การจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร : ความสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ |
dailynews.co.th วันเสาร์ ที่ 30 ตุลาคม 2553 กฎหมายรอบรั้ว
นับแต่พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ได้บังคับใช้มาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว แต่เรื่องการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรก็ยังคงเป็นเรื่องใหม่ สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเจ้าของโครงการ ผู้ซื้อ เจ้าพนักงานที่ดิน ทั้งนี้เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นหมู่บ้านจัดสรรที่ยื่นขออนุญาตจัดสรรมีอยู่ไม่มากนัก และในแต่ละโครงการก็ไม่ได้มีการวางแผนเตรียมการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเอาไว้ล่วงหน้า จึงยังไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร
เรื่องนี้ปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีความสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจและศึกษา หลักสำคัญที่กฎหมายต้องการให้มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้จัดสรรที่ดินสามารถโอนสาธารณูปโภคภายในโครงการจัดสรรที่ดิน ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรที่มีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนแปลงย่อยรวมตัวกัน จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรขึ้น เพื่อรับโอนสาธารณูปโภคในโครงการจัดสรรที่ดินมาดูแลบำรุงรักษาจัดการกันเอง ซึ่งผลจากการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเรียบร้อยแล้วมีผลเกี่ยวข้องกับผู้จัดสรรที่ดิน ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร และนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ดังนี้
-
ผู้จัดสรรที่ดินทำให้พ้นจากหน้าที่ในการบำรุงรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคโดยต้องมีการโอนทรัพย์สินและส่งมอบเงินบำรุงรักษาสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรต้องรับผิดชอบแล้ว และเป็นสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ในส่วนที่ดินที่ยังไม่จำหน่าย
-
ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร ทั้งในส่วนที่ลงคะแนนเสียงเห็นชอบและไม่เห็นชอบให้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เป็นสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร
-
นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร มีฐานะเป็นนิติบุคคล, มีคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้ดำเนินกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามกฎหมาย ตามข้อบังคับ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่สมาชิกคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้แทนของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก
นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิพิเศษเกี่ยวกับค่าธรรมเนียม ภาษี และอากรแสตมป์ ภาษี และอากรแสตมป์
ส่วนอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร คือจัดการและดูแลบำรุงรักษาทรัพย์สินที่รับโอนจากผู้จัดสรรที่ดิน, กำหนดระเบียบการใช้ประโยชน์สาธารณูปโภค การอยู่อาศัยและการจราจร, เรียกเก็บเงินค่าใช้จ่าย, เป็นโจทก์แทนสมาชิก (ตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป), จัดให้มีบริการสาธารณะ, ดำเนินการอื่นตามกฎหมาย
ส่วนสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร คือต้องชำระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภค ทั้งนี้ การกำหนดอัตราค่าใช้จ่าย ต้องได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมใหญ่ โดยอาจกำหนดค่าใช้จ่ายให้แตกต่างกันตามประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือขนาดพื้นที่ก็ได้, นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีหน้าที่จัดเก็บ โดยให้จัดเก็บเป็นรายเดือนจากสมาชิก, สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในข้อบังคับ.
ดินสอพอง
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
|