Home » วิทยาการ ไอที โลกาภิวัฒน์ » SME 2011 สนามท้าทาย บนโอกาสมหาศาล

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
SME 2011 สนามท้าทาย บนโอกาสมหาศาล

bangkokbiznews.com
ธุรกิจ : BizWeek
วันที่ 27 ธันวาคม 2553 01:00
SME 2011 สนามท้าทาย บนโอกาสมหาศาล
โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว

การมาเยือนของกระต่ายฝูงใหญ่จะทำให้เอสเอ็มอี โตแบบ "ก้าวกระโดด" หรือดับอนาถ ก็อยู่ที่การรู้ทันสถานการณ์และกล้าปรับตัว

ในมุมของ 2 นักวิชาการ ผู้เกาะติดเทรนด์เอสเอ็มอีทั้งไทยและเทศอย่างใกล้ชิด อย่าง “บุริม โอทกานนท์” และ “ดร.พัลลภา ปีติสันต์” แห่งสาขาการตลาดวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล มีมุมคิดดีๆ มาแบ่งปันผู้ประกอบการรับมือความท้าทายปีหน้า


“ลอยัลตี้ มันเหมือนผีเสื้อ ผีเสื้อไม่เคยภักดีต่อดอกไม้ดอกใดดอกเดียว ถ้าไม่หวานไม่ดี ผีเสื้อก็ไม่เกาะ”

นี่คือมุมคิดของอาจารย์บุริม ที่สะท้อนให้เห็นถึงการทำธุรกิจของคนยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะ "ความภักดีต่อแบรนด์"

ทุกวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป เทรนด์ธุรกิจเปลี่ยน ผู้ประกอบการ “หัวเก่า” ที่ยังเชื่อมั่นว่าลูกค้ายุคนี้ จะภักดีกับแบรนด์ตัวเองไม่เสื่อมคลาย นับเป็นความ “หลงผิด” อย่างใหญ่หลวง ท่ามกลางการแข่งขันที่หนักหน่วงขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความต้องการไม่มีสิ้นสุด ทำให้ผู้บริโภคไม่อาจหยุดตัวเองกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเหมือนในอดีตได้อีกต่อไป

“สมัยก่อน วิธีการค้าขาย คือ “ก่ำเช้ง” คือใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว เพราะซื้อขายกันมานาน ก็ซื้อขายกันต่อไป นี่คือความคิดแบบหัวโบราณ วันนี้ความสัมพันธ์อย่างเดียวไม่พอแล้ว เพราะลูกค้าย่อมไม่ต้องการซื้อสินค้าที่ไม่มีการพัฒนา คนอื่นมีผลประโยชน์มากกว่า ดีกว่า เขาก็เลือกคนอื่น คนไม่ได้ซื้อเพราะความสัมพันธ์ แต่เขาซื้อเพราะ “
Value” จริงๆ ที่เรามีให้เขา”

"
คุณค่าของแบรนด์" จึงเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย หากผู้ประกอบการสามารถทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ ก็จะสามารถมองหา "โอกาส" ทางธุรกิจได้ไม่ยาก เช่นกัน 

นอกจากนี้ บุริม บอกว่า การทำธุรกิจยุคนี้อย่ามองแค่ในบ้านแต่ต้อง "โตนอกบ้าน" ไกลไปถึงระดับโกลบอล จากข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ที่ไทยไปทำไว้กับหลายประเทศ ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมจะฉวยจังหวะนี้เป็นโอกาสธุรกิจได้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าคิด

"เราต้องมองธุรกิจให้กว้างขึ้น จากรีซอสที่เคยมีอยู่จำกัดเฉพาะแค่ในประเทศ มันต้องเริ่มมองออกไปนอกบ้านแล้ว ว่าเราจะสามารถดึงศักยภาพอะไรมาใช้ได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็น คน ทรัพยากร หรือโอกาส

เอสเอ็มอีต้องเห็นมุมมองนี้มากขึ้น เราจะใช้ระบบเดิมๆ ไม่ได้ จะทำแบบเก็บเงินใส่ถังไม่ได้แล้ว แต่ต้องมองในเรื่องการบริหารจัดการ ทั้งการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก การหาแหล่งวัตถุดิบที่ถูกลง การพัฒนาสินค้าใหม่ ที่ไม่เฉพาะตอบสนองตลาดในประเทศแต่ต้องตอบสนองตลาดในภูมิภาคให้ได้"

