Home » วิทยาการ ไอที โลกาภิวัฒน์ » ร่างกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ปลดล็อกจุดอ่อน หรือเพิ่มปัญหา

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
ร่างกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ปลดล็อกจุดอ่อน หรือเพิ่มปัญหา

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  วันที่ 16 เมษายน 2554
"พ.ร.บ.คอมพ์" เวอร์ชั่นอัพเกรดปลดล็อกจุดอ่อน หรือเพิ่มปัญหา

นักวิชาการ -กฏหมาย-ชาวเน็ต ชำแหล่ะ "พ.ร.บ.คอมพ์" เวอร์ชั่นอัพเกรดปลดล็อกจุดอ่อน หรือเพิ่มปัญหา

          ท่ามกลางความคึกคักของวิวาทะหลากหลายที่เริ่มกระหึ่มมาอีกระลอก ในวินาทีที่ความสมดุลระหว่าง "สิทธิ" "เสรีภาพ" และ "กฏเหล็ก" บนโลกไซเบอร์ยังคงเป็นปัญหาถกเถียงกันไม่จบสิ้น ร่างกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ บนโครงสร้างของเนื้อหาที่คล้ายคลึงฉบับเดิม แต่เพิ่มสาระสำคัญที่ต่างไป กำลังถูกผลักดันให้ใช้แทน ฉบับ พ.ศ. 2550 โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในประเด็นที่แม้จะผ่านมาหลายปียังคงถูกท้วงติงถึงขอบเขตและประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และคนส่วนใหญ่อาจยังไม่ทราบว่า โลกที่ได้ชื่อว่า มีอิสระ เสรีภาพ และไร้พรมแดนก็ต้องมีกติตาที่ต้องทำความเข้าใจ
 
          แม้การแก้กฎหมายจะไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย เพราะเมื่อย้อนอดีตไป ประวัติศาสตร์ของการแก้ ปรับ เปลี่ยน ตัวบทกฎหมายมายาวนาน กระทั่งการฉีกรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศก็ยังทำกันได้หลายครั้ง ซึ่งหากจัดอันดับก็มีโอกาสครองแชมป์โลกได้ แต่ถ้าถามว่าสังคมไทยรู้จักบทบาทหน้าที่ รวมทั้งตัวบทพยัญชนะที่ทำหน้าที่คุ้มครองตัวเองมากน้อยเพียงไร คำตอบถึงจะคะเนเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่เชื่อว่าไม่มากนัก

กม.ต้องกำหนดกลไกเอาผิดที่ชัดเจน

         นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กล่าวว่า กระแสการเรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีอยู่ตลอดเวลา เพราะขาดความชัดเจน บางมาตรายังคลุมเครือ การเอาผิดทำแบบเหวี่ยงแห ที่ผ่านมาผู้ที่มีส่วนในร่างเดิม ทั้งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) หรือเว็บมาสเตอร์เว็บไซต์ใหญ่ๆ พยายามประนีประนอมให้เกิดการแก้ไข
 
         "เช่น มาตรา14 ที่เน้นการเอาผิดด้านคอนเทนท์ ซึ่งกว้างมาก และมาตรา15 ที่เน้นให้เว็บมาสเตอร์ต้องรับผิดโดยอัตโนมัติ ซึ่งบางครั้งมันเหวี่ยงแหเกินไป อย่างก่อนหน้านี้กรณีการทำผิด หมิ่นประมาท เกิดขึ้นในเว็บไซต์ที่ไปเช่าโฮสต์เว็บไซต์ใหญ่อีกทีหนึ่ง แต่พอเกิดความผิด ผู้ที่โดนจับกุม เอาผิดเว็บมาสเตอร์โดยอัตโนมัติ โดยไม่ได้ให้ระยะเวลา หรืออุทธรณ์ใดๆ ซึ่งตรงนี้ ยังไม่ค่อยถูกต้องเท่าที่ควร ถือเป็นการผลักภาระให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ทั้งไอเอสพี หรือเว็บมาสเตอร์มากเกินไป"
 
