การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
ม็อบออนไลน์

ข่าวไทยรัฐออนไลน์ โดย ทีมข่าวต่างประเทศ 15 มกราคม 2554

สื่อเทศชี้ ม็อบออนไลน์ "เฟซบุ๊ก" กรณีสาวซิ่ง9ศพ กระพือเกลียดชัง

        พฤติกรรมการเล่นเว็บสังคมออนไลน "เฟซบุ๊ก" ในเอเชีย พุ่ง ที่ 1 ของโลก ผู้สื่อข่าวเทศยกตัวอย่าง กรณีการรวมกลุ่มต่อต้านในอินเตอร์เน็ตของไทย อาทิ เด็กสาวขับรถประมาทไม่มีใบขับขี่ ชนรถตู้โดยสารบนทางด่วนโทลล์เวย์ในกรุงเทพฯ จนมีผู้เสียชีวิต 9 ศพ เป็นการก่อกระแสสร้างความเกลียดชัง...

        สำนักข่าวเอเอฟพี เผยแพร่บทความเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของผู้ใช้ในแถบเอเชีย เมื่อ 14 ม.ค. อ้างอิงผลสำรวจของเว็บไซต์เฟซบุ๊ก เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งเปิดเผยข้อมูลในเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ระบุว่าเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีผู้สมัครเข้าใช้เฟซบุ๊กเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกช่วงปีที่ผ่านมา ขณะที่เว็บไซต์ โซเชียลเบเคอร์ซึ่งเป็นบริษัทรวบรวมสถิติการใช้เว็บไซต์ ทั่วโลกยังระบุด้วยว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้สมัครเข้าใช้เว็บไซต์ เฟซบุ๊กเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปีที่ผ่านมา และปัจจุบันมีผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทยมากกว่า 7.4 ล้านคน หรือ 11 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด

         ทั้งนี้ เรเชล โอไบรอัน ผู้สื่อข่าวของเอเอฟพี ระบุว่าความขัดแย้งทางการเมืองไทยเป็นปัจจัยหลัก ซึ่ง ผลักดันให้คนจำนวนมากหันมาใช้พื้นที่สาธารณะทางอินเตอร์เน็ตในการแสดงความ คิดเห็นและความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ในสังคม และกลายเป็นพื้นที่ถกเถียงโต้แย้งกันอย่างดุเดือด ซึ่ง น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ตของไทย ระบุว่าสังคมต้องร่วมกันกำหนดขอบเขตในการใช้พื้นที่สาธารณะทางอินเตอร์เน็ต เพื่อแยกแยะการแสดงความเห็นที่สร้างสรรค์ออกจากการข่มขู่คุกคามผู้อื่น

         เนื้อหาบทความยังได้ยกตัวอย่างกรณีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในไทย ก่อตั้งกลุ่มในเว็บไซต์เฟซบุ๊กต่อต้านเด็กสาวอายุ 17 ปี ผู้ก่อเหตุขับรถยนต์โดยประมาทและไม่มีใบขับขี่ ชนรถตู้โดยสารบนทางด่วนโทลล์เวย์ในกรุงเทพฯ จนมีผู้เสียชีวิต 9 ศพ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มดังกล่าวมากถึง 300,000 คน ในเวลาไม่กี่วันหลังก่อตั้ง และมีผู้แสดงความเห็นคุกคามเด็กสาวผู้ก่อเหตุ ทั้งการขู่ฆ่าและขู่ว่าจะข่มขืน ทั้งยังมีการสืบหาข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ก่อเหตุมาประจานในเว็บอย่างเปิดเผย และนักจิตวิทยาระบุว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวเป็นการโจมตีด้วยความ เกลียดชัง ซึ่งไม่คำนึงถึงกระบวนการทางกฎหมาย

