ไทยรัฐออนไลน์ 23 ธ.ค.2553
คนดังบนทวิตเตอร์งานเข้าถูกฟ้องโกงเงินร่วม14ล้านบาท
“สุกรี พัฒนภิรมย์” เจ้าของชื่อบนทวิตเตอร์ @sugree งานเข้าแล้ว หลังมีผู้แจ้งความ ตร.ในคดีฉ้อโกงเงินกว่า 14 ล้านบาท ด้านเจ้าตัว เผยไม่คิดโกง ยินดีทยอยผ่อนเงินคืนเจ้าหนี้…
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2553 โลกไซเบอร์บนเว็บไซต์ทวิตเตอร์มีเรื่องร้อนเกิดขึ้น เมื่อเจ้าพ่อทวิตเตอร์อย่าง @sugree ผู้ที่เคยถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทวิตด่าเมื่อครั้งที่มีการแข่งโหวตมิสเตอร์ทวิตเตอร์ของเมืองไทยเมื่อปีก่อน ออกมายอมรับกับสื่อว่า ตัวเขาถูกกล่าวหาว่า กุเรื่องเพื่อหลอกลวงเงินผ่านทางธุรกิจออนไลน์ แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหา และยืนยันจะคืนเงินทั้งหมดให้
นายสุกรี พัฒนภิรมย์ โปรแกรมเมอร์ และคนไอทีระดับกูรู และยังเป็นคนดังบนโลกทวิตเตอร์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เขามีส่วนร่วมในโครงการการร่วมลงทุนธุรกิจของเขา โดยมีคนจำนวน 39 คน จ่ายเงินให้เขาเพื่อใช้เป็นเงินลงทุน รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 14 ล้านบาท ตั้งแต่เดือน ต.ค.2552 แต่หลังจากนั้นหุ้นส่วนทั้งหมด ไม่เคยได้รับเงินปันผลรายเดือน 10% ตามที่สัญญาตั้งแต่เดือน ม.ค.2553 และได้ร้องเรียนไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียบร้อยแล้ว
นายสุกรี ผู้มีบัญชีในทวิตเตอร์ชื่อว่า @sugree ยอมรับว่าได้โพสข้อความเชิญชวนให้มาร่วมลงทุนในธุรกิจประมูลสินค้าของกรม ศุลกากรในเว็บบล็อกของเขาจริง และมีสัญญาว่า จะคืนเงิน10% ของเงินลงทุนให้ทุกเดือน แต่เขาอ้างว่าที่ทำก็เพื่อเป็นคนกลางให้บริษัทของเพื่อนเขาเท่านั้น โดยเขากล่าวว่ากำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการขายที่ดินแปลงใหญ่ในกรุงเทพมหา นครมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาคืนให้กับหุ้นส่วนทั้ง 39 คน
“ผม ไม่รู้จะทำอะไรอย่างอื่นแล้วตอนนี้ นอกจากค่อยๆ คืนเงินด้วยเงินเดือนน้อยนิดของผม แต่ก็มีบางคนที่่ออกมาประนีประนอมหนี้ให้ผมหลังจากที่ผมสัญญาว่าจะคืนเงิน ให้ จากนี้ผมพูดอะไรมากไม่ได้แล้วเพราะทนายของผมเตือนว่าอย่าพูด” คนดังแห่งโลกทวิตเตอร์ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า จากการที่สื่อมวลชนได้สอบถามเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็พบว่า มีคำร้องของผู้เสียหายทั้งหลายถูกยื่นมาแล้ว โดยคำร้องดังกล่าวยื่นในวันที่ 4ต.ค.2553 โดยผู้เสียหายจำนวน 30 คน