          เธอ แสดงความเห็นว่า ต้องการให้ลบมาตรา 14 และ 15 ออกไปเลย โดยหันไปใช้กฏหมายคดีหมิ่นประมาทแทน เพราะครอบคลุมพอสมควร แต่หากต้องปรับแก้กฏหมายหมิ่นประมาท เพื่อให้สอดคล้องมากขึ้นก็เป็นเรื่องที่จะทำได้ในภายหลัง
 
          ขณะที่ ภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงเทคโนโลยีสารเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ควรจะเข้ามามีบทบาท หากคิดว่าตัวเองเป็นหน่วยงานที่ต้องกำกับดูแล อาจต้องเข้ามากำหนดกลไก มีกระบวนการแจ้งให้ผู้ดูลระบบได้ลบข้อมูลที่ผิดกฏหมาย หรือหมิ่นประมาทออกไป มีกำหนดระยะเวลาภายในกี่วัน หากผู้ให้บริการระบบไม่เห็นด้วย ก็เปิดโอกาสให้อุทธรณ์ เป็นต้น ไม่ใช่ว่า ระบุให้ผู้ดูแลระบบต้องรับผิดโดยอัตโนมัติ
 
         "จริงๆ แล้ว พ.ร.บ.คอมพ์ ถูกออกแบบมาให้ดูแล 2 ส่วน ได้แก่ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เช่น ฟิชชิ่ง แฮคเกอร์ต่างๆ กับ อีกส่วน คือ การกำกับดูแลคอนเทนท์ ที่เป็นส่วนของสื่อ แต่พอเอามารวมอยู่ใน พ.ร.บ.เดียวกัน ส่วนที่เป็นคอนเทนท์ทางอินเทอร์เน็ตค่อนข้างละเอียดอ่อน จะไปอธิบายความอาชญากรรมแบบตีขลุม หรือกว้างๆ ไม่ได้"

 

อยากให้ กสทช.เข้ามาร่วมกำกับ

          เธอ ระบุว่า ต้องการเสนอให้การกำกับดูแลคอนเทนท์ทางอินเทอร์เน็ตมาอยู่ในกำกับดูแลของ กสทช. ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ต้องกำกับดูแลคอนเทนท์อยู่แล้ว หากต่อไปมี 3จี หรือมีแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ให้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านเทคโนโลยีโทรคม บรอดแคสต์ได้ ตรงนั้นใครจะกำกับดูแล ไอซีที หรือ กสทช. ถือว่าประเด็นนี้ยังลักลั่นอยู่
 
         "ตอนนี้ถือว่าเนื้อหาในอินเทอร์เน็ต ยังไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. แต่คอนเทนท์อื่นๆ ไปอยู่หมดแล้ว ทั้งดาวเทียม วิทยุชุมชน และมือถือ แต่คอนเทนท์อินเทอร์เน็ต ไอซีที ยังกำกับดูแลอยู่ แต่เห็นว่า กสทช. น่าจะมีส่วนร่วมในอนาคตได้ เพราะไอซีทีเองก็ยังติดภาพการเมือง อาจมีอคติได้ และปัจจุบันที่มีการเอาผิดก็มักจะเป็นคอนเทนท์การเมืองเป็นหลัก"
 
          อย่างไรก็ตาม เธอ ยืนยันว่า กฏหมายคอมพิวเตอร์ยังมีความสำคัญในประเทศไทย เพราะที่ผ่านมา การบังคับใช้กฏหมายก็สามารถใช้ได้หลายคดี แต่ใช้เรื่องการป้องปรามอาชญากรรมยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร อย่าง "มีเดีย มอนิเตอร์" ก็ยังไม่ชอบกฏหมายฉบับนี้ เพราะไม่ครอบคลุมหลายเรื่องที่ทำผิดกันบนอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเรื่องการพนัน ซึ่งส่วนใหญ่ กฏหมายนี้จะให้น้ำหนักการปิดเว็บที่เป็นเรื่องการเมืองมากเกินไป