         อย่างไรก็ตาม การรวมกลุ่มต่อต้านและเผยแพร่ ความเกลียดชังในอินเตอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า "อี-ม็อบ" มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่มีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นในประเทศแถบเอเชียอื่นๆ เช่น จีนและเกาหลีใต้ ได้แก่ กรณีนักแสดงหญิงชื่อดังชาวจีน "จาง ซิยี่" บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวนของจีน ไม่ครบตามจำนวนที่เคยสัญญาว่าจะให้ในปี 2551 ผู้ใช้เน็ตของจีนจึงตั้งกลุ่มประณามจนนักแสดงสาวต้องออกมาแถลงข่าวขอโทษ รวมถึงกรณีผู้ใช้เน็ตเกาหลีใต้ ตามล่าตัวเด็กสาวซึ่งถูกบันทึกวีดิโอขณะทำร้ายกระต่ายจนตาย และกรณีมีผู้กล่าวหาว่า "ทาโบล" นักร้องเพลงฮิพฮอพชาวเกาหลีใต้ เรียนไม่จบ นำไปสู่การเรียกร้องให้ทาโบลออกมาขอโทษแฟนเพลง แต่ผลพิสูจน์ระบุว่าวุฒิการศึกษาของนักร้องเป็นของจริง ทำให้ผู้ใช้เน็ต 14 ราย ถูกฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท.

ที่มา   http://www.thairath.co.th/content/oversea/141480

 

 

ปรากฏการณ์...ม็อบออนไลน์
ไพเราะ เลิศวิราม Positioning Magazine 16 พฤษภาคม 2553

แทบทุกครั้งที่การเมืองร้อนแรง มักจะมีเครื่องมือสื่อสารใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ

การเมืองในยุคพฤษภาทมิฬก็เคยได้ชื่อว่าเป็น “ม็อบมือถือ” เมื่อผู้ชุมนุมในยุคนั้นใช้โทรศัพท์มือถือและเพจเจอร์เป็นเครื่องมือในการระดมคนชั้นกลางของกรุงเทพฯ ให้มารวมตัวกัน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาแล้ว

มาถึงม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือม็อบเสื้อเหลือง ก็มีทีวีดาวเทียมเป็นอาวุธสำคัญในการวมพลังมวลชนเสื้อเหลือง แทนฟรีทีวีที่ถูกรัฐบาลยุคนั้นปิดกั้น

วิกฤตการเมืองครั้งนี้ เดินมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง คราวนี้มาในยุคของ “
โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค” ที่มีเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสาร สามารถสร้างพลังเงียบทางการเมืองขึ้นมาใหม่ในรูปของ “ม็อบออนไลน์

จากพลังเงียบในเว็บแปรเปลี่ยนมาสู่ม็อบเสื้อหลากสี กลายเป็นอีกหนึ่งบริบทของพลังม็อบที่สามารถระดมมวลชนชั้นกลาง คนรุ่นใหม่ วัยเรียน ที่เคยได้ชื่อว่าปฏิเสธการเมือง ให้ก้าวออกมารวมพลังจนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางการเมือง ที่แม้แต่รัฐบาลยุคนี้ก็ยังต้องเงี่ยหูฟัง


เว็บทีวี-เว็บข่าว จุดพลุ “ม็อบ”ออนไลน์
สุกรี แมนชัยนิมิต Positioning Magazine มีนาคม 2549

ไม่ชัดเจน ไม่จริง ใช่อย่างที่เห็นหรือไม่“ ข้อสงสัยที่อยู่ในใจของผู้บริโภคสื่อในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีที่มีอยู่ ที่ติดอยู่กับความเป็นสัมปทานจากรัฐ ติดอยู่กับสถานะของการมีเจ้าของเป็นรัฐ เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล ทำให้ในที่สุดแล้ว “นิวมีเดีย” กลายเป็นที่พึ่งของผู้บริโภคสื่อ เพื่อเสาะหาความจริงในสถานการณ์ที่เกิดความขัดแย้งอย่างสุดขั้วในสังคม

อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการอำนวยการบริษัทเนชั่น บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ระบุชัดเจนว่า ”นิวมีเดีย” มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เห็นได้จากสถิติทั้งจำนวนผู้ที่เข้าดูเว็บไซต์ www.nationchannel.com ที่เชื่อมโยงไปยังสถานีโทรทัศน์ของเนชั่น ให้ผู้ดูทีวีผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ที่ขณะนี้ขึ้นอยู่ในอันดับ 1 ในหมวดของสื่อ ในส่วนของเว็บไซต์สถานีวิทยุและโทรทัศน์ ของการวัดสถิติจาก Truehits.net และนิวมีเดียอย่างโทรศัพท์มือถือ ที่วัดจากจำนวนข้อความแสดงความเห็น ที่ส่งผ่านโทรศัพท์มือถือ SMS โชว์บนหน้าจอโทรทัศน์ ที่สถานการณ์ปกติจะมีข้อความประมาณ 1,000 ข้อความ แต่ในช่วงที่มีการชุมนุมมีประมาณ 8,000 ข้อความต่อวัน