เขามองว่า ภาพเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นแน่นอน แถมถูก "บังคับ" (Force) ให้เกิดจากระบบการค้าที่เปิดกว้างมากขึ้น

“ผู้ประกอบการจะหยุดอยู่แค่ความเป็นตัวตนไม่พอแล้ว คนที่โตช้า เดินช้า ก็จะโดนคนตัวใหญ่กินหมด ตอนนี้นับเป็นโอกาสดีที่สุด เพราะมันเริ่มเปิด เริ่มมี เราเหนือกว่าหลายประเทศในแถบนี้ ถ้าเราไม่เอาความแข็งแกร่งของเรามาใช้ วันหนึ่งสิงคโปร์เข้ามา สหรัฐฯ เข้ามา ทุกคนเข้ามา เราจะไม่ได้ใช้สิ่งที่เป็นโอกาส แล้วจะมานั่งบอกว่ารู้อย่างนี้ก็ทำไปนานแล้ว คงไม่ได้ นี่มันเป็นคำพูดของคนพ่ายแพ้”


ในขณะที่โลกหมุนไป เอสเอ็มอียังต้องรู้จักการใช้ "เครื่องมือใหม่ๆ" (Tools) มากขึ้น แนวคิดของการบริหารจัดการ เครื่องมือต่างๆ อย่าง "เทคโนโลยี" เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะวันนี้เทคโนโลยีทำให้เรามองเห็นในสิ่งที่มองไม่เห็น โดยเฉพาะโลกเวิลด์ไวด์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เอสเอ็มอีต้องนำสิ่งเหล่านี้มาใช้

โลกใบนี้ยังมีโอกาส ถ้ารู้จักมองให้เป็นโอกาสและเลือกเติบโตอย่างถูกที่ถูกทาง เช่นเดียวกับ ดร.พัลลภา ที่ยกเคสการขยายธุรกิจในประเทศเวียดนามของลูกศิษย์รายหนึ่งว่า

รูปแบบเดิมๆ ที่ทุกคนคุ้นชิน คือการผลิตสินค้าไปขายโดยให้ตัวแทนจำหน่ายเป็นผู้ทำตลาดให้ ทว่าสิ่งที่ท้าทายศิษย์รายนี้ คือสินค้าที่ผลิตไปขายกลับมีผู้ประกอบการที่เวียดนามผลิตได้ในคุณภาพที่ดีกว่า ที่สำคัญราคายังถูกกว่า

ผู้ประกอบการบางรายเจอแบบนี้อาจเปลี่ยนมุมคิด โดยเลือกที่จะนำสินค้าจากเวียดนามมาขายในไทยแทน แต่วิธีการของลูกศิษย์รายนี้ เขาเลือกที่จะให้เวียดนามเป็นผู้ผลิตสินค้าแทน เอาคุณภาพแบบเวียดนาม ต้นทุนถูกแบบเวียดนาม ก่อนจะมาแปะ "แบรนด์ไทย" ย้อนไปขายในเวียดนามอีกที 

"เช่นเดียวกับโมเดลการเปิดสำนักงานในต่างประเทศ เราคงไม่ต้องขนคนของเราไปทั้งหมด แต่ใช้วิธีเหมือนญี่ปุ่น ที่มาทำธุรกิจในไทย เขาขนเฮดๆ มาสี่ห้าคน ที่เหลือจ้างคนในพื้นที่หมด เพื่อจะได้ผูกสัมพันธ์กับชุมชน สภาพแบบนี้เราจะมองเห็นมากขึ้น เพราะไม่อย่างนั้นธุรกิจจะโตไม่ได้"

ปี 2553 ที่หลายคนบ่นเรื่อง "การแข็งค่าของเงินบาท"  2 กูรูบอกตรงกันว่า ในปี 2554 ปัญหานี้ก็จะยังคงบั่นทอนบรรดาเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจส่งออกให้ระส่ำ อย่างไรก็ตามทั้งคู่เห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องที่เอสเอ็มอีต้องยอมรับสภาพ โดยไม่ควรกังวลมากจนเกินเหตุ และควรแก้ไขปัญหานี้ด้วยการคิดหาทางออกทั้งการมองหาตลาดใหม่ ซื้อขายด้วยค่าเงินสกุลอื่น รวมไปถึงการปรับตัวในรูปแบบการบริหารจัดการองค์กร