 

"บ้าไปแล้ว" เสียงจากชาวเน็ต

          ขณะที่ อีกหลายความเห็นของพลเมืองอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้รวบรวมจาก http://ilaw.or.th/ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อ กฎหมายประชาชน เว็บไซต์ที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงในสังคมด้วยการเสนอกฎหมาย มีบางส่วนดังนี้
 
          ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม บอกว่า "บ้าไปแล้ว" แบบนี้แฮคเกอร์ไทย คนที่ใจดี ทำดีเพื่อส่วนรวมก็หายหมด คิดว่าระบบคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยดีนักหรือ หรือว่ารู้ว่าตัวเอง"ห่วย" เลยเอาคำว่า "กฎหมาย" มาปกปิดความห่วยของตัวเอง
 
          บางคน กล่าวว่า ขัดต่อเสรีภาพของประชาชน ที่ใช้งานด้านอินเทอร์เน็ต เจตนาของคนเขียนน่าจะมีไว้ปราม มากกว่าปราบ ต้องระวังคนที่นำไปปฎิบัติจะมีเจตนาแอบแฝง นำไปหาผลประโยชน์หรือกลั่นแกล้งผู้อื่น
 
          ขณะที่อีกคน กล่าวว่า ออกมาได้อย่างไร โปรแกรมบางอย่างก็มีประโยชน์เพื่อการศึกษา เพื่อความสะดวกในการส่งต่อข้อมูลภายในองค์กร หรือภายในกลุ่มก็มี ไม่จำเป็นต้องส่งไฟล์เถื่อน แค่มีไว้ใช้งานด้านการศึกษาก็ผิดกฎหมาย มิเช่นนั้นก็ออกกฎหมายให้เลิกใช้คอมพิวเตอร์ไปเลย จะได้กลับไปอยู่ในยุคดึกดำบรรพ์ เลิกใช้อินเทอร์เน็ต หันไปล้างผลาญต้นไม้ มาทำเป็นกระดาษ ส่งไฟล์งานกันเป็นกระดาษ ประเทศชาติจะได้ล้าหลังชาติอื่นเขา
 
          นอกจากนี้ ยังมีผู้แสดงทัศนะว่า พวกโปรแกรมเจาะระบบ ด้านหนึ่งพวกแฮคเกอร์ใช้เจาะระบบก็จริง แต่อีกด้านคนที่ทำงานด้านความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ก็ต้องใช้เพื่อทดสอบระบบเช่นกัน ของพวกนี้มีสองด้าน อยู่ที่การนำไปใช้ การที่แค่มีไว้ในครอบครองแล้วเป็นความผิด ต่อไปจะป้องกันระบบกันได้อย่างไร หากไม่สามารถหาช่องโหว่ในระบบของตัวเองได้ หรือต้องรอให้แฮคเกอร์เข้ามาเจาะ ขโมยข้อมูลไปก่อน แล้วค่อยตามอุดช่องโหว่กันทีหลัง แล้วคุ้มไหมที่ค่อยมาจับทีหลังอย่างเดียว ซึ่งจะจับได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ แล้วกว่าจะจับได้ความเสียหายที่เกิดขึ้นคุ้มกันหรือเปล่า วิธีคิดแบบวัวหายแล้วล้อมคอกไม่มีประโยชน์

 

นักกฎหมายขี้แก้ผิดทางยิ่งเพิ่มปัญหา

          นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.คอมพ์ฉบับใหม่เมื่อเทียบกับฉบับเดิมนับว่าแย่มาก พบว่ามีประเด็นน่าสนใจ 3 เรื่องคือ 1. ในร่างแก้ไขต้องการปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 2. ข้อกฎหมายเดิมที่ตัดออกไปเรื่องเด็กถูกดึงกลับเข้ามาใหม่ และ 3.ฉบับที่แก้ใหม่ให้อำนาจรัฐค่อนข้างมาก กระทั่งบางส่วนสามารถตัดสินใจได้เองโดยไม่ต้องขออำนาจศาล
 
