ปัจจุบัน จะเห็นว่า การใช้คอมพิวเตอร์เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมากมาย เช่น โรคการกระทบทางจิตสะสม ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับโรคจากการทำงานซ้ำซาก, โรคทนรอไม่ได้ หรือ โรคภูมิแพ้ เป็นต้น หรือ อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น นัยน์ตาแห้ง, ความล้าของสายตา หรือ ทำให้เกิดความเครียด เป็นต้น การขาดความรู้เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ให้ถูกสุขลักษณะก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ประสบปัญหาสุขภาพดังกล่าว
ดร.โคทม อารียา ประธานมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (ทีเอชนิค) เปิดเผยว่า โครงการ IT Healthy Trend : รู้ทันปัญหาสุขภาพคน IT จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ จากการใช้คอมพิวเตอร์ ทำให้มูลนิธิฯ จัดประกวดโครงงาน
“ใช้คอมฯ อย่างสร้างสรรค์ รู้ทันโรคภัย”
ประธานมูลนิธิทีเอชนิค แสดงความเห็นต่อว่า ทุกอย่างควรใช้อยู่ภายใต้ความพอดี เช่นเดียวกับ คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต การหมกมุ่นอยู่กับโลกเสมือนภายในเกมออนไลน์ อาจส่งผลให้ผู้เล่นเกิดพฤติกรรมเลียนแบบในสิ่งที่ไม่สมควร อาทิ เรื่องเพศ ภาษา หรือความรุนแรง เนื่องจาก ขาดคนชี้แนะถึงความเหมาะสม ขาดคนแนะนำว่าอะไรคือความจริง อะไรคือโลกเสมือน นอกจากนี้ ยังทำให้ขาดทักษะทางสังคม มี EQ ต่ำกว่าคนทั่วไป ถือเป็นข้อด้อยของคนไอทีในประเทศไทย เนื่องจาก ในปัจจุบันสังคมไทยยังไม่มีความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าว ทางออกที่ดี คือ ทุกฝ่ายควรร่วมมือกัน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และสังคม แม้เรื่องดังกล่าวจะถือเป็นเรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวและมีความละเอียดอ่อน เมื่อเกิดภัยหรือความรุนแรง ก็ควรวิเคราะห์ที่มาที่ไปให้ดีก่อนจะโทษว่าเทคโนโลยีเป็นต้นเหตุของปัญหา
ดร.โคทม ให้คำแนะนำอีกว่า การตระหนักรู้ถึงปัญหาต่างๆ พ่อแม่ ครู หรือกลุ่มเพื่อน มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการชักจูงและแนะนำเยาวชนไปสู่ทางที่ถูกต้อง โดยกลุ่มเพื่อน ถือเป็นกลุ่มสำคัญที่มีบทบาทและอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเยาวชน ดังนั้น เยาวชนจึงควรชักจูงกันประพฤติเรื่องดี หากเป็นไปได้ควรใช้การปฏิบัติธรรมและเจริญสติเข้าช่วย เพื่อเสริมสร้างสติในการครองใจตนเอง ขณะเดียวกัน สังคมก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ภายใต้ความพอดี
ด้าน พญ.ณัฏฐิณี ชินะจิตพันธุ์ แพทย์ผู้ชำนาญการจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต อธิบายว่า เด็กทั่วไปมักชอบเล่นและทำตามเพื่อน มีความอยากรู้อยากเห็น และเล่นซนเพื่อความสนุกสนาน แตกต่างจากเด็กที่หลงใหลหรือคลั่งไคล้เกม เนื่องจาก เด็กกลุ่มดังกล่าวจะมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน และภูมิใจที่สามารถเอาชนะหรือผ่านด่านที่สูงขึ้นในเกม จึงต้องการเพื่อนที่เล่นและพูดคุยในเรื่องเดียวกัน พวกเขาจึงพยายามจัดแบ่งเวลาในการเล่น โดยจัดสรรจากชีวิตประจำวัน แต่ยังดำเนินการเรียนและชีวิตประจำวันอย่างปกติ ขณะที่ กลุ่มที่เสพติดเกมจะแสวงหาการเล่นเกม รู้สึกหงุดหงิดกระวนกระวายเมื่อถูกขัดขวางการเล่น และจะหมกมุ่นอยู่กับคอมพิวเตอร์ เนื่องจาก ต้องการเล่นในระดับที่สูงขึ้น ทำให้ใช้เวลาในการเล่นเกมเป็นเวลานาน บางรายมีความพยายามที่จะลดหรือเลิกเล่นเกม แต่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ จึงส่งผลกระทบต่อการเรียน งาน สุขภาพ
ความสัมพันธ์ในครอบครัว และสังคม
แพทย์ผู้ชำนาญการ จากกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลต่อว่า นอกจากผลกระทบในด้านต่างๆ อาการเสพติดเกมยังก่อให้เกิดปัญหาหรือโรคทางจิตเวชร่วมด้วย อาทิ โรคสมาธิสั้น อาการซึมเศร้า พฤติกรรมดื้อรั้น ต่อต้าน ก้าวร้าว และยังก่อให้เกิดบุคลิกภาพแบบหลบเลี่ยงอีกด้วย ส่วนผลกระทบด้านความก้าวร้าวรุนแรงของผู้เล่นเกมคอมพิวเตอร์นั้น มีสาเหตุจากบทบาทภายในเกม ที่ผู้เล่นกระทำและได้รับรางวัลเป็นแรงเสริมการกระทำ ประกอบกับภาพและการเคลื่อนไหวเสมือนจริง ส่งผลให้ผู้เล่นจำนวนมากนิยมเล่นเกมที่มีความรุนแรงถึง 75-90% คอมพิวเตอร์สามารถสร้างความพึงพอใจเฉพาะหน้าแก่ผู้เล่น แต่ในทางกลับกัน ก็เพิ่มความรู้สึกโดดเดี่ยวและซึมเศร้า ลดสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นทางสังคม