ทั้งหมดนี้ สะท้อนสู่ยุคของการ "เปลี่ยนถ่าย" คนที่เปลี่ยนถ่ายไม่ได้ก็ต้องตายหมด คนที่เปลี่ยนถ่ายได้จึงจะอยู่รอด

“เราติดอยู่กับสภาพที่ว่า ส่งออกต้องราคาถูก จ้างงานถูกๆ ทำต้นทุนถูกๆ เพื่อที่จะส่งออกได้ ท้ายที่สุดเรากลับไม่ได้ไปไหน วิธีการคือเราต้องแข่งในเรื่องความเร็ว ความก้าวหน้า ความทันสมัย และระเบียบวินัยซึ่งสำคัญมาก คนของเรายังขาดเรื่องระเบียบวินัยในการทำงาน”

ในขณะที่การทำงานของภาครัฐ อาจารย์ทั้งสองเห็นตรงกันว่า รัฐต้องเลิกทำธุรกิจแข่งกับเอกชน และต้องมีความสามารถในการที่จะส่งเสริมเอสเอ็มอีไทย ติดอาวุธให้เอสเอ็มอีมากขึ้น

ทั้งนี้ บรรยากาศที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ทั้งสองเห็นตรงกันว่า “
ท้าทาย” ผู้ประกอบการแน่นอน

ขณะที่โอกาสอย่างการเสาะหาวัตถุดิบ จะทำได้ง่ายขึ้น มีช่องทางที่จะเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบราคาถูกได้มากและง่ายแค่เปิดเว็บไซต์ ก็สามารถเทียบเคียงราคากันได้แล้ว ขณะที่ช่องทางการขายก็ง่ายขึ้น การขายผ่านระบบ "
ออนไลน์" ทำได้ไม่ยาก ส่วนช่องทางการสื่อสาร "โซเชียลมีเดีย" ยังคงหอมหวาน รับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ โอกาสมากมายคอยอยู่ในนั้น ขอแค่เอสเอ็มอีไม่ปฏิเสธ เรียนรู้และปรับตัวให้ทันเท่านั้น

อีกสิ่งที่ท้าทาย คือ “
การผลิต” ทำอย่างไรให้แตกต่าง บนต้นทุนที่ต่ำกว่า รวมถึงการหา "บลูโอเชี่ยน" ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างในเชิงมูลค่า ขณะที่ต้นทุนลดต่ำลง อย่างที่เรียกว่า “นวัตกรรมเชิงคุณค่า” ซึ่งเป็นเรื่องยากและท้าทายเอสเอ็มอียุคใหม่

การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้น อยู่ที่คุณกล้าแค่ไหน โอกาสถูกจุดประกายมากขึ้น เพราะการเปิดของโลก ธุรกิจของคนรุ่นพ่อ มองว่าสักปี 2555 จะเริ่มถอยแล้ว มันจะค่อยๆ ถูกเปลี่ยนถ่าย ถ่ายความรู้สึกกลัว ความรู้สึกไม่กล้า และการยึดติดต่างๆ ออกไป เปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนกระบวนทัศน์ ด้วยฝีมือของผู้ประกอบการเจนวาย”

ทุกอย่างเปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองเห็นตรงกันว่าไม่ควรเปลี่ยน คือทำธุรกิจ “ความซื่อสัตย์” ต้องมาเป็นที่หนึ่ง เพื่อความสำเร็จที่สวยงามในสนามธุรกิจปีกระต่ายนี้


๐ ลงทุนอะไร “รุ่ง” ในปีกระต่าย

ถามว่าปีกระต่าย เป็นเวลาที่เหมาะหรือไม่ที่จะลงทุน คำตอบว่า "เหมาะ" หรือ "ไม่เหมาะ" ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแบกรับความเสี่ยงทางธุรกิจ เพราะไม่มีธุรกิจไหนที่ทำแล้วไม่มีความเสี่ยง หากผู้ประกอบการรู้จักวางแผนให้รอบคอบ โอกาสแจ้งเกิดธุรกิจในปีกระต่ายก็ยังมีอยู่เสมอ

ในมุมของธนาคารที่จะให้สินเชื่อเอสเอ็มอี ปีหน้าทุกคนยังมอง
ตลาดเอสเอ็มอีเป็น “พระเอก” มีแพ็คเกจมากมายที่จะขนออกมาสนับสนุนเอสเอ็มอี ทั้งสำหรับผู้ประกอบการน้องใหม่ คนที่ต้องการขยายธุรกิจ และกลุ่มที่อยากสืบทอดกิจการของครอบครัว ซึ่งล้วนต้องการการสนับสนุนที่ต่างกันออกไป