          เขากล่าวว่า ที่น่าสนใจ เช่น มาตรา 16 ที่เพิ่มมาว่า "ผู้ใดสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" มาตรานี้น่ากลัวเพราะหมายความว่าถ้าใครคัดลอก หรือดาวน์โหลดไฟล์ที่มีไม่ได้รับอนุญาตผู้นั้นจะต้องได้รับโทษดังกล่าวทันที เรื่องนี้เป็นวาระซ่อนเร้นของการละเมิดลิขสิทธ์ออนไลน์
 
          "ร่างกฎหมายแบบนี้ถือว่าล่อแหลม และอันตราย แม้ว่ามีประเด็นความละเอียดอ่อนด้านความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่าข้อมูลที่ไม่ให้คัดลอก หรือเผยแพร่นั้นๆ เกี่ยวกับอะไร โดยหลักการรัฐต้องแก้ปัญหาเรื่องคนบังคับใช้กฎหมาย การแก้ไขต้องมีที่มาที่ไป ไม่ใช่แก้กฎหมายโดยเพิ่มเติมเข้าไปซึ่งจะยิ่งเพิ่มปัญหา อย่างฉบับนี้เหมือนคิดกันเองแล้วก็เพิ่มเข้ามา"

 

ถูกค้านทุกมาตรา-ประเมินไม่ผ่าน

           พร้อมระบุว่า ร่างฉบับนี้ไม่น่าจะผ่าน เท่าที่ประเมินดูหลายๆ ฝ่ายเริ่มออกมาคัดค้านท้วงติงทุกมาตรา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบควรออกมาเรียกร้อง แต่ถ้าปล่อยให้ผ่านสังคมออนไลน์ โซเชียลมีเดีย จะถูกขจัดไปหมด และเกิดความโกลาหลในระบบอินเทอร์เน็ตของประเทศ
 
          "ถ้ารัฐมนตรีให้ผ่านถือว่าแย่มาก เพราะผลกระทบจะตกแก่ประชาชนทั่วไป ส่วนผู้กระทำผิดจริงแค่ใช้เซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว ทั้งยังจะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยมิชอบมากขึ้น เรื่องกฎหมายเป็นแค่ประเด็นรอง ประเด็นหลักคือผู้บังคับใช้ คือ ทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา และตำรวจ ผมไม่เห็นด้วยกับการเขียนกฎหมายที่รุนแรงโดยไม่ได้หันกลับไปมองปัญหาที่รากแท้จริงคือเรื่องของผู้บังคับใช้"
 
           อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีผู้เสนอให้ กสทช.เป็นผู้กำกับดูแล จะทำให้ไปกันใหญ่ เนื่องด้วย พ.ร.บ.คอมพ์มีสาระสำคัญ ฐานความผิด และโทษที่เป็นอาญา จึงต้องอยู่ใต้อำนาจของศาล ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกสทช.ที่ควบคุมภาพกว้างๆ เรื่องโทรคมนาคมมากกว่า

 

เตือนอย่าเร่งรีบผ่านกม.

           นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทย กล่าวว่า ร่างใหม่ในพ.ร.บ.คอมพ์ มีเรื่องน่ากังวลคือ ถ้าเร่งรีบจนเกินไปให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ กลัวว่าจะถูกผ่านออกมาแบบลวกๆ เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ และเสรีภาพต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน เท่าที่อ่านดูคร่าวๆ ในข้อเดิม เช่น มาตรา 14 หรือ 15 ร่างใหม่ยังไม่แก้ไขเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารย์อยู่ด้วย
 
