ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่เมื่อก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ก็จะมีการคาดการณ์แนวโน้มและทิศทางที่จะเกิดขึ้นภายในปีนั้นๆ เช่นเดียวกับที่ ไอดีซี ได้สรุปแนวโน้มสำคัญที่จะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อทิศทางตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม (ไอซีที) ของประเทศไทยในปีนี้ ซึ่งทีมข่าวไอทีออนไลน์ได้หยิบยกมาให้สาวกเทคโนโลยีทุกท่านได้อัพเดท และเตรียมพร้อมรับเทรนด์ใหม่ได้โดยไม่ตกยุค...
นายอรรถพล สาธิตคณิตกุล ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัยและที่ปรึกษาประจำประเทศไทย ของไอดีซี เปิดเผยรายละเอียดว่า การตื่นตัวของผู้บริโภคด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ในปีนี้มีการใช้จ่ายด้านไอซีทีเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มสถาบันการเงิน การสื่อสาร รวมถึงภาครัฐ เป็นภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มใช้จ่ายสูงที่สุด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าบริษัทต่างๆ จะเลือกใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียเพื่อพัฒนาธุรกิจมากขึ้นด้วย
ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัยและที่ปรึกษาประจำประเทศไทย ของไอดีซี ยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า จากข้อมูลการวิจัยล่าสุดและการวิเคราะห์ร่วมกันของนักวิเคราะห์ในประเทศไทย ไอดีซีได้สรุปแนวโน้ม 10 ประการที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดไอซีทีของประเทศไทยในปี 2554 ไว้ดังนี้
1. การใช้จ่ายด้านไอทีจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายด้านไอทีที่ฟื้นตัวขึ้นจากปี 2553 จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยภาพรวมของการใช้จ่ายซื้อสินค้าทั้งฮาร์ดแวร์ และ ซอฟท์แวร์ ตลอดจนการใช้จ่ายเพื่อซื้อบริการด้านไอทีต่างๆ เพิ่ม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 9.3% คาดว่าตัวเลขการใช้จ่ายอาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 1.95 แสนล้านบาท
2. การใช้จ่ายด้านบริการโทรคมนาคมยังคงมีแนวโน้มที่ดี ตลาดการให้บริการด้านโทรคมนาคมของประเทศไทยอาจเติบโตขึ้นอีก 3% เช่นเดียวกับตลาดโทรคมนาคมพื้นฐานและไร้สายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3% ยิ่งไปกว่านั้นการให้บริการผ่านเครือข่ายไร้สายจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 66% ของตลาดการให้บริการด้านโทรคมนาคมทั้งหมด โดยรายได้หลักของผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมยังคงมาจากการให้บริการด้านเสียง (Voice) แม้ว่าจะเติบโตเพียง 1% จากปีที่ผ่านมา ตรงข้ามกับการให้บริการด้านข้อมูล (Data) ที่อาจขยายตัวขึ้น 16% คาดว่าในปีนี้ เม็ดเงินจากการใช้จ่ายด้านการให้บริการมัลติมีเดียและบรอดแบนด์เคลื่อนที่จะเป็น 70% ของตลาดการให้บริการด้านข้อมูล (Data) ผ่านเครือข่ายไร้สายทั้งหมดในประเทศไทย
3. คอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็ก (มินิโน้ตบุ๊ก) จะได้รับผลกระทบจากมีเดียแท็บเล็ต แม้สินค้าประเภทมีเดียแท็บเล็ตจะยังไม่แพร่หลายในประเทศไทยมากนัก แต่ก็ทำให้ผู้บริโภคเริ่มชะลอการตัดสินใจที่จะซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ โดยเฉพาะมินิโน้ตบุ๊ก ขณะที่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนหันมาผลิตมีเดียแท็บเล็ตออกสู่ตลาด ยิ่งส่งผลกระทบทางลบต่อตลาดมินิโน้ตบุ๊กมากขึ้น เนื่องจากทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์มุ่งเป้าไปที่ผู้บริโภคกลุ่มใกล้เคียงกัน เชื่อว่าตลาดมีเดียแท็บเล็ตจะเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามีเดียแท็บเล็ตจะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้านประสบการณ์การใช้งาน แต่หากพิจารณาถึงประสิทธิภาพการทำงานโดยรวม มีเดียแท็บเล็ตยังคงเป็นรองมินิโน้ตบุ๊กค่อนข้างมาก จึงทำให้โอกาสที่มีเดียแท็บเล็ตจะเข้ามาแทนที่มินิโน้ตบุ๊กอย่างสมบูรณ์นั้นยังไม่เกิดขึ้น
4. ผู้ให้บริการด้านไอทีจะเปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์แบบแบ่งแยกกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน ผู้ให้บริการด้านไอทีจะพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มให้การบริการของตนมากขึ้น นอกจากการขายสินค้าและโซลูชัน การให้บริการที่สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กรในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายมากขึ้นด้วย อาจทำให้ผู้ให้บริการด้านไอทีศึกษาลักษณะเฉพาะตัวขององค์กรในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบงานบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการที่ผู้ผลิตร่วมกับผู้วางระบบ (System Integrator) หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อออกแบบโซลูชันเฉพาะที่เหมาะสมกับแต่ละองค์กร