ทั้งนี้ได้มีผู้เสียหายจากกรณี นี้ได้โพสกระทู้ชี้แจงถึงเรื่องที่เกิดขึ้น บนเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่กระทู้ห้องสินธร “[กระทู้สอนใจ] เมื่อผมถูกคนดังในเน็ตโกงเงิน” http://www.pantip.com/cafe/sinthorn/topic/I10055981/I10055981.html โดยเนื้อหาใจความในกระทู้ ที่ผู้เสียหายที่ใช้ชื่อว่า “Wut” ระบุว่า ธุรกิจที่นายสุกรีเชื่อเชิญผู้ร่วมลงทุน รวมทั้งตัวเองมาลงขัน คือ การประมูลของที่หลุดจากศุลกากร โดยส่วนมากเป็นตุ๊กตาบลายด์มาขายให้กับผู้ซื้อในประเทศ โดยมีการอ้างว่า รอบที่แล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงมีการมาโพสต์ถามว่าถ้าจะทำอีก มีใครจะร่วมกับเขาหรือไม่ โดยให้เป็นผลตอบแทนคงที่ ที่ 10% ต่อเดือน และรับเป็นรอบๆ เดือนละสองรอบ อีกทั้งยังระบุว่า การลงทุนเขานั้น “ไม่มีความเสี่ยงเลย” เนื่องจากเขามีที่ดินอยู่ 1 ผืนใหญ่ๆ ถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้น แกจะขายที่ดินนั้น แล้วคืนเงินต้นให้
ความจริง 3 ประการจากกรณี"ฟ้องร้องสุกรี"
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 23 ธันวาคม 2553
บุคคลมีชื่อเสียงในวงการไอทีไทยที่กำลังถูกฟ้องร้องฐานฉ้อโกงในขณะนี้ นาทีนี้คนไอทีจำนวนมากให้ความสนใจกับข่าวคาวของ"สุกรี พัฒนภิรมย์" หรือ @sugree ที่ชาวทวิตเตอร์รู้จักกันดี ต่อไปนี้คือบทสรุป 3 ข้อที่สามารถสรุปได้จากกรณีที่เกิดขึ้น
ก่อนจะไปดูความจริงที่เกิดขึ้น คุณควรรู้ว่าสุกรี พัฒนภิรมย์ ซึ่งถูกเรียกขานในหลายบทความว่าเป็น"เซเลบไอที" ถูกนายปมวัช บุญวงศ์เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามเพื่อขอดำเนินคดีกับนายสุกรีในข้อหาฉ้อโกง ด้วยการโพสต์ข้อความชวนเชื่อในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ https://Forums.bthai.com ให้มาลงทุนทำธุรกิจซื้อสินค้าจากกรมศุลกากรเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ แต่แทนที่จะได้รับเงินปันผลต่อเนื่องตามที่ตกลงไว้ ปรากฏว่าเมื่อได้รับเงินปันผล 2 งวดแรก สุกรีกลับหายเงียบไป จนต้องฟ้องร้องเพื่อขอความเป็นธรรมในที่สุด
ปมวัชระบุว่าได้ลงทุนไปเป็นเงิน 4 แสนบาท ได้รับเงินปันผลคืนจากการลงทุนช่วงแรก 20,000 บาท และ 40,000 บาท กระทั่งเดือนมกราคม 53 นายสุกรีไม่ยอมจ่ายผลตอบแทนต่อ จึงได้มีการทวงถาม แต่ยังไม่มีการตอบรับใดๆ
ไม่เพียงปมวัช ยังมีผู้เสียหายอีก 24 รายที่ได้รับความเดือดร้อนลักษณะเดียวกัน ทั้งหมดนี้ทำให้สามารถสรุปว่าสุกรีมีเจตนาหลอกลวงผู้ร่วมลงทุน ผู้เดือนร้อนทั้งหมดจึงเข้าแจ้งความเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับนายสุกรี
ผลการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า ผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความนายสุกรีมีจำนวนทั้งสิ้น 25 คน สำนวนคดีสรุปว่าความผิดเกิดขึ้นในระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต คดีจึงตกอยู่ในความรับผิดชอบของกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)
