Web Design by Softbiz+
|
เว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014 |
บทเรียนจากการอยู่ร่วมกัน |
เขียนโดย ศ.ดร.วรภัทร โตธนะเกษม มนุษย์เรา เวลาเป็นเพื่อนบ้านกัน อยู่ บ้านใกล้เรือนเคียง ถ้าจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณท์ กติกา และโอนอ่อนผ่อนปรนซึ่งกันและกัน รวมทั้งมีน้ำจิตน้ำใจให้แก่กันและกันด้วย หลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เรามีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เขมร จนถึงกับต้องรบราฆ่าฟันกัน ความจริง ก่อนหน้านี้ ประมาณยี่สิบปีเห็นจะได้ เราก็เคยรบราฆ่าฟันกับ ลาว ที่สมรภูมิร่มเกล้า ทั้งๆ ที่ไทยและลาวต่างก็พูดเหมือนกันว่า เป็นประเทศบ้านพี่เมืองน้อง แต่พอพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง ก็เลยต้องรบกัน การอยู่ร่วมกันกับ เพื่อนบ้าน อย่างสงบสุข จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายอย่างที่คิด ถ้าจะลองดู ปัญหาใกล้ตัว ก็จะเห็นตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น ปัญหาของคนที่มีบ้านอยู่ใน หมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น ผมเคยถามเพื่อนฝูงหลายคนว่ามีปัญหาอะไรบ้าง เท่าที่ประมวลดูแล้ว เข้าใจว่าปัญหามีหลากหลายชนิด แต่ที่ ติดอันดับต้นๆ คงมีอยู่สองเรื่องด้วยกัน คือเรื่อง ก่อสร้างต่อเติมออกมา จนรุกล้ำสิทธิของเพื่อนบ้านหรือพื้นที่ส่วนกลาง กับ เรื่องไม่จ่ายเงินค่าส่วนกลาง เท่า ที่สอบถามดู พอจะประเมินคร่าวๆ ได้ว่า ในแต่ละหมู่บ้าน น่าจะมีคนที่ก่อให้เกิดปัญหาเช่นนี้โดยเฉลี่ย ประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ พูดง่ายๆ ว่า ถ้ามีบ้าน 100 หลัง ก็อาจจะพบมนุษย์ผู้สร้างปัญหาให้แก่สังคมส่วนรวม ประมาณ 3-5 คน และทำให้คนส่วนใหญ่อีก 95-97 คน ต้องเสียความรู้สึก และต้องขบคิดหาวิธีการว่าทำอย่างไร จะให้คนเหล่านี้ ประพฤติปฏิบัติตน ให้ถูกต้องตามกฎหมายและกติกาสังคม กรณี ที่ไม่ยอมจ่ายส่วนกลางนั้น ถ้าเป็นสาเหตุมาจากฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปอย่างกะทันหัน จนทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอ เพื่อนบ้านก็คงพอจะเข้าใจได้ และให้เวลาในการแก้ปัญหา แต่เท่าที่ผมได้ยินมานั้น ส่วนใหญ่ยังมีรายได้เพียงพอ และบางรายมีรายได้เหลือเฟือเสียด้วยซ้ำไป แต่ จะไม่จ่ายเสียอย่าง จะว่าไง เอาซีครับ รวยดีอยู่หรอก แต่พฤติกรรมน่าเหยียดหยามอย่างนี้ก็มีด้วย นิติบุคคลบ้านจัดสรร ก็มีวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไป หลายแห่งใช้วิธี ประณามทางสังคม ด้วยวิธี ติดป้ายให้เห็นชัดเจนว่า บ้านไหนจ่ายแล้ว บ้านไหนยังไม่จ่าย แต่การติดป้ายก็ยังเป็นประเด็น เพราะถ้าทำแบบตรงไปตรงมา ก็คือไปติดที่บ้านของคนที่ยังไม่จ่าย เพียง 3-4 หลัง ก็ได้ แต่ความที่คนส่วนใหญ่เขาเป็นคนดี เขาก็ไม่อยากประณามกันถึงขนาดนั้น เขาก็เลยเลือกวิธีไปติดที่บ้านหลังอื่นๆ อีกตั้ง เก้าสิบกว่าหลัง ว่า บ้านนี้จ่ายแล้ว ซึ่งสิ้นเปลืองป้ายโดยใช่เหตุ แต่การ รักษาหน้า กันไว้เช่นนั้น ก็ยังไม่ค่อยจะได้ผลสำหรับคนที่นิสัยเป็นเช่นนี้ (หรือน่าจะเรียกว่า สันดาน?) เรียกว่า คนไม่ดีเอาเปรียบคนดี แต่คนดีก็ไม่อยากจะทำอะไรที่หนักหนาเกินไป เพราะบ้านเรือนก็อยู่เคียงกัน เห็นหน้ากันบ่อยๆ เดี๋ยวจะมองหน้ากันไม่ได้ พอหันไปดูตัวบทกฎหมาย ก็มีกฏหมายคุ้มครองคนดีอยู่หรอก แต่ต้องรอนานเหลือเกิน คือไปแจ้งกรมที่ดินไว้ แล้วรอจนกว่าเจ้าตัวแสบจะขายบ้าน เมื่อถึงวันนั้น กรมที่ดินเขาจะไม่โอนให้ จนกว่าจะจ่ายเงินส่วนกลางที่ยังค้างไว้เสียก่อน อย่าง นี้ ก็แปลว่า ถ้าพี่แสบคนนี้เขาไม่เคยคิดจะขายบ้านเลย เพื่อนบ้านคนอื่นก็ต้องทนไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีความหวังใดๆ ในขณะที่ คนที่เอาเปรียบสังคม กลับอยู่ไปได้เรื่อยๆ อย่างหน้าตาเฉย ทำให้น่าสงสัยเหมือนกัน ว่าเดิมทีเจ้าของโครงการเขาก็มุงหลังคาบ้านทุกหลังด้วยกระเบื้องชนิดเดียว กันและขนาดเดียวกัน แต่เหตุไฉนจึงกลายเป็นว่ามีอยู่ 3-4 หลัง ที่แปรสภาพเป็น อย่างหนา ไปได้ ก็ไม่รู้ ที่ น่ากังวลก็คือ ปัญหาอันเกิดจากคนไม่กี่คนก่อขึ้นมา บางครั้งไม่หยุดอยู่แค่นั้น แต่ลามปามออกไปอีก เพราะเพื่อนบ้านบางหลัง ก็เริ่มคิดว่า ถ้าเขาไม่จ่ายได้ ฉันก็ไม่น่าจ่ายได้เหมือนกัน ถ้าหากเพียงแค่ คิด ก็คงไม่เป็นไร แต่วันใดที่เริ่ม ทำ เช่น นั้นจริงๆ ขึ้นมาบ้าง ก็จะมีคนอื่นเริ่มเอาอย่างด้วย แล้วปัญหาก็ขยายวงออกไป งบส่วนกลางมีจำนวนน้อยลง การดูแลรักษาหมู่บ้านเริ่มทำได้ไม่เต็มที่ กรรมการหมู่บ้านเริ่มหมดกำลังใจที่จะทำงาน หรือเบื่อที่จะติดตามทวงเงิน สภาพแวดล้อมทั่วไปเริ่มเสื่อมโทรมลง คนดีๆ ที่ยังจ่ายเงินอยู่อาจจะต้องแบกภาระเพิ่มมากขึ้น แล้วถึงวันหนึ่ง คนที่ยังจ่ายเงินอยู่ ก็จะถามว่าจะต้องทำเช่นนี้ต่อไปเพื่ออะไร เมื่อถึงวันนั้น ก็นึกภาพเอาเองก็แล้วกัน ว่าหมู่บ้านนี้จะอยู่ในสภาพเช่นใด พูดง่ายๆว่า คนไม่ดีเพียงไม่กี่คน สามารถที่จะ ลากคนดีบางคน ให้กลายเป็น คนไม่ดีไปด้วย และในที่สุดสังคมส่วนรวม ก็เสื่อมโทรมลงไป ทำให้นึกถึงวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อปี 