Home » วิทยาการ ไอที โลกาภิวัฒน์ » startup บริษัทยุคใหม่สำหรับคน ไอที

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
startup บริษัทยุคใหม่สำหรับคน ไอที

มาเปิด Startup กันเถอะ!

โดย มาร์ค Blognone ไทยรัฐออนไลน์   28 พฤศจิกายน 2555

          ประเด็นที่ฮ็อตมากในขณะนี้ ทั้งวงการไอทีไทยและเทศ คือกระแสการตื่นตัวของ “บริษัทไอทีหน้าใหม่” หรือที่ในวงการมีศัพท์เฉพาะว่า startup

          คำว่า startup มาจาก start + up ซึ่งมีความหมายว่าเป็นบริษัทเปิดใหม่ มีพนักงานเพียงแค่ผู้ก่อตั้งไม่กี่คน แต่มีไอเดียและความมุ่งหวังจะเปลี่ยนโลกแบบเดียวกับที่รุ่นพี่ๆ อย่างแอปเปิล ไมโครซอฟท์ ยาฮู กูเกิล เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ ทำสำเร็จมาก่อนแล้ว

         Startup ไม่ใช่เรื่องใหม่ของวงการไอทีโดยเฉพาะสหรัฐเลยนะครับ เราได้ยินเรื่องราวมากมายของบริษัทคอมพิวเตอร์ไฮเทคที่ก่อตั้งโดยเด็กหนุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยสองสามคน ใช้โรงรถเป็นฐานบัญชาการ และเปลี่ยนโลกได้สำเร็จในชั่วพริบตา เพียงแต่กระแสของ startup ครั้งใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2001 พร้อมกับการบูมของอินเทอร์เน็ตและเว็บ ถึงแม้ฟองสบู่จะแตกไปก่อนในเวลาหลังจากนั้นไม่นาน แต่ startup ที่เหลือรอดมาได้ก็พิสูจน์ตัวเองว่ายืนอยู่ได้ในระยะยาว ทั้งอเมซอน อีเบย์ ยาฮู และกูเกิล

           กระแส startup เงียบไปพักหนึ่งก่อนจะมาบูมอีกครั้งพร้อมเทคโนโลยีเว็บ 2.0 ช่วงปี 2006 และต่อด้วยกระแสอุปกรณ์พกพาราวปี 2009-2010 ช่วงนี้เราเห็นบริษัทไอทีหน้าใหม่ๆ เริ่มสยายปีก เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ ที่ก่อตัวตามกระแสของเว็บ 2.0 และบริษัทอย่างอินสตาแกรม โฟร์สแควร์ โรวิโอ (ผู้สร้างเกมแองกรีเบิร์ด) เป็นต้น

   

           ความมุ่งหวังของผู้ก่อตั้งบริษัท startup มีอยู่สองประการใหญ่ๆ ที่ผมเรียกว่า M&M หรือย่อมาจาก money & meaning ในทางหนึ่งผู้ก่อตั้งบริษัทก็หวังจะร่ำรวยระดับมหาเศรษฐีแบบบิล เกตส์ แต่อีกทางหนึ่งนอกเหนือจากความร่ำรวยแล้ว เขาก็หวังจะทำงานในบริษัทไอทีเพื่อตอบสนองความหมายของชีวิต ว่าผลงานที่เราสร้างขึ้นสามารถพลิกโลก สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของผู้คนได้อย่างไร

            คุณผู้อ่านที่เป็นผู้ประกอบการ มีกิจการของตัวเอง (ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นสายไอที) คงทราบดีว่าการเปิดกิจการหรือดำเนินธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย มีอุปสรรคมากมายและหลายเรื่องต้องเรียนรู้ รวมถึงเรื่องสำคัญอย่าง “เงินทุนตั้งต้น” ที่ต้องมีเยอะในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ว่านักศึกษาจบใหม่ทุกคนจะมีทุนระดับนั้น

           ในต่างประเทศจึงมีแนวคิดเรื่อง “บริษัทลงทุน” หรือ venture capital ที่คอยให้เงินกับบริษัทไอทีหน้าใหม่เหล่านี้ไปดำเนินธุรกิจ แลกกับหุ้นในบริษัทจำนวนหนึ่งแล้วแต่ตกลงกัน เมื่อบริษัทเหล่านี้เจริญเติบโต นักลงทุนจะได้ผลตอบแทนคืนจากการขายหุ้นที่ถือไว้ออกไปให้ผู้สนใจลงทุนรายอื่นๆ นั่นเอง นอกจากนักลงทุนเหล่านี้จะให้เงินทุนแล้ว หลายคนก็ยังสอนบทเรียนธุรกิจ การตลาด กฎหมาย บัญชี ฯลฯ ให้กับผู้ก่อตั้งบริษัทที่มักเป็นวิศวกรสายไอทีที่ขาดความรู้ด้านอื่นๆ ไปด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสให้กิจการประสบความสำเร็จนั่นเอง

