กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 27 สิงหาคม 2554
มรดก'สตีฟ จ็อบส์'ซีอีโอผู้เปลี่ยนโลกเทคโนโลยี
จ็อบส์'เป็นผู้มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ผู้นำเทคโนโลยีนวัตกรรม นักวิเคราะห์ยังเชื่อว่าหากเขายังมีลมหายใจก็ยังมีบทบาทสำคัญใน'แอ๊ปเปิ้ล'
ทั้งๆ ที่มีซีอีโอลาออกเป็นข่าวให้เห็นแทบไม่เว้นวัน แต่ทำไมการลาตำแหน่งของ "สตีฟ จ็อบส์" แห่งแอ๊ปเปิ้ลถึงสร้างความสั่นสะเทือนให้แก่วงการไอทีอย่างมาก..อาจกำลังเป็นคำถามที่หลายคนต้องการทราบคำตอบ เพราะทันทีที่มีข่าวประกาศลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของนายจ็อบส์ไม่กี่นาที ราคาหุ้นของแอ๊ปเปิ้ลดิ่งลง 6% สะท้อนถึงความไม่มั่นใจของนักลงทุนหลังจากบริษัทแอ๊ปเปิ้ลไม่มีซีอีโอชื่อ "สตีฟ จ็อบส์"
ขณะที่คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ดังในสหรัฐก็ถึงกับพูดถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่าเป็นการปิดฉากยุคแห่งความน่าทึ่งของเทคโนโลยี ไม่เพียงสำหรับแอ๊ปเปิ้ลเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลก ด้วยว่าจ็อบส์ถือเป็นผู้มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงธุรกิจมาอย่างยาวนาน และยังเป็นผู้นำเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ทำให้บริษัทต่างๆ พยายามจะลอกเลียนแบบกันอย่างกว้างขวางระหว่างที่เขากลับมารับตำแหน่งซีอีโอของบริษัทตั้งแต่ปี 2540
ซีอีโอจากตำนาน
ทั้งนี้เป็นที่ชัดเจนว่าซีอีโอตำนานของแอ๊ปเปิ้ลกำลังเผชิญกับอาการป่วยอย่างหนัก และแม้จะผ่านการรักษามาแล้ว แต่ก็ยังมีรายงานว่าอาการป่วยของจ็อบส์ยังคงขึ้นๆ ลงๆ มาโดยตลอด
คนส่วนใหญ่เรียกว่าโชคดีแล้วถ้าหากว่าสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ในทางใดทางหนึ่ง แต่สำหรับจ็อบส์ต้องถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงโลกในหลายๆ มุมทั้งนวัตกรรมเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงสื่อในหลากหลายแนวทางและหลากหลายโอกาส ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่
บทบาทของซีอีโอรายนี้เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในแอ๊ปเปิ้ลหลังจากเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2519 และช่วยปฏิวัติการพัฒนาคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล กระทั่งเกิดเป็นเครื่อง "แอ๊ปเปิ้ล ทู" ที่เขาได้ร่วมพัฒนากับนายสตีฟ วอซเนียก ซึ่งไม่เพียงเป็นพีซีสำหรับตลาดแมสที่เปิดตัวยุคนั้น แต่ยังเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สร้างผลกระทบให้แก่วงการพีซีอย่างมาก
เมื่อถึงปี 2527 จ็อบส์ยังได้สร้างความสั่นสะเทือนให้แก่วงการคอมพิวเตอร์จากการเป็นผู้นำการพัฒนาเครื่อง "แมคอินทอช" ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ที่ประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์อย่างมาก จากการเริ่มใช้เมาส์ช่วยสั่งงาน และมียูสเซอร์ อินเทอร์เฟซเป็นภาพกราฟฟิก และเป็นต้นแบบที่ทำให้เกิดการพัฒนาคอมพิวเตอร์มาจนถึงทุกวันนี้
กว่าจะเป็นผู้บริหารแอ๊ปเปิ้ล
อย่างไรก็ตามหลังจากถูกบีบให้ออกจากบริษัทแอ๊ปเปิ้ลในปี 2528 จากปัญหาการบริหารงานภายในของบริษัท และได้ตัดสินใจก่อตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใหม่ ชื่อว่า "เน็กซ์" ซึ่งแม้จะเป็นบริษัทที่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่เขาก็ยังได้สร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญ 2 อย่างระหว่างที่อยู่นอกชายคาแอ๊ปเปิ้ล
อย่างแรกคือ บริษัทดังกล่าวได้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่ภายหลังได้กลายเป็นระบบสำคัญของการทำงานบนเครื่องแมคอินทอช หรือที่เรียกว่า "โอเอส เท็น" ขณะเดียวกันก็ยังเป็นโอเอสที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันตลาดมือถือของแอ๊ปเปิ้ลหรือ "ไอโอเอส"