5. การดำเนินธุรกิจบนคลาวด์กำลังจะเกิดขึ้น ไอดีซีเชื่อว่าการให้บริการคลาวด์ประเภท Infrastructure-as-a-Services หรือ IaaS จะเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปี 2554 โดยการนำเสนอจากผู้ให้บริการด้านไอที (IT Services Providers - ITSP) หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ที่มีโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ที่แข็งแกร่ง โดยบริการด้าน IaaS อาจเป็นไปได้ในหลายลักษณะ อาทิ การให้บริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลในลักษณะคลาวด์ การให้บริการเครื่องแม่ข่ายแบบยืดหยุ่น และสามารถปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพของซีพียู ให้เหมาะสมกับแอพพลิเคชั่นหรือประเภทของงาน รวมถึงรูปแบบการให้บริการแอพพลิเคชั่นและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกัน (Collaboration platforms) เป็นต้น
6. โซเชียลมีเดียจะทำให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านโซเชียลแพลตฟอร์มมากขึ้น ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจจะผลิตเครื่องมือใหม่ๆ ที่เป็นโซลูชันในการทำเหมืองข้อความ (text mining) และการวิเคราะห์ทางอารมณ์ (sentiment analysis) จากข้อมูลลูกค้าที่มีอยู่เป็นจำนวนมากบนโซเชียลเน็ตเวิร์กและแสดงผลเป็นข้อมูลเรียลไทม์ ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านการวิเคราะห์ข้อมูลจากโลกออนไลน์มากขึ้นด้วย
7. ระบบปฏิบัติการบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยการออกแบบแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ จะสามารถประยุกต์ใช้ได้กับหลายแพลตฟอร์ม ในปีที่ผ่านมาตลาดสมาร์ทโฟนประเภทเน้นการใช้งานด้านข้อมูลเป็นหลัก (Data centric) มีอัตราการเติบโตเกือบ 100% คาดว่าในปีนี้ประเทศไทยจะมียอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนมากกว่า 2 ล้านเครื่อง หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 30% ปัจจุบัน ตลาดกลุ่มดังกล่าวมีระบบปฏิบัติการที่เป็นที่นิยมอยู่หลายยี่ห้อ เช่น ซิมเบียนของโนเกีย ไอโอเอสของแอปเปิ้ล แอนดรอยด์ของกูเกิล และแบล็กเบอร์รี่ของรีเสิรช์ อิน โมชั่น คาดว่าจากการใช้งานที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ระบบปฏิบัติการดังกล่าวยังคงมีอัตราการเติบโตสูงในปีนี้
8. การผสมผสานที่เกิดขึ้นจากโซลูชั่นด้านระบบพื้นฐานผลักดันให้เกิดการพัฒนาช่องทางการให้บริการ เชื่อว่าในปีนี้จะได้เห็นกลยุทธ์ด้านสินค้าและราคาแบบใหม่ๆ ที่ผู้ผลิตระบบโครงสร้างพื้นฐาน สตอเรจ ระบบปกป้องข้อมูล และผู้ให้บริการนำเสนอเป็นโซลูชันออกสู่ตลาดมากขึ้น ตลาดซอฟต์แวร์ด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยที่เคยเติบโต 10.1% ในปีที่ผ่านมา คาดว่าจะเติบโต 13.5% ในปีนี้ โดยแนวคิดเวอร์ชวลไลเซชั่นจะได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากทำให้ฮาร์ดแวร์ต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้การปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มระบบโครงสร้างพื้นฐานทำได้ง่ายขึ้น
9. ผู้บริโภคจะซื้อซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสที่ถูกกฏหมาย คาดว่าผู้บริโภคจะเพิ่มปริมาณการซื้อซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสที่ถูกกฏหมายมากขึ้น แม้ยังมีซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในตลาดเป็นจำนวนมาก จากการทำตลาดอย่างต่อเนื่องของผู้ผลิต เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคสนใจซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสถูกกฏหมายมากขึ้น ทั้งการใช้พื้นที่สื่อ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และการลงทุนพัฒนาบริการหลังการขาย เชื่อว่าในปี 2554 เม็ดเงินการใช้จ่ายเพื่อซื้อซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสจะเพิ่มขึ้นประมาณ 13% ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าซอฟต์แวร์ระบบปกป้องข้อมูลด้านอื่นๆ จะเพิ่มขึ้น 11.7%
10. ความต้องการด้านข้อมูล (Data) ของโทรศัพท์เคลื่อนที่กระตุ้นผู้ให้บริการคิดบริการใหม่ๆ ได้ตรงกับความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้บริการด้านข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สาย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความแพร่หลายของสมาร์ทโฟนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างๆ ทั้งกลุ่มผู้บริโภคส่วนบุคคลและภาคธุรกิจ ผลักดันให้ผู้ให้บริการปรับเปลี่ยนรูปแบบ data package โดยเชื่อว่าสัดส่วนแพ็คเกจแบบคิดตามปริมาณการใช้งาน (volume-based) จะมีปริมาณมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับแพ็คเกจแบบคิดตามระยะเวลาการใช้งาน (time-based) เพื่อตอบสนองความต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลาของผู้ใช้สมาร์ทโฟน
จัดว่าเป็นไปตามแนวโน้มที่หลายฝ่ายได้เคยคาดการณ์เอาไว้ ทั้งเรื่องโซเชียลเน็ตเวิร์ก ช่องทางการเติบโตของสมาร์ทโฟน ความต้องการใช้ดาต้า เทคโนโลยีระบบคลาวด์ หรือแม้แต่การใส่ใจใช้งานซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นแนวโน้มว่าคนไทยจำนวนไม่น้อย เริ่มตระหนักถึงความสำคัญด้านลิขสิทธิ์ และต้องการลดปริมาณการละเมิดลิขสิทธิ์ลง ไม่มากก็น้อย...