู่โครมๆ รอให้เสร็จเรียบร้อยทุกหลังแล้วจึงจัดตั้ง|นิติบุคคลหมู่บ้านไปพร้อมๆ กันไม่ดีกว่าหรือ...?” อีกประโยคที่ได้ยินได้ฟังออกบ่อย “จะต้องจดทะเบียนนิติบุคคลทำไม ในเมื่อผู้ซื้อบ้านทุกรายได้ควักกระเป๋าจ่ายค่าภาษีไปคนละหลาย ควรเป็นหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ” และอีกข้อคลางแคลงใจยอดฮิต “ระหว่าง ‘จัดตั้ง’ กับ ‘ไม่จัดตั้ง’ นิติบุคคลหมู่บ้าน จะมีข้อดีและข้อเสียตรงส่วนไหน” นั่นคือ 2-3 ประเด็นตัวอย่าง ของจริงๆ มีการตั้งวงอภิปรายถกกันสารพัดกว่านี้อีกเยอะ จะว่าไป แทบทุกเวทีประชุมเพื่อพิจารณาลงมติในเรื่อง “จัดหรือไม่จัดตั้งนิติบุคคล” ของทุกหมู่บ้านในประเทศไทย จะแบ่งก๊กแบ่งเหล่าออกเป็น 3-4 กลุ่ม กลุ่มแรก “ชูจั๊กกะแร้เห็นด้วย” พร้อมกาบัตรลงคะแนนสนับสนุนเต็มร้อย กลุ่มที่สอง “ไม่ต้องการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้าน” ด้วยเหตุเพราะไม่แน่ใจและหรือไม่รู้ข้อมูลรายละเอียดเรื่องนี้มาก่อน ในกลุ่มนี้ยังหมายรวมถึง “พวกรู้จริง” และ “อวดรู้” แต่ชอบยึดไมค์อรรถาธิบายแจกแจงเพื่อนร่วมซอยเป็นคุ้งเป็นแคว “ไม่ต้องไปสนเจ้าของโครงการ พวกเรามีอำนาจปิดถนนมิให้เขาขนย้าย อิฐ หิน ปูน ทราย เข้ามาทำการก่อสร้างได้ทันที ประเดี๋ยวผู้ขายจะมางอนง้อเราเอง”
ถนนที่พวกรู้ไม่จริงและอวดรู้เอะอะพาโวยจะทำการปิดกั้น คือส่วนที่ภาระจำยอมเส้นผ่ากลาง ซึ่งเป็นถนนนอกผังจัดสรรและบริษัทผู้ประกอบการเป็นเจ้าของทรัพย์ กลุ่มที่สาม เป็นพวก “โกรธและต่อต้าน” การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านชนิดหัวชนฝา ต้านไม่ต้านเปล่า พวกยังเล่นจัดพิมพ์ใบปลิวแจกจ่ายด่าว่าผู้จัดสรรอย่างเสียๆ หายๆ พร้อมสรุปท้ายให้ผู้ซื้อบ้านรายอื่นๆ เห็นคล้อยตามกับตน ต้นสายปลายเหตุของกลุ่มฝ่ายนี้ ส่วนใหญ่จะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังทะเลาะเบาะแว้งกับบริษัทเจ้าของโครงการในเรื่องซื้อขายบ้านแทบทั้งนั้น อย่างกรณีสร้างบ้านล่าช้าเกินกว่าที่กำหนดในสัญญานับปี ในขณะที่ฝ่ายบัญชีทวงค่า “ผ่อนเงินดาวน์” ยิกๆ บ้านทรุดแตกร้าวไม่ได้รับการซ่อมแซมแก้ไข และหรือผู้จัดสรรไม่จัดทำสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะให้ตรงตามโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยเหตุฉะนี้ ไม่ว่าบริษัทผู้ขายจะคิดจะทำอะไร กลุ่มนี้จะรวมตัวกันแจกใบปลิวและติดป้ายต่อต้านยันเต รวมทั้งไม่ให้ความร่วมไม้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรด้วยแหละ
กลุ่มสุดท้ายที่เป็นตัวอุปสรรคไม่สามารถจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านได้ดั่งหวัง คือ “เพื่อนร่วมซอยที่นอนหลับทับสิทธิ” ไม่ค่อยจะมีความรู้สึกร้อนหนาวในแทบทุกๆ เรื่อง ว่าที่จริงน่าจะมีบทลงโทษโดยการตัดสิทธิประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งแบบเดียวกับไม่ใช้สิทธิเลือก สว. และ สส.มั่ง ครับ...เพราะต้นสายปลายเหตุมาจาก 2-3 กลุ่มท้ายนี่แหละ จึงส่งผลให้หมู่บ้านจัดสรรหลายหมื่นโปรเจกต์ จนถึงบัดนี้สามารถยื่นจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลไปได้เพียง 700 โครงการเศษๆ เท่านั้น ที่เหลืออีกบานตะไทกำลังทะเลาะกันวุ่นวาย ส่วนอีกหลายต่อหลายโครงการกำลังร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและสืบพยานโจทย์สืบพยานจำเลยกันในศาล หมู่บ้านคุณล่ะ อยู่ในกลุ่มไหน...!!
ที่มา http://www.posttoday.com/บ้าน-คอนโด/สารพันปัญหา/44746/ปฐมเหตุจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านได้ยาก |