           นอกจากนี้ ยังมีบางประเด็นที่ดูแย่ยิ่งกว่าเดิม เช่น การคัดลอกไฟล์ หรือการใช้พร็อกซี่ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวถูกทำให้ผิดกฎหมายได้ง่ายมาก จึงรู้สึกว่าแค่การทำกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ต ก็มีโอกาสเข้าสู่พื้นที่ผิดกฎหมายได้มากกว่าที่อื่นๆ ใช่หรือไม่ ที่เห็นในร่างแก้ไขแม้แต่คอมพิวเตอร์ของตัวเองก็ถูกทำให้เป็นหลักฐานของการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้
 
           เธอแนะว่า พ.ร.บ.คอมพ์เป็นสิ่งที่ควรแก้ไข แต่ไม่ควรรวบรัด ต้องผ่านกระบวนการที่มีส่วนร่วมจากหลายภาพส่วน มีร่างมากกว่า 1 ร่างให้เทียบเคียงกัน และแม้ว่าต้องการให้มีผลบังคับรวดเร็วมากเพียงใดอย่างน้อยก็ไม่ควรผ่านรัฐบาลชุดนี้ ควรเข้าสภาสมัยรัฐบาลหน้าจะดีกว่า

 

เรียกร้องความชัดเจน

          นางสาวจีรนุช กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ต้องทำให้ชัดเจนคือ เมื่อออกมาแบบนี้แล้ว รัฐมีขีดความสามารถบังคับใช้กฎหมายหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันขีดความสามารถของภาครัฐยังมีไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดผลบังคับใช้ที่เป็นธรรม และเท่าเทียม ที่เห็นคือต้องการใช้เมื่อใดค่อยนำออกมาใช้
 
          พร้อมกับชี้ว่า การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ ดูเหมือนน่าจะดีเพราะอำนาจเด็ดขาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีเพียงคนเดียว แต่ที่น่าสังเกตคือ ที่มาของรายชื่อคณะกรรมการ เกี่ยวข้องกับฝ่ายความมั่นคงเป็นส่วนใหญ่
 
          "เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของภาครัฐว่ามองแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร และใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน"

ที่มา  bangkokbiznews.com

 

พ.ร.บ.คอมฯ เพิ่มโทษผู้ดูแลระบบ ก๊อปไฟล์โหลดบิทเสี่ยงคุก

ไฟล์แนบ   ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับไอซีทีวันที่ 28 มีนาคม 2554

 

เมื่อวันจันทร์ที่28 มี.ค. 54 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จัด ประชุมรับฟังและให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติว่า ด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยเชิญตัวแทนผู้ประกอบการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยในการประชุมดังกล่าว มีการแจกเอกสารร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ที่กระทรวงไอซีทีจัดทำขึ้นด้วย

ร่างกฎหมายนี้ เขียนขึ้นเพื่อให้ยกเลิกพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์พ.ศ. 2550 ทั้ง ฉบับ และให้ใช้ร่างฉบับใหม่นี้แทน อย่างไรก็ดี โครงสร้างของเนื้อหากฎหมายมีลักษณะคล้ายคลึงฉบับเดิม โดยมีสาระสำคัญที่ต่างไป ดังนี้

 

ประเด็นที่1 เพิ่มนิยาม “ผู้ดูแลระบบ”

มาตรา4 เพิ่ม นิยามคำว่า “ผู้ดูแลระบบ” หมายความว่า “ผู้มีสิทธิเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการแก่ผู้อื่นในการเข้าสู่อิน เทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น”

ใน กฎหมายเดิมมีการกำหนดโทษของ “ผู้ให้บริการ” ซึ่งหมายถึงผู้ที่ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า การพยายามเอาผิดผู้ให้บริการซึ่งถือเป็น “ตัวกลาง” ในการสื่อสาร จะส่งผลต่อความหวาดกลัวและทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง อีกทั้งในแง่ของกฎหมายคำว่าผู้ให้บริการก็ตีความได้อย่างกว้างขวาง คือแทบจะทุกขั้นตอนที่มีความเกี่ยวข้องในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็ล้วนเป็น ผู้ให้บริการทั้งสิ้น