ระหว่างนั้นจ็อบส์ยังได้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจซื้อบริษัท "พิกซาร์" ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์แอนิเมชันขนาดเล็กซึ่งได้กลายเป็นหนึ่งในสตูดิโอผลิตภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก่อนที่จะขายต่อให้ดิสนีย์เป็นมูลค่าถึง 7.4 พันล้านดอลลาร์ และได้เปลี่ยนแปลงโลกของแอนิเมชันไปอย่างต่อเนื่อง
กระทั่งปี 2540 จ็อบส์ได้กลับเข้ามามีบทบาทในแอ๊ปเปิ้ลอีกครั้งในฐานะซีอีโอ หลังจากบริษัทได้เข้าซื้อธุรกิจของเน็กซ์ จากนั้นอีก 14 ปีต่อมาแอ๊ปเปิ้ลก็เริ่มทำกำไรได้มากขึ้น กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าทางการเงินสูงสุด และยังเป็นบริษัทที่มีอิทธิพลต่อวงการเทคโนโลยีทั่วโลก จากการที่ทุกผลิตภัณฑ์ของแอ๊ปเปิ้ลทำให้คนจำนวนมากสนใจ และได้รับการตอบรับในกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปอย่างรวดเร็ว และยังทำให้คู่แข่งหลายรายพยายามจะลอกเลียนแบบ แม้ว่าหลายครั้งสินค้าส่วนใหญ่ของแอ๊ปเปิ้ลจะมีราคาสูงกว่าคู่แข่งมาก
นวัตกรรมเปลี่ยนโลก
ทั้งนี้ระหว่างการหวนคืนตำแหน่งอีกครั้งของซีอีโอจ็อบส์ เขาได้สร้างความแปลกใหม่ให้แก่ตลาดเครื่องเล่นเพลง โดยการเปิดตัว "ไอพอด" และบริการดาวน์โหลดเพลงดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จอย่างมากบน "ไอทูนส์"
นอกจากนี้ยังเป็นผู้แนะนำสุดยอดสมาร์ทโฟน "ไอโฟน" และ "ไอแพด" แทบเล็ตที่ได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จเพียงรายเดียวอย่างแท้จริง ด้วยฟังก์ชันการใช้งานที่เข้ามาทดแทนการใช้แล็ปทอปได้บางส่วน
พร้อมกันนี้ยังเป็นผู้สร้าง "แอพ สโตร์" หรือคลังแอพพลิเคชั่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงปรากฏการณ์การสร้างร้านสาขาที่ประสบความสำเร็จมากแห่งหนึ่ง
หรือแม้กระทั่งในยุคหลังพีซีที่เรียกว่า "โพสต์-พีซี อีร่า" จ็อบส์ก็ยังได้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น แมคบุ๊ค แอร์ ที่ผสมผสานระหว่างคุณสมบัติของแทบเล็ต และพีซี รวมถึงดีไซน์ที่ดูหรูหรา และบางลง ที่ล้วนแต่เป็นสิ่งที่อธิบายได้ว่าเหตุใดที่เมื่อถึงวันที่ "สตีฟ จ็อบส์" ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอถึงได้แตกต่างจากการลาออกของซีอีโอทั่วไป
ดันลูกหม้อรับหน้าที่ทีมใหม่
ถึงแม้จะเข้าสู่ยุคที่แอ๊ปเปิ้ลไม่มีชายชื่อสตีฟ จ็อบส์เป็นซีอีโอ แต่ผู้รับไม้ต่ออย่าง "ทิม คุก" ก็ถือเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจว่าจะสามารถสานต่อภารกิจของจ็อบส์ได้อย่างราบรื่น โดยสปอตไลท์ได้เริ่มฉายมาที่ทีมผู้บริหารใหม่ที่จะถือเป็นกำลังสำคัญที่จะนำพาบริษัทก้าวต่อไป
โดยภายใต้ทีมบริหารของนายคุก ประกอบด้วยนายสกอต ฟอร์สทอลล์, นายโจนาธาน อีฟ และนายฟิลิป ชิลเลอร์ ที่ล้วนแต่เป็นลูกหม้อของแอ๊ปเปิ้ล และมีบทบาทต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะนายชิลเลอร์ที่เป็นหนึ่งในผู้บริหารที่ปรากฏตัวผ่านสื่อบ่อยที่สุด
ส่วนจ็อบส์ ยุคที่ไม่ได้ทำหน้าที่ซีอีโอ แต่ก็ยังอยู่กับแอ๊ปเปิ้ลในฐานะผู้ดูแลทิศทางของบริษัท และยังมีบทบาทในการตัดสินใจที่สำคัญๆ ทุกอย่าง
นายทิม บาจาริน นักวิเคราะห์จากครีเอทีฟ สแตรทิจี กล่าวว่า ตราบใดที่จ็อบส์ยังคงมีลมหายใจอยู่ เขาก็จะยังเป็นที่มีบทบาทต่อการกำหนดทิศทางของแอ๊ปเปิ้ล และแม้จะไม่ได้เป็นซีอีโอของบริษัทแล้ว แต่ก็ยังทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลวิชั่นของแอ๊ปเปิ้ลต่อไป
อย่างไรก็ตามแม้มูลค่าหุ้นจะร่วงลงเล็กน้อยหลังจากการประกาศลาตำแหน่งของ"สตีฟ จ็อบส์" แต่ก็ไม่ได้ทำให้ตลาดเสียความเชื่อมั่นมากนัก โดยนายคุก ได้ส่งข้อความถึงพนักงานของบริษัทว่า "สตีฟได้สร้างบริษัท และวัฒนธรรมที่แตกต่างจากที่อื่นๆ ในโลก และเราก็จะยังคงเดินหน้าไปต่อ เพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่ในดีเอ็นเอของพวกเรา" ซึ่งวันต่อมาหุ้นของแอ๊ปเปิ้ลเริ่มดีดกลับขึ้นมาเล็กน้อย 0.7%
ที่มา http://www.bangkokbiznews.com
|