สุกรีนั้นออกมายอมรับว่าได้โพสต์ข้อความเชิญชวนให้ลงทุนจริง โดยเป็นคนกลางในการสื่อสารให้กับเพื่อนคนนึง จากนั้นมีสมาชิกที่สนใจโอนเงินเข้าร่วมลงทุนจำนวน 39 คน รวมเงินกว่า 14 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนตุลาคม 52 ก็เริ่มส่งเงินปันผลให้กับสมาชิกทุก 2 สัปดาห์ได้ประมาณ 3 เดือน จนกระทั่งเดือนมกราคม 53 เริ่มไม่สามารถโอนเงินให้กับผู้ร่วมลงทุนได้ จึงได้ทวงถามเพื่อน ซึ่งเพื่อนก็ยอมรับว่าไม่มีเงิน
สุกรีระบุว่าได้ใช้เงินส่วนตัวจ่ายเป็นเงินปันผลให้สมาชิกไปจนหมด แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงได้ตัดสินใจประกาศขายที่ดินย่านบางมด เพื่อนำเงินดังกล่าวมาใช้หนี้ผู้เสียหาย แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถขายได้ โดยบอกว่าได้ดำเนินการทุกอย่างสุดความสามารถแล้ว
ขณะนี้ ผู้เสียหายบางรายเริ่มทำสัญญาประนอมหนี้กับสุกรี ขณะที่บางรายเรียกร้องให้สุกรีขายที่ดินเพื่อคืนเงิน โดยบทสรุปความจริงในบทความนี้จะไม่มีการฟันธงว่าสุกรีมีความผิดหรือไม่ แต่จะเป็นบทสรุปที่ทำให้คนไอทีเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าเดิม
ความจริงที่ 1 - นี่คืออุทธาหรณ์ยอดเยี่ยมของคนออนไลน์
ต้องยอมรับว่ากรณีทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะ 2 ปัจจัย หนึ่งคือความเป็นคนมีชื่อเสียงน่าเชื่อถือของสุกรี สองคือประสิทธิภาพในการสื่อสารปากต่อปากที่ยอดเยี่ยมของเครือข่ายสังคม ซึ่งทั้ง 2 จุดนี้ถือเป็นสิ่งที่คนไอทีต้องระวังตัวหากจะเชื่อหรือปฏิบัติตามคำเชิญชวนบนโลกดิจิตอล
สุกรีนั้นมีดีกรีเป็นนักศึกษาปริญญาเอก คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถมเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการคอมพิวเตอร์ในฐานะเจ้าพ่อทวิตเตอร์ ที่ผ่านมา สุกรีมีบทบาทในการจัดงานชุมนุมนักพัฒนาแอปพลิเคชันในเมืองไทยทั้งบาร์แคมป์ และทวิตเตอร์บีเคเค
การบอกต่อปากต่อปากที่ได้ผลบนเครือข่ายสังคมไทย ทำให้การระดมทุนบนโลกออนไลน์ของสุกรีมีมูลค่าทะลุ 14 ล้านบาท นี่เองที่สะท้อนถึงประสิทธิภาพ"ไวรัลมาร์เก็ตติง"ชั้นเลิศของเครือข่ายสังคม
นักสังเกตการณ์มองว่า นี่คือสิ่งที่ทำให้เห็นถึงคมดาบด้านลบของกระแสปากต่อปากบนเครือข่ายสังคม ยิ่งประสิทธิภาพยอดเยี่ยมของเครือข่ายสังคมสร้างผลดีได้ง่ายเพียงใด ผลเสียก็สามารถเกิดขึ้นได้ในสัดส่วนมากเท่านั้น จุดนี้ต้องระวังให้ดีเพราะหากผู้ต้มตุ๋นรายใดสามารถรวบรวม 2 ปัจจัยนี้ได้ครบ ทั้งการอ้างชื่อผู้มีชื่อเสียงและเครือข่ายสังคม โอกาสที่จะมีเหยื่อถูกล่อลวงจะสูงมาก เหล่านี้ทำให้ชาวไอทีต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ในฐานะอุทธาหรณ์สอนใจให้ดี