สำหรับ ร่างฉบับใหม่ที่เพิ่มนิยามคำว่า “ผู้ดูแลระบบ” ขึ้นมานี้ อาจหมายความถึงเจ้าของเว็บไซต์ เว็บมาสเตอร์ แอดมินระบบเครือข่าย แอดมินฐานข้อมูล ผู้ดูแลเว็บบอร์ด บรรณาธิการเนื้อหาเว็บ เจ้าของบล็อก ขณะที่ “ผู้ให้บริการ” อาจหมายความถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต

ตาม ร่างกฎหมายนี้ ตัวกลางต้องรับโทษเท่ากับผู้ที่กระทำความผิด เช่น หากมีการเขียนข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง กระทบกระเทือนต่อความมั่นคง ผู้ดูแลระบบและผู้ให้บริการที่จงใจหรือยินยอมมีความผิดทางอาญาเท่ากับผู้ที่ กระทำความผิด และสำหรับความผิดต่อระบบคอมพิวเตอร์ เช่นการเจาะระบบ การดักข้อมูล หากผู้กระทำนั้นเป็นผู้ดูแลระบบเสียเอง จะมีโทษ1.5 เท่าของอัตราโทษที่กำหนดกับคนทั่วไป

ประเด็นที่ 2 คัดลอกไฟล์ จำคุกสูงสุด 3 ปี 

สิ่งใหม่ในกฎหมายนี้ คือมีมาตรา16 ที่ เพิ่มมาว่า “ผู้ใดสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ทั้งนี้ การทำสำเนาคอมพิวเตอร์ อาจหมายถึงการคัดลอกไฟล์ การดาว์นโหลดไฟล์จากเว็บไซต์ต่างๆ มาตรานี้อาจมีไว้ใช้เอาผิดกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์หรือเพลง แต่แนวทางการเขียนเช่นนี้อาจกระทบไปถึงการแบ็กอัปข้อมูล การเข้าเว็บแล้วเบราว์เซอร์ดาว์นโหลดมาพักไว้ในเครื่องโดยอัตโนมัติหรือที่ เรียกว่า “แคช” (cache เป็น เทคนิคที่ช่วยให้เรียกดูข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น โดยเก็บข้อมูลที่เคยเรียกดูแล้วไว้ในเครื่อง เพื่อให้การดูครั้งต่อไป ไม่ต้องโหลดซ้ำ) ซึ่งผู้ใช้อาจมิได้มีเจตนาหรือกระทั่งรับรู้ว่ามีกระทำการดังกล่าว

ประเด็นที่ 3 มีไฟล์ลามกเกี่ยวกับเด็ก ผิด

ในมาตรา25 “ผู้ ใดครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งมีลักษณะอันลามกที่เกี่ยวข้องกับเด็กหรือ เยาวชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

เป็นครั้งแรกที่มีการระบุขอบเขตเรื่องลามกเด็กหรือเยาวชนโดยเฉพาะขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ยังมีความคลุมเครือว่า ลักษณะอันลามกที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนนั้นหมายความอย่างไร นอกจากนี้ มาตราดังกล่าวยังเป็นการเอาผิดที่ผู้บริโภค ซึ่งมีความน่ากังวลว่า การชี้วัดที่ “การครอบครอง” อาจทำให้เกิดการเอาผิดที่ไม่เป็นธรรม เพราะธรรมชาติการเข้าเว็บทั่วไป ผู้ใช้ย่อมไม่อาจรู้ได้ว่าการเข้าชมแต่ละครั้งดาว์นโหลดไฟล์ใดมาโดย อัตโนมัติบ้าง และหากแม้คอมพิวเตอร์ถูกตรวจแล้วพบว่ามีไฟล์โป๊เด็ก ก็ไม่อาจหมายความได้ว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้ดูผู้ชม