นโยบายของเนชั่นทีวีมีความชัดเจนว่าต้องเสนอข่าวรอบด้านมากที่สุด ทั้งกลุ่มที่สนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และกลุ่มที่ต้องการให้พ.ต.ท.ทักษิณลาออกจากตำแหน่ง และที่สำคัญ มีนโยบายถ่ายทอดสดบรรยากาศ และเนื้อหาที่สำคัญผ่านเวทีปราศรัยของผู้ชุมนุม โดยได้ยกรายการประจำออกบางส่วน เพื่อให้เวลารายงานข่าวสถานการณ์สำคัญอย่างเต็มที่

“นิวมีเดียเป็นทางเลือกในการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชน ที่ปัจจุบันผู้บริโภคข่าวสารกลุ่มหนึ่งก็ไม่ได้คาดหวังจากสื่อที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างฟรีทีวี ที่แม้จะมีบางช่องพยายามพิสูจน์ให้เห็นถึงการรายงานข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่และเป็นกลาง แต่ก็มีบางช่องที่ไม่ชัดเจน แต่นิวมีเดียเหล่านี้มีต้นทุน อย่างโทรศัพท์มือถือ การส่งเอสเอ็มเอส ก็ต้องเสียค่าบริการ การดูเว็บไซต์ต้องมีคอมพิวเตอร์ มีอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้บริโภคเหล่านี้น่าจะเป็นชนชั้นกลาง ซึ่งอาจไม่ได้ไปชุมนุม แต่ถือว่าเป็นเสียงที่ไม่อาจละเลยไปได้ เพราะสถิติที่แสดงให้เห็นการเติบโตของผู้ดูนั้นไม่ใช่แค่พัน หรือ 2 พัน แต่เป็นจำนวนนับแสน”

นอกเหนือจากนี้เครือเนชั่นได้ปรับสื่อในเครืออย่างเว็บไซต์ www.bangkokbiznews.com (หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ) ที่หน้าแรกของเว็บเป็นข่าวเรื่องการชุมนุมทั้งหมด

ทศพร โชคชัยผล web editor (www.bangkokbiznews.com) ระบุว่าในช่วงที่มีสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ใหญ่ ควรปรับรูปแบบการนำเสนอให้แตกต่างช่วงสถานการณ์ปกติ โดยเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 ที่มีการชุมนุมใหญ่ จัดการโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ปรับเว็บไซต์ให้พื้นหลังของเว็บไซต์เป็นสีน้ำเงิน และเน้นนำเสนอเนื้อหาที่เข้มข้นและรอบด้าน เพราะสถานการณ์เช่นนี้ ตามธรรมชาติจะมีเนื้อหาข่าวสารมากมาย หลั่งไหลจากทุกทาง ซึ่งข้อดีของการเสนอผ่านเว็บคือ มีพื้นที่ไม่จำกัด และสามารถนำเสนอรูปได้จำนวนมาก

อย่างไรก็ตามการปรับรูปแบบลักษณะนี้ ทศพรย้ำว่า ไม่ได้ต้องการสร้างกระแสให้เกิดความรุนแรง แต่เพราะสถานการณ์ใหญ่ ตามบทบาทของสื่อมวลชน จำเป็นต้องรายงานข้อมูลอย่างละเอียด ซึ่งความเป็นสื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต ด้วยเทคโนโลยีสามารถอำนวยการนำเสนอเนื้อหาได้อย่างเต็มที่ และแม้กระทั่งความอิสระในการนำเสนอ เมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ

ด้วยสถิติการมีคนเข้ามาดูเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ สามารถบอกได้ว่าเป็นตัววัดความสำเร็จของสื่อใหม่นี้เป็นอย่างดี ในภาวะปกติ หรือสถานการณ์ปกติ ผู้ที่เข้ามาดูเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจต่อวันจะอยู่ที่ประมาณ 50,000-60,000 page view แต่ในช่วงก่อนวันชุมนุม หรือช่วงสถานการณ์ใกล้วันที่มีความตึงเครียด จะมียอดเพิ่มเป็นประมาณ 1-2 แสน page view