แล้วธุรกิจประเภทไหนที่มีแววรุ่ง “ปกรณ์ พรรธนะแพทย์” รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย บอกว่า กลุ่มที่มีแนวโน้มการลงทุนเพิ่มในปี 2554 คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ การก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์และพลังงานทางเลือก อย่างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก  รวมถึงธุรกิจที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ซึ่งได้รับอานิสงส์จากนโยบายของรัฐ และหากการเมืองสงบ เชื่อว่าการท่องเที่ยวจะกลับมา ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวฟื้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม การสัมมนา การจัดนิทรรศการและการประชุม

"ที่ผ่านมา ธุรกิจที่ปิดตัวไปมักเป็นรายใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้น ปัญหาส่วนใหญ่มาจาก 3 เรื่อง หนึ่งคือเงินทุน อาจไปกู้นอกระบบมา เจอดอกเบี้ยแพง ธุรกิจทำอย่างไรก็คงไม่มีกำไร สองไม่ได้วางแผนเรื่องระบบบัญชี คิดแต่จะขายสินค้าให้ได้ แต่ไม่ได้ดูเลยว่าที่ขายไปกำไรหรือขาดทุน

สามเรื่องขององค์ความรู้ บางคนอยากทำธุรกิจตามแฟชั่น โดยที่อาจไม่ได้รู้จักธุรกิจนั้นดีพอ วิธีการที่เราทำคือ อย่างคนอยากเปิดร้านกาแฟเราก็มีแพ็คเกจให้ หนึ่งคือมีวงเงินสินเชื่อ สองมีหลักสูตรเทรนนิ่งให้โดยร่วมกับ สสว.เพื่อจัดทีมที่ปรึกษา จัดหลักสูตรเทรนนิ่งพัฒนาผู้ประกอบการ และสามเรามีซอฟต์แวร์ระบบบัญชีให้ เพื่อสามารถนำไปใช้ได้เลย นี่คือสิ่งที่พัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี"

ด้าน โสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์)  แนะว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการควรมองไม่ใช่วิ่งหาอะไรที่เป็นธุรกิจดาวรุ่ง แต่ต้องเริ่มต้นจากความคิดว่า “
เราชอบทำอะไร” เพราะความชอบจะนำมาซึ่งความทุ่มเท และมีความสุข ทำให้สามารถสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ ออกมาได้ แต่ถ้าไม่มีความชอบ ทำอะไรก็จะทำได้ไม่ดี และเริ่มท้อไปเรื่อยๆ เมื่อเจอปัญหา

“หลายธุรกิจยังมีโอกาส  แต่อยากบอกว่าอย่าทำธุรกิจตามแฟชั่น ให้ทำตามความรักชอบและความถนัดของตัวเอง”

ขณะที่ เวทย์ นุชเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโสสายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บอกว่าการขยายกิจการปีหน้าของเอสเอ็มอียังต้องระมัดระวัง เพราะปัจจัยหลายๆ อย่าง มีความซับซ้อนกว่าในอดีต โดยเฉพาะเรื่องค่าเงินที่ยังมีความผันผวน ถ้าจะขยายธุรกิจต้องมีความมั่นใจจริงๆ

“ในทุกเซคเตอร์ ทุกอุตสาหกรรม มีทั้งที่ซัคเซสและไม่ซัคเซส มันอยู่ที่ตัวเอสเอ็มอีเอง”

ทุกแบงก์ยังยืนยันว่า ทุกธุรกิจมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ เพราะสิ่งที่ธนาคารมองไม่ใช่การอยู่ในธุรกิจดาวรุ่งหรือดาวร่วง แต่คือ ความเข้มแข็งของเอสเอ็มอีต่างหาก

นอกจากนี้ เพื่อเอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งทุนของเอสเอ็มอี ผู้สนับสนุนหลักอย่าง ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี  (สสว.) บอกว่า ปีหน้านอกจาก สสว.จะทำนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการแล้ว สสว.ยังจะจัดทำระบบ เรทติ้งเอสเอ็มอี เพื่อให้ธนาคารพิจารณาเรื่องการให้สินเชื่อเอสเอ็มอีได้ง่ายขึ้น จากปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนและต้นทุนแรงงานราคาแพง ที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของเอสเอ็มอีในปีหน้า

ที่มา 
http://www.bangkokbiznews.com