ประเด็นที่ 4 ยังเอาผิดกับเนื้อหา

มาตรา24 (1) นำ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน

เนื้อความข้างต้น เป็นการรวมเอาข้อความในมาตรา14 (1) และ (2) ของ กฎหมายปัจจุบันมารวมกัน ทั้งนี้ หากย้อนไปถึงเจตนารมณ์ดั้งเดิมก่อนจะเป็นข้อความดังที่เห็น มาจากความพยายามเอาผิดกรณีการทำหน้าเว็บเลียนแบบให้เข้าใจว่าเป็นหน้าเว็บ จริงเพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล (phishing) จึง เขียนกฎหมายออกมาว่า การทำข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมถือเป็นความผิด แต่เมื่อแนวคิดนี้มาอยู่ในมือนักกฎหมายและเจ้าหน้าที่ ได้ตีความคำว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม” เสียใหม่ กลายเป็นเรื่องการเขียนเนื้อหาอันเป็นเท็จ และนำไปใช้เอาผิดฟ้องร้องกันในเรื่องการหมิ่นประมาท ความเข้าใจผิดนี้ยังดำรงอยู่และต่อเนื่องมาถึงร่างนี้ซึ่งได้ปรับถ้อยคำใหม่ และกำกับด้วยความน่าจะเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่น ตระหนกแก่ประชาชน มีโทษจำคุกสูงสุด ห้าปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หาก พิจารณาจากประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินคดีคอมพิวเตอร์ที่ผ่านมา ปัญหานี้ก่อให้เกิดการเอาผิดประชาชนอย่างกว้างขวาง เพราะหลายกรณี รัฐไทยเป็นฝ่ายครอบครองการนิยามความจริง ปกปิดความจริง ซึ่งย่อมส่งผลให้คนหันไปแสดงความคิดเห็นในอินเทอร์เน็ตแทน อันอาจถูกตีความได้ว่ากระทบต่อความไม่มั่นคงของ “รัฐบาล” ข้อความกฎหมายลักษณะนี้ยังขัดต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิด เห็นโดยไม่จำเป็น

ประเด็นที่5 ดูหมิ่น ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

มาตรา26 ผู้ ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพ ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น หรือข้อมูลอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลอื่นเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย หรือเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นข้อมูลที่แท้จริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่ผ่านมามีความพยายามฟ้องคดีหมิ่นประมาทซึ่งกันและกันโดยใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จำนวนมาก แต่การกำหนดข้อหายังไม่มีมาตราใดในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่จะใช้ได้อย่างตรงประเด็น มีเพียงมาตรา 14 (1) ที่ระบุเรื่องข้อมูลอันเป็นเท็จดังที่กล่าวมาแล้ว และมาตรา 16 ว่าด้วยภาพตัดต่อ ในร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ได้สร้างความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ใช้ตั้งข้อหาการดูหมิ่นต่อกันได้ง่ายขึ้นข้อสังเกตคือ ความผิดตามร่างฉบับใหม่นี้กำหนดให้การดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทมีโทษจำคุกสามปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ทั้งที่การหมิ่นประมาทในกรณีปกติ ตามประมวลกฎหมายอาญามีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

ประเด็นที่6 ส่งสแปม ต้องเปิดช่องให้เลิกรับบริการ

มาตรา21 ผู้ ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนตามหลักเกณฑ์ที่ รัฐมนตรีประกาศกำหนด เพื่อประโยชน์ทางการค้าจนเป็นเหตุให้บุคคลอื่นเดือดร้อนรำคาญ และโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ สามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากที่กฎหมายเดิมกำหนดเพียงว่า การส่งจดหมายรบกวน หากเป็นการส่งโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มา ถือว่าผิดกฎหมาย ในร่างฉบับใหม่แก้ไขว่า หากการส่งข้อมูลเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการ บอกรับได้ ทั้งนี้อัตราโทษลดลงจากเดิมที่กำหนดโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท มาเป็นจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ยังต้องตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากการส่งข้อมูลดังกล่าว แม้จะเป็นเหตุให้บุคคลอื่นเดือดร้อนรำคาญ แต่ไม่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ทางการค้า ก็จะไม่ผิดตามร่างฉบับใหม่นี้