           ส่วนประเทศไทยเองก็มีแนวทางแบบเดียวกันบ้างแต่ยังไม่เยอะนัก หน่วยงานหลักของบ้านเราคือ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย หรือที่เรามักเรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า Software Park ซึ่งดำเนินการเรื่องนี้มายาวนาน แต่ระยะหลังผมก็เริ่มเห็นบริษัทลงทุนหน้าใหม่ๆ ทั้งไทยและเทศมีบทบาทเยอะขึ้นมาก มีงานกิจกรรม สัมมนา การแข่งขันที่เกี่ยวข้องกับ startup จัดเยอะขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในรอบปี 2555 นี้

           ในฐานะที่ผมก็มีกิจการของตัวเอง (ถึงแม้จะไม่ใช่ startup ด้านไอทีโดยตรง) ก็สนับสนุนให้บุคคลากรสายไอทีในไทย หันมาเปิดบริษัทกันเยอะๆ นะครับ การเปิดบริษัทเหนื่อยกว่าการเป็นลูกจ้างหลายเท่า แต่ผลตอบรับที่ได้ก็คุ้มค่า ในแง่ประสบการณ์แล้วการมีกิจการเป็นของตัวเองสอนเราเยอะมาก ช่วยให้เราเข้มแข็งขึ้น รู้จักการทำธุรกิจและแข่งขันอย่างมียุทธศาสตร์ ซึ่งต่อให้สุดท้ายบริษัทของเราไม่ประสบความสำเร็จ (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจล้มเหลวมีเยอะมากๆ) จนเรากลับไปทำงานเป็นลูกจ้างอีกครั้ง เราก็จะมองโลกต่างไปจากเดิม และเปลี่ยนวิธีทำงานไปจากเดิม เก่งขึ้นแบบผิดหูผิดตาแน่นอน

           การมีบริษัทไอทีหน้าใหม่เกิดขึ้นเยอะๆ ยังช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมไอทีในบ้านเราด้วย กระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน การจ้างงาน และพัฒนาทักษะของแรงงานด้านไอที ทั้งกลุ่มที่เป็นเจ้าของบริษัทและกลุ่มที่เป็นลูกจ้างของบริษัทเหล่านี้

          เรื่องของ startup มีเยอะมาก สามารถเขียนถึงได้เป็นเดือนๆ แหล่งข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็มีมากมาย ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (ภาษาไทยยังถือว่ามีน้อยเมื่อเทียบกับภาษาอังกฤษ แต่ก็มีเยอะขึ้นเรื่อยๆ) ในเบื้องต้นผมขอแนะนำแหล่งข้อมูล 3 แห่ง ดังนี้

         เว็บไซต์ไทยที่แนะนำคือ thumbsup.in.th เว็บข่าวและบทความด้าน startup ที่โดดเด่นที่สุดในบ้านเราตอนนี้ มีบทสัมภาษณ์บริษัท startup ที่ประสบความสำเร็จในไทยหลายราย

          เว็บไซต์ต่างประเทศที่ผมชอบคือ paulgraham.com ของ Paul Graham นักลงทุนชื่อดังของบริษัท Y Combinator ที่มีประสบการณ์โชกโชน งานเขียนของเขาค่อนข้างยาวแต่กลั่นมาจากประสบการณ์โดยตรง อดทนอ่านหน่อยจะได้ประโยชน์เหลือหลาย ผมเคยแปลบทความของเขาไว้ครั้งหนึ่งที่ http://www.blognone.com/node/31630 สามารถอ่านเพื่อเป็นแรงบันดาลใจและไอเดียได้เช่นกัน

          อย่างสุดท้ายเป็นหนังสือครับ ชื่อเรื่อง The Art of the Start ของ Guy Kawasaki นักการตลาดคนแรกของบริษัทแอปเปิลยุคเริ่มต้น หนังสือเล่มนี้แนะนำข้อมูลพื้นฐานสำหรับคนที่อยากเปิดบริษัทไอที ใช้ภาษาง่ายๆ อธิบายไม่ยาก เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับคนที่ริเริ่มเปิดกิจการของตัวเองครับ

          ในอนาคตถ้าโอกาสเอื้ออำนวย ผมจะทยอยเขียนถึงแนวทาง บทเรียน และหลักการของ startup ในต่างประเทศต่อไปครับ.

ที่มา  http://www.thairath.co.th/content/tech/309306