Web Design by Softbiz+
|
เว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014 |
นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร วิทยานิพนธ์ # บทคัดย่อ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, 2548 |
ชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์ นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร บทคัดย่อวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษารวบรวมข้อมูลที่เป็นประเด็นปัญหาที่ทำให้การจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีจำนวนน้อย ยังไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการบริหารจัดการดูแลบำรุงรักษาสาธารณูปโภคในรูปแบบนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งเป็นวิธีที่ดีในขณะนี้ ในการศึกษาครั้งนี้ได้ทำการศึกษารวบรวมข้อมูลจากตัวบทกฎหมาย ตำรากฎหมาย เอกสาร บทความ หนังสือพิมพ์ วารสาร จุลสาร รวมทั้งการสัมภาษณ์ผู้จัดการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ผู้จัดสรรที่ดิน ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร และบุคคลที่มีส่วนเสนอร่างกฎหมายเรื่องนี้ จากการศึกษาได้แบ่งสภาพปัญหาการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้1. สภาพปัญหาการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรของโครงการจัดสรรที่ดิน ภายใต้ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 พ.ศ. 2515จากการศึกษาพบว่ามีปัญหาการตีความว่าการกระทำแบบไหน แค่ไหน และอย่างไรของผู้จัดสรรที่ดินที่เข้าข่ายว่ามิได้ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลบำรุงรักษากิจการอันเป็นสาธารณูปโภค อันจะมีผลทำให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนที่ดินแปลงย่อยตามแผนผังโครงการ อาจยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด หรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขาที่โครงการตั้งอยู่ในเขต เพื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้ตามมาตรา 70 วรรค 4 และปัญหาโครงการจัดสรรที่ดินที่ได้บริหารการดูแลบำรุงรักษาสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะในรูปแบบนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น ก่อนพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ใช้บังคับ หากต้องการเปลี่ยนรูปแบบมาจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร 2. สภาพปัญหาการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรของโครงการจัดสรรที่ดิน เมื่อพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ประกาศใช้บังคับจากการศึกษาพบว่า มีปัญหาผู้ซื้อที่ดินจัดสรรไม่ดำเนินการหรือไม่สามารถดำเนินการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ภายในระยะเวลาที่จัดสรรที่ดินกำหนด และผู้จัดสรรที่ดินได้ดำเนินการตามลำดับที่สองตามมาตรา 44 (2) ต่อมาผู้ซื้อที่ดินจัดสรรต้องการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรใหม่ 3. สภาพปัญหาการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรทั้งของโครงการจัดสรรที่ดิน ภายใต้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 พ.ศ. 2515 และของโครงการจัดสรรที่ดิน เมื่อมีพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ประกาศใช้บังคับจากการศึกษาพบว่า โครงการที่ดินแบ่งขายขณะมีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 พ.ศ. 2515 ใช้บังคับ และโครงการที่ดินแบ่งขายเมื่อมีพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ใช้บังคับที่ผู้ประกอบการไม่มีใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน เนื่องจากไม่ได้ยื่นขออนุญาตจัดสรร โครงการเหล่านี้ไม่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 พ.ศ. 2515 และพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ซึ่งโครงการลักษณะนี้มีจำนวนมาก กฎหมายการจัดสรรที่ดินจะไม่บังคับคุ้มครองถึงผู้ซื้อที่ดินโครงการเหล่านี้ จึงไม่สามารถจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร และส่งผลให้ต้องประสบปัญหาด้านบริหารจัดการบำรุงดูแลรักษาสาธารณูปโภค ปัญหาผู้จัดสรรที่ดินไม่ต้องการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เนื่องจากยังได้รับประโยชน์จากการใช้สาธารณูปโภคอยู่ และปัญหาความยากในการรวบรวมผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนแปลงย่อยตามแผนผังโครงการ เพื่อมีมติให้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงเสนอให้มีการทบทวน ปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางที่เกี่ยวกับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เมื่อมีการประกาศใช้แล้วระยะหนึ่งประมาณ 5 – 7 ปี และหากมีการปรับปรุง แก้ไข กฎหมายดังกล่าว ก็ควรจะเสนอประเด็นปัญหาที่กล่าวข้างต้นเข้าไปด้วย เพื่อการใช้กฎหมายจะได้เกิดประสิทธิผลในทางปฏิบัติ วิทยานิพนธ์ นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร กิตติยา ผนิตรัตนากร บทคัดย่อ ฉบับเต็ม
ที่มา http://www.dpu.ac.th/laic/page.php?id=6132 http://laic.dpu.ac.th/cgi-bin/gw_43_3
|