ปัญหาจองคอนโด แต่กู้แบงก์ไม่ผ่าน |
จองซื้อคอนโด แต่กู้แบงก์ไม่ผ่าน
ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมกำลังได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่กำลังเริ่มทำงาน จากเดิมต้องเช่าห้องพักอาศัย ก็หันมาซื้อคอนโดมิเนียม โดยการขอสินเชื่อเงินจากสถาบันการเงิน เพราะถือเป็นการลงทุนที่มีแต่ได้ ประหยัดทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
แต่การซื้อคอนโดมิเนียมสักแห่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ทั้งหลายนะครับ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำหนดหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม โดยให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกินร้อยละ 90 ของราคาซื้อขาย หมายความว่าหากคอนโดมิเนียมราคา 2,000,000 บาท ผู้ซื้อจะต้องมีเงินดาวน์ประมาณ 200,000 บาท เป็นอย่างน้อย
ส่วนที่เหลืออีก 90% (หรือประมาณ 1,800,000 บาท) นั้นก็สามารถขอกู้ยืมจากสถาบันการเงินได้ โดยสถาบันการเงินจะพิจารณาจากประวัติการขอสินเชื่อเก่าของผู้ขอกู้ พิจารณาประวัติการผ่อนชำระ (หรือที่เรียกว่าเครดิตบูโร) พิจารณารายได้ประจำ และพิจารณาถึงความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของผู้ขอกู้ หากผ่านขั้นตอนเหล่านี้ไปได้ ก็จะอนุมัติสินเชื่อ นัดทำสัญญากู้ และนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพร้อมกับจดทะเบียนจำนองกรรมสิทธิ์ในห้องชุดไปในคราวเดียวกัน
แต่หากไม่ผ่านการพิจารณา ผู้ขอสินเชื่อยังสามารถที่จะดำเนินการยื่นคำขอสินเชื่อต่อสถาบันการเงินแห่งอื่น ๆ ได้ใหม่นะครับ แต่คิดว่าวิธีนี้อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะสถาบันการเงินแต่ละแห่งก็มีหลักเกณฑ์การพิจารณาให้สินเชื่อที่คล้ายกัน เพียงแต่ว่าจะมีการลดหย่อนผ่อนปรนในบางกรณีบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถ้าจะลองดูก็ไม่เสียหายนะครับ
วิธีต่อมา คือการหาบุคคลอื่นมาขอรับสินเชื่อร่วม หรือที่เรียกว่า กู้ร่วม ซึ่งวิธีนี้จะทำให้สถาบันการเงินพิจารณาอนุมัติให้สินเชื่อง่ายขึ้น เพราะถือว่าการให้สินเชื่อมีความเสี่ยงน้อยลง เนื่องจากมีผู้กู้ร่วม ฐานรายได้ก็จะสูงขึ้น ความสามารถในการผ่อนชำระคืนเงินกู้ก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย
วิธีต่อไปคือการหาบุคคลอื่นมาค้ำประกัน (ปกติจะต้องไม่ใช่คู่สมรส) ซึ่งสถาบันการเงินจะพิจารณาปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้นเช่นกัน เนื่องจากผู้ขอกู้ได้จัดหาหลักประกัน (บุคคล) เพิ่มขึ้น ความสามารถในการติดตามให้ชำระหนี้ก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน
แต่หากได้ลองทุกวิธีแล้ว สถาบันการเงินก็ยังไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้ ทางผู้จองห้องชุดก็ควรจะต้องกลับมาพิจารณาดูที่สัญญาจอง สัญญาจะซื้อจะขายว่า กรณีที่ผู้จองไม่สามารถขอรับสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ เจ้าของโครงการตกลงจะคืนเงินจองเงินดาวน์ให้แก่ผู้จองให้ทั้งหมด หรือบางส่วน หรือไม่อย่างไร หากมีกำหนดไว้ก็จะเป็นไปตามนั้น (ตามหลักของสัญญา) แต่หากไม่ได้กำหนดไว้ ผู้จองก็ไม่สามารถเรียกร้องขอเงินจองเงินดาวน์คืนได้ เนื่องจากถือว่าผู้จองเป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญา ไม่สามารถรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ภายในกำหนด
แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่กรณีที่เจ้าของโครง การมีส่วนรับผิดด้วยนะครับ เช่นโครงการไม่สามารถเดินต่อไปได้ เนื่องจากมีผู้จองซื้อน้อย การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด สถาบันการเงินจึงไม่ยอมอนุมัติสินเชื่อรายย่อยให้ อย่างนี้เจ้าของโครงการต้องคืนเงินให้ทั้งหมดโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ เลยครับ และค่าทนายความ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีอย่างสูงแทนจำเลยทั้งสองด้วย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม.
ดินสอพอง
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
ที่มา เดลินิวส์ กฎหมายรอบรั้ว http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=507&contentID=116702
|