Home » วิทยาการ ไอที โลกาภิวัฒน์ » อันตรายจากการใช้สังคมออนไลน์ในองค์กร ระวังสารพัดภัยคุกคามที่แฝงตัว ลวงผู้ใช้ที่รู้ไม่เท่าทัน

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
อันตรายจากการใช้สังคมออนไลน์ในองค์กร ระวังสารพัดภัยคุกคามที่แฝงตัว ลวงผู้ใช้ที่รู้ไม่เท่าทัน

ข่าวไทยรัฐออนไลน์     วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2554

พนักงานนิยมท่องสังคมออนไลน์จากออฟฟิศ เตือนเสี่ยงภัยคุกคาม...!

           เทรนด์ ไมโคร เผยผลวิจัยล่าสุด พบอันตรายจากการใช้สังคมออนไลน์ในองค์กร แนะองค์กรใช้กระตุ้นยอดขายได้ แต่ควรระวังสารพัดภัยคุกคามที่แฝงตัว หวังลวงผู้ใช้ที่รู้ไม่เท่าทัน...

           ศูนย์วิจัยเทรนด์แล็บส์ บริษัท เทรนด์ ไมโคร อิงค์ เปิดเผยผลวิจัยเกี่ยวกับอันตราย จากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ภายในองค์กร ซึ่งเอเชียแปซิฟิกถือเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตของสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง องค์กรธุรกิจจำนวนมาก จึงใช้สังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือชี้วัด เพื่อขยายบทบาทในตลาด ส่งผลให้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกลายเป็นผู้สนับสนุนที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้น ทั้งด้านการส่งเสริมการขายและการตลาด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์จะเพิ่มขึ้น แต่หลายองค์กรยังขาดความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นและภัยคุกคามผ่านสังคมออนไลน์

            รายงานจากนีลเซน ระบุว่า 74% ของประชากรอินเทอร์เน็ตโลกเข้าชมไซต์บล็อก (blog) หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ และพบว่าจุดที่ใช้ในการเข้าร่วมสื่อสังคมออนไลน์ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ส่วนใหญ่อยู่ในที่ทำงาน ขณะที่รายงานของการ์ทเนอร์ ระบุว่า การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในที่ทำงานกำลังขยายตัวอย่างมาก จากการสำรวจพบว่า พนักงานเกือบครึ่งมีการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ และ 18.5% มีความชำนาญหรือมีหน้าที่รับผิดชอบในด้านการวางแผน ประเมิน หรือเลือกสื่อสังคมออนไลน์มาใช้ภายในองค์กรของตน

           นางสาวไมลา ปิลาโอ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีหลัก ศูนย์วิจัยเทรนด์แล็บส์ บริษัท เทรนด์ ไมโคร อิงค์ กล่าวว่า สื่อสังคมออนไลน์กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในแวดวงธุรกิจ บริษัทหลายแห่งได้ปรับใช้ไซต์เครือข่าย เสมือนเป็นเครื่องมือทำการตลาด เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดของตน หรืออยู่เหนือคู่แข่งในตลาด อย่างไรก็ตาม หลายรายมองข้ามความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ที่มีอยู่ภายในไซต์เครือข่ายสังคมดังกล่าว

           จากจำนวนผู้ใช้งานกว่า 500 ล้านราย ทำให้เฟซบุ๊ก (Facebook) กลายเป็นไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ขณะเดียวกัน อาชญากรไซเบอร์ก็มองเห็นโอกาสในการใช้เฟซบุ๊ก เป็นช่องทางแพร่มัลแวร์หรือสร้างการโจมตี เช่น สแปมเมอร์ที่ใช้เฟซบุ๊ก เพื่อแพร่ลิงก์ที่เป็นอันตราย ซึ่งมักนำไปสู่การดาวน์โหลดมัลแวร์ โดยอาศัยผู้ใช้เป็นนกต่อล่อลวงบุคคลอื่นๆ ให้ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน นอกจากนี้ เครื่องมือค้นหาอื่นๆ อาทิ ทวิตเตอร์ (Twitter) ได้กลายเป็นแหล่งรวมลิงก์ที่เป็นอันตราย โดยอาชญากรไซเบอร์นิยมใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมของผู้ใช้ที่มักจะติดตามหัวข้อที่กำลังได้รับความสนใจ และกระตุ้นให้ผู้ใช้ทำการค้นหาข้อมูล เมื่อผู้ใช้คลิกลิงก์ที่เป็นอันตราย ก็จะถูกนำไปยังเพจที่มีมัลแวร์แฝงอยู่ ปัจจุบันหลุมพรางจากการเข้าใช้ไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์โดยไม่ระวังตัว จะครอบคลุมตั้งแต่การปรับเปลี่ยนเส้นทางแบบง่าย จนถึงการทำให้ระบบติดเชื้อได้อย่างซับซ้อน

          "นอกจากไวรัสหรือมัลแวร์ การลวงให้คลิกไลค์ (
likejacking) แอพพลิเคชั่นอันตรายและสแปมทวิตเตอร์แล้ว องค์กรธุรกิจกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยง หากพนักงานของตนโพสต์ข้อความ หรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม ที่นำไปสู่การเปิดเผยที่ตั้งสำนักงาน ปัญหาการเมืองภายในองค์กร โครงการลับ กลยุทธ์ หรือสภาพภายในสำนักงาน เป็นต้น" นางสาวไมลา กล่าว

           อย่างไรก็ตาม ในการปิดกั้นภัยคุกคามจากการใช้ไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ของพนักงาน มีหลักการสำคัญที่องค์กรธุรกิจควรนำไปปรับใช้ ได้แก่

  1. สร้างแนวทางเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อควบคุมพฤติกรรมพนักงาน และแนะนำให้พนักงานพึงระวัง ในสิ่งที่พวกเขาเผยแพร่ทางออนไลน์
  2. ปรับใช้และปรับปรุงการป้องกันแบบหลายชั้นเป็นประจำ
  3. ติดตามตรวจสอบสินทรัพย์สื่อสังคมออนไลน์ทั้งหมด และบันทึกการสื่อสารทั้งหมดไว้
  4. พัฒนาแผนการสื่อสารและการดำเนินการที่เหมาะสม สำหรับกรณีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของบริษัท โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ
  5. จัดแคมเปญรณรงค์ให้เกิดการตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ เพื่อช่วยให้พนักงานเข้าใจ และสำนึกในคุณค่าของสินทรัพย์ข้อมูลองค์กร รวมถึงผลที่ตามมาในกรณีที่สินทรัพย์นั้นตกอยู่ในภาวะอันตราย.


ที่มา   http://www.thairath.co.th/content/tech/189860