ฉะนั้น แม้จะมีผลตอบแทนสูง เจ้าของโครงการมีความน่าเชื่อถือมาก มีการตรวจสอบหลักประกันว่ามีอยู่จริง พึงระลึกว่าการไม่ไปทำสัญญาเงินกู้เพราะเหตุผลเหล่านี้คือหายนะที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันการเป็นแมงเม่าที่บินเข้ากองไฟ
ความจริงที่ 2 - ความเห็นบนเครือข่ายสังคมแสนหลากหลาย
การฟ้องร้องสุกรีเป็นสิ่งที่สะท้อนความหลากหลายในความเห็นบนเครือข่ายสังคมไทยอย่างชัดเจน เพราะในขณะที่การดำเนินคดียังอยู่ระหว่างการสอบสวน ผู้รู้จักสุกรีบางส่วนแสดงความเห็นใจ ขณะที่หลายคนต่อต้านว่าสุกรีไม่รับผิดชอบเท่าที่ควร
"@sugree ความละอาย ความรับผิดชอบ ครอบครัวสอนมั่งหรือเปล่าครับ ? "
"@sugree ยังว่างทวีตเล่นไร้สาระ "
"@Esamu: สี่เท้ายังรู้พลาด. นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง.(ของจริง) >> คนล้มอย่าข้าม ขอให้กำลังใจ @sugree ครับ :) "
"@sugree ไม่ยอมรับสายเจ้าหนี้ทุกคน ทางเดียวที่ติดต่อ @sugree ได้คือทางทวีตเท่านั้น ทั้งนี้ำำพฤติกรรมแบบนี้เรียกว่าไม่รับผิดชอบแล้ว"
"@k0b_k0b (ส่งถึง @moui) ตอน @sugree ดังๆ คนแห่เข้าใช้บริการเยอะนะ เกาะสุกรีดัง ไม่น่าพลาดเลย ใหกำลังใจใช้หนี้ต่อไป
นี่เป็นเพียงบางส่วนของความเห็นบนทวิตเตอร์ ซึ่งยากนักที่จะตัดสินว่าความเห็นใดถูกต้อง
ความจริงที่ 3 - ทางออกมีเสมอ
แม้ข้อสรุปนี้จะฟังดูเหมือนสัจธรรมกลายๆ แต่นี่คือเรื่องจริงที่ทุกคนควรระลึกไว้เสมอ หลายความเห็นในเครือข่ายสังคมเสนอแนวทางออกของสุกรีไว้ เช่น
"ควรรีบจัดประชุมเจ้าหนี้ สรุปรายการชำระคืนใครได้ยังไงก่อนหลัง ที่ดินของ @sugree ควรช่วยกันประกาศขายจะได้เคลียร์เรื่องนี้ได้เร็ว"
คาดว่าทางออกของเรื่องนี้น่าจะถูกเปิดเผยในรายการของอสมท. ทาง FM100.5 เวลา 21 นาฬิกา วันที่ 23 ธันวาคม 53 ซึ่งสุกรีจะมาเล่าถึงเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น
ตัวสุกรีเองได้โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ว่า "มี follower 7543 คน ขอคนละ 2000... ได้มั๊ย... " แม้ทวิตเตอร์นี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย แต่หลายคนยอมรับว่า หากสาวกของสุกรีในทวิตเตอร์ร่วมใจลงเงินช่วยสุกรี "เกม" จะพลิกผันและเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งที่ชาวออนไลน์ควรจับตามอง
ข้อมูลเพิ่มเติม
-
ผู้สนใจข้อมูลของกรณี"สุกรี"เพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากกระทู้ [กระทู้สอนใจ] เมื่อผมถูกคนดังในเน็ตโกงเงิน
-
ผู้สนใจกรณีศึกษาการล่อลวงบนทวิตเตอร์เพิ่มเติม สามารถศึกษาได้จากบทความ กรณีการหลอกลวง บน twitter
ที่มา http://www2.manager.co.th/CBizReview/viewNews.aspx?NewsID=9530000180462
|