ประเด็นที่7 เก็บโปรแกรมทะลุทะลวงไว้ คุกหนึ่งปี

มาตรา23 ผู้ ใดผลิต จำหน่าย จ่ายแจก ทำซ้ำ มีไว้ หรือทำให้แพร่หลายโดยประการใด ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ชุดคำสั่ง หรืออุปกรณ์ที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความ ผิดตามมาตรา 15 มาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 20 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

น่าสังเกตว่า เพียงแค่ทำซ้ำ หรือมีไว้ซึ่งโปรแกรมที่ใช้เจาะระบบ การก๊อปปี้ดาวน์โหลดไฟล์อย่างทอร์เรนท์ การดักข้อมูล การก่อกวนระบบ ก็มีความผิดจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท เรื่องนี้น่าจะกระทบต่อการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์โดยตรง

ประเด็นที่ 8 เพิ่มโทษผู้เจาะระบบ

สำหรับกรณีการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ เดิมกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ร่างกฎหมายใหม่เพิ่มเพดานโทษเป็นจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท(เพิ่มขึ้น 4 เท่า)

ประเด็นที่ 9 ให้หน้าที่หน่วยใหม่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)

ร่างกฎหมายนี้กำหนดหน้าที่ให้หน่วยงานซึ่งมีชื่อว่า “สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)” เรียกโดยย่อว่า “สพธอ.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Electronic Transactions Development Agency (Public Organization)” เรียกโดยย่อว่า “ETDA” เป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงไอซีที

หน่วยงานนี้เพิ่งตั้งขึ้นเป็นทางการ ประกาศผ่าน “พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิสก์ พ.ศ. 2554” เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 54 โดยเริ่มมีการโอนอำนาจหน้าที่และจัดทำระเบียบ สรรหาประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มี.. 54

ในร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่นี้ กำหนดให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) มีบทบาทเป็นฝ่ายเลขานุการของ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์” ภายใต้ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับที่กำลังร่างนี้

นอกจากนี้ หากคดีใดที่ต้องการสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดซึ่งอยู่ในต่างประเทศ จะเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด ในร่างกฎหมายนี้กำหนดว่า พนักงานสอบสวนอาจร้องขอให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) เป็นผู้ประสานงานกลางให้ได้ข้อมูลมา

ประเด็นที่10 ตั้งคณะกรรมการ สัดส่วน 8 – 3 – 0 : รัฐตำรวจ-ผู้ทรงคุณวุฒิ-ประชาชน

ร่างกฎหมายนี้เพิ่มกลไก“คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์” ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นรองประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผู้ อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยระบุตัวบุคคลจากผู้มี ความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านกฎหมาย วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การเงินการธนาคาร หรือสังคมศาสตร์จำนวนสามคน โดยให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี

คณะกรรมการชุดนี้ ให้ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์กรมหาชน), สำนักงานกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (สังกัดกระทรวงไอซีที), สำนักคดีเทคโนโลยี (สังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม), และ กลุ่มงานตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี กองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี (บก.สสท.) (สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) เป็นเลขานุการร่วมกัน

คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ออกระเบียบ ประกาศ ตามที่กำหนดในพ.ร.บ.นี้ และมีอำนาจเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหลักฐาน รวมถึง “ปฏิบัติการอื่นใด” เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ โดยให้ถือว่าคณะกรรมการและอนุกรรมการเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

ที่มา   http://ilaw.or.th/node/857