ถึงเวลานี้ ไม่เพียงผู้คนที่ชุมนุมในท้องสนามหลวงเท่านั้นที่แสดงความรู้สึกไม่เอา "ระบอบทักษิณ" แต่ "นิวมีเดีย" กำลังต่อเชื่อมผู้บริโภคสื่อให้เข้าถึงข่าวสารที่แท้จริง ในที่สุดแล้ว การชุมนุมออนไลน์ที่นี่ จึงไม่อาจละสายตาไปได้


*อีเมล์พาวเวอร์

อีเมล์อีกช่องทางหนึ่งของชุมชนในโลกอินเทอร์เน็ต ในการระบายความรู้สึกที่มีต่อ "เขา" ที่ผู้ส่งสารคือเราๆ ท่านๆ ที่พร้อมคลิก และคลิกเดียวกันนี้ก็สามารถส่งความรู้สึกไปยังคนที่รู้จัก ไม่เฉพาะในไทยแต่ไปได้ทั่วโลก

อย่างเรื่องนี้

Subject : FW : แบบทดสอบจริยธรรม

กติกา

บททดสอบนี้มีคำถามเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น แต่ถือว่าเป็นคำถามที่สำคัญยิ่ง หากคุณตอบคำถามนี้อย่างสัตย์ซื่อ คุณจะสามารถตรวจสอบจุดยืนทางจริยธรรมของตัวเองได้หลังสถานการณ์จำลอง เราจะถาม ถามเพื่อทดสอบการตัดสินใจของคุณ จงจำขึ้นใจว่าคุณต้องตอบคำถามดังกล่าวอย่างสัตย์ซื่อและตอบทันควันตามสัญชาตญาณส่วนลึกของคุณ โปรดอ่านสถานการณ์จำลองข้างล่างนี้อย่างช้าๆ โดยพิจารณาความอย่างละเอียดทุกตัวอักษรสถานการณ์จำลอง

สมมติว่า...ขณะนี้คุณอยู่ที่เมืองไมอามีรัฐฟลอริดา รอบตัวคุณเต็มไปด้วยความพินาศย่อยยับจากพายุเฮอริเคนและน้ำท่วมใหญ่ ตัวคุณ...คือช่างภาพหนังสือพิมพ์ชื่อดังผู้โชคดี มีชีวิตรอดอยู่ท่ามกลางภัยพิบัติครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ สถานการณ์เต็มไปด้วยความสิ้นหวังมองไปที่ใดก็เห็นแต่ซากผู้คนและบ้านเรือนซึ่งถูกน้ำพัดพา ด้านตัวคุณพยายามจะถ่ายภาพชิ้นเอกที่โดดเด่นที่สุดในชีวิตการทำงาน ภาพซึ่งสะท้อนความเกรี้ยวกราดของธรรมชาติ ภาพแห่งชีวิตแบบทดสอบ ทันใดนั้น คุณมองเห็นชายผู้รอดชีวิตอีกคนจมอยู่ในกระแสน้ำเชี่ยวกำลังต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตัวเองอย่างหนักหน่วง คุณพยายามเคลื่อนตัวไปใกล้ชายผู้นั้น หน้าตาของเขาแลดูคุ้นเคย ไม่ถึงวินาทีคุณตระหนักชัดในทันใดว่า เขาคือ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง !!!!!!!!

วินาทีเดียวกับที่คุณรู้ว่าเขาคือใคร สายน้ำอันเชี่ยวกรากก็กำลังจะพรากชีวิตของเขาให้จมดิ่งอยู่ใต้บาดาลตลอดกาล ตอนนี้คุณมีทางเลือกสองทาง ทางหนึ่งคือยื่นมือเข้าช่วยชีวิตนายก อีกทางหนึ่งคือกดชัตเตอร์ถ่ายภาพระดับรางวัลพูลิตเซอร์ ภาพซึ่งบันทึกวาระสุดท้ายของนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกขณะนี้

คำถามข้างล่างนี้คือคำถามเพียงหนึ่งเดียวของเรา โปรดตอบคำถามด้วยความสัตย์ซื่อเพื่อค้นหาจุดยืนทางจริยธรรมของตัวคุณเอง...


คุณจะเลือกใช้ฟิล์มสีหรือฟิล์มขาวดำ?

ที่มา   http://www.positioningmag.com/magazine/details.aspx?id=46740