2540 ที่สถาบันการเงินทั้งหลาย ต้องแบก หนี้เสีย ไว้อย่างท่วมท้น เพราะลูกหนี้ไม่ชำระคืนเงินกู้ตามกำหนด จะเป็นเพราะไม่มี หรือว่า มี แต่ไม่จ่าย ก็ ตาม ในที่สุด สถาบันการเงินก็ต้องเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยวิธีการต่างๆ แต่วิธีที่เป็นผลดีต่อลูกหนี้ ก็คือ การลดยอดหนี้ลงไปจำนวนมาก (ที่เรียกกันว่าHaircut) รวมทั้งลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกด้วย วิธีเช่นนี้ ทำให้ลูกหนี้ซึ่งยังพยายามชำระหนี้อยู่ตามจำนวนหนี้เดิม และอัตราดอกเบี้ยเดิม อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมเราไม่ขอ Haircut บ้างเล่า ซึ่งหลายบริษัทก็ทำเช่นนั้น มีอยู่เพียงบางบริษัทเท่า นั้น ที่พยายามชำระหนี้ต่อไปในจำนวนเดิม โดยไม่ขอ “ตัดผม” กับเขาด้วย บริษัทอย่างนี้ สถาบันการเงินย่อมรู้สึกยินดี เพราะทำให้มีรายได้ไปชดเชยกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากบริษัทที่ขอให้ สถาบันการเงิน ตัดผม เสียจนสั้นโกร๋น เรื่องอย่างนี้ ก็คล้ายๆ กับเรื่องเจ้าของบ้านที่ไม่ยอมจ่ายส่วนกลาง จนทำให้คนที่ยังจ่ายอยู่ ต้องแบกภาระแทนนั่นแหละ สรุปก็คือ การเป็น คนดี นั้น คนส่วนใหญ่ ก็เป็นกันอยู่แล้ว เพราะสังคมนี้อยู่ได้เพราะมีคนดีมากกว่าคนไม่ดี เพียงแต่มีบททดสอบเกิดขึ้นเป็นบางครั้ง (จากตัวอย่างที่เล่ามาแล้ว) ว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง ผลจากการกระทำของคนไม่ดี (แต่กลับได้รับผลประโยชน์จากการกระทำของเขา) ก็ท้าทายให้คนดีตั้งคำถาม เหมือนกันว่า เราทำอย่างพวกนั้นบ้างจะ ดีไหม ที่น่าเสียดายก็คือ คนดีบางคน ในที่สุดก็ตอบตัวเองว่า ก็ต้องทำอย่างนั้นบ้างแหละ ผม ก็อยากจะให้กำลังใจด้วยการบอกว่า มีบริษัทที่เป็นลูกค้าของผมจำนวนหนึ่ง ซึ่งเมื่อสิบปีที่แล้วมีหนี้สิน กับสถาบันการเงินจำนวนมาก แต่ก็ยืนหยัดชำระหนี้ต่อไปด้วยความยากลำบาก ไม่ขอ ตัดผม เลยแม้แต่น้อย แม้ผมเผ้าจะรุงรังเพียงใดก็ตาม แต่ในที่สุด บริษัทเหล่านี้ ก็ได้ชำระหนี้สินจนหมดสิ้นตามภาระผูกพันทุกประการ วันนี้ บริษัทแข็งแรง และมีสถาบันการเงินเสนอวงเงินให้อย่างเพียงพอ เพราะมีความทรงจำที่ดีกับบริษัท ผมเองก็แสดงความชื่นชมกับฝ่ายบริหาร และเห็นว่าที่เขามีวันอย่างนี้ได้ ก็เพราะเขารักษากติกาไว้อย่างแน่วแน่ใน วันนั้น ถ้าสังคมนี้จะดีขึ้น ก็คงต้อง “ลุ้น” ให้ผู้บริหารและคนทั่วไป คิดอย่างนี้กันเยอะๆ แหละครับ
ที่มา http://www.tris.co.th/index.php?option=com_content&task=view&id=130&Itemid=71 |