พญ.ณัฏฐิณี แนะนำด้วยว่า พ่อแม่ที่มีลูกติดเกมหรืออินเทอร์เน็ตควรสร้างวินัยและความรับผิดชอบแก่เด็ก ลดโอกาสเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตลง โดยผู้ปกครองต้องรับฟังและพูดคุยกับลูกด้วยดี คอยให้กำลังใจและชื่นชมเมื่อลูกทำในสิ่งถูกต้อง พร้อมทั้งร่วมกำหนดกติกาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อหาทางออกที่สร้างสรรและเหมาะสมกับทุกฝ่าย โดยเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ตนเองทันทีเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ลูก
ส่วน นางสาวทวีนันต์ ชุมนวล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะบริหารธุรกิจ สาขาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชธานี ผู้รับผิดชอบโครงงาน Computer Syndrome ที่ผ่านการคัดเลือกจากทีเอชนิค เล่าว่า โครงงานดังกล่าวเป็นผลงานของนักศึกษาชมรมคอมพิวเตอร์ ม.ราชธานี จำนวน 15 คน ที่ใช้ความรู้ด้านสุขภาพที่ค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ต มาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิก เพื่อนำเสนอความรู้แก่นักศึกษาและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยฯ ด้วยแผ่นพับและการจัดแสดงผลงานผ่านเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยฯ (www.rtu.ac.th) เพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนและผู้สนใจ ตรงตามวัตถุประสงค์ของคณะผู้จัดทำ ที่มุ่งหวังให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์และประชาชนทั่วไปสามารถป้องกันตนเอง จากโรคและภัยแฝงที่มาพร้อมกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ ส่วนผู้ที่ใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทันสมัยไปในทางผิดนั้น ควรเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของตนเอง ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์อย่างสร้างสรรค์และถูกวิธี
แม้หลายฝ่ายจะมองถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี มากกว่าโทษภัยที่แฝงอยู่ใกล้ตัว แต่เชื่อว่า การกระตุ้นเตือนให้ทราบถึงอันตรายจากการใช้งานอย่างผิดวิธี ทั้งการใช้งานคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน การหมกมุ่นอยู่กับโลกออนไลน์ ตลอดจนการเสพติดเกมในครั้งนี้ อาจช่วยเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน คนใกล้ตัวที่อยู่รอบข้างเยาวชนหรือกลุ่มคนติดเกมนั้น จะสามารถสังเกตถึงสาเหตุและนำวิธีแก้ปัญหาไปใช้ได้อย่างถูกต้องตรงจุด ไม่ใช่เพียงการผลักภาระให้ตกอยู่ที่เทคโนโลยี และโทษว่านั่นคือต้นตอที่ก่อให้เกิดความสูญเสีย...
บทสรุปกิจกรรม
โครงการ "ใช้คอมฯ อย่างสร้างสรรค์ รู้ทันโรคภัย " จัดขึ้นตั้งแต่ กันยายน 2551 - มิถุนายน 2552
มูลนิธิฯ เปิดรับสมัครนิสิต นักศึกษา ระดับอุดมศึกษา จากทั่วประเทศ ในการเสนอโครงงานซึ่งไม่จำกัดรูปแบบภายใต้ หัวข้อ "ใช้คอมฯ อย่างสร้างสรรค์ รู้ทันโรคภัย" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ได้รับความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มาจากการใช้คอมพิวเตอร์ ในการนี้มีโครงงานที่ผ่านการคัดเลือกและดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 5 โครงงาน ดังนี้ (คลิกชื่อเรื่อง เพื่อดูผลงาน)
1. |
ใช้คอมฯ อย่างสร้างสรรค์ รู้ทันโรคภัย |
|
|
เสนอโดย |
|
|
มหาวิทยาลัยบูรพา สาขาเทคโนโลยีการศึกษา |
ผู้รับผิดชอบ |
นายเจนจบ สุขแสงประสิทธิ์ |
|
2. |
Computer Syndrome (ผลกระทบด้านสุขภาพจากการใช้งานคอมพิวเตอร์) |
|
เสนอโดย |
|
|
มหาวิทยาลัยราชธานี สมาชิกชมรมคอมพิวเตอร์กราฟฟิค |
ผู้รับผิดชอบ |
นางสาวทวีนันต์ ชุมนวล |
|
3. |
โรค (คอม) อย่างนี้ก็มีด้วย |
|
|
เสนอโดย |
|
|
มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี |
ผู้รับผิดชอบ |
นางสาวศิริเพ็ญ พรหมสุวรรณ |
|
4. |
รู้ทันโรคภัยใกล้คอมฯ |
|
|
เสนอโดย |
|
|
มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี |
ผู้รับผิดชอบ |
นางสาวผกามาศ ปิยะวาส |
|
5. |
สนุกกับคอมฯ พร้อมรักสุขภาพ |
|
|
เสนอโดย |
|
|
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ |
ผู้รับผิดชอบ |
นายศักดิ์พงษ์ เสรีเศวตรัตน์ |
|
อ้างอิงที่มา
: http://www.thnic.or.th/activity/12-scholar
: ปิยุบล ตั้งธนธานิช
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
: http://www.thairath.co.th/content/tech/19621
|